วัฒนธรรมกับการพัฒนา: ปาฐกถาพิเศษ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การพัฒนาในกรณีของสังคมไทย

สภาพปัญหาอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น เมื่อหันมามองใกล้ตัวแคบเข้ามา ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนในสังคมไทยของเรานี้ เราประสบปัญหาอย่างที่โลกทั่วไปเขาประสบ แต่เราจะอยู่ในข้างที่แย่หรือข้างที่ด้อยกว่าทั่วไป หรือต่ำกว่าระดับเฉลี่ย เพราะปัญหาที่เขามีเราก็มีร่วมกับเขา แล้วเรายังมีปัญหาโดยเฉพาะของเราเองต่างหากที่ล้าหลังอยู่อีกด้วย ปัญหานั้นเกิดจากการที่เราอยู่ร่วมในโลก ที่มีวิธีพัฒนาที่ผิดพลาดอย่างนั้นส่วนหนึ่ง และเกิดจากการปฏิบัติผิดต่อตนเอง ต่อปัจจัยและองค์ประกอบของสังคมตนเองอีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมทั้งสิ้น

ถ้านับเอาความตื่นตัว ที่เป็นอยู่ในโลกปัจจุบันอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ว่าเป็นการตื่นตัวครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง แล้วย้อนกลับมาดูประเทศไทยตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ความเจริญยุคใหม่ เราก็เคยมีการตื่นตัวมาแล้วครั้งหนึ่งก่อนนี้ จึงนับว่าเรามีการตื่นตัวครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง

การตื่นตัวครั้งแรกนั้นก็คือ เมื่อหนึ่งศตวรรษมาแล้ว ในยุคของลัทธิอาณานิคม ประเทศตะวันตกได้เข้ามาแสวงหาเมืองขึ้น ทำให้เราตื่นตัวต้องรีบเร่งปรับปรุงประเทศให้เจริญทันสมัย อย่างที่เรียกว่า ให้เจริญเทียมบ่าเทียมไหล่อารยประเทศ เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้เราพยายามที่จะปรับปรุงประเทศในทุกด้าน เพื่อจะให้พ้นจากการที่เขาจะมาเอาเป็นอาณานิคม การปรับตัวครั้งนั้น ในตอนแรกก็ปรากฏว่าได้มุ่งให้มีการประสานสืบต่อทางวัฒนธรรมด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า เมื่อภัยจากการล่าอาณานิคมผ่านไปแล้ว เราได้ละทิ้งการประสานกลมกลืนทางวัฒนธรรมที่จะต่อเนื่องวัฒนธรรมเก่าเข้ากับความเจริญใหม่นั้นเสีย แล้วก็หันไปตามวัฒนธรรมตะวันตกเรื่อยมา จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น จนกระทั่งการเตลิดสู่การตามวัฒนธรรมตะวันตกนั้น ได้ทำให้เกิดภาวะขาดตอนทางวัฒนธรรม ขาดความสืบทอดต่อเนื่อง ภูมิธรรมภูมิปัญญาไทยเสื่อมหายไปมาก เราสูญเสียความสามารถในการเลือกรับปรับปรุงและดัดแปลง และขาดหลักในการตั้งรับความเจริญใหม่ที่เข้ามา ก็เลยกลายเป็นการเตลิดตามเขาไปอย่างไม่ลืมหูลืมตา

ผลเสียยิ่งใหญ่ จากการพัฒนาแบบรีบเร่งแล้วลืมที่จะเอาใจใส่ต่อความสืบเนื่องทางวัฒนธรรม ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยในปัจจุบัน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างเป็นแก่นสาร ก็คือ การที่องค์ประกอบต่างๆ ของสังคมไทยได้เจริญเติบโตอย่างลักลั่น และเกิดช่องว่าง ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นอย่างกว้างขวาง ทำให้องค์ประกอบของสังคมไม่อาจประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกัน ทำให้สังคมที่เป็นองค์รวมขาดดุลยภาพ ไม่สามารถดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างพรักพร้อมราบรื่น

สภาพการพัฒนาของสังคมไทย ถ้าพูดให้เห็นง่ายๆ ก็คือ เราได้ออกมาเดินร่วมทางเดียวกับประเทศพัฒนาทั้งหลาย แต่เราไม่มีความเป็นตัวของตัวเองในการเดินร่วมทางนั้น เราได้พยายามเดินอย่างเขา แต่เราก็ไม่มีเหตุปัจจัยสั่งสมมาที่จะเป็นอย่างเดียวเหมือนกับเขา เราจึงประสบปัญหาในการเดินทางโดยมีความอ่อนเปลี้ยและแกว่งเกมาก

