เป็นอันว่า ถ้าชาวพุทธเราจะฉลาดรอบคอบในการทำกรรม ก็จะต้องทำให้ถูกทั้ง ๒ ชั้น
ชั้นที่ ๑ ตัวกรรมนั้นต้องเป็นกรรมดี ไม่ใช่กรรมชั่ว แล้วผลดีขั้นที่ ๑ ก็เกิดขึ้น จิตใจของเราก็ได้รับผลดีที่เป็นความสุข มีความสุขเป็นวิบากเป็นต้น ตลอดจนผลดีที่ออกมาทางวิถีชีวิตทั่วๆ ไป เช่น ความนิยมนับถือต่างๆ เรียกว่ามีดีเข้ามาในตัวอยู่แล้ว
แต่ในชั้นที่ ๒ เราจะให้การงานกิจการของเราได้ผลดีมากดีน้อย เราจะต้องพิจารณาเรื่องคติ อุปธิ กาล ปโยค เข้ามาประกอบด้วย ต้องพิจารณา ๒ ชั้น ไม่ใช่คิดจะทำดีก็ทำดีดุ่มๆ ไป
อย่างไรก็ตาม คนบางคนอาจจะเอาเรื่อง คติ อุปธิ กาล ปโยค เข้ามาใช้โดยวิธีฉวยโอกาส เช่น กาลสมบัติ ก็ฉวยโอกาสว่า กาลสมัยนี้ คนกำลังต้องการสิ่งนี้ ฉันก็ทำสิ่งที่เขาต้องการ โดยจะดีหรือไม่ก็ช่างมัน ให้ได้ผลที่ต้องการก็แล้วกัน นี้เรียกว่า มุ่งแต่ผลชั้นที่ ๒ แต่ผลชั้นที่ ๑ ไม่คำนึง ก็เป็นสิ่งที่เสียหายและเป็นข้อด้อยในทางกรรม
ฉะนั้น ในฐานะที่เป็นชาวพุทธจะต้องมองผลชั้นที่ ๑ ก่อน คือจะทำอะไรก็หลีกเลี่ยงกรรมชั่ว และทำกรรมดีไว้ก่อน เมื่อได้พื้นฐานดีนี้แล้ว ก็คำนึงถึงชั้นที่ ๒ เป็นผลสืบเนื่องภายนอกซึ่งขึ้นต่อ คติ อุปธิ กาล ปโยคด้วย ก็จะทำให้งานของตนได้ผลดีโดยสมบูรณ์
เป็นอันว่า ในการสอนเรื่องกรรมตอนนี้มี ๒ ชั้น คือ ตัวกรรมที่ดีที่ชั่วเอง และองค์ประกอบเรื่องคติ อุปธิ กาล ปโยค ถ้าเราต้องการผลภายนอกเข้ามาร่วม เราจะต้องให้ชาวพุทธรู้จักพิจารณา และมีความฉลาดในเรื่อง คติ อุปธิ กาล ปโยคด้วย
สมมติว่าคน ๒ คน ทำงานอย่างเดียวกัน โดยมีคุณสมบัติเหมือนกัน ดีเหมือนกันทั้งคู่ แต่ถ้าร่างกายคนหนึ่งดี อีกคนหนึ่งไม่ดี คนที่ร่างกายไม่ดี ก็เสียเปรียบ และต้องยอมรับว่าตัวเองมีอุปธิวิบัติ
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ต้องแก้ไขปรับปรุงตัว ถ้าแก้ที่ร่างกายไม่ได้ ก็ต้องเพิ่มพูนคุณสมบัติที่ดีให้ดียิ่งขึ้น เมื่อดียิ่งขึ้นแล้ว คนที่ร่างกายไม่ดี แต่มีคุณสมบัติอื่น เช่น ในการทำงานมีความสามารถชำนิชำนาญกว่ามากมาย จนกระทั่งมาชดเชยคุณสมบัติในด้านร่างกายดีของอีกคนหนึ่งไปได้ แม้ตัวเองจะร่างกายไม่ดี เขาก็ต้องเอา เพราะเป็นคนมีความสามารถพิเศษ นี้ก็เป็นองค์ประกอบที่มาช่วย
ถ้าเรามีร่างกายไม่ดี บกพร่องในด้านอุปธิวิบัติ เราก็จะต้องสร้างกรรมดีในส่วนอื่นให้เหนือยิ่งขึ้นไป ไม่ใช่มัวแต่ท้อใจว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี นี้เป็นการรู้จักเอาหลักเรื่อง คติ อุปธิ กาล ปโยค เข้ามาประกอบ และใช้ให้เป็นประโยชน์
นี่คือเรื่องการให้ผลของกรรมในแง่ต่างๆ นำมาถวายเป็นเพียงแง่คิด เพื่อให้เห็นว่าเรื่องกรรมนี้ต้องคิดหลายๆ แง่ หลายๆ ด้าน แล้วเราจะเห็นทางออกในการอธิบายได้ดียิ่งขึ้น และมีความรอบคอบสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญก็คือต้องการเชื่อมโยงให้เห็นความเป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อเราจะไม่ใช่พูดแต่เพียงว่ามีเหตุอันนี้เกิดขึ้นในที่แห่งหนึ่ง ในเวลาหนึ่งนานมาแล้ว สัก ๒๐–๓๐ ปี ต่อมาเกิดผลดีอันหนึ่ง แล้วเราก็จับมาบรรจบกัน โดยเชื่อมโยงเหตุปัจจัยไม่ได้ ซึ่งแม้จะเป็นจริง ก็มีน้ำหนักน้อย ไม่ค่อยมีเหตุผลให้เห็น คนก็อาจจะไม่ค่อยเชื่อ
เราจึงควรพยายามศึกษา สืบสาวเหตุปัจจัยให้ละเอียดยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่ามันจะยังไม่ชัดละเอียดออกมา ไม่ปรากฏออกมาเต็มที่ แต่ก็พอให้เห็นทางเป็นไปได้ คนสมัยนี้ก็ต้องยอมรับในเรื่องความเป็นไปได้ เพราะมันเข้าในแนวทางของเหตุปัจจัยแล้ว ผมคิดว่าเรื่องกรรมจะพูดไว้เป็นแนวทางเท่านี้ก่อน