ขอย้ำว่า ถ้าเราเรียนโดยไม่รู้ มันก็ได้แค่ เลียน ที่เป็น ล ลิง เท่านั้น เมื่อเป็นการเลียนมันก็จะลดคุณภาพลงจากสิ่งที่เราไปเลียนมา สิ่งนั้นเป็นแค่นี้ คือ ๑๐๐ พอเลียนมาเราได้มาแค่ ๘๐ หรืออาจจะเหลือ ๕๐ ถ้าเลียนจะได้ลดลง จะแย่ลง คุณภาพจะหดจะด้อยลงไป เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เอาแค่เลียน เพราะ เลียนนั้นลดคุณภาพ แต่เรียน จะมีอะไรใหม่เพิ่มเข้ามา ซึ่งกลายเป็นเนื้อตัวของเราด้วย
เมื่อพูดถึง เรียน กับ เลียน ก็อยากพูดถึงคำว่า เลี้ยง ด้วย เลี้ยง ก็เป็นศัพท์สำคัญเหมือนกัน ทำไมต้องพูดถึงคำว่า เลี้ยง ด้วย เพราะอยากเน้นถึงความสำคัญของการให้การศึกษาที่บ้านในวัยเริ่มต้น
“เลี้ยง” ก็คือกระบวนการให้การศึกษาในวัยเริ่มต้น ซึ่งเป็นวัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ในทางพระพุทธศาสนา ท่านเน้นนักในเรื่องฐานะของพ่อแม่ที่เรียกว่าเป็นบุรพาจารย์ ตามข้อความภาษาบาลีว่า ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร ... แปลว่า มารดาบิดานั้น ท่านเรียกว่าเป็นบุรพาจารย์ หรืออาจารย์ต้น หรือครูต้น พูดง่ายๆ ว่าครูคนแรก ผู้สอนในสิ่งที่จำเป็นที่สุด คือสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต
เราอาจจะไปเรียนวิชาการต่างๆ เป็นหย่อม เป็นจุด เป็นเรื่องจำเพาะ แต่ก่อนที่จะไปเรียนวิชาต่างๆ เหล่านั้น เราได้เรียนรู้วิธีดำเนินชีวิตที่จำเป็นเบื้องต้น ทั้งการกิน-ขับถ่าย-นั่ง-นอน-เดิน-พูด ฯลฯ จนกระทั่งเรียนความรู้สึก เรียนวิธีที่จะสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เรียนลักษณะนิสัยใจคอต่างๆ จากพ่อแม่ เราจึงควรให้ความสำคัญแก่บทบาททางการศึกษาของพ่อแม่ผู้เลี้ยง ที่เป็นบุรพาจารย์นี้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องโยงเรื่องการเลี้ยงให้มาสัมพันธ์กับการศึกษาให้ได้
ว่าที่จริง เลี้ยง คือ กระบวนการให้การศึกษาที่บ้านในวัยเริ่มต้นของเด็ก
เราลองมามองดูว่า คำว่า เลี้ยงคืออะไร ถ้าจะเข้าใจความหมายของคำว่าเลี้ยง ก็ต้องถามก่อนว่าทำไมจึงต้องเลี้ยง เราต้องเลี้ยงเด็กเพราะอะไร เพราะว่าเขายังดำเนินชีวิตด้วยตนเองไม่ได้ ใช่หรือไม่ เขายังดำเนินชีวิตให้รอดและให้ดีด้วยตนเองไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องเลี้ยง เมื่อใดเขาดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง เราก็เลิกเลี้ยง ใช่ไหม แต่เราควรจะก้าวไปกว่านั้นอีกว่า เมื่อเขาดำเนินชีวิตที่ดีได้ด้วยตนเอง เราก็เลิกเลี้ยง
พูดสั้นๆ ว่า การเลี้ยง คือ กระบวนการช่วยให้เด็กดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง
เด็กจะสามารถดำเนินชีวิตได้หรือได้อย่างดีด้วยตนเองนั้น เราจะทำอย่างไร อะไรเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เด็กดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง ทั้งได้รอด และได้ดีด้วย เพียงแค่เลี้ยงอาหารเป็นต้น คือให้ปัจจัย ๔ และวัตถุอำนวยความสะดวกสบายทั้งหลายนั้น เพียงพอไหมที่จะให้เด็กดำเนินชีวิตได้ด้วยตัวเอง ตอบว่า ไม่พอหรอก สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องประกอบ เป็นสิ่งเอื้ออำนวย ตัวสำคัญที่จะทำให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง ก็คือการเรียนนั่นเอง
การเรียน การฝึก การหัด นี่ต่างหากเป็นตัวแท้ตัวจริงที่ทำให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง การเลี้ยงให้โตด้วยอาหารเป็นต้นนั้น ทำให้เขาโตแต่กาย แต่เขาจะยังไม่สามารถดำเนินชีวิตด้วยตนเอง
ด้วยเหตุนี้ การบำรุงด้วยอาหารและสิ่งเสพบริโภคต่างๆ จะยังไม่เพียงพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นการเลี้ยง จนกว่าจะทำด้วยความตระหนักรู้ที่โยงสัมพันธ์กับการเรียน คือ ทำไปในความหมายที่ว่าเป็นการจัดสรรโอกาสและปัจจัยเกื้อหนุนให้เด็กได้เรียน ถ้าอย่างนี้จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการเลี้ยง เพราะฉะนั้น การเลี้ยง คือการจัดสรรโอกาสและปัจจัยต่างๆ เพื่อเกื้อหนุนการเรียนของเด็ก หรือพูดสั้นว่า การเลี้ยง คือการช่วยให้เด็กได้เรียน
เป็นอันว่า สิ่งที่จะทำให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตด้วยตัวเอง คือการเรียน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เป็นไปหรือดำเนินไปโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ระหว่างที่พ่อแม่เลี้ยงลูกนั้น ลูกทำอะไร ลูกก็เรียนรู้ เพราะฉะนั้นในการเลี้ยงลูก ลูกก็จะเรียนอยู่ตลอดเวลา จึงต้องพูดและมองให้ครบคู่ว่า พ่อแม่เลี้ยงไป ลูกก็เรียนไป
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ลูกจะเรียนอย่างมีคุณภาพ หรือเรียนอย่างสะเปะสะปะ ถ้าพ่อแม่ไม่รู้ ไม่ตระหนัก ขาดปัญญา ลูกก็เรียนอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า เรียนแบบสะเปะสะปะ เรื่อยๆ เปื่อยๆ ไป ไม่ได้ผลดี ได้แต่เลียน ไม่ค่อยได้เรียน
แต่ถ้าพ่อแม่รู้ว่าการเลี้ยงของตนคือการช่วยการเรียนรู้ของเด็ก พ่อแม่จะตั้งใจและทำด้วยปัญญา เพื่อจะทำให้เด็กมีความสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างดีด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการที่คนจะมีชีวิตอยู่อย่างมนุษย์ที่ดี ข้อที่สำคัญคือต้องมีความสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยดี อันนี้เป็นวัตถุประสงค์ของการศึกษา
เมื่อคนดำเนินชีวิตที่ดีได้แล้ว ก็หมดภาระในการเลี้ยง และ สัมฤทธิ์ผลของการศึกษา
เป็นอันว่า เริ่มต้น พ่อแม่เป็นตัวกลางที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการวางรากฐานของการดำเนินชีวิตที่ดีให้แก่เด็ก เราจะต้องช่วยให้เด็กดำเนินชีวิตที่ดีให้ได้ โดยช่วยให้การเรียนของเด็ก ในระหว่างที่เราเลี้ยงอยู่นั้น เป็นการเรียนที่มีประสิทธิภาพ
เพราะฉะนั้นเราจะต้องมองการเลี้ยง โดยมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ของเด็ก โดยถือว่าการให้อาหารเป็นต้นนั้น เป็นเพียงปัจจัยเกื้อหนุนเอื้ออำนวยเท่านั้น
เราอาจให้ความหมายว่า การเลี้ยง คือกระบวนการช่วยเหลือเกื้อหนุน ให้เด็กเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา เพื่อให้สามารถที่จะดำเนินชีวิตที่ดีได้ด้วยตนเอง เมื่อมองอย่างนี้ การเลี้ยงก็เป็นการให้ศึกษาไปในตัว พูดสั้นๆ อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า การเลี้ยง คือการช่วยให้เรียน หรือการเลี้ยง คือการช่วยเด็กให้ศึกษา (ไม่ใช่ให้การศึกษาแก่เด็ก)
ตอนแรกก็มีผู้ช่วยให้เรียน คือคนเลี้ยง ต่อไป พอเริ่มดำเนินชีวิตที่ดีได้ด้วยตนเองแล้วก็เลิกเลี้ยง คือไม่ต้องมีคนเลี้ยง (ที่จะมาช่วยให้เรียน) ต่อจากนั้นเขาก็เลี้ยงตัวเอง (ทั้งทางกาย-จิตใจ-ปัญญา) คือช่วยตัวเองในการเรียนรู้ต่อไป เพราะการดำเนินชีวิตที่ดีไม่มีจุดจบ คนเราสามารถดำเนินชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อยู่เรื่อยไป เราจึงต้องพัฒนาตัวให้ดำเนินชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
ใครสามารถพูดได้ว่า ฉันดำเนินชีวิตได้ดีที่สุดแล้ว ยังหรอก ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้เรื่อยไป ต่อจากคนอื่นเลี้ยง คือช่วยให้เรียนแล้ว ก็ต้องเลี้ยงตัวเอง คือเรียนด้วยตนเองเรื่อยไป ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะยืดยาวไปตลอด จึงเป็นการเรียนตลอดชีวิต เข้ากับคติที่ว่า เรียนรู้ตลอดชีวิต
เมื่อบุคคลแต่ละคนเรียนรู้ตลอดชีวิต สังคมก็จะกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
แต่พร้อมกันนั้น ในทางย้อนกลับก็ต้องจัดสรรสังคมให้มีสภาพและบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของแต่ละบุคคลนั้นด้วย