ทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ

ประการต่อไป สิ่งที่จะต้องทำให้ได้ในระดับสอง เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำในการศึกษาทางพระศาสนา หรือบาลีและธรรมวินัย ก็คือสิ่งที่เรียกว่าความเป็นเลิศทางวิชาการ ในวงการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ภาวะนี้จะเป็นเป้าหมายสำคัญของการดำเนินการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยทั้งหลายต่างก็ใฝ่ฝัน ที่จะเข้าถึงความเป็นเลิศทางวิชาการ

ความเป็นเลิศทางวิชาการนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความเป็นผู้นำได้ ในฐานะที่คณะสงฆ์เป็นสถาบันหลักของการศึกษาพระพุทธศาสนา ควรจะเป็นผู้นำในการศึกษาพระพุทธศาสนา จึงควรจะเป็นผู้เป็นเลิศทางวิชาการพระพุทธศาสนาด้วย แต่จะทำให้สำเร็จได้อย่างไร นี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ความสำเร็จในเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ผู้บริหารการศึกษาจะต้องคิดหาแนวทางจัดดำเนินการศึกษา จัดการปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรเป็นต้น จัดหาครูอาจารย์ที่เชี่ยวชาญมีความสามารถ และฝ่ายนิสิตก็จะต้องเพียรพยายาม ด้วยความตระหนักถึงเป้าหมายนี้อยู่ตลอดเวลาว่า ทำอย่างไร จะให้สถาบันการศึกษาของเรามีคุณภาพถึงระดับที่เป็นเลิศในวงวิชาการฝ่ายพระพุทธศาสนาได้ จิตสำนึกนี้ควรจะเป็นสิ่งหนึ่ง ที่ประจำอยู่ในจิตใจของนิสิตปริญญาโทรุ่นแรกนี้ ให้เป็นสิกขสัญญาว่า ทำอย่างไรจะมีคุณภาพเป็นเลิศทางวิชาการพระพุทธศาสนา ซึ่งความเป็นเลิศนี้ย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยการกระทำ ในมหาวิทยาลัยที่เรียกว่ามีชื่อเสียงมากๆ ในการศึกษาด้านใดด้านหนึ่งนั้น เขาจะมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในวิชาการสาขานั้น เป็นองค์ประกอบที่แน่นอน เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก คือเราจะต้องหาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในวิชาการนั้นๆ และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในวิชาการนั้นๆ ก็ต้องอุทิศเวลาให้จริงจังแก่การสอนนิสิต ซึ่งเขาจะให้มีความรับผิดชอบในขอบเขตที่แคบจำเพาะ เพื่อทำงานให้ได้ผล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญนั้นจะรับผิดชอบนิสิตเพียงไม่กี่รูป อาจจะ ๑ รูป ๒ รูป ๓ รูป เท่านั้นเอง เรียกว่ามีชีวิตอยู่ใกล้ชิดกันมาก สามารถปรึกษาหารือให้คำแนะนำกันได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจจะเป็นเป้าหมายระยะไกล ยังทำได้ยาก เวลานี้ แม้แต่เพียงว่าจะหาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในทางพระพุทธศาสนาให้ได้ ก็เป็นเรื่องยากแล้ว ทำอย่างไรจะให้เขามาอุทิศตัวอุทิศเวลาให้เต็มที่ อยู่กับนิสิตเป็นกลุ่มๆ กลุ่มเล็กๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ เสียแล้ว

ต่อไปก็คือการเล่าเรียน เริ่มตั้งแต่การจัดหลักสูตร ในการจัดหลักสูตรนั้น ปัจจุบันนี้เราต้องคำนึงถึงเกณฑ์ของทบวงมหาวิทยาลัย จัดให้มีเครดิตหรือจำนวนหน่วยกิตครบตามที่ทบวงกำหนดไว้ วิชาพื้นฐาน วิชาบังคับอะไร มีเท่าไร เขามีหลักเกณฑ์อย่างไรก็พยายามทำ แต่ถ้าเราไม่ระวัง ก็จะได้แต่จำนวนตามเกณฑ์เท่านั้น คือว่า หลักสูตร และการจัดการสอนเป็นไปตามเกณฑ์ที่ทางการกำหนด แต่ถ้าเราไม่มีเป้าหมายของเราเองไว้ว่า เราจะสร้างพระสร้างนิสิตของเราให้เป็นคนมีคุณภาพอย่างไร ถ้าไม่มีเป้าหมายไว้ในใจ บางทีวิชาที่เรียนนี้ก็จะเป็นการเรียนแบบเบี้ยหัวแตก คือเรียนเป็นวิชาๆ ไป วิชานั้นก็เรียน วิชานี้ก็เรียน แต่ไม่มีเป้าหมายรวม ฉะนั้น จุดสำคัญก็คือว่า อย่าให้มันเป็นเบี้ยหัวแตก จะต้องมีเป้าหมายไว้ว่า ต้องการให้ผู้สำเร็จการศึกษาของเรา หรือพระเณรของเรานี้ เป็นบุคคลอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร มีคุณภาพอย่างไร อันนี้ต้องตั้งไว้ก่อน ฉะนั้น เกณฑ์ทางการที่กำหนดหลักสูตร จำนวนหน่วยกิต และวิชาที่เรียนเท่านั้น ยังไม่เพียงพอ จะต้องมีเป้าหมายในใจว่าจะสร้างพระชนิดใดเอาไว้เป็นเกณฑ์ของเราเองด้วย

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัจจุบันนี้ การศึกษาทั่วไป ไม่เฉพาะในประเทศไทย กำลังถูกกล่าวหาว่าเป็นการให้การศึกษาแบบผลิตสินค้าโหล หมายความว่า ผลิตจำนวนมากๆ ให้มันจบออกมา ครูอาจารย์ไม่มีเวลาที่จะเอาใจใส่กะนักเรียนกะนิสิตมากนัก ให้ข้อสอบให้งานไปทำก็ไม่มีเวลาตรวจ เดี๋ยวนี้ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มีปัญหานี้มาก แม้แต่วิทยานิพนธ์ ให้ไปทำมา ก็เพียงว่าทำมาให้ได้ตามเกณฑ์ที่วางไว้ อาจารย์เองก็ไม่ค่อยมีเวลาจะตรวจจะอ่าน ก็เอาพอว่าให้มันผ่านๆ ไป อีกอย่างหนึ่ง ก็เพราะไม่มีเวลา ข้อสอบเดี๋ยวนี้ก็ใช้ข้อสอบแบบปรนัยกันมาก ปรนัยกันเกร่อ และปรนัยก็มีปัญหา จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ มีเสียงพูดกันมากว่า ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี หรือแม้แต่ปริญญาโท เขียนไม่เป็น ใช้ภาษาไม่เป็น ไม่สามารถใช้ภาษาแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกนึกคิดของตนอย่างแจ่มชัด แสดงออกอย่างเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ เรียกได้ว่าเป็นความเสื่อมของการศึกษาอย่างหนึ่ง เพราะว่าความมุ่งหมายสำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาระดับสูง ก็คือความสามารถในการคิด และในการแสดงออกซึ่งความคิดนั้นเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจได้ และนำไปใช้ประโยชน์ได้ ถ้าเรามีความรู้ เป็นบัณฑิต เป็นนักปราชญ์ แต่ไม่สามารถแสดงความคิดออกไปให้เขาเข้าใจ นำไปใช้ประโยชน์ได้ ประโยชน์จากการศึกษาของเราก็เหลือนิดเดียว ฉะนั้น จะต้องสามารถคิดและถ่ายทอด แสดงออก ให้ความคิดความรู้ของเราออกไปอย่างมีคุณค่า เป็นคุณประโยชน์แก่สังคมได้ด้วย

ภาษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถสื่อสารถ่ายทอดความคิด ความรู้ ออกไปเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น แต่ปัจจุบันนี้ การศึกษากำลังจะทำลายความสามารถนี้ด้วยระบบต่างๆ เช่น การวัดผลที่ไม่มีความเอาจริงเอาจัง ละเลยการแสดงออกอย่างได้ผลและมีเหตุมีผล ขาดการฝึกฝนในด้านภาษาที่จะแสดงออกเช่นนั้น เรื่องนี้มีความสำคัญไม่เฉพาะในระดับปริญญาโทเท่านั้น แม้แต่ปริญญาตรีก็จะต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วย ทำอย่างไร ครูอาจารย์จะมีเวลามากขึ้นในการที่จะให้ความสนใจ ใส่ใจแก่งานของนิสิตนักเรียน ไม่ให้ได้ชื่อว่าเป็นการศึกษาแบบดิบๆ สุกๆ ในเมื่อครูอาจารย์ไม่มีเวลา ที่จะเอาใจใส่ตรวจงานดูงานของนิสิตนักเรียน ไม่มีเวลาเอาใจใส่ผลการเรียนที่แท้จริงว่า เขาพัฒนาไปแค่ไหน ก็จะได้ผู้สำเร็จการศึกษาแบบดิบๆ สุกๆ เพราะมันไม่สุกจริง แต่เอาแค่พอผ่านๆ หรือมีเครื่องวัดชนิดหนึ่งพอให้พูดได้ว่า เป็นอันผ่าน ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ไม่สามารถมีความเป็นเลิศในทางวิชาการได้ เพราะฉะนั้น เป้าหมายนี้จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่า จะทำอย่างไร จึงจะให้สำเร็จได้ด้วยดี

เวลานี้ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้มีการนำเอาพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม ลงในคอมพิวเตอร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพิ่งเสร็จใหม่ๆ และได้สร้างโปรแกรมสำหรับค้นคว้าพระไตรปิฎกนั้นอย่างสะดวกรวดเร็วถูกต้องสมบูรณ์ด้วย พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์นี้ จะช่วยให้การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกสะดวกและง่ายขึ้นมากมาย และผู้ที่สนใจก็จะสามารถเข้าถึงพระไตรปิฎกได้ด้วยตนเองอย่างกว้างขวางมากขึ้น ในภาวะเช่นนี้ ถ้าพระสงฆ์ไม่ใส่ใจเร่งรัดตนเองในการศึกษาค้นคว้าภาษาบาลีและพระธรรมวินัย ก็จะยิ่งสูญเสียความเป็นเลิศทางวิชาการพระพุทธศาสนามากขึ้น แต่ถ้าพระสงฆ์มีฉันทะในการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง เทคโนโลยีนั้นก็จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ ให้สำเร็จผลได้ดียิ่งขึ้น

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.