อย่างไรก็ตาม จะต้องระลึกตระหนักไว้ด้วยว่า สิทธิมนุษยชนนี้ กว่าจะได้มา ก็ผ่านภูมิหลังของเหตุการณ์ความเป็นไปในประวัติศาสตร์อันยาวนานของโลกหรือมนุษยชาติ และภูมิหลังนี้ก็เต็มไปด้วยการที่มนุษย์เบียดเบียน แย่งชิง กดขี่ข่มเหงซึ่งกันและกัน มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า สิทธิมนุษยชนนี้ได้มาด้วยการต่อสู้ และมนุษย์ที่เป็นต้นคิดที่ทำให้เกิดมีการจัดวางสิทธิมนุษยชนขึ้นเป็นกฎกติกานั้นก็เป็นมนุษย์ชาวตะวันตก แม้เราจะบอกว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษยชนทั่วโลก แต่ผู้นำความคิดในเรื่องนี้ก็คือชาวตะวันตก ซึ่งมีภูมิหลังในการเบียดเบียนบีบคั้นกันอย่างรุนแรง และการบีบคั้นเบียดเบียนนั้นดำเนินไปอย่างเป็นระบบและเป็นสถาบัน
สังคมตะวันตกมีประวัติศาสตร์แห่งการรบราฆ่าฟันและสงครามอย่างมากมาย ตลอดเวลายาวนานและในขอบเขตที่กว้างขวาง ซึ่งเป็นเรื่องของการบีบคั้นเบียดเบียนกันทั้งระหว่างมนุษย์ในสังคมเดียวกันและมนุษย์ต่างสังคม ไม่ต้องพูดถึงเรื่องใหญ่ในอดีตที่ยืดยาวอย่าง Inquisition (ศาลไต่สวนศรัทธา) เพียงยกตัวอย่างง่ายๆ ในสังคมเดียวกัน เช่น ระหว่างผู้ปกครองกับราษฎรหรือผู้อยู่ใต้ปกครอง ในยุโรป รวมทั้งในอังกฤษ เคยมีการวางกฎกติกากันว่า ถ้าผู้ปกครองนับถือศาสนาไหน นิกายใด ราษฎรจะต้องนับถือศาสนานั้นนิกายนั้นด้วย มิฉะนั้น ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ และได้เกิดมีการรบราฆ่าฟันกันด้วยเรื่องศาสนาอย่างรุนแรง จนทำให้ต้องอพยพหนีภัยไปต่างประเทศ ดังที่ประวัติศาสตร์ของอเมริกาก็มีส่วนสำคัญที่เป็นเรื่องของการที่มนุษย์หนีภัยสงครามหรือการกดขี่เบียดเบียนกันทั้งในทางการเมืองและในทางศาสนา ที่เรียกว่า persecution
ในระหว่างสังคม ก็เห็นได้ชัดว่า มนุษย์ชาวตะวันตกในประเทศที่เจริญนั้น ได้ออกล่าเมืองขึ้นและครอบครองอาณานิคมมากมาย มนุษย์ที่อยู่ในอาณานิคมหรือเมืองขึ้นนั้น ถูกกดขี่ข่มเหง ถ้าพูดด้วยภาษาปัจจุบันก็เรียกว่าแทบไม่มีสิทธิมนุษยชนเลย
ประวัติศาสตร์ของชาวตะวันตกเป็นมาอย่างนี้ เขาผ่านประสบการณ์ในการเบียดเบียนกันมามาก ดังนั้นการต่อสู้ดิ้นรนและความขัดแย้งก็ย่อมมีมาก จนทำให้ต้องมีการวางกฎเกณฑ์กติกาเป็นขอบเขตให้ชัดเจนไว้ เพื่อหยุดยั้งการบีบคั้นเบียดเบียนและไม่ให้มีการละเมิดต่อกัน
แม้แต่ประเทศอเมริกาที่เกิดขึ้นมาจากการดิ้นรนต่อสู้เพื่อแสวงหาความเป็นอิสระเสรี และปัจจุบันนี้เราเห็นว่าเป็นประเทศผู้นำ ที่ยกย่องเทิดทูนในเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น ถอยหลังไปเมื่อ 100 ปีที่แล้วนี้เอง ก็ได้มีความเชื่อถืออย่างมากในลัทธิที่เรียกว่า “ดาร์วินเชิงสังคม” (Social Darwinism)
ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินถือหลักว่า ธรรมชาติมีการคัดเลือกในตัวของมันเอง ซึ่งจะทำให้สัตว์ที่แข็งแรงเก่งกล้า และมีความเหมาะสม ดำรงอยู่ได้ ส่วนสัตว์ที่อ่อนแอ ไม่มีความสามารถ ก็ล้มหายตายดับ หรือสูญพันธุ์ไป ทฤษฎีของดาร์วินนี้ได้มีผู้นำมาใช้ในเชิงสังคม และประเทศอเมริกานี้ก็ได้มีคนจำนวนมากที่เชื่อถือและได้รับอิทธิพลของลัทธิดาร์วินเชิงสังคมอย่างชนิดที่เรียกว่าลึกซึ้งมากที่สุด ยิ่งกว่าในยุโรปที่เป็นถิ่นเกิดของลัทธิดาร์วินเชิงสังคมนั้นเอง จนกระทั่งกลายเป็นแนวคิดหลักในเชิงธุรกิจ ที่สนับสนุนการแข่งขันในการค้าขาย แม้ว่าในทางการเมือง ลัทธินี้จะไม่เป็นที่ยอมรับแล้วอย่างน้อยในระดับของการอ้างอิง แต่ในทางเศรษฐกิจอิทธิพลของลัทธินี้ก็ยังมีอยู่อย่างลึกซึ้งแม้ในปัจจุบัน
ภูมิหลังของการดิ้นรนต่อสู้และการเบียดเบียนข่มเหงกันมาก ทำให้มนุษย์ต้องมาวางกฎเกณฑ์กติกาเป็นกรอบขอบเขต และชาวตะวันตกก็มีความถนัดและความชำนาญในการวางกฎกติกานี้ เพราะจะต้องพิทักษ์รักษาสิทธิของตนเพื่อป้องกันอีกฝ่ายหนึ่งมิให้มาละเมิด
เรื่องที่กล่าวมานี้เป็นภูมิหลังอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเหตุปัจจัยสำคัญแห่งการเกิดขึ้นของสิทธิมนุษยชน การรู้ภูมิหลังนี้จะทำให้เราวางท่าทีได้ถูกต้อง เมื่อสิทธิมนุษยชนเกิดมีขึ้นมาอย่างนี้แล้ว ก็เป็นสิ่งดีที่จะช่วยให้มนุษย์เราไม่ละเมิดต่อกัน และไม่ปิดกั้นโอกาสแก่กันและกัน ในการที่จะมีชีวิตอยู่รอดหรืออยู่ได้อย่างดีที่สุด โดยมีโอกาสที่จะเข้าถึงประโยชน์และความดีงามที่มีอยู่ในสังคมหรือในโลกนี้
อย่างไรก็ตาม สิทธิมนุษยชนนั้นคงไม่จบเท่านี้ แต่จะต้องมีวิวัฒนาการต่อไปอีก