ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จริยธรรมสากล
ทางตันของการแก้ปัญหาในยุคนิยมวิทยาศาสตร์

เมื่อสืบค้นให้ลึกลงไปถึงรากฐาน ก็จะเห็นสาเหตุใหญ่ของความเป็นมาที่ไม่ราบรื่นของจริยธรรมสากลในประเทศอเมริกา ซึ่งเป็นเรื่องของภูมิหลังทางศาสนาและวัฒนธรรมทั้งหมดของประเทศตะวันตก

ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา สังคมตะวันตกไม่เคยรู้จักระบบจริยธรรมหรือหลักเกณฑ์ทางศีลธรรม ที่เป็นไปตามหลักการแห่งเหตุและผล หรือหลักความเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่เรียกว่ากฎธรรมชาติ แต่จริยธรรมหรือกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมในวัฒนธรรมตะวันตกนั้น เป็นบัญญัติทางศาสนา ในความหมายที่ว่า เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับจากเบื้องบน อย่างที่เรียกว่า เทวบัญชา หรือเทวโองการ ซึ่งมนุษย์หรือศาสนิกจะต้องเชื่อฟังอย่างเด็ดขาดตายตัว ไม่มีทางโต้แย้ง หรือแม้แต่ตั้งข้อสงสัย หากผู้ใดละเมิดหรือฝ่าฝืน ก็จะต้องถูกตัดสินลงโทษจากเบื้องบนนั้น ส่วนผู้ใดเชื่อฟังและปฏิบัติตาม ก็จะได้รับรางวัล เช่นส่งไปสวรรค์ เป็นผลตอบแทน

ด้วยเหตุนี้ เมื่อประชาชนนับถือลัทธิหรือนิกายศาสนาต่างกัน ยึดถือในข้อปฏิบัติที่เป็นข้อบัญญัติทางศาสนาที่แตกต่างกัน แต่ละฝ่ายก็จะต้องให้ฝ่ายอื่นถือตามอย่างตนอย่างไม่มีทางยืดหยุ่นได้ จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องเกิดความขัดแย้งหรือทะเลาะวิวาทกัน และข้อนี้แหละจึงเป็นเหตุให้ประเทศประชาธิปไตยหาทางออก โดยพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีแสวงหาหรือจัดสร้างจริยธรรมชนิดที่เป็นกลางๆ ที่ทุกฝ่ายจะยอมรับได้ และบางครั้งก็พยายามเรียกในทำนองว่าเป็นจริยธรรมสากล แล้วไปๆ มาๆ จริยธรรมแบบกลางนั้นก็จะกลายเป็นศาสนาอีกศาสนาหนึ่งขึ้นมาเสียเอง ซึ่งเมื่อทางการฝ่ายการศึกษายอมรับ ก็มีผลเป็นการขับไล่หรือกีดกันลัทธิศาสนาต่างๆ ออกจากวงการการศึกษา พร้อมทั้งเกิดความขัดแย้งกับองค์กรทางศาสนาและประชาชนที่เชื่อถือในคำสอนของศาสนานั้นๆ

นอกจากทำให้เกิดปัญหาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์เจริญขึ้น ประเพณีการถือจริยธรรมตามบัญญัติจากเบื้องบนของศาสนาแบบเทวบัญชานั้น ก็ส่งผลย้อนกลับในทางลบต่อจริยธรรมเอง กล่าวคือ คนในยุคใหม่ที่ชื่นชมนิยมวิทยาศาสตร์ พากันมองว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของบทบัญญัติทางศาสนา ที่กำหนดกันขึ้นเอง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือถึงกับเห็นว่าเป็นเรื่องของความเชื่อเหลวไหลงมงายไปก็มี ดังนั้น คนสมัยใหม่เหล่านี้ จึงขาดความซาบซึ้งในคุณค่าและความสำคัญของจริยธรรม แล้วก็ไม่ใส่ใจในเรื่องจริยธรรม

ในเวลาเดียวกันและในทางกลับกัน เพราะเหตุที่มีภาพและความเข้าใจต่อจริยธรรมแบบนี้ วิทยาศาสตร์ก็เลยมองศาสนาและจริยธรรมเป็นเรื่องของคุณค่าที่เลื่อนลอย ซึ่งมนุษย์คิดนึกกำหนดกันขึ้นมาเอง ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงตามเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ จึงไม่สนใจที่จะศึกษาเรื่องจริยธรรมตามวิธีวิทยาศาสตร์ แล้วท่าทีหรือทัศนคตินี้ก็กลายเป็นฉากกั้นวิทยาศาสตร์นั่นเอง ไม่ให้เข้าถึงความจริงที่ครอบคลุม คือกลายเป็นจุดบกพร่องในตัวของวิทยาศาสตร์เอง ที่ไม่สามารถแสดงธรรมชาติของโลกและชีวิตให้สมบูรณ์ หรือช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริงขั้นสุดท้ายได้ เพราะโดยที่แท้แล้วสรรพสิ่ง ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ย่อมรวมอยู่ในระบบความสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียวกัน การรู้ไม่ทั่วถึงความจริงของส่วนหนึ่ง ย่อมทำให้ความรู้ในความจริงของอีกส่วนหนึ่งบกพร่องไปด้วย

นอกจากนั้น ความยึดถือในวิทยาศาสตร์ ยังได้กลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความจริงด้านอื่นของธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์มองข้ามไปอีกด้วย เพราะคนจำนวนมาก ที่ยึดมั่นในวิทยาศาสตร์ ได้ยึดถือเลยไปถึงว่าความจริงตามแบบแผนของวิทยาศาสตร์อย่างที่ถือกันมาเท่านั้น จึงจะเป็นสัจธรรม เลยเป็นเหตุปิดกั้นการค้นคว้าหาความจริงด้านอื่นหรือระดับอื่นนั้นเสีย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.