หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จิตสำนึก-จิตไร้สำนึก/ภวังคจิต-วิถีจิต

สืบเนื่องจากเรื่องมโนกรรมนั้น ก็ทำให้ต้องมาศึกษาเรื่องจิตให้มากขึ้น จิตใจของคนเรานี้คิดนึกอะไรต่างๆ สิ่งที่พูดและทำก็เป็นไปตามจิตใจ แต่จิตใจเป็นเรื่องละเอียดซับซ้อน บางครั้งและในเรื่องบางอย่างเราบอกไม่ถูกด้วยซ้ำว่าตัวเราเองเป็นอย่างไร บางทีเราทำอะไรไปอย่างหนึ่ง เราบอกไม่ถูกว่าทำไมเราจึงทำอย่างนั้น เพราะว่าจิตใจมีความสลับซับซ้อนมาก

ตามหลักพุทธศาสนานั้น มีการแบ่งจิตเป็น ๒ ระดับ คือจิตระดับวิถี กับจิตระดับภวังค์ จิตระดับภวังค์เป็นจิตที่เป็นองค์แห่งภพ เป็นระดับที่เราไม่รู้ตัว เรียกได้ว่าไร้สำนึก ภพจะเป็นอย่างไร ชีวิตแท้ๆ ที่กรรมออกผลจะเป็นอย่างไรนั้นอยู่ที่ภวังค์ แม้แต่จุติปฏิสนธิก็เป็นภวังคจิต ฉะนั้นเราจะมาพิจารณาเฉพาะจิตในระดับที่เรารู้สำนึกกันนี้ไม่ได้ การพิจารณาเรื่องกรรมนี้ จะต้องลึกลงไปถึงขั้นจิตต่ำกว่าหรือเลยสำนึกไป อย่างที่เราใช้ศัพท์ว่าภวังค์

ในจิตวิทยาสมัยนี้ก็มีหลายสาขา หลายสำนัก ซึ่งมีกลุ่มสำคัญที่เขาศึกษาเรื่องจิตแบบนี้เหมือนกัน เขาแบ่งจิตเป็น จิตสำนึก กับจิตไร้สำนึก จิตสำนึกก็คือจิตที่รู้ตัว ที่พูดสิ่งต่างๆ ทำสิ่งต่างๆ อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ แต่มีจิตอีกส่วนหนึ่งเป็นจิตไร้สำนึก ไม่รู้ตัว จิตที่ไร้สำนึกนี้เป็นจิตส่วนใหญ่ของเรา เขาเทียบเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ในน้ำ น้ำแข็งส่วนที่อยู่ใต้น้ำมีมากกว่า และมากกว่าเยอะแยะด้วย ส่วนที่โผล่มามีนิดเดียว คือจิตสำนึกที่เรารู้ตัวกันอยู่ พูดจาทำอะไรกันอยู่นี้ แต่ส่วนที่ไม่รู้สำนึกหรือไร้สำนึกนั้น เหมือนก้อนน้ำแข็งที่อยู่ใต้พื้นน้ำ ซึ่งมีมากกว่าเยอะแยะ เป็นจิตส่วนใหญ่ของเรา

การศึกษาเรื่องจิตนั้นจะต้องศึกษาไปถึงขั้นจิตไร้สำนึก ที่เป็นจิตส่วนใหญ่ มิฉะนั้นจะรู้เรื่องจิตนิดเดียวเท่านั้น การพิจารณาเรื่องกรรมก็จะต้องเข้าไปให้ถึงจุดนี้

ในเรื่องจิตไร้สำนึกนี้ มีแง่ที่เราควรรู้อะไรบ้าง แง่ควรรู้ที่หนึ่งคือที่บอกว่า สิ่งที่เราได้รับรู้เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เหล่านี้ จิตจะบันทึกเก็บไว้หมดไม่มีลืมเลย

ตามที่เข้าใจกัน ตามธรรมดานี้ สิ่งทั้งหลายที่ได้ประสบนั้น เราลืมแทบทั้งหมด จำได้นิดเดียวเท่านั้น นี่เป็นเรื่องของจิตสำนึก แต่ตามความเป็นจริง ความจำเหล่านั้นยังคงอยู่ในจิตไร้สำนึก สิ่งที่สบทราบคิดนึกทุกอย่างตั้งแต่เกิดมา มันจำไว้หมด แล้วถ้ารู้จักฝึกดีๆ ก็ดึงเอามันออกมาได้ด้วย นักจิตวิทยาบางสมัยสนใจเรื่องการสะกดจิตมาก เพราะเหตุผลหลายอย่าง เหตุผลอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อสะกดจิตแล้วสามารถทำให้คนนั้นระลึกเรื่องราวเก่าๆ สมัยเด็ก เช่นเมื่อ ๑ ขวบ ๒ ขวบ เอาออกมาได้ ซึ่งแสดงว่าประสบการณ์เหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่หมด นี้เป็นแง่ที่หนึ่ง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง