คติจตุคามรามเทพ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ภาคผนวก

จตุคามรามเทพ:
เรื่องราว ประวัติ ที่มา

 

[caption id="attachment_12626" align="aligncenter" width="600"] ภาพขุนพันธรักษ์ราชเดช ขึ้นปก ‘มติชนสุดสัปดาห์’[/caption]

 

เรื่องราวเกี่ยวกับ ‘จตุคามรามเทพ’ นั้น มีมากมายหลายตำนาน บางตำนานกล่าวว่า ‘จตุคามรามเทพ’ เป็นเทวดาพิทักษ์พระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

บ้างก็ว่าเป็นเทวดาพิทักษ์ศาลหลักเมือง หรือเทวดาประจำเมืองนั่นเอง

บ้างก็ว่าเป็นอดีตพระราชาของศรีวิชัยที่ตั้งจิตอธิษฐานเป็นพระโพธิสัตว์ อยู่ในระหว่างบำเพ็ญบารมีเพื่อการตรัสรู้ ฯลฯ

บ้างก็ว่าเป็นเทพองค์เดียว บ้างก็ว่ามีสององค์ ‘จตุคาม’ องค์หนึ่ง ‘รามเทพ’ อีกองค์หนึ่ง

ผู้ที่ปลุกกระแสความเลื่อมใสองค์ ‘จตุคามรามเทพ’ คือ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช อดีตนายตำรวจผู้ล่วงลับ ชาวเมืองนครศรีธรรมราช ท่านได้รับยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของตำรวจไทย ในแง่ความซื่อตรง มีความกล้าหาญ และมีวิชาคาถาอาคมแก่กล้า สามารถปราบปรามโจรผู้ร้ายที่มีไสยเวทย์ทั้งหลายได้อย่างราบคาบ เป็นตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน

 

ประวัติ พล.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ราชเดช

เดิมชื่อบุตร์ พันธรักษ์ เกิดเมื่อ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๒ ที่บ้านอ้ายเขียว หมู่ที่ ๕ ต.ดอนตะโก อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรนายอ้วน-นางทองจันทร์ พันธรักษ์ เมื่อจบชั้น ม.๑ ที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ (ปัจจุบันคือโรงเรียนเบญจราชูทิศ) ก็เข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพ โดยพักที่วัดราชผาติการาม แต่เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร จนจบ ม.๘ แล้วเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม จบการศึกษาปี ๒๔๗๒

หลังจบการศึกษาแล้ว เดินทางไปรับราชการตามพื้นที่ต่างๆ ปี ๒๔๗๔ ไปประจำการที่จังหวัดพัทลุง สามารถปราบเสือสังกับเสือพุ่มนักโทษแหกคุกและยังวิสามัญคนร้ายสำคัญอีก ๑๖ ราย ผลงานครั้งนี้ ทำให้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘ขุนพันธรักษ์ราชเดช’ พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจโท และได้อุปสมบทที่วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในสมณเพศได้ ๑ พรรษาก็ลาสิกขา

พ.ศ. ๒๔๗๙ ย้ายไปเป็นหัวหน้ากองตรวจประจำกองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ได้ปราบโจรสำคัญทำให้มีชื่อเสียงมาก คือ ปราบโจรอะเวสะดอตาเละ ซึ่งมีคาถาอาคมอยู่ยงคงกะพัน เที่ยวปล้นฆ่าคนไทย ได้สำเร็จ ได้เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจเอกในปีนั้น

พ.ศ. ๒๔๘๒ ย้ายกลับมาอยู่พัทลุง ปราบเสือสาย และเสือเอิบ ก่อนย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร พ.ศ. ๒๔๘๖ กวาดล้างเสือโนม ต่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ ย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดชัยนาท พร้อมกับได้รับแต่งตั้งเป็นรอง ผ.อ. กองปราบปรามพิเศษของกรมตำรวจ ลุยปราบโจรในจังหวัดสุพรรณบุรี เช่น เสือฝ้าย เสือผ่อน เสื้อคครึ้ม เสื้อปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือไหว เสือมเหศวร เสือไกร และเสือวัน แห่งชุมโจร อำเภอพรานกระต่าย จนได้รับฉายาว่า ‘ขุนพันดาบแดง’ ‘ขุนพันจอมขมังเวทย์’

ต่อมาได้รับตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต ๘ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ตำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจเขต ๘ และได้รับพระราชทานยศเป็นพันตำรวจเอก และในปี ๒๕๐๕ ได้รับเลื่อนยศเป็นพลตำรวจตรี จนกระทั่งเกษียณอายุในปี ๒๕๐๗ ในปี ๒๕๑๒ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ในประวัติกำเนิดวัตถุมงคล ‘จตุคามรามเทพ’ จะมีชื่อของขุนพันธรักษ์ราชเดชปรากฏอยู่ด้วยเสมอ เพราะตำนานมีว่า ท่านเป็นผู้ที่รู้ว่าภาพวาดจากคนทรง ที่พูดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะมาปกป้องบ้านเมือง คือ องค์ ‘จตุคามรามเทพ’ จนนำมาสู่พิธีกรรมลงเสาหลักเมืองนครศรีธรรมราช ที่ได้มีการอัญเชิญองค์ ‘จตุคามรามเทพ’ มาประดิษฐานในศาลหลักเมือง เมื่อปี ๒๕๐๓ ซึ่งขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นเจ้าพิธี และเป็นผู้อ่านโองการอัญเชิญองค์ ‘จตุคามรามเทพ’ ด้วยตนเอง พล.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ราชเดช ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙ สิริอายุได้ ๑๐๘ ปี

ในงานพระราชเพลิงศพของท่าน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาเสด็จฯ เป็นประธานในพิธี มีการแจกวัตถุมงคล ‘จตุคามรามเทพ’ ทำให้มีผู้มาร่วมในพิธีพระราชเพลิงนับแสนคน และมีข่าวว่า มีผู้เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย เนื่องจากมารอรับวัตถุมงคลจตุคามรามเทพ ที่แจกในงานดังกล่าว

 

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารแห่งเมืองนคร

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เดิมเรียกว่า วัดพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองโบราณ ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้ของตัวจังหวัด เนื้อที่ ๒๕ ไร่ ๒ งาน มีถนนราชดำเนินตัดผ่านหน้าวัด เดิมเป็นเส้นทางโบราณหรือถนนโบราณประวัติปรากฏหลักฐานไม่แน่ชัด แต่จะผูกโยงกับตำนานพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเขียนขึ้นจากคำบอกเล่าภายหลังเหตุการณ์จริงหลายร้อยปี

หลักฐานที่ชัดเจนปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ยืนยันว่า วัดพระมหาธาตุฯ ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร อุปราชปักษ์ใต้ได้อาราธนาพระสงฆ์จากวัดเพชรจริกมาดูแลรักษาวัด เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดว่า ‘วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร’

ตำนานการก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์มีหลายสำนวน หากประมวลเนื้อหาได้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมืองต่างๆ แว่นแคว้นชมพูทวีปได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปเก็บรักษาเพื่อเคารพบูชา มีเมืองๆ หนึ่งชื่อทันธบุรีได้พระทันตธาตุมาเก็บรักษาไว้ ต่อมามีกษัตริย์จากเมืองอื่นยกทัพมาเพื่อขอแบ่งพระทันตธาตุ กษัตริย์เจ้าเมืองทันธบุรีเห็นว่าจะรักษาเมืองไม่ได้ จึงให้พระนางเหมมาลาและเจ้าทันตกุมารพระธิดาและพระโอรสอัญเชิญพระทันตธาตุหลบหนีไปยังเกาะลังกา

บังเอิญเรือถูกพายุพัดแตก ทั้งสองพระองค์มาขึ้นฝั่ง ณ หาดทรายแก้ว จึงฝังพระทันตธาตุส่วนหนึ่งไว้ จากนั้นก็เดินทางต่อไปเกาะลังกา ต่อมาพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้เสด็จมาพบที่ฝังพระทันตธาตุ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระทันตธาตุไว้ และสร้างเมืองใหม่บริเวณนั้น ซึ่งก็คือเมืองนครศรีธรรมราชนั่นเอง

 

จตุคามรามเทพคือใครกันแน่

มีตำนานเล่าว่า จตุคามรามเทพ คือเทวดารักษาเมือง หรือเทพประจำหลักเมืองนครศรีธรรมราช เดิมคือ พระเจ้าจันทรภาณุ ผู้สร้างเมืองศรีธรรมโศก (นครศรีธรรมราช) อันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย

อีกตำนานหนึ่ง เชื่อกันว่า ‘จตุคามรามเทพ’ ทรงเป็นพระโอรสของนาง พญาจันทราหรือนางพญาพื้นเมืองทะเลใต้ ทรงเป็นราชินีของพระเจ้าราตะ หรือ พระสุริยะเทพ ผู้ทรงรวบรวมดินแดนคาบสมุทรทองคำเป็นจักรวรรดิเดียวกันในพุทธศตวรรษที่ ๗ และทรงเป็นพระราชมารดาของเจ้าชายรามเทพ พระนางจันทราทรงบรรลุธรรม ทรงอิทธิฤทธิ์ขนาดบังคับคลื่นลมร้ายให้สงบลงได้ ดังนั้น ชาวทะเลจึงกราบไหว้ท่านก่อนออกสู่กลางทะเล เรียกกันอีกชื่อว่า ‘แม่ย่านาง’ ของชาวศรีวิชัย หรือ เจ้าแม่อยู่หัว

เจ้าชายรามเทพทรงศึกษาวิชาจตุคามศาสตร์จากพระมารดาจนเชี่ยวชาญ ทรงศึกษาพุทธธรรมในลัทธิมหายาน ทรงมีความเชื่อเรื่องการบำเพ็ญบารมี เป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อการตรัสรู้ธรรมในภายภาคหน้า ทรงตั้งปณิธานแน่วแน่ในการประกาศพระศาสนาให้มั่นคงทั่วแว่นแคว้น ทรงได้รับการถวายพระนามว่า องค์ราชันจตุคามรามเทพ ต่อมาทรงเจริญอิทธิฤทธิ์สูงส่ง ทรงศักดานุภาพยิ่งใหญ่ แม้กล่าววาจาสาปแช่งผู้ใด ผู้นั้นย่อมมีอันเป็นไป จนได้ถวายพระนามอีกสองพระนาม คือ จันทรภานุ และ พญาพังพกาฬ

ตำนานเรื่อง พญาพังพกาฬ หรือ พังพะกาฬ ที่เล่าขานกันในเมืองนครศรีธรรมราช ก็ไม่ตรงกัน บ้างว่าเป็นลูกชาวนา ต่อมากลายเป็นนักรบผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ บ้างก็ว่าเป็นพระชาติก่อนขององค์จตุคามรามเทพ

พญาโหราบรมครูของช่างชาวชวากะ จำลองรูปมหาบุรุษเป็นอนุสรณ์ตามอุดมคติศิลปะแบบศรีวิชัย เรียกว่า ร่างแปลงธรรม รูปสมมติแห่งเทวราช ที่มีตัวตนอยู่จริงในโลกมนุษย์ ทรงเครื่องราชขัตติยาภรณ์ ๔ กร ๔ เศียร พร้อมด้วยเทพศาสตราวุธ เพื่อปกป้องอาณาจักรและพุทธจักร เพื่อเป็นคติธรรม ประดิษฐานในทุกหนแห่งในอาณาจักรทะเลใต้

อาจารย์บัณฑิต สุทธมุสิก ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อีกท่านหนึ่ง บันทึกไว้ว่า

เรื่องนี้ยากจะพิสูจน์ แต่ในคติการสถาปนาพระเทวราช อันเป็นศิลปกรรมสมมติในภายหลังตามประเพณีศรีวิชัย ‘จตุคามรามเทพ’ จึงหมายถึง ดวงพระวิญญาณแห่งอดีตบูรพกษัตริยาธิราชเจ้า ผู้มาสถิตเป็นผู้คุ้มครองดูแลบ้านเมืองทั้งสี่ทิศ ทรงฤทธิ์อำนาจอย่างเต็มเปี่ยม ยังเพียบพร้อมด้วยบารมีธรรม ๑๐ ประการ1 ของพระโพธิสัตว์ ผู้มีความเมตตาต่อมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ตรงตามหลักพระพุทธศาสนามหายานที่แพร่หลายในยุคศรีวิชัยไศเลนทรวงศ์ ดังเช่น พระสยามเทวาธิราช ที่สถาปนาขึ้นภายหลังในยุครัตนโกสินทร์ที่สมมติเอาดวงพระวิญญาณของพระมหากษัตริย์รวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทวดา เพื่อปกป้องรักษาบ้านเมือง

แต่การที่จะบอกว่าเป็นกษัตริย์พระองค์ใดแน่นั้น ตอบยาก บางท่านบอกคือ พระเจ้าจันทรภาณุ แต่พระเจ้าจันทรภาณุก็อยู่เพียง พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นยุคปลายของตามพรลิงค์ ถ้าเราเชื่อกันว่า ‘จตุคามรามเทพ’ คือ อดีตกษัตริย์ศรีวิชัย ดังนั้น จึงน่าจะเก่าแก่กว่าพระเจ้าจันทรภาณุ ดังเช่นพระเจ้าวิษณุราช ที่ปรากฎตามศิลาจารึกกรุงศรีวิชัย อยู่ในราว พ.ศ. ๑๓๑๘ ผู้สร้างมหาเจดีย์บรมพุทโธ ห่างกันถึง ๕๐๐ ปี แต่ถ้ามองในเรื่องการกลับชาติมาเกิดตามหลักของมหายาน ตัวอย่างเช่น ดาไลลามะของทิเบต ที่กลับชาติมาเกิดและถือกันว่าเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระอวโลกิเตศวร ในยุคศรีวิชัย ที่พุทธศาสนามหายานยิ่งใหญ่ ก็มีคติว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และยังเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีตัวตนจริงบนโลกมนุษย์

ประเด็นน่าสนใจ คือ ในแผ่นพับวัตถุมงคลรุ่นบูรณะหลักเมืองนครศรีธรรมราช ปี ๒๕๔๗ หรือ บูรณะหลักเมืองนครศรีธรรมราช ๒๕๔๗ ที่ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชเป็นที่ปรึกษาการจัดสร้าง ได้มีเล่าเรื่องที่มาขององค์ ‘จตุคามรามเทพ’ แปลกไปกว่าตำนานอื่น ดังนี้

ย้อนหลังในราวปี พ.ศ. ๑๐๔๐ ในสมัยนั้นกษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรสุวรรณภูมิ คือ พระเจ้าจันทรภาณุ มีพระบารมีบุญญาธิการมาก ได้แผ่ขยายอำนาจอาณาเขตออกไปถึงประเทศอินเดีย ยึดประเทศอินเดียใต้ และอยู่ปกครองจนเป็นพระมหาราชของอินเดีย ไม่กลับมายังสุวรรณภูมิเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี พระโอรสสองพี่น้องของพระเจ้าจันทรภาณุ คือ ขุนอินทรไศเรนทร์ และขุนอินทรเขาเขียน เห็นบ้านเมืองทรุดโทรมลง ขาดกษัตริย์ปกครอง ครั้นจะตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์แทนพระบิดาก็ไม่ได้ จึงร่วมกันย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองช้างค่อมศิริธัมมาราช แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า ศรีวิชัยสุวรรณภูมิ

ต่อมามีคำอธิบายเพิ่มว่า ในฐานะที่ท่านทั้งสองเป็นปฐมกษัตริย์ จึงได้ขยายเมืองและซ่อมแซมบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ที่เริ่มชำรุดทรุดโทรมลงเป็นครั้งแรก ด้วยคุณงามความดีของพี่น้องสองกษัตริย์ หลังจากสิ้นพระชนม์ลง ประชาชนทั้งหลายจึงได้ยกย่องเทิดทูนให้เป็นพระเสื้อเมืองและพระทรงเมือง มีฐานะเป็นเทวดาประจำเมือง และขนานนามของท่านทั้งสองว่า ‘ท้าวจตุคามราม’ และ ‘ท้าวรามเทพ’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังหลักฐานที่ปรากฏ คือรูปขนาดใหญ่ของท่านทั้งสองที่ประทับนั่งอยู่ข้างบันใดทางขึ้นพระบรมธาตุเจดีย์ในวิหารพระทรงม้า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งมีปรากฎมานานหลายร้อยปีแล้ว

อีกตำนานหนึ่ง ที่ปรากฏในตำราพระพุทธสิหิงค์ (สิหลพุทธรูปนิทาน) และตำนาน ชินกาลมาลีปกรณ์ มีความว่า

ครั้งหนึ่งพระร่วงสุโขทัยได้ยินกิตติศัพท์พระพุทธรูปในลังกาว่าศักดิ์สิทธิ์นัก จึงส่งทูตไปเจรจาพระเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ว่าทำอย่างไรถึงจะได้มา พระยานครฯ ตอบว่า “ไปเอามาบ่มิได้ เพราะลังกามีเทพารักษ์สี่องค์ (จตุเทวรักขา) คือ พระราม พระลักษณ์ สุมนเทพ และขัตตคามเทพ”

ไมเคิล ไรท ได้เขียนไว้ในบทความของเขาใน ‘มติชนสุดสัปดาห์’ ฉบับที่ ๑๓๙๔ ว่า

ปัจจุบันนี้พระรามยังสถิตอยู่ที่เมืองเทพนคร (Dondra) ครองภาคตะวันตกเฉียงใต้ในนาม อุบลวรรณ พระลักษณ์หายไป มีพิเภก (Vibhisshana) มาขึ้นครองแทนที่วัดกัลยาณีสีมา กรุงโคลัมโบ (ประเทศศรีลังกา) สุมนเทพยังครองสุมนกูฎ (เขาพระพุทธบาทกลางเกาะ) ส่วนขัตตคามเทพ ได้แก่ ขันธกุมาร (บุตรพระอิศวร) ที่สถิตอยู่ที่กฏรคาม (Kataragama) ซึ่งเขียนเป็นภาษาบาลีว่า ขัตตุคาม แล้วคนไม่ถนัดภาษาย่อมดัดแปลงเป็น จตุคาม ตามใจนึกโดยไม่นึกถึงความหมายหรือหลักภาษา

ไมเคล ไรท สรุปว่า จตุคามรามเทพ น่าจะเป็นเทพฮินดู ๒ องค์ ที่ชาวศรีลังกานับถือ เป็นเทพารักษ์พระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อชาวนครฯ รับพระพุทธศาสนาจากลังกาวงศ์เข้ามา เทพทั้งสองก็ตามมาด้วยในฐานะเทพารักษ์พระบรมธาตุนครฯ ต่อมาในสมัยหลังนี้ ความทรงจำทางประวัติศาสตร์เสื่อมและเอกสารโบราณถูกลืมหรือถูกอำพราง บรรดาผู้มีศรัทธาบางคนจึงรู้สึกแปลกแยกหมดที่พึ่ง แล้วขวนขวายสร้างที่พึ่งขึ้นมาใหม่โดยผนวกชื่อ ขัตตุคาม กับ รามเทพ แล้วอุปโลกน์เทพองค์ใหม่ชื่อ จตุคามรามเทพ ขึ้นมาจากความว่างเปล่า โดยไม่มีหลักฐานใดๆ รองรับ...

ในปัจจุบันนี้ชื่อเสียงเกียรติคุณของท้าวจตุคามและท้าวรามเทพได้แผ่ขยายออกไปกว้างขวางทั่วประเทศ ทั้งนี้ด้วยพลานุภาพแห่งอิทธิฤทธิ์ บุญญฤทธิ์ของทั้งสองพระองค์ ได้ส่งผลให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาบูชาสักการะ ประสบกับความสัมฤทธิผลในสิ่งที่พึงปรารถนาตามจิตอธิษฐานกันอย่างถ้วนหน้า จึงควรที่ทั้งสองพระองค์ได้รับการยกย่องเทิดทูนในสมญานามว่า เทวโพธิสัตว์แห่งอาณาจักรทะเลใต้

พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นผู้หนึ่งที่ยืนยันว่าที่เข้าใจว่าท้าวจตุคามรามเทพเป็นองค์เดียวนั้นไม่ถูกต้อง แท้จริงแล้วมีสองพระองค์และทรงเป็นพี่น้องกัน

จะเห็นได้ว่า แม้แต่ตำนานความเป็นมาของ ‘จตุคามรามเทพ’ ก็ยังมีหลายตำนาน จนไม่รู้ว่าจะเชื่อตำนานไหนดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทุกตำนานพูดตรงกัน คือ ‘จตุคามรามเทพ’ นั้น สถานะที่แท้จริงของท่าน คือ เทวดา มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามกฎของไตรลักษณ์ มิได้แตกต่างไปจากมนุษย์

ย่อมมิอาจเปรียบเทียบได้กับพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นพระศาสดาแห่งเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย การจะนับถือ ‘จตุคามรามเทพ’ มากกว่า ยิ่งกว่า หรือเหนือกว่าพระพุทธเจ้านั้น เป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง

1ทศบารมี-ปฏิปทาอันยวดยิ่ง คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นมหาสาวก เป็นต้น คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง