ต่อไปประการที่ ๒ ความเข้าใจสำคัญอันหนึ่งที่เรามีอยู่ในใจ ในเวลาดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาของคณะสงฆ์ ก็คือ เราถือว่า คณะสงฆ์นั้นเป็นสถาบันหลักฝ่ายพระศาสนา พระนั้นเป็นเหมือนตัวแทนของสถาบันสงฆ์ เป็นผู้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา การศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นกิจสำคัญในหน้าที่ของคณะสงฆ์ เป็นหน้าที่หลักของสถาบันสงฆ์นั้น และพระสงฆ์จะทำหน้าที่สืบต่ออายุพระศาสนาได้ดีก็จะต้องเป็นผู้มีการศึกษาดี การศึกษาจึงต้องเป็นศาสนกิจหลักของคณะสงฆ์และของพระ ถ้าคณะสงฆ์จะดำรงอยู่ด้วยดี พระสงฆ์จะต้องเป็นผู้นำในการศึกษาทางด้านพระศาสนา ซึ่งในที่นี้พูดง่ายๆ ก็คือในเรื่องภาษาบาลีและพระธรรมวินัย จุดนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อตั้งหลักขึ้นมาอย่างนี้แล้ว ก็มาสำรวจดูโดยมองกว้างๆ ก็จะเห็นว่าปัจจุบันนี้ คณะสงฆ์เรามีฐานะเป็นผู้นำในการศึกษาบาลี และธรรมวินัยหรือไม่ อย่างน้อยในรูปแบบก่อน ในรูปแบบก็คือมองกันด้วยมาตรฐานที่สังคมยอมรับ ซึ่งวางกันเป็นชั้นๆ มีประกาศนียบัตร มีปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก
ทีนี้ คณะสงฆ์ของเรานั้นได้ดำเนินการศึกษากันมา โดยมีทางฝ่ายปริยัติธรรม แผนกธรรม และแผนกบาลี ซึ่งสูงสุดถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค บ้านเมืองก็บอกว่าได้รับรองฐานะของเปรียญธรรม ๙ ประโยคแล้ว ให้ได้มีฐานะเป็นชั้นปริญญาตรี ซึ่งในสมัยก่อนนี้ เป็นปริญญาที่ไม่สมบูรณ์ ดูจะอยู่ในระดับอนุปริญญาด้วยซ้ำไป
หันมาดูทางด้านมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งได้ดำเนินการศึกษามาตั้งแต่ปี ๒๔๙๐ จนกระทั่งบัดนี้ ๔๒ ปี ก็มีแค่ปริญญาตรี พระเราหลายท่านก็ภูมิใจหรือพอใจว่าเราก็มีปริญญาเหมือนกัน แต่ถ้าคิดให้ดี มานึกอีกที ก็มีความหมายที่ต้องคิดต่อ คิดต่ออย่างไร คือคิดว่าปริญญาตรีนี้ เป็นปริญญาขั้นต้นที่สุด แต่ก่อนนั้น แม้แต่ปริญญาตรี ก็เป็นปริญญาที่เขาอาจจะเรียกว่าเป็นปริญญาตรีเถื่อน เพราะไม่มีใครยอมรับ แต่ต่อมาในปัจจุบันนี้ มีพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะเกิดขึ้น ก็ให้ฐานะแน่นอนลงไปว่า ทั้งเปรียญ ๙ ประโยค และผู้สำเร็จมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ นั้น เป็นปริญญาตรีโดยสมบูรณ์ ก็เป็นอันว่า ปริญญาตรีมีฐานะถูกต้องแล้ว แต่เมื่อมองต่อไปอีก ก็เห็นว่าปริญญาตรีนี้เป็นปริญญาขั้นต้นเท่านั้นเอง
ทีนี้ ลองมองทั่วๆ ไปข้างนอก ผมเคยเดินทางไปอเมริกาครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๕ คือ ๑๖ ปีมาแล้ว ครั้งนั้นได้ไปเยี่ยมสถาบันการศึกษาพุทธศาสนาในรัฐต่างๆ มหาวิทยาลัยหนึ่งที่ไปเยี่ยม ชื่อมหาวิทยาลัย Wisconsin พอไปถึงที่นี้ปรากฏว่า เขามีการศึกษาพุทธศาสนาถึงชั้นปริญญาเอก ให้ Ph.D. in Buddhist Studies แล้ว ในเวลาที่เราไปดูนั้น เขาให้อยู่แล้ว คือ ในปี ๒๕๑๕ นั้น เขามีปริญญาเอกทางพระพุทธศาสนาอยู่ก่อนแล้ว แล้วก็ไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยอื่น บางมหาวิทยาลัยก็มีการเรียนพระพุทธศาสนาในระดับปริญญาตรี เช่น มหาวิทยาลัยคอลเกต ที่ชื่อเหมือนยาสีฟัน ส่วนในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ก็มีโครงการศึกษาศาสนาที่กว้าง ไม่เฉพาะพระพุทธศาสนา แต่ก็สามารถทำปริญญาทางพระพุทธศาสนาได้ (เมื่อไปอเมริกาเที่ยวต่อมา ในปี ๒๕๑๙ ก็พบฝรั่งคนหนึ่ง ซึ่งเคยมาบวชเณรที่วัดวชิรธรรมประทีป กรุงนิวยอร์ค เรียนปริญญาเอกทางพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียนี้) แล้วก็ไปดูที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ก็มี Center for the Study of World Religions เป็นศูนย์ศึกษาศาสนาสากล สถานศึกษาแห่งนี้ก็ให้การศึกษาที่สามารถเลือกเรียนพระพุทธศาสนาในระดับสูงได้ด้วย ทั้งหมดนี้ ก็ทำให้เรามองในแง่ว่า มหาวิทยาลัยในต่างประเทศเขามีการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับสูง
ทีนี้ย้อนเข้ามา ตีวงแคบเข้ามา ในเมืองไทยเราตอนนั้น ก็ยังไม่มีการศึกษาพุทธศาสนาและภาษาบาลีระดับสูง อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็มีการศึกษาภาษาบาลีเป็นเพียงวิชาย่อย ในระดับปริญญาตรี ในคณะอักษรศาสตร์ แต่ต่อมาสัก ๑๐ ปีที่แล้วมา ก็เริ่มมีการศึกษาภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาในระดับสูงขึ้น ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เปิดโครงการศาสนาเปรียบเทียบขึ้น ให้การศึกษาศาสนาในระดับปริญญาโท ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ ก็ได้เปิดการศึกษาปริญญาโทในด้านภาษาบาลี ให้ปริญญาโททางภาษาบาลี มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาจุฬาฯ รุ่นเก่าๆ จบไปแล้วจากมหาจุฬาฯ ก็ไปเข้าเรียนต่อปริญญาโทบาลีที่จุฬาฯ และก็มีบางท่านสำเร็จมาแล้ว แต่ตอนนั้น ปริญญาตรีจากมหาจุฬาฯ ยังไม่ได้รับการรับรอง เอาไปเข้าที่จุฬาฯ โดยตรงไม่ได้ ต้องไปเรียนได้สำเร็จ กศ.บ. หรือปริญญาอื่นมาแล้ว เสร็จแล้วจึงเอาปริญญานั้นไปเข้าต่อ ทั้งๆ ที่ตัวเองนั้นจบบาลี จบพระพุทธศาสนาไป มีความรู้แต่เข้าต่อไม่ได้ ปริญญาใช้ไม่ได้ ต้องไปเอาปริญญาด้านอื่นก่อน เสียเวลาไปเรียนอีกตั้งหลายปี ได้ปริญญาตรีแล้วจึงเอาไปต่อปริญญาโทบาลีที่จุฬาฯ แล้วต่อมา จุฬาฯ ก็เปิดในคณะเดียวกัน คือคณะอักษรศาสตร์ ให้มีปริญญาโททางด้านปรัชญา ซึ่งมีพุทธปรัชญาอยู่ด้วย ยิ่งกว่านั้น ทั้งที่มหิดลก็ดี ทั้งที่จุฬาฯ ก็ดี ก็ทำท่าจะเปิดปริญญาเอกมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่พร้อม จนกระทั่งปีนี้ที่จุฬาฯ ก็ได้เปิดปริญญาเอกทางปรัชญา มีคนหนึ่งที่รู้จักดีแกไปสอบเข้า ทำปริญญาเอกทางด้านพุทธปรัชญาที่จุฬาฯ
ทีนี้ เราลองมามองดูว่า ถ้าคณะสงฆ์จะเป็นผู้นำในศาสนศึกษา หรือในการศึกษาภาษาบาลีหรือธรรมวินัย แต่เมื่อเรามีแค่ปริญญาตรี เราจะไปพูดได้อย่างไรว่าเราเป็นผู้นำหรือเป็นหลักในการศึกษาพระพุทธศาสนา ในขณะที่มหาวิทยาลัยฝ่ายบ้านเมืองในประเทศไทย ก็มีปริญญาโท ปริญญาเอก ในทางภาษาบาลีและพระพุทธศาสนา ในเมืองนอก ไม่เฉพาะในอเมริกา แม้ในประเทศอื่นๆ เขาก็มี แล้วในปัจจุบันนี้ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยทางโลก จะเรียนต่อปริญญาเอกทางพระพุทธศาสนา ก็ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น ในอเมริกา เป็นต้น บางท่านก็ไปสำเร็จปริญญาเอกทางภาษาบาลี จากลังกา บางท่านก็ไปสำเร็จปริญญาเอกทางพระพุทธศาสนาเถรวาท จากมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย ในสหรัฐอเมริกา แล้วก็กลับมาสอนพระพุทธศาสนา ที่มหาวิทยาลัยฝ่ายบ้านเมืองในประเทศไทย เมื่อมองดูในแง่นี้ อย่างน้อยในทางสังคม ตามมาตรฐานที่เขาใช้วัดกันทั่วไป คณะสงฆ์ก็ไม่สามารถเป็นหลักในการศึกษาพระพุทธศาสนา ไม่อาจเป็นผู้นำในการศึกษาภาษาบาลีและธรรมวินัยได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณา และต้องยกขึ้นเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งว่า จะต้องพยายามยกมาตรฐานการศึกษาของคณะสงฆ์ขึ้นให้เข้าถึงฐานะแห่งความเป็นผู้นำในทางศาสนศึกษา อันเป็นฐานะที่ตนควรจะมีควรจะถึง เหตุผลที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นเครื่องกำหนดทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์ และการที่ได้มีการรับรองวิทยฐานะในระดับปริญญาตรีขึ้นมา ก็รวมอยู่ในทิศทางที่ว่านี้ด้วย ซึ่งเป็นทิศทางที่ยังจะต้องดำเนินต่อไป จนกว่าจะถึงเป้าหมายของความเป็นหลักและเป็นผู้นำ
การที่เราจะมีปริญญาโท ปริญญาเอก อะไรก็ตามนี้ ก็อย่างที่ว่ามาแล้ว คือ เป็นการสนองความต้องการทั้งสองแบบ ในแง่หนึ่งก็สนองความต้องการของบุคคลและสังคม ที่ว่าได้มีคนของรัฐจำนวนมากมายเข้ามาในคณะสงฆ์ เข้ามาอยู่ในวัด แล้วท่านเหล่านี้จำนวนมากก็จะกลับออกไป เราก็ช่วยให้เขากลับออกไปอย่างดี โดยได้รับประโยชน์ มิใช่กลับไปมือเปล่า กลับไปอย่างคนมีคุณภาพที่จะช่วยเหลือพัฒนาสังคมหรือประเทศชาติได้ด้วย และประการที่ ๒ ก็เป็นการฟื้นฟูฐานะของคณะสงฆ์ ในฐานะผู้นำทางศาสนา โดยเฉพาะในด้านศาสนศึกษา อันนี้ก็เป็นสภาพที่จะต้องทราบ ประการที่สอง