ความรุนแรง เกิดจากความอ่อนแอและวินัยไม่มีเสรีภาพก็หายไป

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

มีเสาหลักหลากหลาย จึงค้ำสังคมให้ก้าวไปได้มั่นคง

แต่สังคมต้องมีหลักหลายหลักมาช่วยส่งต่อกัน ไม่ใช่มีแต่เสาหลักใหญ่อย่างเดียว ต้องมีเสารองเสาเล็กเรียงรายถัดกันไป

บางคนมีกำลังมาก ก็เอื้อมไปยึดถึงเสาหลักใหญ่ได้ และมีกำลังสู้กับกระแสต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาไหว

บางคนยึดเกาะหลักไว้ แต่พอกระแสลมกระแสน้ำมาแรง ทนไม่ไหว มือที่ยึดเกาะไว้ก็หลุด แล้วก็ถูกพัดพาไหลไปตามกระแส

บางคนเกาะไม่ถึง หรือแม้แต่ใจก็ไปไม่ถึงหลักใหญ่นั้นเลย ก็เคว้งคว้างอยู่ ถ้าไม่มีหลักอะไรใกล้ตัว ก็รอแต่จะถูกพัดพาไหลไปอย่างเดียว

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีทั้งหลักใหญ่หลักย่อมหลักย่อยต่างขนาดกันไปตามลำดับ เรียงรายรับช่วงต่อทอดกันไปในสังคม

เวลานี้ที่สังคมเป็นปัญหา ก็เพราะเสาหลักไม่ค่อยมี ถึงจะมีเสาหลักใหญ่ แต่ก็ไปกันไม่ค่อยถึง หรือไม่มีกำลังที่จะยึดจะเกาะให้มั่น ข้อสำคัญคือไม่มีเสาหลักย่อมๆ เล็กๆ ไว้เสริม พอถูกกระแสซัดพลัดจากเสาหลักใหญ่ ไม่มีเสาเล็กเสาน้อยมาช่วยที่จะยึดได้ ก็ไปเลย เพราะฉะนั้น สังคมจะต้องมีเสาเล็กเสาน้อยมาช่วยเสริม

เพราะเสาหลักต้นทางหักหาย สังคมไทยจึงเสี่ยงภัยเต็มที่

เสาหลักที่ควรเป็นที่ยึดเหนี่ยวในสังคมมีมากมาย ลองดูในสังคมของเรานี้ว่ามีอะไรบ้าง

๑. พ่อแม่ เป็นเสาหลักสำคัญ เรามีความซาบซึ้งในพระคุณของพ่อแม่ เมื่อระลึกถึงท่าน ก็มองเห็นคุณค่าที่เกิดจากพระคุณความดีของท่าน ไม่ใช่สักแต่เรียกว่า คุณพ่อ-คุณแม่ เฉยๆ โดยไม่เห็นคุณค่า

“คุณพ่อ-คุณแม่” ต้องหมายถึงคุณค่าของคุณพ่อ-คุณแม่ ที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งพระคุณความดีของคุณพ่อ-คุณแม่นั้น

ทีนี้ พอระลึกถึงคุณพ่อ-คุณแม่ ความซาบซึ้งในพระคุณของท่านก็แผ่ซ่านขึ้นมาในใจด้วยทันที เท่านี้แหละ กำลังศรัทธาก็มาเลย ได้เครื่องยึดเหนี่ยวใจแล้ว

พอจะไปทำอะไรที่ไม่ดี นึกขึ้นมาว่า ไม่ได้นะ เพื่อเห็นแก่คุณแม่ อันนี้ต้องงด

ในทางตรงข้าม พอมีความดีอะไรที่จะพึงทำ นึกขึ้นมาว่า ช้าไม่ได้นะ เพื่อเห็นแก่คุณแม่ อันนี้ ถึงจะยาก ก็ต้องทำ

เช่นเดียวกัน เพื่อเห็นแก่คุณพ่อ อันนี้ไม่เอา เพื่อเห็นแก่คุณพ่อ อันนี้ต้องทำ

นี่แหละคือเสาหลักแห่งศรัทธา เสาแรก ที่เป็นหลักต้นทาง

แต่น่าหวั่นใจว่า ในสังคมไทยปัจจุบัน หลักนี้ทำท่าง่อนแง่น อ่อนแอ ตัวยึดคือศรัทธา ก็อ่อนกำลัง

เมื่อขาดกำลังศรัทธาที่จุดต้นทางนี้แล้ว เด็กไทยก็เคว้งคว้าง รอแต่จะเป็นเหยื่อของประดากระแสร้ายตั้งแต่ที่บ้านในครอบครัว

ถ้าเสาหลักรายทางยังหาได้ ความปลอดภัยก็ยังพอมี

๒. ครู ต่อไป ในสังคมไทยสืบมา เรามีคุณครู พระคุณของครูก็เช่นเดียวกัน นึกถึงคุณครูก็สะกดอยู่เหมือนกัน พอนึกขึ้นมาว่าคุณครูสอนไว้อย่างนี้ ก็ยั้งก็หยุดได้ ไม่ยอมไปตามกระแสนั้น ไปแต่ในทางดี

๓. อุปัชฌาย์อาจารย์ นอกจากคุณครูแล้ว ก็มีคุณวัด ไม่เฉพาะพระศาสนาที่เป็นนามธรรมเท่านั้น เรามีพระสงฆ์เริ่มตั้งแต่อุปัชฌาย์อาจารย์

คนสมัยก่อน พอนึกถึงอุปัชฌาย์อาจารย์ ก็เตือนใจให้ระลึกถึงคำสอน ให้เว้นจากความชั่ว และเกิดกำลังใจที่จะทำความดี อย่างน้อยก็เป็นเครื่องยับยั้งชั่งใจตัวเองให้หยุดให้ละความชั่ว

๔. วัฒนธรรม นอกจากวัดวาอารามก็มีอีก “วัฒน์” หนึ่ง คือ วัฒนธรรม ซึ่งเป็นเครื่องนำใจนำสังคมที่สำคัญ คนที่ยินดีภูมิใจในวัฒนธรรมของตน ก็มีหลักยึดเหนี่ยวให้มีกำลังที่จะป้องกันตัวจากทางที่เสียหาย และก้าวไปในทางที่ดีงามสร้างสรรค์ได้

เพราะหลักสี่โคลงเคลง สังคมไทยจึงวังเวงน่ากลัว

ที่น่ากลัวก็คือ ในปัจจุบัน กำลังนอกเหล่านี้ที่จะมาช่วยโยงกับกำลังภายใน พากันอ่อนแรง ป้อแป้ไปหมด

กำลังพระคุณพ่อแม่ก็อ่อนเพลีย กำลังพระคุณครูก็อ่อนเปลี้ย กำลังของวัดก็อ่อนแอ กำลังวัฒนธรรมก็อ่อนถอย

เมื่อเช้าได้ยินวิทยุบอก เขาทำโพลสำรวจเด็ก ออกผลมาว่า เด็กเดี๋ยวนี้ไม่อยากไปวัด เพราะพระสงฆ์ประพฤติไม่ดีมาก อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่ากำลังวัดอ่อนลงไป

แต่เรื่องไม่ควรอยู่แค่นั้น เราต้องทำใจและใช้ปัญญาให้ถูก ต้องมองหลายแง่หลายด้าน และหลายชั้นหลายเชิง เช่น

๑. เวลานี้ เราได้ยินได้อ่านข่าวร้ายมากมาย เดี๋ยวข่าวพ่อแม่โหดร้าย เดี๋ยวข่าวครูอาจารย์ประพฤติเสียหาย เดี๋ยวข่าวพระไม่ดี เดี๋ยวข่าวคนเฉไฉจากวัฒนธรรม แล้วเราก็มักมองอยู่แค่เป้าของข่าว เช่นในกรณีนี้ ก็ว่าพระไม่ดีๆ แทนที่จะมองสาวเหตุปัจจัยโยงองค์ประกอบในระบบความสัมพันธ์ไปให้เข้าใจทั่วทั้งสังคม

๒. ความจริง เราทั้งหมดอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าพระว่าโยมก็ต้องทั้งเผชิญและผจญกระแสเดียวกัน ไม่ว่ากระแสอะไรมา ก็ต้องเจอด้วยกันทั้งนั้น

ที่ว่านี้หมายความว่า เรายอมรับความจริงว่า เอาละ... พระนั้นๆ ไม่ดี เสื่อมเสีย แต่เราอย่าติดอยู่แค่ชั้นเดียว เราต้องมองอีกขั้นหนึ่งว่า ที่จริง ในสังคมนี้เราร่วมชะตากรรมเดียวกัน ที่มีกระแสร้ายเข้ามามากมาย กระแสร้ายเหล่านั้นมันกระทบกระแทกทุกส่วนของสังคมรวมทั้งพระด้วย

พระหลายองค์ตกเป็นเหยื่อของกระแสร้ายนั้น เราต้องมองว่าพระเหล่านั้นก็คือเหยื่อ ก็เป็นคนอ่อนแอ ไม่มีกำลังเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าพระทั้งหลายจะมีกำลังไปหมด

ในสังคมที่มีสภาพอย่างนี้ เราย่อมได้พระส่วนมากในความหมายที่เป็นผลผลิตของสังคม และพระที่เป็นผลผลิตของสังคมย่อมเป็นคนอ่อนแอเหมือนกับคนส่วนอื่นในสังคม

เพราะฉะนั้น เราเองจึงต้องมีกำลังเข้มแข้ง เราจะมัวไปมองว่าคนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี แล้วเราก็หมดแรงไปด้วย ใช้ไม่ได้ พระศาสนา เป็นของส่วนรวมของทุกคน ไม่ใช่ของพระองค์นั้นๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องของเราทุกคน เราจะต้องรักษาพระศาสนาของเรา การไปวัดเป็นเรื่องของเรา พระองค์นั้นเป็นคนไม่ดี ก็ขับออกจากวัดไป

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง