ระยะนี้เราพูดกันมากขึ้นถึงการที่ว่าเด็กควรจะเรียนอย่างมีความสุข และสนุกในการเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ก็มีช่องทางพลาด ซึ่งจะต้องระวังโดยไม่ประมาท
อย่างที่กล่าวแล้วว่า การเรียนอย่างมีความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน
ความสุขอาศัยปัจจัยภายนอกที่เราปรารถนาคือ การสื่อสารสัมพันธ์กันระหว่างครูกับเด็ก หรือเด็กกับเด็ก เป็นต้น ในบรรยากาศแห่งความรักใคร่ไมตรี ซึ่งมีผลดีหลายประการ โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ดี ความสุขอาศัยปัจจัยภายนอกมีจุดอ่อนอย่างสำคัญ คือยังเป็นความสุขแบบพึ่งพา
นอกจากนี้ที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์แล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกอีกอย่างหนึ่งคือ สิ่งเสพบริโภค
ความสุขจากปัจจัยภายนอกประเภทหลังนี้ คือ ความสุขจากการสนองความใฝ่เสพ อย่างที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งทำให้การเสพเป็นความสุข หรือความสุขอยู่ที่การเสพและการไม่ต้องทำอะไร
เราต้องการลดอิทธิพลและอัตราส่วนของการหาความสุขจากการเสพ โดยเฉพาะลดกำลังความใฝ่เสพที่ทำให้เด็กพึ่งพาขึ้นต่อปัจจัยภายนอกประเภทนี้โดยไม่พัฒนา และเราพยายามช่วยให้เด็กพัฒนาความต้องการใหม่ คือความใฝ่รู้ใฝ่ดีใฝ่ทำให้ดี หรือใฝ่ศึกษาและใฝ่สร้างสรรค์ ที่จะทำให้เด็กมีความสุขจากการศึกษา หรือมีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้และใฝ่ทำ เพื่อให้การเรียนรู้และการทำเป็นความสุข
หมายความว่า เราจะลดอิทธิพลของปัจจัยภายนอกด้านสิ่งเสพบริโภค คือให้เด็กพัฒนาเลยขั้นของการหาความสุขจากการเสพ ที่การเสพบริโภคเท่านั้นเป็นความสุข โดยให้เด็กพัฒนาขึ้นไปสู่ขั้นของความสุขจากปัจจัยภายใน คือการมีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้และใฝ่ทำ ที่การศึกษาและสร้างสรรค์ คือการเรียนรู้และการทำการสร้างสรรค์ต่างๆ เป็นความสุขในตัวของมันเอง
เพราะฉะนั้น ในการนำเอาปัจจัยภายนอกด้านความสัมพันธ์ที่ดีมีความรักความอบอุ่นเข้ามาสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้อย่างมีความสุขนั้น ตัวครูเป็นต้นที่เป็นปัจจัยภายนอกนั้นจะต้องมีความชัดเจนในเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ครูหรือกัลยาณมิตรจึงมีสิ่งที่จะต้องทำ ๒ อย่างในเวลาเดียวกัน คือ
๑) ดูแลระวังไม่ให้สถานการณ์แห่งการเรียนรู้ เฉหรือเขวออกไปกลายเป็นการส่งเสริมความใฝ่เสพ และการหาความสุขจากการเสพ (ปัจจัยภายนอกที่ผิด)
๒) ช่วยชักนำสถานการณ์แห่งการเรียนรู้นั้น ให้เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาความใฝ่รู้ใฝ่ทำ และการมีความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์ (ปัจจัยภายในที่ต้องการ)
ทั้งนี้ พึงทราบตระหนักว่า ความสัมพันธ์ด้วยความรักหรือเมตตาไมตรี ให้เรียนอย่างมีความสุขนั้น ถ้าขาดดุลยภาพแล้วเลยเถิดไป เช่นกลายเป็นโอ๋ ก็จะพลาด อาจเกิดโทษ คือ
ข้อควรตระหนักเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องนี้ ที่สำคัญคือ
๑) การสร้างบรรยากาศแห่งความรักให้เด็กมีความสุขนั้น ไม่ใช่จุดหมาย แต่เป็นการสร้างปัจจัยเอื้อต่อการก้าวสู่เป้าหมาย คือเพื่อหนุนการเรียนรู้และการทำอะไรที่เป็นการสร้างสรรค์
๒) ให้เด็กอยู่ในบรรยากาศแห่งความรักหรือได้รับความรักในลักษณะที่ไม่ทำให้รวมศูนย์เข้าหาตัว ซึ่งจะนำไปสู่การเรียกร้อง แต่ให้ขยายความรักออกไป รักครู รักเพื่อน ฯลฯ และอยากช่วยเหลือผู้อื่น
๓) แทนที่จะทำให้เกิดลักษณะพึ่งพา จะต้องให้เกิดความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อันเป็นลักษณะของสังคมที่พึงปรารถนา
๔) มีตัวดุลไม่ให้อ่อนแอลง แต่ช่วยให้ก้าวต่อไป โดยครูหรือปัจจัยภายนอกนั้นทำหน้าที่
ก. ช่วยทำให้สถานการณ์นั้นเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาปัจจัยภายใน คือความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ในตัวเด็ก
ข.เป็นตัวกลางที่เป็นสื่อเงียบช่วยให้เด็กได้สัมผัสกับความจริงแห่งธรรมชาติของโลกและชีวิต ที่เขาจะต้องพัฒนาความสามารถที่จะเกี่ยวข้องจัดการและรับผิดชอบด้วยตนเอง
๕) สถานการณ์การเรียนอย่างสนุก
ก.ต้องไม่ดำเนินไปในลักษณะที่ทำให้เด็กเกิดความเคยชินกับการที่จะเป็นผู้บริโภคบริการแห่งความสนุก หรือรอเสพความสนุก แต่ต้องให้เป็นไปในลักษณะที่จะช่วยให้เด็กพัฒนาความสามารถที่จะเรียนอย่างสนุกขึ้นได้เอง ในสภาพแวดล้อมทั่วไป ในโลกแห่งความเป็นจริงข้างนอก
ข. ต้องไม่ดำเนินไปในลักษณะที่ทำให้เด็กกลายเป็นติดในความสนุกหรือเห็นแก่ความสนุกแล้วเขวออกไปสู่การเสริมย้ำความใฝ่เสพ แต่ต้องดำเนินไปในลักษณะที่ความสนุกนั้นจะเป็นปัจจัยส่งต่อไปสู่การพัฒนาความใฝ่รู้และใฝ่ทำการสร้างสรรค์
หลักการต่างๆ ที่เป็นเครื่องประกอบการพิจารณา และควรระลึกไว้เสมอ ในการปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียนอย่างมีความสุขนี้ คือ
ก) การเรียนรู้จะได้ผล และการพัฒนาของคนจะสำเร็จได้ เด็กจะต้องก้าวจากการหาความสุขด้วยการเสพ ขึ้นไปสู่การมีความสุขจากการเรียนรู้และทำการสร้างสรรค์
ข) ความสุขในการศึกษา จะต้องพัฒนาขึ้นไปจนถึงขั้นเป็นความสุขที่เกิดจากปัจจัยภายใน ซึ่งจะทำให้ไม่อ่อนแอ และพ้นจากการพึ่งพา อันจะเป็นความสุขที่แท้จริง มั่นคง พึ่งตนเองได้ เป็นอิสระ และทำให้คนเข้มแข็งยิ่งขึ้น
ค) มนุษย์ทุกคนดำรงชีวิตอยู่โดยมีความสัมพันธ์ ๒ ระดับ คือ
๑. ในการอยู่ร่วมกันในสังคม เรามีความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเรามุ่งจะพัฒนาให้เป็นความสัมพันธ์ที่ดี ด้วยความรักใคร่ไมตรี ช่วยเหลือส่งเสริมกัน
๒. ลึกลงไป ภายใต้การอยู่ร่วมสังคมนั้น เราอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตตามกฎธรรมชาติ ซึ่งทุกคนจะต้องพัฒนาความสามารถที่จะรับผิดชอบตนเอง ในการที่จะปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้องเป็นผลดี
ความสัมพันธ์ที่ดีในข้อ ๑. จะต้องระวังไม่ให้กลายเป็นเครื่องตัดรอนการพัฒนาความสามารถในการสัมพันธ์ข้อที่ ๒. แต่ควรจะให้เป็นเครื่องเกื้อหนุน
ง) จะต้องระลึกอยู่เสมอว่า สถานการณ์ในห้องเรียน มักไม่ใช่สถานการณ์ในชีวิตจริง แต่เป็นสถานการณ์ที่ครูหรือกัลยาณมิตรจัดสรรปรุงแต่งขึ้น ถ้าเราเห็นว่าเป็นสถานการณ์ที่พึงปรารถนา คือควรให้เกิดมีขึ้นจริงข้างนอกด้วย เราจะต้องไม่ทำในลักษณะที่จะทำให้เด็กเกิดความเคยชินหรือความโน้มเอียงที่จะเป็นผู้บริโภค หรือรอเสพสถานการณ์เรียนรู้ที่สนุกเป็นต้นนั้น แต่จะต้องทำในลักษณะที่จะทำให้เด็กพัฒนาความสามารถที่จะสร้างสถานการณ์อย่างนั้นขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง
จ) การเรียนที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง (child-centered) นั้น จะต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน มิฉะนั้นมันจะเป็นเพียงการไปสุดโต่งตรงข้ามกับการเรียนที่มีครูเป็นศูนย์กลาง (teacher-centered) และการเรียนที่มีเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลาง (subject-centered) แล้วก็จะพลาดอีก
การเรียนแบบมีเด็กเป็นศูนย์กลางนั้น มีหลักการที่ดีมากเป็นการศึกษาแท้ ซึ่งมุ่งที่การพัฒนาตัวของเด็กเอง แต่ก็ต้องระวังความผิดพลาด เนื่องจากการแปลความหมายผิดและการไปสุดโต่ง
การเรียนแบบมีเด็กเป็นศูนย์กลางมีแหล่งกำเนิดใหญ่ ๒ ทาง คือ จากการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของเด็กพิการหรือเด็กบกพร่อง ทางหนึ่ง และจากการที่จะช่วยปลดเปลื้องเด็กให้หลุดพ้นจากการครอบงำของพ่อแม่และครู ให้เด็กมีชีวิตของตัวเขาเอง อีกทางหนึ่ง
การเรียนแบบมีเด็กเป็นศูนย์กลาง เน้นการเรียนด้วยการกระทำ ให้ศึกษาจากกิจกรรมเหมือนในชีวิตจริง ให้เด็กพัฒนาอย่างบูรณาการ คือเป็นองค์รวม ไม่แยกส่วนแตกเป็นด้านๆ ทั้งนี้โดยครูช่วยจัดกระบวนการเรียนและมีส่วนร่วมช่วยเด็กค้นพบศักยภาพของตน แล้วดึงออกมาพัฒนาให้เต็มที่ ให้ห้องเรียนเป็นเหมือนรูปจำลองของสังคมทั้งหมด
สุดโต่งเกิดซ้อนขึ้นมา เมื่อมุ่งแต่จะสนองความต้องการของเด็ก จนเด็กอาจกลายเป็นผู้รับบริการหรือผู้บริโภคของสำเร็จรูปที่ครูจัดให้ หรือมิฉะนั้นก็ปล่อยให้เด็กทำเอาเอง โดยครูอาจละเลยลดความรับผิดชอบของตนให้ย่อหย่อนลง และครูไม่พัฒนาตัวเอง
การเรียนรู้ที่ได้ผลดี ย่อมเกิดจากความสัมพันธ์แบบมีส่วนร่วมอย่างถูกต้องตามบทบาทของทั้งสองฝ่าย
อนึ่ง การเรียนที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง มิใช่การมุ่งแต่จะสนองความต้องการของเด็ก หรือช่วยให้เด็กได้สนองความต้องการของตน แต่หมายถึงการช่วยให้เด็กพัฒนาความต้องการใหม่ให้แก่ตัวเขาด้วย
การเรียนแบบมีเด็กเป็นศูนย์กลางเฟื่องขึ้นมาแทนการศึกษาแบบเก่า ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษ ๑๙ และต้นคริสต์ศตวรรษ ๒๐
แต่พอถึงกลางศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อโซเวียตส่งดาวเทียมสปุตนิคขึ้นไปได้สำเร็จในปี ๑๙๕๗ (พ.ศ. ๒๕๐๐) คนอเมริกันก็หันไปโทษการศึกษาแบบใหม่นี้ว่าทำให้เด็กอ่อนแอและอ่อนวิชา อเมริกาจึงหันกลับไปหาการเรียนแบบเก่าที่เอาครูและเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลาง (teacher- and subject-centered)
ครั้นแล้ว อีก ๒๐-๓๐ ปีต่อมา ถึงปลายคริสต์ศตวรรษ ๒๐ ช่วง ค.ศ. ๑๙๘๐ อเมริกาเห็นว่าการศึกษาแบบเก่าทำให้เด็กแปลกแยก เบื่อหน่าย เล่าเรียนอย่างไม่มีความหมาย ก็หันมารื้อฟื้นการเรียนแบบก้าวหน้า ที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางนี้ใหม่
การเรียนสองแบบนั้นเป็นสุดโต่งสองข้าง ฝรั่งเจอมาแล้วทั้งผลดีและผลเสียของทั้งสองอย่าง แม้แต่ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ ๒๐ นี้ ลูกตุ้มอเมริกันก็ยังแกว่งไปมาระหว่างสุดทาง ๒ ข้างนี้ ไทยเราน่าจะมีหลักการชัดเจนของตน ที่จะไม่ต้องแกว่งไปกับเขาอยู่เรื่อยๆ
จุดสำคัญ จะต้องไม่ลืมว่า ถ้ายังช่วยเด็กให้พัฒนาปัจจัยภายในตัวของเขาขึ้นมาไม่ได้ การศึกษาก็ยังไม่ก้าวไปไหน
ฉ) สายตาทางการศึกษา ที่มองมนุษย์ด้วยความปรารถนาดี คิดจะให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่เด็ก ตลอดจนใฝ่หาอุดมคติให้แก่ชีวิตและสังคมมนุษย์นั้น จะต้องไม่ลืมที่จะมองด้วยความสำนึกตระหนักอยู่เสมอถึงความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่ดำเนินไปภายใต้กฎของธรรมชาติอย่างไม่เข้าใครออกใครทั้งสิ้น
เป็นอันว่า กระบวนการเรียนรู้ข้อที่ ๓ คือระบบสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยภายในกับปัจจัยภายนอก ไม่มีเวลาพอที่จะบรรยายต่อไปในวันนี้ จึงได้แต่ฝากไว้ ขอให้ศึกษาค้นคว้าเองในเรื่อง ปรโตโฆสะ แบบกัลยาณมิตร กับ โยนิโสมนสิการ
ส่วนเรื่องสุดท้ายที่เขียนไว้ในโครงเรื่อง คือคุณภาพของการเรียนรู้ที่ว่ามี ๔ ระดับนั้น เป็นเรื่องของการแยกระดับตามความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยภายนอกกับปัจจัยภายใน ซึ่งว่าโดยสาระก็คือ ถ้าเป็นการเรียนรู้ที่อาศัยปัจจัยภายนอกมาก ก็จะเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณภาพค่อนข้างต่ำ เมื่อไรเป็นการเรียนรู้ที่อาศัยปัจจัยภายในได้เต็มที่ ก็จะเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น จนกระทั่งสูงสุด
เอาเป็นว่า คงจะพูดได้เท่านี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านอาจารย์ทุกท่าน