สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ศาสนจักรกับอาณาจักร
ความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับอำนาจการเมือง1

คณะสงฆ์เป็นสถาบันใหญ่ในประเทศไทย มีประวัติความเป็นมายาวนาน และมีรายละเอียดมากมาย แต่เท่าที่เป็นมาในเมืองไทยเรานี้ การศึกษาเรื่องในอดีตยังไม่ชัดเจนละเอียดลออเท่าที่ควร ซึ่งเป็นข้อที่น่าพิจารณาอย่างหนึ่ง เรื่องศาสนจักรกับอาณาจักร เป็นเรื่องที่จะต้องมีการศึกษาประวัติให้ทราบกันอีกมาก ความจริงท่านผู้เสนอบทความก็พูดถึงในแง่ประวัติศาสตร์ด้วย

แต่อาตมภาพมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ความรู้สึกว่าท่านอาจจะเอาสภาพปัจจุบัน เป็นแบบของสถาบันพุทธศาสนาในประเทศไทยทั้งหมดมากไปสักหน่อย อย่างเรื่องระบบการที่รัฐเข้าควบคุมคณะสงฆ์ เช่นโดยสมณศักดิ์เป็นต้น อย่างที่ท่านพูดมานั้น อันนี้ปัจจุบันเราเห็นว่าระบบนี้มันแน่นมาก แต่ถ้าเทียบในอดีตแล้ว อาตมภาพว่าในอดีตไม่เคยแน่นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจะนึกว่า ในอดีตประเทศไทยเป็นมาอย่างนี้โดยตลอด ก็อาจไม่แน่ใจนัก

ทีนี้สภาพปัจจุบันที่ทางรัฐได้มีระบบ ที่เราอาจจะเรียกว่าการควบคุมคณะสงฆ์ในด้านการบริหาร ทั้งสายปกครองและสายสมณศักดิ์แน่นมาก เรื่องเกิดขึ้นได้อย่างไร แน่ละ ปัจจัยอันหนึ่งมาจากอดีต หมายความว่าแนวโน้มในอดีตมีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เด่นมาก ต้องมีปัจจัยด้านอื่นมาประกอบด้วย ในทัศนะอาตมภาพว่า ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งก็คือเรื่องการศึกษา ถ้าหากว่าพระสงฆ์ขาดการศึกษา มีการศึกษาน้อย การที่จะต้องพึ่งพิงสถาบันอื่นก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะในที่นี้ หมายถึงการพึ่งพิงสถาบันฝ่ายปกครอง เพราะว่าหน้าที่หลักของสถาบันสงฆ์นั้น คือการทำงานไปตามภาวะที่เป็นผู้นำทางสติปัญญา อันนี้เป็นรากฐานเดิม ถ้าขาดสติปัญญาเมื่อไร ไม่มีทางที่จะนำผู้อื่น ก็ต้องเป็นผู้ตาม แล้วก็จะพึ่งพิงอาศัยเขา

ในสภาพปัจจุบันนี้ สำหรับอาตมภาพมีความเห็นว่า พระสงฆ์ได้มีความตกต่ำทางการศึกษามาก เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุให้การพึ่งพาอาศัยสถาบันทางการเมืองมีมากขึ้น

ถ้าเรามองในแง่หลักการสามเส้า อาจจะพิจารณาเรื่องนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือในอดีตอาตมภาพเห็นว่า มีสถาบันสามฝ่ายที่เข้ามาอาศัยกัน และในเวลาเดียวกันก็ควบคุมซึ่งกันและกัน ได้แก่สถาบันฝ่ายปกครองคือพระมหากษัตริย์ สถาบันฝ่ายศาสนาคือคณะสงฆ์หรือวัด และอีกด้านหนึ่งก็คือประชาชน สามอันนี้จะควบคุมซึ่งกันและกัน ถ้าเรามองเพียงด้านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ ภาพอาจจะไม่เพียงพอ อาจจะไม่ชัด

