สิทธิมนุษยชน สร้างสันติสุขหรือสลายสังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สิทธิมนุษยชน เป็นฐานที่จะต้องใช้เพื่อก้าวต่อไปสู่การสร้างสันติสุข

การมีสิทธิมนุษยชนนั้นเพื่ออะไร แน่นอนว่า เพื่อชีวิตที่ดีงาม และความอยู่กันอย่างมีสันติสุขของโลก หรือของมนุษยชาติ แต่ในการที่จะเป็นหลักประกันให้มนุษย์มีชีวิตดีงาม และอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นมีสันติสุขนั้น แม้เราจะยอมรับว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็คงไม่เพียงพอ หมายความว่า สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากในการที่จะช่วยมนุษย์ให้มีชีวิตที่ดีงามมีความสุข แต่การมีเพียงสิทธิมนุษยชนนั้นก็คงไม่เพียงพอ ทำไมจึงว่าอย่างนี้

ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ ในเรื่องพ่อแม่เลี้ยงลูก การที่พ่อแม่เลี้ยงลูกนั้นคงไม่ใช่เลี้ยงเพียงแค่ตามสิทธิของลูก แต่พ่อแม่ให้แก่ลูกเกินกว่าสิทธิที่ลูกจะต้องได้รับ ที่เรากำหนดว่าเป็นหลักประกันพื้นฐานสำหรับการดำรงอยู่ของลูก พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยความรักมีเมตตา โดยไม่มัวแต่ครุ่นคิดว่าลูกมีสิทธิแค่ไหน และด้วยจิตใจที่ให้แก่ลูกอย่างนี้แหละจึงทำให้มนุษยชาติอยู่มาได้ด้วยดี

ที่ว่านี้หมายความว่า เราจะต้องมอง 2 ด้าน ด้านหนึ่ง สิทธิเป็นหลักประกันพื้นฐานที่เราจะต้องพยายามไม่ให้ขาด แต่เราก็จะต้องไม่จำกัดอยู่แค่สิทธิ เราต้องไปไกลเกินกว่าสิทธิ เพราะดังที่ได้กล่าวแล้ว พ่อแม่ให้แก่ลูกไม่ใช่เพียงเพราะลูกมีสิทธิ แต่ให้ด้วยน้ำใจ ซึ่งให้โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของลูกเลยว่า เขาได้แค่นี้ก็พอแล้ว แต่พ่อแม่ให้เกินกว่านั้น ลูกจึงมีชีวิตที่ดี และสังคมจึงมั่นคงอยู่ผาสุก ด้วยเหตุดังกล่าวมา ถ้าจะให้โลกนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยดี จะต้องมีคุณค่าทางด้านจิตใจ เช่น ความมีเมตตา กรุณา เป็นต้น อย่างที่พ่อแม่มีต่อลูก

ฉะนั้น เรื่องสิทธิมนุษยชนจึงเป็นเพียงด้านหนึ่ง หรือระดับหนึ่งแห่งความเจริญงอกงามของมนุษย์ แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่า ไม่เพียงพอ ถ้าเราไม่ตระหนักในเรื่องนี้ไว้ให้ดี ก็อาจจะมีการปฏิบัติที่เป็นสุดโต่ง 2 แบบ

บางถิ่นบางสังคมก็ไปสุดโต่งหนึ่ง คือ ไม่คำนึงเลยถึงชีวิตมนุษย์ ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ใส่ใจต่ออิสรภาพของเขา เป็นต้น มีการละเมิดต่อชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนอิสรภาพเสรีภาพของบุคคลอยู่เสมอ

ส่วนอีกสังคมหนึ่งก็ไปอีกสุดโต่งตรงกันข้าม คือ เอาแต่การรักษาเรียกร้องสิทธิ เป็นอยู่กันแค่ให้เป็นไปตามสิทธิ

ภาวะที่สุดโต่งนี้ล้วนทำให้เกิดปัญหา สำหรับฝ่ายที่ว่าไม่คำนึงถึงสิทธิอะไรเลย ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ดีแน่ เพราะเป็นอันตรายต่อสังคมมนุษย์ และก็มีตัวอย่างที่พอให้เห็น ซึ่งคงไม่ต้องยกมาให้ดูในที่นี้ ส่วนสุดโต่งอีกด้านหนึ่งในทางตรงข้าม มนุษย์บางพวกก็มัวหมกมุ่นคำนึงกันแต่เรื่องสิทธิ ซึ่งเป็นเรื่องของการที่จะได้ จะเอา แล้วก็คอยเรียกร้อง หรือคอยพิทักษ์สิทธิของตน ซึ่งก็มีอยู่ในบางประเทศหรือบางสังคม

