สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บทบาทในอดีต

ประวัติการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนี้ ยังไม่ปรากฏละเอียดชัดเจน พอที่จะให้ทราบถึงบทบาทของพระสงฆ์ในยุคเริ่มแรกทีเดียวว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะถือตามอย่างประวัติการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในชมพูทวีป ของพระพุทธเจ้า และพระสาวกรุ่นแรกๆ แล้ว ก็จะต้องอนุมานว่า พระเถระผู้เผยแพร่พระพุทธศาสนาในครั้งแรก ต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างมาก ในการใช้วิธีการเผยแผ่แบบต่างๆ จาริกสั่งสอน เพื่อนำธรรมให้เข้าถึงประชาชน หรือนำประชาชนให้เข้าถึงพระศาสนา อาจเรียกระยะแรกนี้ว่า ระยะออกไปหาประชาชน

ต่อมา เมื่อการเผยแผ่เป็นผลสำเร็จกว้างขวาง พระพุทธศาสนาประดิษฐานลงมั่นคงแล้ว เกิดมีสถาบันวัดและพระสงฆ์ขึ้นเป็นหลักฐาน วัดและพระสงฆ์มีบทบาทเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ทุกอย่าง และในทุกระยะแห่งชีวิตของประชาชน วัดก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเป็นส่วนศูนย์กลางของสังคมทีเดียว คนไทยทุกคนเกิดมาเป็นชาวพุทธโดยไม่รู้ตัว โดยไม่ต้องประกาศ รู้จักวัดในฐานะเป็นศูนย์กลางของสังคม รู้จักพระสงฆ์ในฐานะเป็นบุคคลที่ตนต้องเคารพเชื่อถือ ภาวะนี้ เป็นสิ่งที่กลมกลืน แทรกอยู่ในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยไม่รู้ตัว ในระยะนี้ บทบาทของพระสงฆ์ก็เปลี่ยนไป แทนที่จะต้องออกไปเผยแพร่ธรรมให้เข้าถึงประชาชน ก็เพียงคอยรออยู่ที่วัด คอยอนุเคราะห์ประชาชนซึ่งเป็นชาวพุทธอยู่แล้ว และมาวัดเพื่อขอรับบริการในฐานะที่วัดเป็นศูนย์กลางบริการต่างๆ ของสังคมของตน ท่าทีของพระสงฆ์เปลี่ยนมาเป็นการคอยรอรับพิจารณาปัญหาและเรื่องราวต่างๆ ที่เขาจะนำมาถามและปรึกษาที่วัด คอยรอรับอาราธนาจากชาวบ้านผู้ศรัทธาอยู่แล้วที่จะมาหา กระบวนการที่จะให้เกิดภาวะนี้ได้ คงต้องอาศัยระยะเวลานานพอสมควร แต่ภาวะเช่นนี้ก็ได้มีในสังคมไทยมาเป็นเวลานานหลายร้อยปีแล้ว อาจเรียกระยะนี้ว่า ระยะรอรับอาราธนา ระบบความเชื่อถือ และวิธีปฏิบัติต่างๆ ตามความเชื่อถือนั้น ถูกทำสืบต่อกันมาจนวางเป็นแบบฉบับ กลายเป็นพิธีกรรมที่ต้องยึดถือตายตัว เพื่อคุณค่าในทางความศักดิ์สิทธิ์และความงามเป็นต้น เช่น พิธีการเทศน์ ที่ต้องขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ ถือคัมภีร์ มีคนอาราธนา และติดกัณฑ์เทศน์ เป็นต้น โดยที่ภาวะเช่นนี้ดำเนินสืบเนื่องมาไม่ขาดสาย โดยไม่มีอะไรมากระทบหรือขัดขวาง จึงกลายเป็นระยะแห่งความเฉื่อยนิ่ง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ตลอดระยะนี้ สังคมไทยทุกหน่วยย่อย เช่น แต่ละหมู่บ้าน ต่างมีวัดประจำหมู่บ้านของตนเป็นศูนย์กลาง และต่างก็มีความยึดถือในวัดนั้นว่าเป็นวัดของตน เป็นสมบัติร่วมกันของคนทั้งหมู่บ้านนั้น วัดแต่ละวัดจึงเป็นเครื่องรวมสังคมย่อยหนึ่งๆ เข้าให้เป็นหน่วยเดียวกัน บทบาทของวัดในฐานะศูนย์กลางของสังคมในระยะนี้ นอกจากอบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชนแล้ว พอสรุปได้ดังนี้

๑. เป็นสถานศึกษา สำหรับชาวบ้านส่งกุลบุตรมาอยู่รับใช้พระ รับการฝึกอบรมทางศีลธรรม และเล่าเรียนวิชาการต่างๆ ตามที่มีสอนในสมัยนั้น

๒. เป็นสถานสงเคราะห์ ที่บุตรหลานชาวบ้านที่ยากจนได้มาอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่และศึกษาเล่าเรียนด้วย ตลอดถึงผู้ใหญ่ที่ขัดสนมาอาศัยเลี้ยงชีพ

๓. เป็นสถานพยาบาล ที่แจกจ่ายบอกยาและรักษาผู้เจ็บป่วยตามภูมิรู้ของคนสมัยนั้น

๔. เป็นที่พักคนเดินทาง

๕. เป็นสโมสร ที่ชาวบ้านมาพบปะสังสรรค์ หย่อนใจ หาความรู้เพิ่มเติม

๖. เป็นสถานบันเทิง ที่จัดงานเทศกาล และมหรสพต่างๆ สำหรับชาวบ้านทั้งหมด

๗. เป็นที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นที่ปรึกษา แก้ปัญหาชีวิตครอบครัวและความทุกข์ต่างๆ

๘. เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรม ที่รวบรวมศิลปกรรมต่าง ๆ ของชาติ ตลอดจนเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์

๙. เป็นคลังพัสดุ สำหรับเก็บของใช้ต่างๆ ซึ่งชาวบ้านจะได้ใช้ร่วมกันเมื่อมีงานที่วัด หรือยืมไปใช้เมื่อตนมีงาน

๑๐. เป็นศูนย์กลางการบริหารหรือปกครอง ที่กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านจะเรียกลูกบ้านมาประชุมกันบอกแจ้งกิจการต่างๆ (ในยามสงคราม อาจใช้เป็นที่ชุมนุมทหารด้วย)

๑๑. เป็นที่ประกอบพิธีกรรม หรือให้บริการด้านพิธีกรรม อันเป็นเรื่องผูกพันกับชีวิตของทุกคนในระยะเวลาต่างๆ ของชีวิต1

กล่าวได้ว่า วัดเป็นทุกอย่างของสังคม เป็นศูนย์กลางที่รวมจิตใจของประชาชน ส่วนพระสงฆ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของวัดในบทบาทเหล่านี้ ก็กลายเป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชน เป็นศูนย์รวมแห่งความเคารพเชื่อถือและการร่วมมือ โดยนัยนี้ วัดก็กลายเป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศชาติ ในฐานะเป็นที่ยึดเหนี่ยวประชาชนให้มีความสามัคคี และให้รวมตัวกันเข้าเป็นหน่วยหนึ่งๆ ได้

นอกจากการช่วยให้เกิดความสามัคคี ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการประพฤติศีลธรรมในสังคมหมู่บ้านแล้ว ฐานะของพระสงฆ์ที่ได้รับความเคารพนับถือ น่าจะมีบทบาทสำคัญในการควบคุมทางสังคมระดับประเทศด้วย เพราะความเป็นที่เคารพนับถือของพระสงฆ์นั้น เป็นไปอย่างกว้างขวาง ทั่วทุกส่วนทุกชั้นของสังคม นับแต่พระมหากษัตริย์ลงมา

ในสังคมที่ผู้ปกครองมีอำนาจสิทธิขาดผู้เดียว ถ้าผู้ปกครองขาดคุณธรรมแล้ว ความยุ่งยากเดือดร้อนย่อมเกิดขึ้นได้อย่างรุนแรง และโดยสามัญวิสัยของมนุษย์ แม้คนดีมีเหตุผล เมื่อขาดเครื่องยับยั้งและมีโอกาสเต็มที่ที่จะทำอะไรตามใจตน ถ้าไม่หนักแน่นจริง ก็อาจละเมิดความยับยั้งชั่งใจของตน ละเมิดเหตุผล ลุอำนาจกิเลสสามัญ ทำการเพื่อสนองความต้องการส่วนตัวได้ จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องยับยั้งหรือควบคุมในรูปใดรูปหนึ่ง ในสังคมไทยสมัยโบราณ แม้ว่าพระมหากษตริย์จะทรงอำนาจสมบูรณ์สิทธิขาดพระองค์เดียว แต่พระสงฆ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชน ก็เป็นที่เคารพนับถือขององค์พระมหากษัตริย์ด้วย บางท่านอาจเป็นครูอาจารย์ของพระมหากษัตริย์มาแต่เดิม พระสงฆ์เหล่านี้จึงมีบทบาทเป็นพระอาจารย์ หรือเป็นที่ปรึกษา หรืออย่างน้อยเป็นที่เคารพนับถือ เป็นที่ตั้งแห่งความละอาย ช่วยยับยั้งการกระทำบางอย่างขององค์พระมหากษัตริย์และผู้มีอำนาจ และเป็นผู้นำเสียงประชาชนเข้าถึงผู้บริหารประเทศ ในเวลาเดียวกันฐานะของพระสงฆ์ ก็ดำรงอยู่ได้ด้วยความเคารพนับถือของประชาชน ซึ่งอาศัยความบริสุทธิ์และการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง เสียงและศรัทธาของประชาชน จึงเป็นกรอบความประพฤติของพระสงฆ์ได้อีกต่อหนึ่ง ส่วนประชาชนเอง ก็มีสถาบันการปกครองของประเทศ และสถาบันศาสนาเป็นเครื่องควบคุมความประพฤติอีกชั้นหนึ่ง นับว่าเป็นระบบการควบคุมทางสังคมที่รัดกุมแบบหนึ่ง

ในสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ สิ่งที่ควบคุมความประพฤติของชนชั้นปกครอง ก็คือเสียงของประชาชน ซึ่งหมายถึงประชาชนที่ได้รับการศึกษาดีแล้ว แต่ถ้าประชาชนยังด้อยการศึกษาอยู่ และสถาบันอื่นที่เคยช่วยทำหน้าที่นี้หมดความหมายไป ระบบการควบคุมก็เกิดช่องโหว่ จึงอาจเป็นสภาพที่เสี่ยงภัยก็ได้

การที่วัดกลายเป็นศูนย์กลางของสังคม ทำให้พระสงฆ์กลายเป็นผู้นำทางจิตใจ และเป็นศูนย์รวมความร่วมมือนั้น อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเป็นที่ประกอบพิธีกรรม หรือให้บริการในด้านนี้เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ข้อสำคัญ ปัจจัยสำคัญนั้นอยู่ที่ความรู้สึกว่าพระสงฆ์เป็นผู้ประพฤติธรรม มีความบริสุทธิ์อย่างหนึ่ง เป็นผู้เสียสละบำเพ็ญตนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยบริสุทธิ์ใจอย่างหนึ่ง และที่น่าจะสำคัญที่สุด คือ ความรู้สึกว่าพระสงฆ์เป็นผู้มีสติปัญญารอบรู้วิชาการต่างๆ ทุกอย่าง เหนือกว่าพวกตน สามารถเป็นที่ปรึกษาแนะนำชาวบ้านในปัญหาต่างๆ ได้ทั่วไป อันเป็นความรู้สึกในฐานะศิษย์กับอาจารย์ เป็นเครื่องรักษาความเคารพเชื่อถือได้ยังยืนมั่นคงยิ่ง รวมปัจจัยสำคัญ ๓ อย่าง ที่เชิดชูฐานะของพระสงฆ์ในสังคม คือ ความบริสุทธิ์ ความเสียสละบำเพ็ญประโยชน์ และความเป็นผู้นำทางสติปัญญา

๑. บริสุทธิ์

๒. เสียสละ

๓. นำทางสติปัญญา

1ดูบทความเรื่อง “พระสงฆ์ในสังคมปัจจุบัน” ของผู้เขียนบทความนี้ และบทความเรื่อง “พุทธศาสนากับสังคมไทยปัจจุบัน” ของ แสง จันทร์งาม ในสังคมศาสตร์ปรทัศน์ ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๓
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.