ทีนี้แง่ต่อไปก็คือ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่มีใครมาสั่งมาบังคับ เพราะประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนจึงต้องรับผิดชอบชีวิตและสังคมได้เอง การที่จะรับผิดชอบสังคมได้เอง คือ ปกครองกันเองได้ ก็ต้องปกครองตัวเองได้ด้วย
ดังนั้น เมื่อจะดูการปกครองประชาธิปไตย ที่ประชาชนปกครองกันเอง ว่าเป็นประชาธิปไตยที่ดี ก็ดูที่ประชาชนว่าปกครองตัวเองกันได้ดีแค่ไหน
ในแง่หนึ่ง เราอาจจะพูดว่า ประชาธิปไตย คือการปกครองของประชาชนที่ปกครองตัวเองได้ ทีนี้ก็ต้องถามว่า คนที่จะปกครองตัวเองหรือรับผิดชอบตัวเองได้นั้น มีอะไรเป็นเครื่องปกครองตัวเอง หรือปกครองด้วยอะไร คือ เอาอะไรเป็นมาตรฐานในการตัดสินใจ สิ่งที่จะมาปกครองหรือควบคุมตัวเราก็คือ หลักการ กฎเกณฑ์ กติกา และกฎหมาย ซึ่งเรียกสั้นๆ คำเดียวว่า “ธรรม”
ดังนั้น ปัญหาของประชาธิปไตยจึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนในสังคมประชาธิปไตย สามารถอยู่ได้ด้วยหลักการ อยู่ด้วยหลักความจริง ความถูกต้องดีงาม และอยู่ด้วยกฎเกณฑ์ กติกา และกฎหมาย เป็นต้น ที่ได้ตกลงกันวางไว้ คำตอบเริ่มต้นก็คือ
๑. ด้านความรู้ความเข้าใจ ต้องมีปัญญาที่รู้หลักการนั้น ว่าอะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรดีงาม รู้จักวางกฎเกณฑ์ กติกา หรือกฎหมาย ที่ชอบธรรม และรู้จักคิด รู้จักวินิจฉัย เพื่อที่จะใช้หลักการ และกติกาต่างๆ นั้น ให้ได้ผลเป็นจริง พูดสั้นๆ ว่า “รู้ว่าอะไรเป็นธรรม” พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งก็คือ
๒. ด้านจิตใจ ต้องยึดถือมั่นคงอยู่ในความจริง ความถูกต้อง ความดีงามนั้น โดยมีอุดมคติ หรือที่เรียกว่ายึดถือในอุดมการณ์ พูดง่ายๆ สั้นๆ ว่า “ถือธรรมเป็นใหญ่” นั่นคือจิตใจต้องใฝ่ความจริง ใฝ่ความดี ใฝ่ความถูกต้อง ที่ว่ายึดถือธรรมเป็นใหญ่ ก็คือ เอาธรรม คือความจริง ความถูกต้อง ความดีงามนี้เป็นใหญ่ ไม่ใช่เอาความชอบใจถูกใจของตนเป็นใหญ่หรือยึดถือตามอำเภอใจ ถ้าประชาชนไม่เอาธรรมเป็นใหญ่ คือไม่เอาหลักการ ไม่เอาความจริงความถูกต้องความดีงาม มาเป็นใหญ่ ก็เอาความชอบใจตัวเองเป็นใหญ่ แล้วก็จะต้องเกิดปัญหา
๓. ด้านพฤติกรรม คนจะต้องมีความสามารถที่จะควบคุมพฤติกรรมของตนให้อยู่ในหลักการ ที่ได้จัดสรรออกมาวางตั้งเป็นกฎ ระเบียบ กติกา เป็นต้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่ารู้จักใช้สิทธิเสรีภาพ เป็นต้น ในการปฏิบัติหรือทำการทั้งหลายด้วยความรับผิดชอบ ที่จะให้เกิดผลตามหลักการ พูดสั้นๆ ว่า “มีวินัยที่จะปฏิบัติและจัดการให้เป็นไปตามธรรม”
ถ้าทำได้ทั้ง ๓ อย่างนี้ ก็เรียกว่า ปกครองตนเองได้
ทีนี้การที่จะให้สำเร็จผล ๓ อย่างนี้ คือ ทั้งการมีวินัยที่จะควบคุมพฤติกรรมให้อยู่ในหลักการและดำเนินตามหลักการ ก็ตาม การที่จะมีจิตใจยึดมั่นในอุดมคติและในตัวหลักการ โดยถือธรรมเป็นใหญ่ ก็ตาม การที่จะมีปัญญา รู้ว่าอะไรเป็นธรรม และรู้ว่าจะทำอย่างไรให้เป็นธรรม โดยสามารถจัดวางหลักการ กฎ กติกา ตลอดจนสามารถนำมาใช้อย่างได้ผล ก็ตาม ก็ต้องอาศัยการศึกษาทั้งสิ้น