จัดระเบียบสังคม ตามคตินิยมแห่งสังฆะ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สำหรับคนที่อยากได้ ต้องเอาระบบเงื่อนไขมาผลักดัน
สำหรับคนที่อยากทำ ต้องหนุนให้เขานำศักยภาพออกมาใช้

ทานนี้ สำหรับงานระดับบริหารบ้านเมือง หรือจัดการสังคม มีคำเฉพาะคำหนึ่ง เรียกว่า “ธนานุประทาน” ซึ่งเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของผู้ปกครองแผ่นดิน เรียกว่าเป็นจักรวรรดิวัตร

ธนานุประทาน ก็คือการจัดสรรแบ่งปันอำนวยทรัพย์สินรายได้แก่ประชาชน โดยคำนึงถึงคนยากไร้ขาดแคลน ให้ประชาชนทั่วทุกคนมีทางได้ทรัพย์สินเงินทองและเป็นอยู่ได้ หรือจัดการมิให้มีคนจนยากไร้ทรัพย์ไม่มีเงินทองหมดทางทำมาหากิน

การจัดสรรแบ่งปันที่สำคัญ ก็คือ การให้มีอาชีพการงาน ที่เป็นสัมมาอาชีวะ

ในเรื่องนี้ ก็ต้องรู้ว่า คนเรานี้ แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะความอยากหรือความต้องการได้ ๒ พวก ทั้งนี้ต้องรู้จักความอยาก หรือความต้องการ ๒ ประเภทก่อน คือ

๑. ความอยากหรือความต้องการเสพบริโภคบำรุงบำเรอปรนเปรอตัวเองให้มีความสุข เรียกว่า ตัณหา เมื่ออยากเสพบริโภคบำเรอความสุขของตัว ก็ตามมาด้วยความโลภ คืออยากได้เพื่อตัว หรือเห็นแก่ได้

๒. ความอยากหรือความต้องการรู้ความจริงของสิ่งนั้นๆ อยากให้สิ่งนั้นๆ อยู่ในภาวะที่ดีงาม น่าชื่นชมสมบูรณ์ของมัน อยากทำทุกสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องให้อยู่ในภาวะที่ดีที่สมบูรณ์ที่ควรจะเป็นของมัน พูดสั้นๆ ว่า อยากเห็นมันดี และอยากทำให้มันดี เรียกว่าฉันทะ เป็นความต้องการเพื่อสิ่งนั้นๆ ไม่ใช่ความอยากเพื่อตัว ซึ่งถ้าไปเกี่ยวข้องกับคนหรือสัตว์ทั้งหลาย ก็กลายเป็นเมตตากรุณา คืออยากให้เขาดีงามมีความสุข พ้นทุกข์พ้นภัย

ตัวอย่างเช่น เมื่อคนเข้าป่าไปเจอกระรอก คนที่มองกระรอกด้วยตัณหาและโลภะ ก็คิดว่าทำอย่างไรจะได้กระรอกตัวนั้นไปลงหม้อแกงทำกับข้าวกินให้อร่อย แต่คนที่มองกระรอกด้วยฉันทะและเมตตากรุณา ก็สบายตาสุขใจที่ได้เห็นสัตว์น้อยงดงามน่ารัก อยากให้มันมีร่างกายสมบูรณ์แคล่วคล่องน่าชื่นชมทำป่าล้อมรอบให้รื่นรมย์ต่อไป

คนทั่วไป ย่อมมีความอยากทั้งสองอย่างนี้ แต่มีอย่างหนึ่งมากอย่างหนึ่งน้อย ไม่เท่ากัน จึงแบ่งคนได้ตามน้ำหนักว่ามีอย่างไหนมาก ได้มนุษย์ ๒ พวก คือ

พวกที่ ๑ มนุษย์ปุถุชนคนทั่วไปส่วนใหญ่ ยังหนาแน่นด้วยตัณหา และโลภะ ลักษณะทั่วไปของคนเหล่านี้ คือ อยากได้ อยากเอา แต่ไม่อยากทำ ซึ่งมีทางที่จะก่อให้เกิดผลร้ายเสียหายมากมาย ตั้งแต่เกียจคร้าน ไปจนถึงข่มเหงเบียดเบียนแย่งชิงกัน

พวกที่ ๒ มนุษย์ที่มีการศึกษา(ที่แท้จริง) จะหนักไปทางฉันทะ ลักษณะทั่วไปของคนประเภทนี้ คือ อยากค้นคว้าหาความรู้ อยากทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ให้ดี และหาทางแก้ไขปรับปรุงทำสิ่งต่างๆ ให้ดีงามสมบูรณ์

มนุษย์พวกที่ ๒ นี้ มีจำนวนน้อย แต่คนพวกนี้แหละที่เป็นผู้สร้างสรรค์ ก่อให้เกิดความเจริญงอกงามของอารยธรรม ความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมทางจิตใจและทางปัญญา

เมื่อจะจัดการสังคม ก็ต้องบริหารคน ๒ พวกนี้ให้ถูกทาง ซึ่งนอกจากจะให้เขามีรายได้เลี้ยงชีวิตตัวเองแล้ว ก็ให้การงานของเขานำความดีงามความสุขความเจริญมาให้แก่ชีวิตร่วมกันของสังคมด้วย

คนพวกที่ ๑ อยากได้ แต่ไม่อยากทำ ก็อยากได้โดยไม่ต้องทำ ถ้าเป็นไปได้ หรือถ้าโอกาสเปิดให้ ก็จะหาทางได้โดยไม่ต้องทำ หรือทำให้น้อยที่สุด และให้ได้มากที่สุด จึงแสดงออกโดยอาการต่างๆ ตั้งแต่รอเขาให้ คอยขอเอา หวังลาภลอย (เช่นการพนัน) คอยผลดลบันดาล (เช่น เซ่นสรวงอ้อนวอน ลุ่มหลงเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์) ลักขโมย ทุจริต โกงเขา ตลอดจนถ้ามีกำลังก็แย่งชิงข่มเหงกอบโกย

สำหรับคนพวกที่ ๑ ซึ่งหนักด้านตัณหาและโลภะนั้น ผู้บริหารสังคมต้องจัดสรรการงานอาชีพ โดยจัดตั้งระบบเงื่อนไข ที่บังคับให้ “ต้องทำ จึงจะได้” หรือ “จะได้ต่อเมื่อทำ” โดยมีกฎหมายหรือกติกาสังคมที่ศักดิ์สิทธิ์รัดกุม เพื่อให้มั่นใจแน่นอนว่า ต้องทำจึงจะได้ และให้ทุกคนมีอาชีพการงานภายใต้ระบบเงื่อนไขนี้ทั่วกัน

อีกขั้นหนึ่ง ภายใต้ระบบเงื่อนไขนั้น ผู้บริหารสังคมจะกำหนดเลือกเฟ้นสิ่งที่ควรทำให้มาก ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความดีงามและประโยชน์สุขร่วมกัน แล้วกำกับว่า “ยิ่งทำมาก ยิ่งได้มาก” เพื่อผันความโลภมาสู่ผลดีแก่ส่วนรวม พร้อมทั้งวางเงื่อนไขที่จะแบ่งปันลาภที่เขาได้มากจากการโลภมากนั้นออกมา เพื่อเอามาใช้ทำประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม กระจายออกไป

พร้อมกันนี้ ก็จัดให้มีระบบการศึกษาอบรมพัฒนาคนเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อให้ละลดตัณหาและโลภะลงไป โดยทำให้ฉันทะและเมตตากรุณา (ตลอดจนมุทิตา) พัฒนาขึ้นมาแทน

สำหรับคนพวกที่ ๒ ที่หนักในความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ คือมีฉันทะนั้น ผู้บริหารสังคมมีหน้าที่ต้องสืบค้นเฟ้นหา และเอาใจใส่จัดการส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้เขาทำการสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยไม่ต้องห่วงกังวลอะไร เพราะนี่คือสาระของการมีอารยธรรม

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง