กล่าวโดยสรุป ถ้ามองจริยธรรมสากลในความหมายของพระพุทธศาสนา ความเป็นสากลนั้น ไม่ใช่อยู่ที่ความเป็นกลาง แต่อยู่ที่ความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นความเป็นกลางที่แท้จริง จริยธรรมดังกล่าวนี้ แตกต่างจากจริยธรรมอย่างที่เข้าใจกันในตะวันตก โดยสาระสำคัญ ๓ ประการคือ
๑) จริยธรรมนั้น เป็นหลักความจริง ที่เป็นไปตามระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยที่เป็นกฎธรรมชาติ คือเป็นไปโดยสอดคล้องกับสัจธรรม มีสัจธรรมเป็นรากฐาน และแยกออกได้จากบัญญัติธรรมที่เป็นข้อกำหนดของสังคม
๒) การพัฒนาจริยธรรม หรือจริยศึกษา เป็นกระบวนการที่องค์ประกอบหรือส่วนย่อยต่างๆ ของการศึกษา ต่างก็พัฒนาขึ้นโดยเป็นปัจจัยแก่กันและกัน ภายในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ซึ่งส่งผลประสานกลมกลืนกันเป็นการพัฒนาขององค์รวม
๓) การพัฒนาจริยธรรม หรือจริยศึกษา มิใช่มีความหมายแคบเป็นเพียงเรื่องของพฤติกรรมทางสังคม แต่เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตทั้งหมด และมิใช่เป็นส่วนย่อยที่แยกออกมาต่างหาก เป็นหน่วยหนึ่งหรือด้านหนึ่งของการศึกษา แต่เป็นส่วนที่แทรกประสานกลมกลืนอยู่กับทุกด้านของการศึกษา ไม่ใช่เป็นเหมือนกับข้าวอย่างหนึ่งที่แยกอยู่ในจานหนึ่งต่างหากบนโต๊ะอาหาร แต่เป็นเหมือนช้อนส้อม (หรือให้ชัดกว่านั้นก็เหมือนมือที่ถือช้อนนั่นเอง) ที่จัดสรรให้อาหารทุกจานบนโต๊ะนั้นเป็นไปในอาการที่จะสัมฤทธิ์วัตถุประสงค์ของการกินอาหาร
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาของยุคปัจจุบัน วัฒนธรรมตะวันตกได้เป็นที่นิยมยอมรับกันทั่วไปและได้แพร่ขยายอิทธิพลออกไปครอบงำความคิดของคนสมัยใหม่ทั่วทั้งโลก จนกระทั่งความเป็นของตะวันตกมีความหมายอย่างเดียวกับความเป็นสากล คือถ้าเป็นสิ่งที่มาจากตะวันตก ก็กลายเป็นสากล
ว่าเฉพาะในเรื่องจริยธรรมหรือศีลธรรม อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก ก็ได้เข้าครอบงำเช่นเดียวกัน คนทั่วไปได้นำเอาภาพและความหมายของจริยธรรมอย่างที่เข้าใจกันในตะวันตก มาสวมใส่ให้แก่จริยธรรมในพระพุทธศาสนาด้วย จริยธรรมในพระพุทธศาสนาจึงถูกมองในความหมายอย่างเดียวกับจริยธรรมที่สืบๆ กันมาในสังคมตะวันตก
ประจวบกับว่า ในประเทศพุทธศาสนาเอง กระแสการศึกษาพระพุทธศาสนาได้อ่อนกำลังลงอย่างมาก พุทธศาสนิกชนเองจำนวนมาก ซึ่งอยู่ในวงล้อมของความเชื่อถือที่สืบทอดกันมาจากศาสนาเก่าก่อนและศาสนาอื่นๆ ทั่วไป ก็มีความเข้าใจเลือนลาง ไม่สามารถแยกระบบจริยธรรมของพระพุทธศาสนาออกจากสายความคิดแบบอื่นได้ชัดเจน เมื่ออิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกท่วมท้นเข้ามา จริยธรรมของพระพุทธศาสนาจึงถูกเหมารวมเข้าไปอยู่ในภาพจริยธรรมแบบตะวันตกด้วย
ถึงเวลาที่จะต้องให้รู้ความจริงว่า จริยธรรมมิใช่มีแต่ในความหมายที่เข้าใจกันตามแบบของวัฒนธรรมตะวันตกเท่านั้น และควรจะศึกษาให้ถ่องแท้ว่า จริยธรรมในความหมายของพระพุทธศาสนา แตกต่างจากจริยธรรมในความหมายของตะวันตกอย่างไร เฉพาะอย่างยิ่ง ควรจะได้ศึกษาและใช้ประโยชน์จากระบบจริยธรรมสากลแห่งความเป็นจริงที่มีอยู่แล้ว มิใช่ตามเขาเข้าไปร่วมหลงวนเวียนอยู่กับการหาทางออกของจริยธรรมแบบตะวันตก ที่พยายามคลำหาความเป็นสากล แต่ยังไม่สามารถถอนตนให้พ้นออกไปได้จากอิทธิพลที่ครอบงำแห่งวัฒนธรรมของตน
แม้ว่าตะวันตกจะผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว แต่ค่านิยมแห่งยุคสมัยที่ยังค้างอยู่ จะผลักดันให้เขาก้าวต่อไปบนเส้นทางแห่งการแสวงหาระบบจริยธรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์ แม้ว่าตะวันตกจะยังติดร่องคารางเก่า แต่ความใฝ่รู้ที่เขามีอยู่เป็นพื้นฐาน คงจะพาเขาออกมาพบกับจริยธรรมสากลแห่งความเป็นจริง ที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งสัจธรรมได้ต่อไป
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่เราจะคอยตามหรือคอยรอเขาในเรื่องนี้ ในเมื่อแท้ที่จริง เราควรจะนำเขา หรืออย่างน้อยก็เอื้อประโยชน์แก่เขาได้ ในการที่จะก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางแห่งการแสวงหานั้น
หากยังใฝ่ปรารถนาจริยธรรมที่มีชื่อว่าเป็นสากล ก็ต้องเข้าถึงความเป็นสากลที่แท้ นั่นคือ ความเป็นสากลซึ่งอยู่ที่ความเป็นจริง ไม่ใช่สากลเพียงเพราะความเป็นกลาง หรือถ้ายังติดใจจะมีจริยธรรมที่เป็นกลาง ก็ต้องก้าวต่อไปให้ข้ามพ้นความเป็นกลางเทียม ที่คอยประนีประนอมอยู่กึ่งทางระหว่างมนุษย์ฝ่ายต่างๆ อย่างไม่มีจุดยืนของตนเอง และเข้าให้ถึงจริยธรรมแห่งความเป็นกลางที่แท้ ซึ่งมีจุดยืนที่แน่นอน คือสัจธรรม เป็นจริยธรรมที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งความจริง มีสัจธรรมเป็นรากฐาน รวมอยู่ในระบบความสัมพันธ์ตามกฎธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย