สิทธิมนุษยชน สร้างสันติสุขหรือสลายสังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สิทธิมนุษยชน ยังไม่เพียงพอและอาจเสี่ยงภัยถ้าคนยังไม่พัฒนา

ถ้าเราไม่ระลึกไว้ในแง่นี้ บางทีการใช้สิทธิ และพิทักษ์รักษาสิทธิ ก็อาจจะเขวคลาดเคลื่อนเพี้ยนออกไป จนเกิดปัญหาขึ้นจากการใช้สิทธิ ที่เอากฎหมายหรือกติกาของสังคมมาเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ หรือก่อความหวาดระแวงกัน เช่น การที่เพื่อนบ้านต่างก็คอยระวังว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะมาละเมิดสิทธิของตน ก็ทำให้สูญเสียไมตรีรสอยู่แล้ว ยิ่งปัจจุบันนี้ บางทีมีความคิดจ้องจะหาผลประโยชน์ให้แก่ตนพ่วงเข้ามาด้วย พอละเมิดหรือมีข้ออ้าง หรือมีมูลที่จะปรารภนิดหน่อย ก็ไปปรึกษาทนาย หรือนักกฎหมาย เพื่อยกเป็นคดี แล้วก็ฟ้องกันในศาล เพื่อเรียกเงินจากอีกฝ่ายหนึ่ง ดังที่เวลานี้ในประเทศอเมริกาก็เป็นที่รู้กันว่ามีปัญหามาก

เรื่องนี้ไปไกลถึงกับว่า ทนายความบางคนติดป้ายรับปรึกษาความฟรี เหมือนกับว่าเป็นคนใจดีมาก ในสังคมอเมริกันนั้น ปกติแทบเป็นไปไม่ได้ที่ทนายจะว่าความให้ฟรี แม้แต่เพียงไปพบปรึกษาด้วยถ้อยคำวาจาเพียงนิดหน่อย ก็เรียกเงินมากมายแล้ว การที่ทนายรับให้บริการปรึกษากฎหมายฟรี เพราะอะไร ก็เพราะว่าเมื่อปรึกษาแล้ว ก็จะได้พิจารณาหาทางตั้งเป็นคดีขึ้น เป็นการบอกนัยว่าถ้าคุณมีข้อขัดแย้งกับเพื่อนบ้านก็มาปรึกษาฉันนะ แล้วก็มาดูซิว่าเรื่องของคุณนั้นจะตั้งเป็นคดีได้ไหม ถ้าตั้งเป็นคดีได้ก็ขึ้นศาลว่าความ โดยจะไม่เอาเงิน หรือไม่เรียกร้องเงินจากคุณ แต่เมื่อคดีจบไปได้ตัดสินแล้ว ถ้าคุณชนะ คุณได้เงิน ต้องแบ่งกับฉันคนละครึ่ง เรื่องก็ไปจบที่ผลประโยชน์

เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงว่า อารยธรรมมิใช่อยู่ที่การมีกฎเกณฑ์กติกาเท่านั้น the rule of law ที่ฝรั่งภูมิใจ ซึ่งก็สำคัญมากอย่างแน่นอนนั้น ไม่เป็นหลักประกันหรือองค์ประกอบที่เพียงพอของอารยธรรม จิตใจที่ต้องการธรรมและอิสรภาพของจิตใจนั้นแหละเป็นหลักประกันให้แก่กฎเกณฑ์กติกาอีกชั้นหนึ่ง ถ้าเราอยู่กันเพียงด้วยสิทธิ แล้วไม่ปรับจิตใจให้ถูก ก็จะต้องเกิดปัญหา อย่างที่เกิดมากขึ้นในสังคมอเมริกัน ฉะนั้นจึงพูดว่ามนุษย์จะต้องไม่อยู่แค่นี้

สิทธิเป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญงอกงาม มีพัฒนาการของสังคมในแนวทางของอารยธรรม

ในด้านหนึ่งเราอาจจะพูดว่า สังคมอะไรกัน แม้แต่แค่สิทธิพื้นฐานก็ยังไม่มี นี้แสดงว่าเป็นสังคมที่ด้อยอย่างมาก ขาดวัฒนธรรม ขาดความเจริญ ไม่ศรีวิไล

แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็อาจจะพูดในทางตรงข้ามว่า นี่สังคมอะไร อยู่กันได้แค่จะคอยพิทักษ์รักษาและเรียกร้องสิทธิเท่านั้นเองหรือ จะเป็นสังคมที่ดีงามกว่านี้ไม่ได้หรือ

ฉะนั้นจึงได้กล่าวว่า จะต้องระวังไม่ไปสู่สุดโต่งสองข้างนั้น และเราก็จะไม่หยุดอยู่แค่การมีสิทธิเท่านั้น แต่เราจะต้องก้าวต่อไป และในการที่มนุษย์จะก้าวต่อไปนั้น ก็กลายเป็นว่ามนุษย์จะอยู่เพียงด้วยกฎเกณฑ์กติกาไม่ได้ กฎเกณฑ์กติกานั้นเป็นเรื่องของรูปธรรม เป็นรูปแบบอยู่ภายนอก เป็นของดีมีประโยชน์จริง สังคมใดไม่มีกติกา ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีกฎหมาย ก็เป็นสังคมที่ป่าเถื่อน เราต้องมีกรอบ แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้ว เพียงแค่นั้นยังไม่พอ จะต้องมีทั้งสองด้านมาประสานรับซึ่งกันและกัน คือ ภายใต้ด้านรูปธรรม จะต้องมีด้านนามธรรมด้วย ซึ่งขาดไม่ได้

สังคมอเมริกันนั้นมีปัญหาตัวอย่างอีกมากมาย เช่น ในเรื่องความเสมอภาคกันตามกฎหมาย การที่ให้คนมีความเสมอภาคกันนั้น ความมุ่งหมายอย่างหนึ่งก็เพื่อให้สังคมมีเอกภาพ ดังเช่นปัญหาคนผิวดำกับคนผิวขาวเป็นต้น แม้จะออกกฎหมายมามากมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิ และให้เกิดความเสมอภาค แต่กฎหมายก็เป็นแค่กติกาภายนอก เป็นเพียงรูปแบบ ไม่สามารถเชื่อมประสานใจคนได้ การที่ออกกฎหมายมามากมาย ก็ไม่สามารถทำให้คนขาวกับคนดำเข้ามาประสานเป็นอันเดียวกันได้ แต่ตรงข้ามคนอเมริกันเองกล่าวว่า รอยแยกระหว่างสองผิวนี้ยิ่งห่างกันออกไป

การที่ยกเอาตัวอย่างปัญหาในสังคมอเมริกันขึ้นมากล่าวนี้ มิใช่หมายความว่า สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่เลวร้ายกว่าสังคมอื่นๆ ยังมีหลายประเทศที่มีปัญหาสังคมที่เลวร้ายรุนแรงยิ่งกว่าสังคมอเมริกัน แต่สังคมอเมริกันนั้นปรากฏตัวเด่นออกมาในยุคปัจจุบันว่า เป็นสังคมที่นิยมความเป็นอิสระเสรี มีสมานภาพ และเป็นตัวชูในเรื่องสิทธิมนุษยชน พร้อมกันนั้นผู้คนจำนวนมากในโลกปัจจุบันก็ชื่นชมเชื่อถือด้วยความไม่รู้ชัดเจนถ่องแท้ ถึงกับเหมือนจะเอาสังคมอเมริกันเป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์สังคมแห่งสันติสุข อีกทั้งสังคมอเมริกันนั้นก็มีปัญหาพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะของตนที่จะต้องแก้ไขคลายปมอีกเป็นอันมาก บุคคลที่คิดสร้างสรรค์จะต้องรู้เข้าใจอย่างถูกต้องและเท่าทัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้หลงละเลิงเห่อเหิมและตกอยู่ในความประมาท

แม้แต่ว่าถ้าใครยอมรับสังคมอเมริกันว่าเป็นสังคมที่เจริญรุ่งเรืองดีมีความสุขที่สุด ก็จะได้คิดขึ้นว่า แม้แต่สังคมที่ถือว่าอยู่ในกฎกติกาพัฒนาแล้วอย่างสูงสุดของโลกเวลานี้ ก็ยังอยู่ห่างไกลจากความเป็นสังคมที่พึงปรารถนา

ฉะนั้น จะต้องคำนึงไว้เสมอว่า กฎเกณฑ์กติกาเท่านั้นไม่เพียงพอที่จะสมาน หรือประสานให้มนุษย์อยู่ในสามัคคีที่แท้จริง ในการที่โลกจะอยู่ได้ด้วยดีมีสันติสุขนั้น จะต้องมีความประสานเข้ากันได้ มีความสามัคคีปรองดองกัน คือมีเอกภาพ แต่ขณะนี้ มนุษย์ยังมีปัญหามากในเรื่องที่ว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างเอกภาพนี้ให้เกิดขึ้นได้ การที่เราใช้ (ปฏิญญาสากล) สิทธิมนุษยชนเป็นต้น มาเป็นเครื่องมือ ก็ด้วยมุ่งหวังว่า เราจะเดินหน้าพามนุษยชาติไปสู่สังคมที่ดีงาม มีความร่มเย็นเป็นสุข โดยมีเอกภาพเป็นเครื่องประสานบุคคลหลากหลายผู้เป็นอิสระเสรีและมีความเสมอภาคเข้าไว้ด้วยกัน แต่สิทธินั้นถ้าเราใช้ไม่เป็น หรือมีท่าทีไม่ถูกต้อง ก็อาจจะกลายเป็นว่า อารยธรรมก็จะมาจบลงแค่เรื่องสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นข้ออ้าง แล้วกลายเป็นเครื่องแบ่งแยกเกี่ยงงอนและแก่งแย่งกัน

การที่เราจะก้าวต่อไปได้ ก็จะต้องมีการพัฒนาคน ฉะนั้น จึงต้องเรียกร้องการศึกษาที่แท้จริง ดังได้กล่าวแล้วว่า เราไม่ได้อยู่กันแค่สังคมที่มนุษย์ไม่ละเมิดต่อกันและไม่ปิดกั้นโอกาสต่อกันเท่านั้น แต่เราจะต้องก้าวต่อไปสู่การให้โอกาสแก่กัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกันด้วย อย่างที่กล่าวว่าเป็นสังคมแห่งความเอื้ออาทร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.