บัดนี้ เมื่อโลกตื่นตัว รู้ตระหนักถึงความผิดพลาดและผลร้ายของการพัฒนาที่ผ่านมา และตกลงที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีพัฒนา โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านวัฒนธรรม ถึงกับจะให้วัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เราก็พลอยตื่นตัวไปกับเขาด้วย ซึ่งนับได้ว่าเป็นการตื่นตัวครั้งที่สอง แต่สภาพที่ปรากฏอยู่ ก็คือ แม้แต่ในขณะนี้ เราก็ยังพยายามเดินอย่างเขา โดยไม่มีความเป็นตัวของตนเอง และก็ยังไม่สามารถเดินให้เหมือนเขาได้อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันนั้น วัฒนธรรมของเราเอง เราก็ได้ละเลยทอดทิ้งไปมาก ทำให้ขาดความสืบเนื่อง วัฒนธรรมไม่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาให้สมดุล กับการพัฒนาด้านวัตถุ และวัฒนธรรมหลายส่วนของเดิมก็ได้เลือนลางหายไป ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ยิ่งกว่านั้น ความตระหนักรู้ถึงโทษภัยของการพัฒนานั้น เราก็ไม่ได้รู้เข้าใจและมองเห็นชัดเจนจริงจัง เพราะที่ว่าตื่นตัวนั้น เราก็เพียงตื่นตามเขาไปเท่านั้น คือ ได้เห็นประเทศพัฒนาแล้วเขาตื่นตัว เราก็พลอยจะตื่นตัวว่าไปตามเขา ไม่ได้แจ้งประจักษ์ตระหนักซึ้งกับใจของตนอย่างแท้จริง ทั้งที่ปัญหาการพัฒนาแต่ด้านวัตถุ เน้นหนักด้านเศรษฐกิจ โดยที่วัฒนธรรมไม่ได้รับการพัฒนาให้สมดุลกันนั้น เป็นปัญหาของเราหนักยิ่งกว่าเขา แต่เราก็ตามหลังเขาอีกตามเคยแม้ในเรื่องนี้ และน่ากลัวว่าจะเป็นการตามโดยไม่ได้คิดจะทำการแก้ไขปัญหา อย่างจริงจังเสียด้วย

สรุปว่า เมื่อมองในแง่ของประเทศไทย การที่เราได้มีความเป็นมาเช่นนี้ ทำให้เราจำเป็นจะต้องใส่ใจ คำนึงถึงวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นปัจจัยของการพัฒนา ให้มากเป็นพิเศษ พูดในแง่หนึ่ง ถ้าว่าฝรั่งเสียหลัก แต่เรานั้นแทบล้ม ถ้าว่าเขาเซ เราก็ถึงกับทรุด จะเอาของเขาเราก็ยังเอาไม่ได้ แต่ของเราเองเราก็ทิ้งไปเสียเกือบหมดแล้ว เพราะฉะนั้น สถานการณ์ของเรานี้ก็เป็นที่น่าวิตกมากอยู่

อย่างไรก็ตาม ที่ว่านี้เป็นการมองในแง่ร้าย เพื่อให้มีความไม่ประมาท แต่ถ้ามองในแง่ดี สถานการณ์ก็คงยังไม่เลวร้ายจนเกินไป การพัฒนาแบบที่ผ่านมาก็ไม่ใช่จะเสียทั้งหมด และมรดกวัฒนธรรมของเราเองก็มิใช่จะสูญไปทั้งหมด ส่วนดีที่มีอยู่ในวัฒนธรรมของเราที่เหลืออยู่นี้แหละ ถ้าหากว่าเราค้นให้ดีและรู้จักใช้ ก็อาจจะนำมาเป็นฐานที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาตัวให้ดีขึ้นต่อไปได้ โดยสามารถปรับตัวเข้ากับความเจริญสมัยใหม่ ทั้งด้วยการพัฒนาตัวเอง คือปรับวัฒนธรรมของเราให้มีชีวิตชีวามีคุณค่าสมสมัย และด้วยการปรับการพัฒนาให้เข้ากับวัฒนธรรมของเราได้อย่างสมดุล ก็จะทำให้การพัฒนานั้นเป็นไปด้วยดี ผ่านพ้นยุคพัฒนาที่เต็มไปด้วยปัญหานี้ไปได้1

1ปัญหาการพัฒนาในสังคมไทย ดูรายละเอียดใน “อารยธรรมไทย : ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา” ขององค์ปาฐกเดียวกัน (สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, ธ.ค. ๒๕๓๑)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง