จัดระเบียบสังคม ตามคตินิยมแห่งสังฆะ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

รื้อฟื้นความหมายที่แท้ของสังฆะขึ้นมา
ก็กอบกู้พระพุทธศาสนาให้กลับรุ่งเรืองมั่นคงได้

แต่น่าเสียดายว่า เวลาผ่านมานานๆ ความเข้าใจของชาวพุทธทั่วไป ก็ชักแคบและคลาดเคลื่อน หรือเพี้ยนไป เวลานี้

๑. พูดถึงพระสงฆ์ ก็มักเข้าใจแค่ว่าเป็นพระภิกษุแต่ละรูปๆ แยกไม่ออกระหว่างพระภิกษุกับพระสงฆ์

๒. ถวายสังฆทาน ก็มองอยู่แค่ตัวพิธี ไม่เห็นความหมาย ซึ่งมุ่งไปที่ประโยชน์ส่วนรวมเพื่อให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่

พระภิกษุแต่ละรูปแต่ละองค์ แม้แต่เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นบุคคลเท่านั้น จะมีความหมายเป็นสงฆ์ได้ต่อเมื่อสงฆ์จัดท่านมาเป็นตัวแทน หรือเรามองท่านในฐานะเป็นตัวแทนที่สื่อโยงความคิดจิตใจของเราไปสู่สงฆ์ส่วนรวม

ผู้ถวายสังฆทานจะต้องมีเจตนาที่ตั้งใจว่า สิ่งของซึ่งเราถวายแก่พระภิกษุที่มานั่งประชุมอยู่นี้ เป็นการถวายในฐานะที่ท่านเป็นตัวแทนของพระสงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ที่ช่วยกันดำรงพระศาสนาไว้ และช่วยกันนำหลักธรรมคำสั่งสอนมาเผยแพร่ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน

ถ้าทำใจอย่างนี้ จิตใจก็จะกว้างขวาง และทำให้เกิดความอิ่มใจ มีปีติ และความสุขว่า การที่ได้ถวายทานนี้ เป็นการถวายเพื่อพระพุทธศาสนาทั้งหมด เราได้มีส่วนร่วมช่วยให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ และพระพุทธศาสนานี้เมื่อดำรงอยู่ ก็จะได้ช่วยให้ธรรมคงอยู่ในสังคม และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนจำนวนมาก

ทั้งนี้ เป็นไปตามคติของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พระศาสนานี้ดำรงอยู่ยั่งยืนนาน ก็เพื่อประโยชน์สุขของพหูชน เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก

สรุปว่า คนไทยจะต้องรื้อฟื้นความคิดความเข้าใจและจิตสำนึกเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่สำคัญ ๒ อย่าง และเรื่องสังฆทานอีก ๑ รวมเป็น ๓ อย่าง คือ

๑. ต้องเข้าใจคำ “พระสงฆ์” ว่าหมายถึงสงฆ์ส่วนรวม ที่รักษาสืบทอดธรรม และดำรงวิถีชีวิตแห่งวินัย ตามที่พระพุทธเจ้าทรงจัดวางไว้ จนมาถึงพวกเรา

๒. ต้องระลึกอยู่เสมอถึงหลักการของพระพุทธศาสนา ที่ให้เคารพสงฆ์ เห็นแก่ความดีงามและประโยชน์สุขของส่วนรวม ซึ่งเป็นที่อาศัยและเกื้อหนุนให้เราแต่ละบุคคลสามารถพัฒนาชีวิตของตนให้ดีงามมีความสุขยิ่งขึ้นไป

๓. ต้องถวายสังฆทานโดยมองเห็นความหมายว่า เป็นการที่เราได้ร่วมทำนุบำรุงสงฆ์นั้นให้ดำรงอยู่ด้วยดี เพื่ออำนวยธรรมและประโยชน์สุขแก่บุคคลทั้งหลายสืบต่อไปอย่างยั่งยืนนาน

นี้คือหลักการในเรื่องสังฆทาน เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้ ผู้ที่ถวายสังฆทานก็จะมีความเข้าใจ และความตั้งใจที่ถูกต้อง คือทั้งทำด้วยปัญญา และทำด้วยจิตใจที่มีความโปร่งโล่งกว้างขวางเอิบอิ่มเบิกบานผ่องใสอย่างแท้จริง คือได้ทั้งจิตใจดีงาม และได้ความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจะทำให้เกิดผลสมบูรณ์

ทำไปแล้วก็รู้ว่า ผลนี้จะเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม เราได้มีส่วนร่วมเกื้อหนุนให้สงฆ์ดำรงธรรมไว้ด้วยดีเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก

เมื่อพูดถึงหรือนึกถึง สงฆ์ก็ดี สังฆทานก็ดี ก็ขอให้ชาวพุทธระลึกถึงหลักการเคารพโดยเห็นความสำคัญของส่วนรวม ถือความดีงามและประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นใหญ่อย่างอิงอาศัยกันกับความดีงามและประโยชน์สุขของแต่ละบุคคล ดังกล่าวมานี้

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง