สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ภาพที่พระพุทธศาสนาถูกมอง

แง่ที่ ๑ คือภาพที่พระพุทธศาสนาถูกมอง หมายความว่า พระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ถูกคนในสังคมมองอย่างไรบ้าง เขาเห็นพระสงฆ์เป็นอย่างไร มองเห็นธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร อย่างที่ท่านอาจารย์สมพรได้พูดมาเมื่อกี้นี้ จะเห็นได้ว่าศาสนธรรมคือคำสอนในพระพุทธศาสนา ได้ถูกคนจำนวนมากมองไปในแง่ที่ว่า เป็นคำสอนที่ไม่สามารถนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสังคมในปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือสังคมนี้ให้พ้นจากภาวะที่เขาเรียกว่า การกดขี่ไปสู่ความรอดพ้น อันนี้ก็หมายความว่าภาพของพระพุทธศาสนาในแง่ศาสนธรรมนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เป็นภาพที่ไม่สู้ดี เป็นภาพที่ไม่ทำให้เกิดความหมายและความสำคัญขึ้นมา เช่น การที่มีผู้อ้างถึงหลักกรรมว่าเป็นคำสอนในทางที่ทำให้คนยอมรับสถานะที่เป็นอยู่ ทำให้ไม่คิดปรับปรุงตนให้ก้าวหน้า ไม่แก้ไขสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

ถ้ามองไปในแง่สถาบันคือพระภิกษุสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน พระภิกษุสงฆ์จะถูกเพ่งมองในแง่ความสัมพันธ์กับสังคมในด้านต่างๆ จนเกิดมีภาพในจิตใจของคนในสมัยปัจจุบัน ปรากฏออกมาในรูปของข้อกล่าวหาต่างๆ เป็นอันมาก ท่านทั้งหลายโดยเฉพาะที่เป็นพระภิกษุสามเณร คงจะเคยได้ยินคำกล่าวเหล่านี้อยู่บ่อยๆ คำกล่าวเหล่านี้อาจจะสรุปได้ประมาณ ๔ ข้อ

ข้อที่ ๑ เขาจะบอกว่า พระสงฆ์เป็นผู้ที่เอาเปรียบสังคม หรือเป็นกาฝากสังคม เช่น มาเล่าเรียนหนังสืออยู่ในที่นี้ โดยไม่ต้องไปทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายให้ลำบาก บ้านก็ไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ มาเล่าเรียนโดยไม่ต้องลงทุนอะไร อย่างนี้เป็นต้น

ข้อที่ ๒ เขาบอกว่า พระภิกษุหรือสถาบันพระพุทธศาสนานี้ เป็นสถาบันที่ทำลายเศรษฐกิจ ทำลายอย่างไร เช่นว่าพระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันนี้ชอบก่อสร้าง และสิ่งต่างๆ ที่สร้างขึ้นมานั้น ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่า สร้างโบสถ์แพงๆ ชนิดที่ปีหนึ่งใช้ไม่กี่ครั้ง และพระที่ใช้ก็มีจำนวนนิดหน่อย เปลืองเงินทองที่สร้างมากมาย ถ้านำเงินจำนวนนั้นไปใช้ในกิจการอื่น ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล เช่น นำไปลงทุนในกิจการอุตสาหกรรม เป็นต้น มีผู้พยายามคำนวณโดยทางเศรษฐกิจว่า เงินที่ใช้ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาปีหนึ่งๆ จะประมาณสักเท่าไร เขาบอกว่าประมาณ ๑ ใน ๓ ของรายได้ของชาวบ้าน ถูกนำมาใช้ทำบุญคือใช้ในการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา เงินจำนวนนี้ถ้าเรานำมาใช้ในการลงทุนอุตสาหกรรม เรียกว่าผันเงินจากการที่จะนำไปทำบุญทำกุศล เอามาใช้ในการที่จะก่อให้เกิดความฟื้นฟูในทางเศรษฐกิจ มันจะได้ผลประโยชน์เป็นอันมาก เราจะได้กิจการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมากมาย อย่างรวดเร็วทีเดียว อันนี้ก็เป็นในแง่ของเศรษฐกิจ

ทีนี้ข้อที่ ๓ ต่อไป เขาบอกว่าพระสงฆ์นี้มอมเมาประชาชน มอมเมาอย่างไร คือหลอกประชาชนให้วุ่นวายอยู่กับเรื่องของนรกสวรรค์บ้าง ให้วุ่นวายอยู่กับเครื่องรางของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์บ้าง แล้วก็ทำให้จิตใจเขวออกไป ไม่คิดถึงสถานะความเป็นอยู่ของตนเองและปัญหาของสังคม และข้อนี้จะมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจที่กล่าวมาแล้วด้วย เช่นว่าเมื่อมีความเชื่อถือตามที่พระบอกว่า ทำบุญแล้วจะได้ไปสวรรค์โดยง่าย ก็จะนำเงินมาใช้ในทางพระพุทธศาสนา นำมาก่อสร้างศาสนวัตถุต่างๆ ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ ครั้นแล้วเงินเป็นจำนวนมากก็จะต้องสิ้นเปลืองหมดไป อันนี้เป็นการมอมเมาประชาชนทำให้จิตใจวุ่นวายอยู่กับสิ่งเหลวไหลไร้สาระต่างๆ และทำให้เกิดผลเสียแก่เศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย อันนี้เป็นเรื่องในแง่ที่ว่ามอมเมาประชาชน

ข้อที่ ๔ ต่อไป เขาบอกว่า พระสงฆ์ประพฤติไม่ดีไม่งาม มีความเสื่อมเสียเป็นอันมาก ซึ่งชักตัวอย่างสาธยายได้มากมายเหลือเกิน

อันนี้ก็เป็นข้อสรุปซึ่งจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของภาพของพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ในจิตใจของคนในสมัยปัจจุบัน ที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมดก็เพราะเป็นการมองเฉพาะในฝ่ายของผู้เพ่งร้าย แต่ถ้าเรามองในแง่ของฝ่ายที่สนับสนุน หรือฝ่ายที่อาจเรียกว่าเข้าข้างพระพุทธศาสนาบ้าง ก็จะได้ภาพในแง่ที่ว่าพระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจ เป็นผู้ช่วยให้ประชาชนมีอาหารทางจิตใจ ให้มีจิตใจเยือกเย็นผ่องใสเป็นสุข ศาสนธรรมก็เป็นเครื่องช่วยให้สังคมมีความสงบสุขอะไรต่างๆ เหล่านี้ ภาพทั้ง ๒ ฝ่ายนี้เป็นสิ่งที่เราจะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ ทีนี้ภาพทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่โจมตีและฝ่ายที่สนับสนุน อย่างไหนรุนแรงกว่ากัน และอย่างไหนพูดออกมาแล้วควรแก่การรับฟังมากกว่ากัน คนฟังน่าจะเชื่อฝ่ายไหนมากกว่า อันนี้เราจะต้องวิเคราะห์พิจารณา ถ้าแม้ว่าเราทั้งหลายอยู่ในฝ่ายของพระพุทธศาสนา เราจะต้องพิจารณาโดยไม่เข้าข้างตัวว่า การที่เราพูดว่า พระพุทธศาสนาอยู่ในสภาพดีมีประโยชน์ เป็นภาพในทางที่งดงามนั้น มันเป็นสิ่งที่งดงามจริงหรือไม่ และถ้างดงามจริงอย่างนั้น การแสดง (ภาพ) นี้ออกไป มันเด่นชัด หรือทำให้น่าเชื่อถืออย่างไรหรือไม่ และในทางตรงข้าม ภาพที่เป็นฝ่ายของผู้โจมตีนั้น เป็นภาพที่ควรแก่การรับฟังหรือไม่ จะต้องเป็นข้อที่ควรนำมาพิจารณา อันนี้เราเรียกว่าเป็นภาพที่พระพุทธศาสนาถูกมองในสถานการณ์ปัจจุบัน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.