การที่รัฐจะเข้ามาควบคุมคณะสงฆ์ เราก็เห็นอยู่แล้วว่าเพราะรัฐต้องการฐานทางประชาชนด้วย ทำไมรัฐจึงพยายามเอาใจคณะสงฆ์ ข้อนี้เราอาจพิจารณาได้ ๒ ด้าน คือการทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างหนึ่ง กับการทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวสถาบันนั้นเองอย่างหนึ่ง หมายความว่าพระมหากษัตริย์เข้ามาอุปถัมภ์บำรุง และพยายามควบคุมคณะสงฆ์ ซึ่งไม่ว่าจะควบคุมโดยตรงก็ตาม โดยอ้อมก็ตาม เราพิจารณาได้อีก ๒ แง่ แง่ที่หนึ่ง อาจจะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน หรือในแง่ที่สอง อาจจะมองในแง่เพื่อผลประโยชน์ของตน คือความมั่นคงของการดำรงสถานะของตนก็ได้

แต่จะมองในแง่ไหนก็ตาม การที่สถาบันกษัตริย์หรือรัฐเข้ามาควบคุมหรืออุปถัมภ์คณะสงฆ์นั้น ย่อมเป็นเพราะเหตุผลเกี่ยวกับการที่ต้องการเสียงทางด้านประชาชนในสถานหนึ่ง เพราะอะไร เพราะพระสงฆ์มีความใกล้ชิดกับประชาชน และคุมเสียงประชาชนเป็นส่วนใหญ่ แต่พระสงฆ์จะสามารถควบคุมเสียงประชาชนได้อย่างไร พระสงฆ์จะต้องมีการศึกษา มีความรู้ สามารถนำประชาชนได้ และในการที่พระสงฆ์มีอำนาจทางประชาชน พระสงฆ์ก็จะมีอำนาจต่อรองกับรัฐด้วย

ฉะนั้น อาตมภาพว่ามิใช่แต่รัฐจะมาควบคุมพระสงฆ์ฝ่ายเดียว ในอดีตนั้นน่าจะเป็นไปได้ว่า พระสงฆ์ได้มีส่วนในการที่จะควบคุมทางฝ่ายรัฐด้วยเหมือนกัน แต่จะมากหรือน้อยเป็นเรื่องที่น่าพิจารณากันต่อไป เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยในแง่นี้จะต้องศึกษากันอีกมาก มองทั้งแง่ที่รัฐเข้ามาคุมคณะสงฆ์ และคณะสงฆ์ควบคุมรัฐ เมื่อใดที่คณะสงฆ์ขาดการศึกษาและเข้ามาพึ่งพิงรัฐมากเกินไป นั่นแหละความจริงคือตัวความเสื่อมแก่รัฐเองด้วย

ทำไมอาตมภาพจึงว่าเช่นนั้น การที่รัฐควบคุมคณะสงฆ์ไว้มากเกินไป เช่นในระบบอุปถัมภ์เป็นต้น ต่อมาคณะสงฆ์จะหวังพึ่งพิงรัฐ เมื่อคณะสงฆ์หวังพึ่งพิงรัฐมาก อะไรๆ ก็ขึ้นกับรัฐ คณะสงฆ์ก็จะห่างประชาชน เมื่อคณะสงฆ์ห่างจากประชาชน ไม่นาน เสียงทางประชาชนก็ขาดไป รากฐานทางประชาชนก็ไม่มี ต่อไปคณะสงฆ์นั่นแหละก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่รัฐ เพราะคณะสงฆ์จะเป็นประโยชน์แก่รัฐ ก็ต่อเมื่อคณะสงฆ์สามารถนำประชาชน และช่วยให้รัฐดำรงเสียงทางด้านประชาชนไว้ได้ เมื่อคณะสงฆ์หันมาอยู่กับรัฐ หวังพึ่งรัฐ ไม่เอาใจใส่ประชาชนหรือเข้าไม่ถึงประชาชน ไม่นานเท่าใดคณะสงฆ์ก็จะหมดความหมายต่อประชาชน แล้วก็หมดความหมายต่อรัฐไปเอง

เพราะฉะนั้น อาตมภาพว่า ในอดีต การที่คณะสงฆ์รุ่งเรืองอยู่ได้ก็เพราะมีเสียงทางประชาชนอยู่มาก อันนี้เป็นข้อพิจารณาอันหนึ่งที่ต้องศึกษากันต่อไป จะมองในแง่ว่ารัฐมาคุมฝ่ายเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อมองแต่สภาพปัจจุบัน เราจึงเน้นว่ามันเป็นอย่างนั้น คือรู้สึกว่าคณะสงฆ์ขึ้นต่อรัฐมาก ทั้งในการอุปถัมภ์บำรุงและระบบการบริหารควบคุม การศึกษาก็ตกต่ำ นำประชาชนได้น้อยลงๆ และต้องหวังพึ่งรัฐมากขึ้น ในสภาพอย่างนี้อาตมภาพว่า คณะสงฆ์เองจะเสื่อม แล้วความหมายต่อรัฐจะหมดไป คณะสงฆ์ก็จะช่วยอะไรรัฐไม่ได้ด้วย เพราะช่วยรัฐทำประโยชน์สุขแก่ประชาชนก็ไม่ได้ ช่วยตรึงเสียงทางด้านประชาชนให้แก่รัฐก็ไม่ได้ เมื่อถึงเวลานั้น รัฐก็จะสูญเสียประโยชน์ที่รัฐพึงได้จากคณะสงฆ์ และรัฐก็จะถอนตัวจากความสัมพันธ์กับคณะสงฆ์ ไม่ต้องใส่ใจเอาใจคณะสงฆ์อีกต่อไป จึงเป็นการสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย คือทั้งแก่รัฐและคณะสงฆ์ ถ้าหากว่าในอดีตรัฐพยายามอุปถัมภ์ควบคุมคณะสงฆ์ และคณะสงฆ์ยังคงอยู่บัดนี้ ก็น่าจะแสดงว่า คณะสงฆ์สมัยก่อนนั้น มีฐานหนักแน่นในหมู่ประชาชน และย่อมสามารถควบคุมรัฐได้ด้วย

เพราะฉะนั้นถ้าเอาภาพปัจจุบันเป็นเกณฑ์ทีเดียว ก็อาจจะมองภาพในอดีตไม่ชัดนัก นี่เป็นข้อสังเกตในแง่หนึ่ง

ในแง่ความสัมพันธ์ทางด้านอื่นก็เหมือนกัน กับการที่ว่าคณะสงฆ์ต้องเข้าไปสัมพันธ์กับฝ่ายรัฐนั้น เราจะมองในแง่ผลประโยชน์ก็ได้ หรือมองในแง่ประโยชน์สุขของประชาชนก็ได้ ในแง่ประโยชน์ของประชาชนนั้น เราพบว่าพระสงฆ์มีหน้าที่ตามหลักธรรม ที่จะต้องช่วยให้ประชาชนมีความเจริญงอกงามในทางศีลธรรมเป็นต้น หรือมีความสุขสงบในสังคม ตามปกตินั้น พระสงฆ์จะช่วยประชาชนได้โดยทั่วๆ ไประดับหนึ่ง แต่ท่านจะต้องพิจารณาเห็นว่าการที่จะช่วยประชาชนได้แท้จริงนั้น ท่านจะทำไม่สำเร็จ ตราบใดที่ท่านยังไม่สามารถทำให้ผู้ปกครองประพฤติธรรม เพราะผู้ปกครองมีอิทธิพลมากต่อประชาชน ถ้าผู้ปกครองไม่เป็นธรรม ก็ไม่ทำให้สังคมนั้นสงบสุข ประชาชนจะอยู่สงบไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้ประชาชนมีความสุขที่แท้จริงได้ ก็ต้องสอนผู้ปกครองให้มีธรรมด้วย โดยหลักการในการสอนธรรมนั่นเอง จึงต้องเข้าถึงผู้ปกครอง เพราะจะมองในแง่ว่าท่านทำอย่างนั้นเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนก็ได้ หรือจะมองในแง่ว่า ท่านต้องการผลประโยชน์แก่สถาบันของท่าน อันนี้ก็แล้วแต่ ซึ่งความจริงแล้วเรื่องนี้ไม่เป็นไปโดยส่วนเดียว มันต้องเป็นไปทั้งสองอย่าง แม้แต่ตัวพระสงฆ์เอง ก็มีทั้งผู้หวังประโยชน์ส่วนตัว และผู้ที่ทำเพื่อหลักการอุดมการณ์

ปัญหาโยงมาถึงปัจจุบัน เมื่อสักครู่หนึ่ง รู้สึกจะมีอาจารย์ท่านหนึ่งพูดถึงสภาพปัจจุบัน ที่ทางสถาบันสงฆ์หรือสถาบันพระศาสนานี้ช่วยสังคมไม่ค่อยได้มาก อาตมภาพขอโยงเข้ากับสาเหตุที่พูดมาแล้วว่า ในสภาพปัจจุบันนี้ อาตมภาพเห็นว่าพระสงฆ์ขาดการศึกษา มีความอ่อนแอเสื่อมโทรมภายใน จะดำรงสถาบันตนเองแทบไม่ไหว แล้วจะไปช่วยสังคมภายนอกได้อย่างไร อันนี้เรามองกันในแง่หนึ่งที่ท่านไปทำอะไรข้างนอกไม่ได้ เพราะตัวเองท่านก็แย่อยู่แล้ว ในสภาพปัจจุบันนี้ ถ้าเรามองหรือสำรวจในชนบท เราจะเข้าใจภาพนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น อันนี้เป็นภาระที่สังคมไทยทั้งหมดจะต้องรับผิดชอบด้วย เวลามองภาพอย่างนี้แล้ว จะมองแต่ว่าสถาบันสงฆ์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างเดียว ไม่ถูกต้อง ความจริง พวกเราทั้งหมดได้ช่วยกันสร้างสภาพที่ไม่ดีให้เกิดมีขึ้น ถ้าพูดไปก็เป็นเรื่องยาวที่จะต้องศึกษารายละเอียดกันต่อไป

ทำไมพระสงฆ์สามเณรจึงขาดการศึกษา ในปัจจุบันพระเณรส่วนมาก คือ ๙๐% ขึ้นไปเป็นชาวบ้าน หรือชาวชนบทที่ห่างไกล โดยเฉพาะชาวนาที่ยากจน เสียเปรียบในทางสังคมอยู่แล้ว ด้อยโอกาสในทางการศึกษาเป็นอย่างมาก และยิ่งในปัจจุบันนี้ การมาบวชหมายถึงการถูกตัดโอกาสในการศึกษายิ่งขึ้นไปอีก จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ทำให้พระเณรขาดการศึกษา อีกอย่างหนึ่งคือการที่อารยธรรมตะวันตกเข้ามา เรารับเอาการศึกษาแบบตะวันตก รัฐให้การศึกษาแก่ประชาชน ทำหน้าที่จัดการศึกษามวลชน และทำไม่สำเร็จไม่ทั่วถึง คนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและในทางภูมิศาสตร์ เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาของรัฐ ในเวลาเดียวกัน วัดนี่เป็นสถานศึกษาโบราณ ทางรัฐก็บอกว่าเลิก ไม่ต้องทำหน้าที่ต่อไป แต่ชาวบ้านที่ยากจนไม่มีทางเข้าถึงระบบการศึกษาของรัฐ ก็ไปอาศัยวัดตามประเพณีเดิม เด็กจบประถมสี่ที่ยากจน ถ้าอยากจะเรียนก็ไปอยู่ที่วัด รัฐก็ไม่เอาใจใส่ไม่รับผิดชอบ เพราะถือว่าพระสงฆ์ไม่มีหน้าที่จัดการศึกษาเพื่อมวลชนต่อไป ในที่สุดคนเหล่านี้ก็ถูกทอดทิ้ง คนที่มีลักษณะอย่างนี้เมื่อเข้าไปอยู่ตามวัด ต้องการจะเรียนแล้วไม่ค่อยได้เรียน ตกลงสถาบันสงฆ์ก็เป็นแหล่งที่คนยากจนด้อยโอกาส พยายามสร้างฐานะทางการศึกษาและสังคมขึ้นมา แต่เมื่อไม่ได้รับการเหลียวแล มันก็ตกเป็นภาระหนักแก่สถาบันสงฆ์ ในเวลาเดียวกัน คนยากจนเหล่านั้นก็ต้องการผลประโยชน์แก่ตนเองไปบ้าง แม้ว่าจะเล็กน้อย วัดก็สนองความต้องการของเขา ช่วยเหลือเขาได้บ้าง แต่ในขณะเดียวกัน สถาบันสงฆ์ก็ถูกดึงให้ต่ำและอ่อนแอลงไปด้วย สถาบันสงฆ์ในลักษณะเช่นนี้จะไปทำหน้าที่ต่อสังคมได้อย่างไร มีแต่ทรุดลงไปทุกที แต่นี่ก็เป็นการช่วยสังคมอย่างหนึ่ง ถ้าวัดไม่ช่วยคนเหล่านี้ ใครจะช่วยเขา ข้อน่าคิดก็คือ ไหนๆ ก็ต้องช่วยอยู่แล้ว ก็น่าจะช่วยให้ดีๆ ไม่ใช่ปล่อยซังกะตายโดยไม่ยอมรับความจริงที่มี

เราลองมองดูสังคมต่างจังหวัด ปัจจุบันนี้วัดในประเทศไทยมีประมาณ ๓๐,๐๐๐ วัดแล้ว สถิติเมื่อ ๓-๔ ปีที่แล้ว วัดไม่มีเจ้าอาวาสประมาณ ๔,๐๐๐ กว่าวัด และในปัจจุบันจะมีวัดที่ไม่มีเจ้าอาวาสกี่วัดทั่วประเทศไทย ถ้ามี ๕,๐๐๐ วัด ก็เท่ากับ ๑/๖ ของวัดทั้งหมดในประเทศไทย ไม่มีเจ้าอาวาส เพราะอะไรจึงไม่มีเจ้าอาวาส ก็เพราะไม่มีพระที่มีคุณสมบัติพอที่จะเป็นเจ้าอาวาสได้ บางวัดหน้าแล้งไม่มีพระอยู่เลย หรือบางที่ไม่มีทั้งปี ถึงขนาดเรียกว่าชาวบ้านต้องไปประมูลจ้างพระจากที่อื่นมา ไปนิมนต์ท่าน บอกว่าผมจะให้ข้าวสารท่านเท่านั้นกระสอบ ให้ช่วยมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ อะไรทำนองนี้ ไม่มีพระที่จะอยู่ประจำวัด แล้วผู้ที่เข้ามาบวชก็เป็นคนจบประถมสี่ เข้ามาแล้ววัดก็ไม่มีการศึกษาให้ เพราะไม่มีคนเก่าที่เป็นผู้มีความรู้อยู่ เข้ามาแล้วก็ไม่ได้เล่าเรียน ก็ตกเป็นภาระแก่มรรคนายกจะต้องสอนให้พระรู้จักพิธีกรรม จะได้ประกอบพิธีให้ชาวบ้านได้ อย่างนี้เป็นต้น

มีคนรู้จักกันไปต่างจังหวัดทางภาคอีสานแถวจังหวัดอุดร ขอนแก่นแถวนั้น ก็เห็นสภาพเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว เขาบอกว่าไปเจอวัดบางวัดไม่มีพระอยู่เลย มีแต่เณรเล็ก ๓ องค์ เณรเล็ก ๓ องค์ก็กลัวผีไม่กล้านอนที่วัด เลยต้องไปนอนที่บ้านโยม เวลากลางวันจึงจะมาที่วัด แต่กลางคืนเณรไปนอนที่บ้านโยม สภาพอย่างนี้ใครรับผิดชอบ สังคมไทยเราได้สร้างมันขึ้นมา

ในเมื่อพระสงฆ์ขาดการศึกษาอย่างนี้แล้ว ความเป็นผู้นำในชนบทก็หมดไป ช่วยอะไรชาวบ้านไม่ได้ เมื่อชาวบ้านเหล่านี้เข้ามาในวัดเพื่อรับการศึกษา คณะสงฆ์เองก็มีผู้ใหญ่ซึ่งมีการศึกษาน้อยอยู่แล้ว ต้องหันไปรับภาระให้การศึกษาแก่คนเหล่านี้ ลำพังตัวเองก็ยังไม่ดี ยังจะสอนผู้อื่นอีก ก็ประคับประคองกันทุลักทุเล มันจึงอยู่ในสภาพที่ว่า สถาบันสงฆ์เองก็ยังย่ำแย่อยู่แล้ว จะมาทำอะไรให้กับสังคม ดีว่าสังคมข้างนอกแย่กว่า จึงพอจะช่วยได้บ้าง

เมื่อเราเห็นสภาพอย่างนี้ แน่นอนเราย่อมคิดแก้ไข เรื่องนี้เป็นไปตามธรรมดาที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย คนจำนวนมากพูดกันบ่นกันง่ายๆ ถึงปัญหาและสภาพที่ไม่น่าพอใจในสังคม แต่น้อยคนจะใส่ใจศึกษาพิจารณาเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนให้ลึกซึ้งลงไป ปัญหาเกี่ยวกับพระสงฆ์เป็นเรื่องหนึ่งที่มีเหตุปัจจัยซับซ้อนมาก โยงกับปัญหาอื่นหลายอย่างของสังคมไทย แม้แต่คนที่รักพระศาสนาหรือคนที่เรียกกันว่านักปฏิบัติ ก็มักขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง มักกล่าวถึงบ่นว่าแนะนำอย่างผู้มีทัศนะอันคับแคบ เอาแต่ใจตัว จะให้ดีอย่างใจซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าอย่างนั้นดี แต่เป็นทัศนะที่มีโทษมากกว่าคุณ เพราะเป็นไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในการที่จะแก้ไขนั้น เรื่องสำคัญที่สุดก็คือต้องเข้าใจเหตุปัจจัยของมัน เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาให้รู้แน่นอน มิฉะนั้นการที่เราแก้ไขก็อาจจะเป็นการทำให้เกิดความผิดพลาดมากยิ่งขึ้น เพียงความปรารถนาที่จะแก้ไขเท่านั้นไม่เพียงพอ ข้อสำคัญที่สุด ก็คือต้องศึกษาเหตุปัจจัยให้เข้าใจชัดเจน เรายังจะต้องศึกษาเรื่องสังคมไทยนี้อีกมาก

1หมายเหตุ: อภิปรายในการสัมมนาเรื่อง “ศาสนจักรกับอาณาจักร: ความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับอำนาจการเมือง” ณ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ครั้งแรกใน สู่อนาคต ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๐๒ ๒๐-๒๖ กุมภาพันธ์, ๒๕๒๖
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.