ขอยกตัวอย่าง ประเทศอเมริกาก็มีความโน้มเอียงด้านนี้อยู่ไม่น้อย จนกระทั่งเกิดเป็นปัญหาว่าในปัจจุบัน ไม่ต้องพูดถึงการ “ซู” คือการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในการละเมิดสิทธิกัน ระหว่างคู่ความทั่วไป เช่นเพื่อนบ้านกับเพื่อนบ้าน หรือคนไข้กับแพทย์ เป็นต้น แม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกก็มีความโน้มเอียงที่จะเป็นเรื่องของการปฏิบัติต่อกันเพียงเพื่อให้เป็นไปตามสิทธิ ถ้าเป็นอย่างนี้ อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อแต่ละฝ่ายก็จะเอาแก่ตนให้มากที่สุด และจะทำให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งก็เพราะเป็นสิทธิและตามสิทธิของเขา ในขณะที่ฉันก็จะรักษาสิทธิของฉันด้วย เช่น พ่อแม่ก็อาจจะคอยตรวจดูว่าลูกมีสิทธิแค่ไหน และทำให้แค่นั้น เพื่อมิให้ละเมิด แต่พร้อมกันนั้นก็คอยจ้องระวังไม่ให้กระทบสิทธิของตนในการพักผ่อนหาความสนุกสนานบันเทิง ที่เรียกว่าสิทธิใน leisure

ถ้าพ่อแม่คิดอย่างนี้ การเลี้ยงลูกจะเป็นอย่างไร ก็เลี้ยงไปตามสิทธิ โดยที่ต่างฝ่ายต่างจะเอาจากกันให้มากที่สุด และคอยปกป้องพิทักษ์สิทธิของตน ลูกก็ต้องคอยพิทักษ์สิทธิของตนว่า พ่อแม่ให้ฉันครบตามสิทธิของฉันหรือเปล่า ถ้าไม่ครบฉันจะเรียกร้อง พ่อแม่ละเมิดต่อฉันไหม ถ้าละเมิดฉันจะฟ้องตำรวจ

ปัญหานี้ปัจจุบันในสังคมอเมริกันมีเรื่องราวเกิดขึ้นมาให้กล่าวขานกันหนาหูมากขึ้นๆ พ่อแม่ทำอะไรลูกนิดหนึ่ง ลูกอาจโทรศัพท์ไปฟ้องตำรวจ หรือไปฟ้องครู แล้วครูก็เรียกตำรวจมาจับพ่อแม่ เป็นปัญหามาหลายปีแล้ว สังคมอเมริกันก็รู้ตัวอยู่พอสมควรว่า เป็นสังคมที่ระบบครอบครัวแตกสลายแล้ว สถาบันครอบครัวแทบจะดำรงอยู่ไม่ได้

อารยชนถือกันว่าสถาบันครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคมมนุษย์ ถ้าครอบครัวแตกสลายแล้ว สังคมนั้นก็ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย ฉะนั้นเวลานี้ชาวอเมริกันจึงขาดความมั่นใจอย่างมากในสังคมของตน เรื่องนี้ก็ต้องรู้กันไว้ เพราะมิใช่จะเป็นอย่างที่บางคนเข้าใจว่าสังคมอเมริกันเป็นสังคมที่เรียบร้อยดีงาม ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็อาจจะต้องใช้คำรุนแรงว่าเป็นคนหูป่าตาเถื่อน ไม่รู้ความเป็นจริง แท้จริงนั้นสังคมอเมริกันก็อยู่ในสภาพที่ง่อนแง่นอ่อนเปลี้ย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้เท่าทันเพื่อจะปฏิบัติต่อสถานการณ์ได้ถูกต้อง โดยไม่ประมาท

ภาวะสุดโต่งสองด้านนั้น อาจจะพูดแสดงลักษณะได้ดังนี้

ในสังคมใด มนุษย์ไม่คำนึงถึงสิทธิของกันและกัน ปล่อยให้มีการละเมิดต่อชีวิต ต่อทรัพย์สิน มีการกีดกั้นแบ่งแยก ทำให้บุคคลขาดอิสรเสรีภาพ สังคมนั้นยังเข้าไม่ถึงความมีอารยธรรม

ส่วนในสังคมใด มนุษย์บีบรัดตัวให้คับแคบลงด้วยการคอยระแวงระวังในการที่จะปกป้องพิทักษ์สิทธิของตน จนกระทั่งแม้แต่พ่อแม่กับลูกก็อยู่กันด้วยท่าทีของการปกป้องและเรียกร้องสิทธิ สังคมนั้นชื่อว่าใกล้ถึงจุดอวสานของอารยธรรม

เอาเป็นว่า ระวังอย่าไปสู่สุดโต่ง 2 อย่างนั้น โดยที่เราจะต้องมีความสำนึกตระหนักในวัตถุประสงค์ที่แท้ของการมีสิทธิมนุษยชน ซึ่งในที่นี้หมายถึง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ถ้าเรามองโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แท้ว่า สิทธิมนุษยชนมีขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันพื้นฐานให้มนุษย์เข้าถึงชีวิตที่ดีงาม และสังคมที่มีสันติสุขแล้ว เราจะไม่หยุดอยู่แค่เรื่องของการมีสิทธิ ใช้สิทธิ พิทักษ์สิทธิ รักษาสิทธิ แต่เราจะใช้สิทธินี้เป็นหลักประกันพื้นฐานและเป็นฐานที่จะก้าวไปสู่สังคมที่ดีงามกว่านั้น ซึ่งอาจจะพูดว่า เราจะก้าวขึ้นไปสู่สังคมแห่งการเอื้ออาทรต่อกัน สังคมอย่างนี้จึงจะอยู่ได้ โดยมีสันติสุขที่แท้จริง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.