คติจตุคามรามเทพ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่ใหญ่แท้คือธรรม พึ่งกรรมดีกว่ารอเทวดา

ฟังท่านแล้ว รู้สึกว่ามีอะไรที่เราไม่รู้แต่น่าจะรู้อีกมาก เมื่อไม่รู้ ก็มองอะไรไม่ออก แล้วก็โยงอะไรไม่ถูก แต่นี่เพิ่ง ข้อ ๑) ถ้าได้ฟังข้อ ๒) คงจะตาสว่างขึ้นอีก

เป็นการฟังเรื่องเก่าๆ ของตัวเราเอง เป็นการรู้จักตัวเองเท่านั้น ถ้าแค่เรื่องตัวเองก็ยังไม่รู้ ทางที่ตัวเองเดินมาก็ไม่เห็น แถมข้างหน้าก็มืดอีก แล้วจะมองจะเดินต่อไปให้ดีได้อย่างไร

อ้าว... ต่อไปข้อ ๒) คือหลักความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดา หรือระหว่างคนกับเทพ

หลักข้อนี้ก็ง่ายๆ ถ้าเป็นชาวพุทธจริงก็ต้องรู้แก่ใจชัดอยู่แล้วว่า อ๋อ... ไม่ว่าเทพว่าคน ต้องถือธรรมเป็นใหญ่ ถือว่าธรรมสูงสุด และสรรพสัตว์มีกรรมเป็นของตน ไม่ว่าคนหรือเทวดาก็ต้องว่าไปตามกรรม โดยเอาธรรมเป็นมาตรฐานเป็นเกณฑ์ตัดสิน

นี้ก็หมายความด้วยว่า คนกับเทพนั้นนับถือกันตามธรรม และตามปกติ ผู้ที่จะเกิดเป็นเทพได้ ก็เพราะมีคุณธรรม กรรมดีบางอย่าง เมื่อว่าโดยเฉลี่ยเทวดาจึงมีธรรมสูงกว่ามนุษย์ ก็เลยถือกันว่าให้มนุษย์โน้มไปทางเคารพเทวดา

แต่จะอย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายควรมีเมตตาคือตั้งไมตรีจิตต่อกัน อย่างพวกเราเวลาแผ่เมตตา ก็แผ่ให้เทวดาด้วย ทำบุญ ก็อุทิศให้เทวดาด้วย แม้แต่จะสวดมนต์ฟังธรรมกัน ก็เชิญเทวดามาฟังด้วย และเทวดาที่ดี ก็ใฝ่หาความสุขให้แก่มนุษย์ เหมือนผู้ใหญ่ที่มีเมตตาอยากดูแลรักษาช่วยเหลือเด็ก โดยเฉพาะคุ้มครองเด็กที่ประพฤติดี ให้อยู่เย็นเป็นสุข ก็เหมือนเทวดาที่รักษาพระบรมธาตุนั่นแหละ ที่ท่านอยากดูแลคนให้อยู่กันดี ให้คนดีพ้นภัยอันตราย

อย่างในบทสวดมนต์ ที่เรียกว่าพระปริตรต่างๆ นั้น ก็มีบทที่สื่อสารกับพวกเทวดาเยอะแยะ

เพราะฉะนั้น ชาวพุทธที่ปฏิบัติกิจวัตรทางพระศาสนา และทำกิจกรรมในทางบุญกุศลต่างๆ จึงอยู่ในบรรยากาศที่คุ้นเคยสนิทสนมกับเทวดาทั้งหลายแทบจะตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว เรียกว่ามีเทวดาคอยและพร้อมที่จะช่วยอยู่ใกล้ๆ ไม่ต้องไปเที่ยวหาชนิดเสี่ยงให้เขาหลอกกันวุ่นวาย

(ชาวพุทธไทยเวลานี้ ห่างเหินและละเลยบุญกิจบุญกรรมใกล้ตัว ก็เลยต้องคอยตื่นตูมไปตามเสียงกู่ก้องกรอกหู จากคนนอกที่แปลกหน้า)

แต่ทั้งนี้ ก็อย่างที่ว่าแล้ว ทั้งเทพทั้งคน ต่างก็มีกรรมเป็นของตน และทุกตนมีภาระของตัวที่จะต้องทำชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น (อย่างที่ว่า องค์จตุคามรามเทพเองก็กำลังบำเพ็ญบารมีอยู่นั่นแหละ) ต้องฝึกหัดทำอะไรต่างๆ ให้เป็น ต้องพัฒนาความสามารถต่างๆ ต้องสร้างความเข้มแข็งในตัวเอง ต้องแสวงหาความรู้ ต้องรู้จักคิด ต้องสร้างปัญญา

ถ้ามัวรับความช่วยเหลือ ก็อ่อนแอป้อแป้ปวกเปียกลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ไม่มีใครช่วยไหว (แม้แต่ใครจะมาช่วยอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นไปไม่ได้) ท่านจึงสอนนักหนาให้หัดเข้มแข็งไว้ อย่าไปยอมรอรับความช่วยเหลือ แต่จะต้องเข้มแข็งอดทนที่จะฝึกหัดทำเหตุเอง ให้ผลเกิดขึ้นด้วยการกระทำของตัวเราเอง หรือด้วยการร่วมใจกันคิดและร่วมแรงกันทำด้วยกำลังของพวกเราชาวมนุษย์ด้วยกันเอง นี่คือการทำตามหลักกรรม

กรรมสำคัญที่จะทำให้เราสูงขึ้นตามธรรม และพิสูจน์ความสามารถที่แท้ของมนุษย์ ก็คือ การสร้างสรรค์ผลสำเร็จที่ดีงามหรือสร้างประโยชน์สุขที่ไม่ต้องมีการเบียดเบียนใดๆ โดยใช้เรี่ยวแรงความเพียรพยายาม ทำการด้วยปัญญาที่เข้าถึงเหตุปัจจัยจริงๆ

นี่ไง... ในที่สุด ก็มาเข้าหลักใหญ่ที่ให้พึ่งตน อย่าเพาะนิสัยเสียที่เอาแต่หวังลาภลอย-คอยผลดลบันดาล

คิดดูให้ดีนะ... พึ่งกรรมดีด้วยความเพียรและสติปัญญาของตัวเรา ดีกว่าเที่ยวขอรอผลดลบันดาลจากเทวดาเป็นไหนๆ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง