๓. การปลูกฝังจริยธรรมต้องดำเนินไปอย่างมีกระบวนการและเป็นระบบ โดยสอดคล้องกับกฎเกณฑ์แห่งสัจธรรมที่รองรับเป็นพื้นฐาน การที่สังคมไทยยอมรับพระพุทธศาสนาและนับถือสืบต่อกันมา ก็เพราะมีความเชื่อในพระปรีชาญาณของพระพุทธเจ้า ว่าได้ทรงค้นพบสัจธรรมและทรงสั่งสอนระบบจริยธรรม ที่ถูกต้องจริงแท้ตรงตามสัจธรรมนั้น จึงเห็นชอบและพอใจที่จะนำเอาหลักเกณฑ์ทางศีลธรรม หรือระบบการปลูกฝังจริยธรรมของพระพุทธศาสนามาใช้เป็นระบบชีวิตทางศีลธรรมของตน
พูดนัยหนึ่งว่า ชาวพุทธนับถือพระพุทธศาสนาก็คือเชื่อในระบบจริยศึกษาแบบพุทธ ดังนั้น ชาวพุทธจึงควรและมีสิทธิที่จะเรียนจริยธรรม ด้วยจริยศึกษาแบบพุทธ การปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องนี้ คือช่วยกันค้นหาให้พบและจัดจริยศึกษาแบบพุทธให้แก่ผู้เรียนที่เป็นพุทธศาสนิกชน การนำเอาจริยธรรมสากลมาให้นักเรียนที่เป็นพุทธศาสนิกเรียน มองในแง่หนึ่ง ก็เหมือนกับการบังคับหรือใช้กลวิธีชักจูงให้นักเรียนที่เป็นพุทธศาสนิกเปลี่ยนศาสนาจากพุทธศาสนามานับถือศาสนาที่เรียกว่าจริยธรรมสากลแทน อาจจะกลายเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของชาวพุทธเหล่านั้นไปก็ได้ เมื่อจัดไป แทนที่จะได้ผลดี ก็จะกลายเป็นเสียทั้งคู่ ไม่ได้ผลเลยทั้งสองทาง
จริยธรรมที่นักวิชาการจัดรูป หรือค้นคว้าหามาใหม่ จะเรียกว่าจริยธรรมสากลหรืออะไรก็ตาม อาจจะเกิดขึ้นหรือได้มาเพียงจากการมาพบปะถกเถียงกัน ในการประชุมเพียงบางครั้งบางคราว ชั่วเวลาสั้นๆ ของผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จับเลือกๆ เอาหัวข้อจริยธรรมจากผลงานของนักปราชญ์และพระศาสดาต่างๆ มาลงรายการเป็นบัญชีไว้ หรือเอามาผสมผสานกัน โดยที่แต่ละท่านมิใช่เป็นผู้ที่ได้หยั่งรู้ธรรม และมิได้อุทิศตนให้แก่งานทางจริยธรรมอย่างเป็นชีวิตจิตใจ อาจจะกลายเป็นการตั้งระบบจริยธรรมใหม่ หรือตั้งศาสนาใหม่ของผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้น
จริยธรรมอย่างนั้นจึงเสี่ยงต่อการที่จะเป็นจริยธรรมแบบเก็บเล็กผสมน้อย หรือสิ่งละอันพันละน้อย ที่เกิดจากการเก็บเลือกผสมผสาน โดยกลุ่มคนที่ไม่รู้จริง และไม่ได้คิดจริงทำจริงในเรื่องจริยธรรม ซึ่งนอกจากจะแปลกแยกจากระบบจริยธรรม ที่มีอยู่ในรากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมไทยแล้ว ก็ไม่เป็นจริยธรรมที่เป็นระบบซึ่งจะทำให้มีการพัฒนามนุษย์อย่างเป็นกระบวนการ จึงน่าจะหวังความสัมฤทธิ์ผลได้ยาก
ถ้าสังคมไทยยอมรับจริยธรรม ตามระบบที่พระพุทธศาสนาสอนไว้ และพระพุทธศาสนาก็มีอยู่แล้ว เป็นสิ่งหาได้ง่ายในสังคมไทย การจัดหาจริยธรรมสากลเป็นเรื่องวุ่นวายที่จะต้องมาตั้งต้นกันใหม่ กลายเป็นการทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก จะทำไปเพื่อเหตุผลอันใด