หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

บุญ-บาป กุศล-อกุศล

อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องความหมายของกรรม ที่แยกเป็นกุศล อกุศล เป็นบุญ เป็นบาป

ในเวลาแยกประเภทกรรม เรามักแยกเป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรม หรือง่ายๆ ก็เป็นบุญ เป็นบาป หรือบุญกรรม และบาปกรรม เราจะอธิบายเรื่องกรรมได้ชัดเจน เมื่อเราอธิบายความหมายของกุศล อกุศล บุญ บาปได้ด้วย

ก. กุศล คืออะไร?

กุศลมีความหมายอย่างไร ชาวบ้านมักจะมีความสงสัยหรือเข้าใจพร่าๆ มัวๆ เขามักจะไม่รู้ว่าอะไรเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล พอบอกว่า เชิญชวนมาทำบุญทำกุศลกัน ให้บริจาคเงินสร้างศาลาแล้วได้กุศล ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่า กุศลคืออะไร

บางทีชาวบ้านมองกุศลคล้ายกับว่าเป็นตัวอะไร หรือเป็นอำนาจอะไรอย่างหนึ่งที่ลอยอยู่ที่ไหนไม่รู้ ซึ่งมองไม่เห็น แล้วจะมาช่วยคนในเมื่อถึงเวลาที่ควรจะช่วย แต่ทีนี้ความหมายที่ถูกต้องในทางหลักธรรมเป็นอย่างไร

กุศล นั้นตามหลักท่านบอกว่า แยกความหมายได้ ๔ อย่าง

ความหมายที่ ๑ ว่า อาโรคยะ แปลว่า ไม่มีโรค หมายความว่า เป็นสิ่งที่เกื้อกูลต่อสุขภาพ คำว่าสุขภาพในที่นี้หมายถึงสุขภาพของจิตใจ ซึ่งเป็นฐานของสุขภาพกายด้วย คือทำให้จิตใจเข้มแข็งสมบูรณ์ เหมือนกับร่างกายของเรานี้ เมื่อไม่มีโรคก็เป็นร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ จิตใจที่ไม่ถูกโรคคือกิเลสเบียดเบียน ก็เป็นจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ สบายคล่องแคล่ว ใช้งานได้ดี อย่างที่ท่านเรียกว่า ควรแก่งาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน จิตใจแบบนี้เรียกว่าเป็นจิตใจไม่มีโรค

ความหมายที่ ๒ ว่า อนวัชชะ แปลว่า ไม่เสียหาย ไม่มีโทษ คือ ไม่มีสิ่งมัวหมอง ไม่สกปรก ไม่บกพร่อง สะอาด ผ่องแผ้ว ผ่องใส ปลอดโปร่ง เป็นต้น เอาง่ายๆ ว่า สะอาดบริสุทธิ์

ความหมายที่ ๓ ว่า โกศลสัมภูต แปลว่าเกิดจากปัญญา เกิดจากความฉลาด หมายความว่า กุศลเป็นเรื่องที่ประกอบไปด้วยปัญญา คือความรู้เข้าใจ ทำด้วยความรู้เหตุผล และทำตามความรู้เหตุผลนั้น เช่นมองเห็นความดีความชั่ว รู้คุณรู้โทษ รู้ประโยชน์ รู้ไม่ใช่ประโยชน์ ทำด้วยจิตใจที่สว่างไม่โง่เขลามืดมัว เรียกว่า เป็นความสว่างของจิตใจ เมื่อมีกุศลเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว ไม่ปิดบังปัญญา จิตใจสว่าง ไม่มืดไม่บอด มองเห็นอะไรๆ ถูกต้องตามความเป็นจริง

ความหมายที่ ๔ สุดท้ายคือ สุขวิบาก มีสุขเป็นผล ทำให้เกิดความสุข เวลาทำจิตใจก็โปร่งสบาย สดชื่น ร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส สงบเย็น ไม่เร่าร้อน บีบคั้น อึดอัด คับแค้น

ที่ว่ามาทั้ง ๔ ข้อนี้คือความหมายของกุศล เป็นลักษณะที่จะเอามาวินิจฉัย คือ สิ่งที่เป็นกุศลนั้นจะต้อง ๑. อโรค ไม่มีโรค เกื้อกูล จิตใจมีความแข็งแรงสมบูรณ์ จิตใจคล่องแคล่ว ใช้งานได้ดี ๒. อนวัชชะ ไม่มีโทษ ไม่มีมลทิน ไม่มัวหมอง ไม่เสื่อมเสีย มีความสะอาด บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ปลอดโปร่ง ๓. โกศลสัมภูต มีปัญญา รู้เหตุผล รู้ดีชั่ว รู้คุณรู้โทษ สว่าง ไม่มืดมัว และ ๔. สุขวิบาก มีสุขเป็นผล ทำด้วยความโปร่งสบาย ทำแล้วก็แช่มชื่นเย็นใจ

ตัวอย่างลักษณะและอาการของกุศลที่เกิดขึ้นในใจ เช่น มีเมตตาเป็นอย่างไร พอเมตตาเกิดขึ้นในใจปั๊บ ก็เย็นฉ่ำ จิตใจไม่มีโรค จิตใจมีความแข็งแรงในตัวของมัน มีความเอิบอิ่ม สบาย เย็นชื่น ยิ้มได้ ปลอดโปร่งผ่องใส ทั้งใจทั้งกายราบรื่นผ่อนคลาย เลือดลมเดินคล่องดี และมีความรู้ความเข้าใจ สว่างอยู่ภายในว่าคนอื่นเขามีความสุขความทุกข์อย่างไร เราควรจะมีจิตใจต่อเขาอย่างไร และมีความสุขพร้อมอยู่ในตัวด้วย

แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามีโทสะเกิดขึ้น เป็นอย่างไร พอโทสะ หรือความโกรธ ความคิดประทุษร้ายเกิดขึ้นปั๊บ ก็รู้สึกเร่าร้อนแผดเผา จิตเป็นโรค จิตบกพร่อง ถูกบีบคั้น มันไม่สบาย ถูกเบียดเบียน ขุ่นมัว ไม่บริสุทธิ์ ไม่สะอาด ไม่ปลอดโปร่ง ไม่ผ่องใส ใจข้อง กายเครียด เลือดลมคั่ง และมืดมัวเหมือนตาบอด ไม่รู้ ไม่คิด ไม่มองเห็นบุญเห็นคุณ ไม่คำนึงถึงโทษ ไม่รู้ว่าใครเป็นใครทั้งนั้น และมีความทุกข์ พลุ่งพล่าน เดือดร้อนใจ นี่ลักษณะของอกุศล

เพราะฉะนั้น กุศลและอกุศลจึงไม่ต้องไปรอดูผลข้างนอก พอเกิดขึ้นในใจก็บอกตัวเองของมันทันที ปรากฏผลแก่ชีวิตจิตใจ เป็นความหมายของตัวมันเอง พอมีขึ้นมาปั๊บก็สำเร็จความหมายในตัวทันที ถ้าใครถามว่าดีชั่วมีจริงไหม ก็บอกว่าฉันไม่ตอบละ มันก็เป็นอย่างที่มันเป็นนั่นแหละ

ความเป็นกุศลและอกุศลเป็นสภาวะตามธรรมชาติ มันมีภาวะของมันอยู่ในตัวแล้ว เราต้องอธิบายกรรมให้ลึกเข้ามาถึงความหมายในจิตใจที่เป็นพื้นแท้ๆ ของตัวมันเอง ให้เห็นว่ามันมีความหมายอยู่ในตัวของมันเองพร้อมแล้ว ไม่ต้องไปรอผลไกล

ถาม: อาโรคยะ แปลว่า ไม่มีโรคใช่ไหมครับ

ตอบ: อาโรคยะ มาจากอโรคะ คือ อ+โรค อโรค ก็คือ ไม่มีโรค แล้วบวก ณฺย ปัจจัย เข้าไป เป็น ภาวตัทธิต ตามหลักไวยากรณ์เป็น อาโรคฺย แปลว่า ความเป็นอโรค คือ ความไม่มีโรค นี้หมายถึง ความไม่เป็นโรคของจิต ไม่ใช่แค่โรคของร่างกาย จิตที่ไม่มีโรค ก็สมบูรณ์แข็งแรง และช่วยหนุนสุขภาพร่างกายด้วย

แม้แต่ภาษิตที่เราท่องกันในภาษาไทยที่เพี้ยนเป็นอโรคยาปรมา ลาภา นั้น (ความจริงภาษาบาลีเป็น อาโรคฺยปรมา ลาภา) ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ความหมายที่แท้จริงไม่ได้มุ่งเพียงไม่มีโรคกาย ที่ว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง หรือ ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่งนั้น พระองค์หมายถึงพระนิพพาน อาโรคยะ นี้ หมายถึง พระนิพพาน พระนิพพานเป็นภาวะไร้โรค คือความมีสุขภาพจิตสมบูรณ์

เรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสกับมาคัณฑิยะ ท่านมาคัณฑิยะไปสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า อ้างสุภาษิตเก่าว่า อาโรคฺยปรมา ลาภา ซึ่งในที่นี้เขามีความเข้าใจว่าเป็นโรคกาย แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันไม่ได้มีความหมายแคบเท่านั้น แต่หมายถึงความไม่มีโรคทางจิตใจด้วย ใช้ได้ทุกระดับ

สำหรับชาวบ้านก็ใช้ในระดับโรคทางกายธรรมดา แต่ในทางธรรม พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรในมัชฌิมนิกาย หมายถึงพระนิพพานเลย เป็นภาวะไม่มีโรคโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ในจิตใจ หมายความว่าภาษิตนี้ใช้ได้ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ไปจนกระทั่งถึงบรรลุนิพพาน แต่ให้รู้ความหมายแต่ละขั้นๆ

ความหมายของคำว่า “กุศล” ก็ให้เข้าใจตามลักษณะที่ว่ามานี้ ส่วนที่เป็นอกุศลก็ตรงข้าม ดังได้ยกตัวอย่างไปแล้ว เช่น เมื่อเมตตาเกิดขึ้นในใจเป็นอย่างไร โทสะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ลักษณะก็จะผิดกันให้เห็นชัดๆ ว่า ผลมันเกิดทันที อย่างที่เรียกว่าเป็นสันทิฏฐิโก เห็นเอง เห็นทันตา

ข. บุญ หมายความแค่ไหน?

คำที่เนื่องกันอยู่กับกุศลและอกุศล ก็คือคำว่า “บุญ” และ “บาป” บุญกับกุศล และบาปกับอกุศล ต่างกันอย่างไร

ในที่หลายแห่งใช้แทนกันได้ อย่างในพุทธพจน์ที่ตรัสเรื่อง ปธาน คือความเพียร ๔ ก็ตรัสคำว่าอกุศลกับคำว่าบาปไว้ด้วยกัน อยู่ในประโยคเดียวกัน คือเป็นถ้อยคำที่ช่วยขยายความซึ่งกันและกัน เช่นว่า ภิกษุยังฉันทะให้เกิดขึ้น ระดมความเพียรเพื่อปิดกั้นบาปอกุศลธรรมซึ่งยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น นี้เรียกว่า สังวรปธาน แสดงให้เห็นว่าบาปกับอกุศลมาด้วยกัน

แต่สำหรับบุญกับกุศล ท่านบอกว่า มันมีความกว้างแคบกว่ากันอยู่หน่อย คือ กุศล นั้นใช้ได้ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ เป็นคำกลางๆ และเป็นคำที่ใช้ในทางหลักวิชาการมากกว่า บางทีก็ระบุว่าโลกิยกุศล โลกุตตรกุศล แต่ถ้าพูดเป็นกลางๆ จะเป็นโลกิยะก็ได้ เป็นโลกุตตระก็ได้

ส่วนคำว่าบุญ นิยมใช้ในระดับโลกิยะ แต่ก็ไม่เสมอไป มีบางแห่งเหมือนกันที่ท่านใช้ในระดับโลกุตตระ อย่างที่แยกเรียกว่า โอปธิกปุฺ แปลว่า บุญที่เนื่องด้วยอุปธิ และ อโนปธิกปุฺ บุญไม่เนื่องด้วยอุปธิ เป็นต้น หรือบางทีใช้ตรงๆ ว่า โลกุตตรปุญญะ บุญในระดับโลกุตตระ

แต่โดยทั่วไปแล้ว บุญใช้ในระดับโลกิยะ ส่วนกุศลเป็นคำกลางๆ ใช้ได้ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ นี่เป็นความกว้างแคบกว่ากันนิดหน่อยระหว่างบุญกับกุศลในแง่รูปศัพท์ ซึ่งก็อาจเอาไปช่วยประกอบเวลาอธิบายเรื่องกรรมได้ แต่เป็นเรื่องเกร็ด ไม่ใช่เป็นตัวหลักใหญ่

บุญ นัยหนึ่งแปลว่า เป็นเครื่องชำระสันดาน เป็นเครื่องชำระล้างทำให้จิตใจสะอาด ในเวลาที่สิ่งซึ่งเป็นบุญเกิดขึ้นในใจ เช่น มีเมตตาเกิดขึ้น ก็ชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ศรัทธาเกิดขึ้น จิตใจก็ผ่องใส ทำให้หายเศร้าหมอง หายสกปรก

ความหมายต่อไปนักวิเคราะห์ศัพท์ แปล บุญ ว่า นำมาซึ่งการบูชา หรือทำให้เป็นผู้ควรบูชา คือใครก็ตามสั่งสมบุญไว้ สั่งสมความดี เช่น สั่งสมศรัทธา เมตตา กรุณา มุทิตา ผู้นั้นก็มีแต่คุณธรรมมากมาย และคุณธรรมหรือคุณสมบัติเหล่านั้นก็ยกระดับชีวิตจิตใจของเขาขึ้นทำให้เป็นผู้ควรบูชา ฉะนั้น ความหมายหนึ่งของบุญก็คือ ทำให้เป็นคนน่าบูชา

อีกความหมายหนึ่งคือ ทำให้เกิดผลที่น่าชื่นชม เพราะว่าเมื่อเกิดบุญแล้วก็มีวิบากที่ดีงาม น่าชื่นชม จึงเรียกว่ามีผลอันน่าชื่นชม ใกล้กับพุทธพจน์ที่ว่า สุขสฺเสตํ อธิวจนํ ยทิทํ ปุฺานิ ซึ่งแปลว่า ภิกษุทั้งหลาย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข เมื่อบุญเกิดขึ้นในใจแล้ว จิตใจก็สบาย มีความเอิบอิ่มแช่มชื่นผ่องใส บุญจึงเป็นชื่อของความสุข

ส่วนบาปนั้นตรงกันข้าม บาป นั้นโดยตัวอักษร หรือโดยพยัญชนะ แปลว่า สภาวะที่ทำให้ถึงทุคติ หรือทำให้ไปในที่ชั่ว หมายถึงสิ่งที่ทำให้จิตตกต่ำ พอบาปเกิดขึ้น ความคิดไม่ดีเกิดขึ้น โทสะ โลภะ เกิดขึ้น จิตก็ตกต่ำลงไป และนำไปสู่ทุคติด้วย

ท่านให้ความหมายโดยพยัญชนะอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นสิ่งที่คนดีพากันรักษาตนให้ปราศไป หมายความว่า คนดีทั้งหลายจะรักษาตนเองให้พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ จึงเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นบาป เป็นสิ่งที่คนดีละทิ้ง พยายามหลีกหลบเลี่ยงหนีไม่อยากเกี่ยวข้องด้วย นี่เป็นความหมายประกอบ ซึ่งอาจจะเอาไปใช้อธิบายเป็นเกร็ดได้ ไม่ใช่ตัวหลักแท้ๆ เอามาพูดรวมไว้ด้วยในแง่ต่างๆ ที่เราจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องกรรม

เท่าที่ได้บรรยายมา เมื่อว่าโดยสรุปก็มีความสำคัญที่จะต้องมองอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. กรรมเป็นเรื่องของความเป็นเหตุเป็นผล เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัย ถ้าจะอธิบายลงลึกก็ต้องโยงเข้าไปในเรื่องไตรวัฏฏ์ คือ กิเลส กรรม และวิบาก เข้าสู่หลักปฏิจจสมุปบาท

๒. จะต้องรู้ว่ากรรมนี้เป็นนิยามหนึ่ง หรือกฎหนึ่งในบรรดานิยาม ๕ เท่านั้น อย่าเหมาทุกอย่างเข้าเป็นกรรมหมด ต้องแยกแยะเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง

๓. ต้องแยกหลักกรรมออกจากลัทธิผิดสามอย่างให้ได้ด้วย คือ ลัทธิปุพเพกตวาท ลัทธิอิศวรนิรมิตวาท และลัทธิอเหตุวาท

๔. ให้นำความเข้าใจความหมายของกุศล อกุศล มาช่วยในการอธิบายแง่ลึก ให้เห็นผลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระดับจิตใจ ให้เข้าใจความหมายของกรรมที่แท้จริง ที่เป็นสภาวะอยู่ในจิตใจ ซึ่งมีผลประจักษ์ทันที

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง