ความรุนแรง เกิดจากความอ่อนแอและวินัยไม่มีเสรีภาพก็หายไป

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ตบะทำไมมาอยู่ที่ขันติ

มีข้อน่าสังเกตในบางคาถา หรือในบางบท บางส่วน บางตอน ของโอวาทปาติโมกข์ ลองดูกันหน่อย

เริ่มด้วยคาถาที่หนึ่ง ขึ้นต้นว่า “ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา” แปลว่า ขันติ คือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง หรือว่า ตบะอย่างยอดเยี่ยมก็คือขันติ นี่คือธรรมที่มาเป็นข้อแรกสุด

หลายท่านมองไม่เห็นว่า ขันติ ความอดทนนี่จะเป็นตบะได้อย่างไร ก็ขออธิบายให้ข้อสังเกตไว้

พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ก็เพราะว่า ในสมัยนั้น พวกนักบวชชอบบำเพ็ญตบะ การบำเพ็ญตบะก็คือทรมานร่างกาย และการที่จะทรมานร่างกาย ก็ต้องใช้ความเพียรพยายาม

เขามีความเพียรพยายาม แต่แทนที่จะเอาไปใช้กับการทำงานหรือการสร้างสรรค์อะไร ก็เอามาใช้กับร่างกายตัวเอง แถมพยายามคิดหาทางบีบคั้นทรมานมันให้เต็มที่ เรียกว่าใช้กำลังความเพียรทั้งทางกายทางใจและทางปัญญามาห้ำหั่นตัวเอง

พวกนักบวชที่บำเพ็ญตบะ ก็ไปนอนบนหนามบ้าง ไปนั่งนอนยืนแช่ตัวกลางแม่น้ำในฤดูหนาวบ้าง ไปยืนกลางแดดในฤดูร้อนตอนร้อนที่สุดตลอดทั้งวันบ้าง เอาขางอเข้าคาบกิ่งไม้ห้อยหัวลงมาทั้งคืนทั้งวันเหมือนค้างคาวบ้าง ตลอดจนกลั้นลมหายใจ อดอาหาร อย่างนี้เรียกว่าบำเพ็ญตบะ

พวกนักบวชนั้นมุ่งมั่นทำอย่างนี้โดยนึกว่าจะเป็นทางที่ทำให้เขาบรรลุโมกษะ คือความหลุดพ้น

เขาถือว่า ร่างกายคนเรานี้มันกระหายอยาก คอยยั่วยุและปลุกเร้ากิเลส ทำให้เราเสื่อมทรามตกต่ำ พาให้จิตใจมัวเมาหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เลวร้าย ก็เลยจะต้องทรมานมันเพื่อให้จิตเป็นอิสระพ้นไปจากเรื่องของกิเลสที่วุ่นวาย จะได้พัฒนาสูงขึ้นไป ดังนั้น เขาจึงบำเพ็ญตบะกันยกใหญ่

พระพุทธเจ้าก็มาทรงสอนเปลี่ยนใหม่ว่า พุทธศาสนาไม่ถือว่าการทรมานร่างกายนั้นเป็นตบะ

แทนที่จะเอาเรี่ยวแรงกำลังความเข้มแข็งอดทนเพียรพยายามนั้นมาใช้ทรมานร่างกายตัวเอง เราก็เอาไปใช้ทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาชีวิตของตัวเองไปเลย แล้วเรี่ยวแรงกำลังความเข้มแข็งก็จะเกิดผลดีขึ้นมา นี่แหละคือ ขันติ

ความเข้มแข็งนี้ปรากฏออกมาในรูปของความทนทานหรือความอดทน ถ้าเป็นวัตถุเราเรียกว่าทนทาน ถ้าเป็นจิตใจก็เรียกว่าอดทน ได้แก่ความเข้มแข็งอดทนที่จะบุกฝ่าไปให้ถึงความสำเร็จ นี่ก็คือมาทบทวนความหมายในเรื่องขันติ

ขันติ นี้มี ๓ ด้าน ๒ อาการ

เอา ๓ ด้านก่อน ได้ยินกันบ่อยๆ แล้ว อะไรบ้าง

๑. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ คนที่ทำงานทำการต่างๆ นี่ ต้องมีความลำบาก ต้องเจอความยาก ต้องพบกับภาระต่างๆ อาจจะต้องเดินทางไกลบ้าง เจองานที่ต้องใช้สมองอย่างหนัก หรือต้องใช้เวลายาวนานบ้าง ต้องเหน็ดเหนื่อย ตรากตรำอะไรต่างๆ

ถ้าเป็นคนที่ไม่มีความอดทน ไม่มีความเข้มแข็ง ก็จะท้อถอย อาจจะเลิกล้มเสียในระหว่าง หรือทำไม่สำเร็จ อย่างน้อยก็ฝืนใจทำด้วยความทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีขันติ

ขันติ คือความเข้มแข็งอดทน จะทำให้สู้ไหว สามารถเอาชนะความยากลำบากตรากตรำ และนำไปให้ถึงความสำเร็จได้ นี่คือด้านที่หนึ่ง อดทนต่อความลำบากตรากตรำ

๒. อดทนต่อทุกขเวทนา คือทนต่อความเจ็บปวดไม่สบาย เช่น เจ็บไข้ หรือแม้แต่เมื่อยล้า อันเป็นธรรมดาของคนที่ต้องค้างอยู่ในบางอิริยาบถนานๆ อย่างญาติโยมที่นั่งกันอยู่นี่ ก็อาจจะเมื่อยได้

ในเมื่อเรามีสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ และมันไม่เหลือวิสัย แม้แต่เจ็บไข้และบำบัดรักษากันอยู่ ถ้าเราไม่มีความอดทน มัวแต่โวยวาย ก็ยิ่งทำให้ยุ่งยาก บางทีเรื่องเล็กก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องที่จะสำเร็จได้ ก็เลยล้มไปเสียกลางคัน หรือไม่ก็ยืดเยื้อ

เพราะฉะนั้น แทนที่จะโวยวาย ก็ทำไปตามเหตุตามผล ควรทนได้ก็ทน มีทุกขเวทนาบ้างก็ต้องยอมรับ

อย่างในครอบครัวนี่ ถ้ามีความเจ็บไข้ แม้แต่เล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ใช่ไปประมาทปล่อยปละละเลย ต้องเอาใจใส่บำบัดรักษา แต่พร้อมกันนั้น ก็ต้องมีความอดทน มิฉะนั้นอาจจะกลายเป็นการทำให้เรื่องบานปลาย อย่างคนที่เอาแต่โวยวายๆ แล้วแก้ไขปัญหาก็ไม่ได้ผลดี

จึงต้องมีความอดทนต่อทุกขเวทนาบ้าง แล้วก็แก้ไขปัญหากันด้วยปัญญา ให้ตรงเหตุตรงปัจจัย ก็จะช่วยให้สำเร็จผลด้วยดี

๓. อดทนต่อสิ่งกระทบใจ ถ้อยคำของคนอื่นที่พูดไม่ตรงใจเรา หรืออาการกิริยาของเขาที่ไม่ถูกใจเรา ก็ทำให้กระทบกระทั่งกัน แม้แต่ในครอบครัว ก็ต้องมีความอดทน อดทนต่อประดาอารมณ์ดีร้ายที่มาในรูปแบบต่างๆ

พูดง่ายๆ ว่า เมื่อเจอเรื่องราวหรือสิ่งที่กระทบกระทั่งใจเข้า อย่าเพิ่งวู่วาม ตั้งสติชะลอไว้ ให้เวลาแก่ความคิด แล้วเอาปัญญามาค่อยๆ คิด และใช้วิธีของเหตุผล ค่อยๆ พูด ค่อยๆ จากัน ก็จะทำให้แก้ปัญหาไปได้ ถ้าวู่วามไป ก็ยิ่งวุ่นวายใหญ่

ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องระดับชาติ ระดับโลกเลยทีเดียว ที่คนมักทนรอฟังกันไม่ได้ เช่น คนที่ถือต่างลัทธิ ต่างศาสนา พูดจาอะไรกระทบกันไม่ได้ จะต้องเกิดเรื่องเกิดราวทะเลาะกันจนถึงกับทำสงครามเลยทีเดียว

การที่สังคมเล็ก สังคมโลก วุ่นวายกันเวลานี้ เหตุใหญ่อย่างหนึ่งก็เพราะขาดความอดทน แล้วดูซิเวลานี้ เมื่อขาดขันติธรรม ปัญหาใหญ่ขนาดไหน

เพราะฉะนั้น ในระดับโลกต้องมีการย้ำเรื่องนี้กันให้มาก เฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องศาสนาและลัทธินิยมอุดมการณ์ต่างๆ ต้องให้มีขันติธรรม ฝรั่งก็พูดกันนัก เรียกว่า Tolerance แล้วก็พยายามกันมาหลายร้อยปีไม่รู้กี่ศตวรรษ ก็ยังยุ่งอยู่นั่นเอง คนพัฒนา Tolerance ไม่ขึ้น มีแต่สงครามที่ยิ่งพัฒนา สันติภาพยิ่งห่างออกไป

มองให้ไกลจะเห็นว่า เรื่องขันติธรรมความอดทนในข้อ ๑ ของโอวาทปาติโมกข์นี้ มีความหมายกว้างขวางมาก กินวงมาถึงการแก้ปัญหาของโลกปัจจุบัน ในการที่จะให้มีสันติภาพ ต้องรู้ว่าโลกที่มันวุ่นวาย ก็เพราะขาดขันติธรรมนี้ด้วย

รวมแล้วก็มี ๓ อย่างนี้

  1. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ
  2. อดทนต่อทุกขเวทนา
  3. อดทนต่อสิ่งกระทบกระทั่งใจ
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง