ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

เมื่อพูดอย่างรวบรัด รัฐควรจัดหลักสูตรการศึกษาให้คนไทยส่วนใหญ่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุผลสำคัญ ๓ ประการ คือ

  1. คนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนควรมีความรู้ความเข้าใจ และปฏิบัติถูกต้องต่อศาสนาที่ตนนับถือ
  2. คนทุกคนที่อยู่ในสังคมไทย ควรเรียนรู้พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นสถาบันใหญ่ และเป็นสภาพแวดล้อมของสังคมไทย เพื่อดำเนินชีวิตและทำงานหรือทำหน้าที่ที่เป็นส่วนร่วมของตน ในการพัฒนาสังคมไทยนั้น อย่างประสานกลมกลืน และได้ผลดี
  3. สังคมไทยอาศัยพระพุทธศาสนา เป็นแหล่งคำสอนจริยธรรม และได้ยอมรับระบบจริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นมาตรฐานที่ยึดถือปฏิบัติตามตลอดมา คนไทยจึงควรเรียนรู้พุทธจริยธรรม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาชีวิตพัฒนาสังคมให้บรรลุประโยชน์และสันติสุข

พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับคนไทย และสังคมไทยในแง่ด้านต่างๆ มากหลาย คนไทยควรศึกษาพระพุทธศาสนาในแง่ด้านต่างๆ เหล่านั้นให้ครบถ้วนตามฐานะต่างๆ ดังนี้

  1. พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นสถาบันสังคมที่ใหญ่และสำคัญมากในประเทศไทย
  2. พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่แผ่กว้างครอบคลุมสังคมไทย
  3. พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นเนื้อหาสาระส่วนสำคัญและเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย
  4. พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นมรดกของชนชาติไทย
  5. พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนาซึ่งคนไทยส่วนใหญ่นับถือ และเป็นศาสนาประจำชาติไทย
  6. พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นหลักคำสอนและระบบจริยธรรมสำหรับพัฒนาชีวิตและสังคม
  7. พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวิชาการ ซึ่งเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าทางปัญญาให้แก่สังคมมนุษย์
  8. พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นแหล่งหนึ่ง แห่งอารยธรรมของมนุษยชาติ

การศึกษาพระพุทธศาสนานั้น อาจจัดแยกออกได้เป็น ๒ หมวดใหญ่ คือ

๑. การศึกษาภาคเนื้อหา ได้แก่ ข้อมูลความรู้ หรือสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่งคนไทยและพุทธศาสนิกชนควรจะต้องรู้ตามสมควรแก่ฐานะของตน และเพื่อความเป็นชาวพุทธที่ดี เช่น พุทธประวัติ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณีไทยที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา และหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา

๒. การศึกษาภาคปฏิบัติการ ได้แก่ การพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ซึ่งพร้อมที่จะอยู่ร่วมด้วยดีและมีส่วนในการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะรู้จักนำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามาใช้ปฏิบัติ เพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาของท้องถิ่นและยุคสมัยนั้นๆ ได้

การศึกษาภาคเนื้อหา เป็นสิ่งสำคัญ และมีความจำเป็นในขั้นพื้นฐาน แต่ถ้าหยุดอยู่เพียงนั้น ก็จะไม่เป็นการศึกษาที่แท้จริง เพราะจะไม่เกิดการฝึกฝนพัฒนาแก่ชีวิตของบุคคล และไม่สำเร็จประโยชน์แก่สังคม เมื่อศึกษาภาคเนื้อหาข้อมูลพอสมควรแล้ว จะต้องเน้นภาคปฏิบัติการในการฝึกฝนพัฒนา ให้รู้จักปฏิบัติต่อประสบการณ์ หรือสถานการณ์ต่างๆ อย่างถูกต้อง สามารถนำข้อมูลที่ได้เรียนรู้ไว้ไปใช้ประโยชน์ โดยให้รู้จักคิดเป็น พูดเป็นหรือสื่อสารเป็น ทำเป็นผลิตเป็น และแก้ปัญหาเป็นด้วย

การศึกษาภาคปฏิบัติการนั้น มีลักษณะสำคัญ คือ

- พัฒนาความสามารถที่จะนำความรู้ที่ได้เรียนในภาคเนื้อหามาใช้ให้เกิดผลจริง

- เป็นการเรียนโดยยกเอาวัตถุประสงค์หรือปัญหาเป็นตัวตั้ง เช่น ตั้งหัวข้อว่า "เรียนอย่างไรจึงจะได้ผลดี?" "ทำอย่างไรครอบครัวของเราจึงจะมีความสุข?" "ชุมชนของเราจะพัฒนาได้อย่างไร?" "สังคมอุตสาหกรรมที่ดีควรเป็นอย่างไร?" "รับฟังข่าวสารอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์?" "ท้องถิ่นนี้ชอบเล่นการพนัน จะแก้ปัญหาอย่างไร?" ฯลฯ

- กระบวนการเรียนการสอนเน้นวิธีบูรณาการ แต่แทนที่จะบูรณาการพระพุทธศาสนา หรือจริยธรรมเข้าในวิชาต่างๆ กลับเอาวิชาอื่นๆ ทุกวิชามาบูรณาการเข้า โดยมีวิชาพระพุทธศาสนาหรือจริยศึกษาเป็นสนาม และเอาธรรมเป็นแกนของการบูรณาการ

การเรียนการสอนตามหลักการนี้จะสำเร็จผลได้ จะต้องมีวิธีสอนที่ดี เฉพาะอย่างยิ่งต้องได้ครูที่มีความรู้ความสามารถมีคุณภาพสูง เพราะการที่จะบูรณาการวิชาต่างๆ ทุกวิชาเข้าด้วยกัน โดยมีจริยธรรมเป็นแกนในสนามรวมแห่งพระพุทธศาสนาหรือจริยศึกษานั้น มิใช่เป็นงานที่ครูไหนๆ ก็ทำได้ จึงต้องมีการเน้นย้ำในเรื่องการฝึกหัดและพัฒนาครู ซึ่งโยงไปถึงการที่รัฐจะต้องมีนโยบายส่งเสริมยกระดับ และยกฐานะครู พร้อมไปด้วยกันกับการให้ความสำคัญแก่การศึกษาพระพุทธศาสนาและจริยศึกษา ในเรื่องนี้ บางที พ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษา ๒๕๓๑ ของอังกฤษ อาจมีแง่คิดหรือข้อเตือนสติอะไรบางอย่าง ที่เราควรจะพิจารณาอยู่บ้าง ท้ายที่สุดสิ่งหนึ่งที่พึงย้ำไว้ ก็คือ รัฐจะต้องตกลงที่จะพยายามส่งเสริมให้ระบบการคัดเลือกคน ในทางการศึกษาออกผลมาในรูปที่ว่า ผู้ที่เป็นยอดคนจึงมาเป็นครู และผู้ที่เป็นยอดครู จึงมาเป็นครูสอนพระพุทธศาสนาหรือครูจริยศึกษา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.