วัฒนธรรมกับการพัฒนา: ปาฐกถาพิเศษ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ทำไมการพัฒนาจึงต้องเน้นปัจจัยด้านวัฒนธรรม

เมื่อพูดมาถึงอย่างนี้ ก็ควรจะต้องชี้แจงให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ทำไมจึงต้องมาเน้นปัจจัยด้านวัฒนธรรม ถึงกับเอาวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา จะขอย้อนกลับไปกล่าวถึงความหมายของวัฒนธรรมอีกครั้งหนึ่ง

วัฒนธรรม เป็นผลรวมของการสั่งสมสิ่งสร้างสรรค์และภูมิธรรมภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาของสังคมนั้นๆ

ถ้าจะขยายความก็อาจจะบอกว่า วัฒนธรรมนั้น รวมไปถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ทั้งหมดของสังคม ตั้งต้นแต่ภายในจิตใจของคน มีค่านิยม คุณค่าทางจิตใจ คุณธรรม ลักษณะนิสัย แนวความคิด และสติปัญญา ออกมาจนถึงท่าทีและวิธีปฏิบัติของมนุษย์ต่อร่างกายและจิตใจของตน ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจท่าทีการมองและการปฏิบัติของมนุษย์ต่อธรรมชาติแวดล้อม

ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย วัฒนธรรมเป็นการสั่งสมประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ภูมิธรรม ภูมิปัญญาทั้งหมด ที่ได้ช่วยให้มนุษย์ในสังคมนั้นๆ อยู่รอดและเจริญสืบต่อมาได้ และเป็นอยู่อย่างที่เป็นในบัดนี้

ขอพูดให้สั้นอีกครั้งหนึ่งว่า วัฒนธรรมก็คือ ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถที่สังคมนั้นมีอยู่ หรือเนื้อตัวทั้งหมดของสังคมนั้นเอง ถ้าพูดในภาษาของพระพุทธศาสนา โดยเทียบกับตัวบุคคลแต่ละคน ก็คล้ายๆ กับคำว่า "บุพเพกตบุญญตา คือความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้ในกาลก่อน" หมายความว่า ได้สร้างสรรค์คุณความดี ทำสิ่งที่มีคุณค่าไว้แก่ตนเป็นทุน เท่าไรก็เท่านั้น บางทีก็อาจจะไม่เฉพาะมีบุญอันทำไว้ในกาลก่อนเท่านั้น แต่รวมถึงมีบาปที่ทำไว้ในกาลก่อนด้วย แต่กรณีนี้เน้นในแง่บุญว่า ทำบุญไว้มากน้อยแค่ไหน และเป็นบุญแบบไหนประเภทใด

ถ้าเข้าใจคำว่า "วัฒนธรรม" ในความหมายอย่างนี้แล้ว ก็คงจะเข้าใจต่อไปอีกได้ง่ายขึ้นว่า การพัฒนาในสังคมมนุษย์ที่มุ่งเอาแต่ด้านเศรษฐกิจ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพระเอกอย่างเดียว โดยตัดขาดปัจจัยด้านวัฒนธรรมออกไปเสียแล้ว จะเกิดผลอย่างไร

ข้อที่ ๑ ในเมื่อวัฒนธรรมเป็นเนื้อเป็นตัว เป็นประสบการณ์ความรู้ความสามารถเท่าที่เรามีอยู่ ถึงเราจะละเลยไม่เอาใจใส่ มองข้ามมันไป มันก็อยู่กับตัวเราและอยู่รอบตัวเรา ถึงเราจะไม่ใช้มัน มันก็ต้องแสดงตัวโผล่ออกมาจนได้ มันจะต้องแสดงฤทธิ์ แผลงฤทธิ์ออกมา มีผลแสดงออกมากับตัวเรานั่นเอง ที่ทำที่พูดที่คิด เรามีเท่าไร ก็แสดงออกมาได้เท่านั้น เรามีอย่างไร ก็แสดงออกมาได้อย่างนั้น นั่นแหละคือตัวเราที่แท้จริง ส่วนการที่เราแสดงด้วยตามอย่างเขานั้น ก็เป็นเพียงการพยายามแสดงเท่านั้น บางทีจะกลายเป็นการ เสแสร้งหรือหลงลวงตัวเองด้วยซ้ำ มันไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง แต่เป็นเปลือกหุ้มหรือของภายนอกตัว ซึ่งถ้ายังไม่ได้ปรับให้เข้ากันดีกับเนื้อตัวที่อยู่ข้างใน ถึงจะชอบและพยายามทำตัวให้เป็นอย่างนั้น ก็จะเก้งก้างแข็งขืนไม่สนิทสนมกลมกลืน ใช้การได้ไม่เต็มที่

อนึ่ง เพราะการที่เราไม่เอาใจใส่ ไม่ใช้ ปล่อยปละละเลยมันนี่แหละ เราก็จึงไม่ได้ปฏิบัติต่อมัน ไม่ได้จัดการกับมันให้ถูกต้องด้วย แล้วทีนี้ เพราะการที่เราปล่อยปละละเลย ไม่ได้จัดการกับมันให้ถูกต้องนั่นแหละ แทนที่มันจะให้คุณ ก็เลยกลายเป็นตัวการก่อให้เกิดโทษไปเสีย โทษหรือผลร้ายที่จะเกิดจากการปล่อยปละละเลยวัฒนธรรมนั้นพูดง่ายๆ ก็คือ

ประการที่หนึ่ง อย่างน้อยมันก็กลายเป็นตัวถ่วง ตัวเกะกะกีดขวางในกระบวนการพัฒนา และเป็นตัวสร้างความขัดแย้ง เช่น ทำให้เกิดภาวะขัดแย้งในจิตใจของคนที่ดำเนินงานพัฒนา การมีค่านิยมและนิสัยขัดกับการทำงานอย่างใหม่เป็นต้น

ประการที่สอง เพราะเหตุที่วัฒนธรรมเนื่องอยู่กับชีวิต ความเป็นอยู่ที่เป็นจริงและสืบต่อมา มันติดอยู่กับเนื้อตัวของประชาชน เมื่อเราละเลยวัฒนธรรม แทนที่เราจะได้ประโยชน์จากวัฒนธรรม ได้ประโยชน์จากความสามารถและประสบการณ์เก่า เอามาช่วยนำทางหรือควบคุมการพัฒนา ให้การพัฒนานั้นเข้ากับชีวิตและสังคมของเราเอง อย่างสอดคล้องและเอื้อประโยชน์ที่สุด คือ ให้การพัฒนาเศรษฐกิจและการใช้เทคโนโลยี เข้ากับพื้นเพวิถีชีวิตของตนเอง สนองความต้องการที่แท้จริง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและอุดมคติแห่งสังคมของตนอย่างกลมกลืน ก็กลับมีผลในทางตรงข้าม เพราะว่า เมื่อไม่มีวัฒนธรรมนั้นมาช่วยเป็นตัวเชื่อมประสาน กำหนดขอบเขต คุมและคานการพัฒนาวัตถุไว้ การพัฒนาวัตถุที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็พุ่งแล่นไปตามลำพัง หนักเอียงไปทางเดียว กลายเป็นการกระทำที่ไม่รู้จักขอบเขตและไม่มีเครื่องเหนี่ยวรั้ง ทำให้เกิดการปรับตัวไม่ทันเป็นต้น จนเกิดโทษขึ้นแก่ชีวิตและสังคมเอง

ประการที่สาม ทางฝ่ายวัฒนธรรมนั้นเอง เมื่อถูกละเลยทอดทิ้ง และไม่นำมาใช้ ไม่จัดการอะไรๆ ก็เกิดปัญหาขึ้นในตัวของมันเอง คือเกิดความหมดชีวิตชีวา วัฒนธรรมเสียความต่อเนื่องก็เกิดความเคว้งคว้างระส่ำระสาย คุณค่าที่เป็นประเพณีเดิมก็เสื่อมสลายหรือถูกทำลายไป ภูมิธรรมภูมิปัญญาบางส่วนบางเรื่องก็ค่อยๆ เลือนลางหายไป บางอย่างก็เคลื่อนคลาดวิปริตผิดเพี้ยนไป บางอย่างก็กลายเป็นสิ่งที่อาจจะเรียกว่าเป็นขยะของวัฒนธรรม มรดกทางวัฒนธรรมที่เหลือมา ก็อยู่ในสภาพที่บกพร่องวิกลวิการ ไม่สมบูรณ์ เอกลักษณ์ไม่ชัดเจน สังคมสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ความดำรงอยู่ของสังคมก็คลอนแคลน แล้วโทษก็เกิดขึ้นแก่สังคมอีกนั่นแหละ

พูดง่ายๆ ก็คือ เสียประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย วัฒนธรรมที่สืบมาก็เสื่อมสลาย การพัฒนาใหม่ก็ไม่สมบูรณ์ นี้เป็นโทษ ๓ ประการที่รวมอยู่ในข้อที่ ๑

ข้อที่ ๒ การพัฒนาที่ละเลยวัฒนธรรมก่อผลเสียหายที่พูดถึงกันบ่อยที่สุดก็คือ มีความเจริญแต่ด้านวัตถุ มีความเติบขยายด้านปริมาณ แต่จิตใจไม่พัฒนาด้วย เกิดความเสื่อมโทรมทางจิตใจ มุ่งแต่เศรษฐกิจ ไม่คำนึงถึงคุณค่าทางจิตใจ ทำให้เกิดความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยและการบริโภคที่เป็นโทษ ยิ่งผลิตมากคนยิ่งจนมาก ยิ่งเศรษฐกิจเจริญปัญหาเศรษฐกิจยิ่งเพิ่ม พร้อมนั้นก็ทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์ คนเสื่อมโทรมจากศีลธรรม จริยธรรมถูกละเลย ภัยอันตรายของมนุษย์ยิ่งมากขึ้นจนถึงขั้นที่ว่า ทั้งโลกธรรมชาติและโลกมนุษย์กำลังเสี่ยงต่อความพินาศสูญสิ้น

ข้อที่ ๓ ในการพัฒนาที่ถูกต้อง เมื่อเอาปัจจัยด้านวัฒนธรรมเข้ามาร่วมด้วย ก็จะทำให้มีการสืบทอดต่อเนื่องทางด้านวัฒนธรรม ประสานเข้าด้วยกันกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จำเป็นจะต้องเกิดมีขึ้น โดยวัฒนธรรมนั้นเอง ที่เรารักษาไว้และใช้ด้วยปัญญาอย่างมีโยนิโสมนสิการ จะเป็นตัวที่ช่วย ทำให้เกิดการสืบต่อและเปลี่ยนแปลงปรับตัวไปได้ด้วยดีโดยมีความประสานกลมกลืน เปรียบเหมือนชีวิตของบุคคลแต่ละคน ชีวิตนั้นจำเป็นจะต้องมีการสืบต่อ และพร้อมกันนั้นก็จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าหากว่าเราสามารถทำให้การสืบต่อจากเดิม กับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ นั้น เป็นไปได้อย่างประสานกลมกลืนสอดคล้องมีความสมดุล อันนั้นก็จะเป็นความเจริญงอกงามของชีวิต สังคมนี้ก็เช่นเดียวกัน จำเป็นจะต้องมีการสืบทอดต่อเนื่องจากอดีต แต่ในเวลาเดียวกันก็จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยการรับสิ่งใหม่ๆ หรือทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ถ้าหากว่าสังคมนั้นสามารถทำให้การต่อเนื่องจากเก่า และการเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ประสานกลมกลืนกันได้ดี สังคมนั้นก็จะดำรงอยู่ด้วยดีและมีความเจริญงอกงามต่อไป ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็จะมีทั้งการอนุรักษ์สืบทอดมรดกวัฒนธรรมนั้นไว้ และทำการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ได้ด้วยพร้อมๆ กัน

แต่การพัฒนาโลกที่ละเลยปัจจัยด้านวัฒนธรรม ทำให้การสืบต่อเก่ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่เป็นคนละเรื่อง เป็นคนละชนิด เป็นคนละประเภท ไปกันไม่ได้ ก็เกิดความขัดแย้ง ได้อย่างหนึ่งก็ต้องสูญเสียอย่างหนึ่ง ถ้าจะเอามรดกวัฒนธรรมไว้ ก็ต้องเสียความเจริญอย่างใหม่ ถ้าจะเอาความเจริญ ก็ต้องเสียมรดกทางวัฒนธรรม กลายเป็นว่า จะเอาแต่เก่าก็หยุดนิ่งตาย จะเอาแต่ใหม่ก็เติบโตไปอย่างพิกลพิการ แม้จะเจริญก็เจริญอย่างไม่สมบูรณ์

ข้อที่ ๔ การพัฒนาที่ละเลยองค์ประกอบด้านวัฒนธรรม ทำให้ประชาชนไม่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาด้วย แต่ประชาชนจะมีความแปลกแยก เพราะการพัฒนาไม่เข้ากับพื้นเพภูมิหลังของตัวเขา ไม่เข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สืบมาของเขา ไม่กลมกลืนกับสภาพจิตใจ คุณค่า และลักษณะนิสัย และไม่เปิดช่องให้เขาปรับตัวได้ ทำให้ประชาชนเป็นเพียงผู้คอยรอเสพผล และตื่นเต้นกับสิ่งที่ได้เห็นได้ยิน เป็นเพียงผู้บริโภคผลโดยไม่ได้ร่วมทำเหตุ เมื่อประชาชนไม่เข้ามามีส่วนร่วม การพัฒนาก็อำนวยผลที่เป็นสาระแท้จริงแก่ประชาชนไม่ได้

ข้อที่ ๕ การพัฒนาที่ละเลยวัฒนธรรม ทำให้เกิดความเจริญแบบแยกถิ่นแยกกลุ่ม และหนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างไม่สม่ำเสมอระหว่างเมืองกับชนบท ทำให้สังคมแตกแยก ตลอดจนทำลายวัฒนธรรมในที่สุด เพราะว่าวิธีการพัฒนาที่ไม่เอาวัฒนธรรมเข้ามาร่วมด้วย จะทำให้เกิดวิถีชีวิตคนละแบบที่ขัดกัน ถ้ารับความเจริญแบบใหม่ก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตไปเลย พวกที่มีวิถีชีวิตแบบเก่าตามวัฒนธรรมเดิมก็ต้องแยกอยู่ในท้องถิ่น พวกที่มีวิถีชีวิตแบบพัฒนาใหม่ก็แยกอยู่ในเมือง ทำให้การพัฒนาเมืองกับชนบทไม่ประสานสอดคล้อง ไม่เกื้อกูล ไม่สมดุลกัน ชนบทเหมือนมีกำแพงกั้นไม่ให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ชาวบ้านรู้สึกตัวว่าถูกกันออกไป

ในกรณีของสังคมไทย (และสังคมที่กำลังพัฒนาอีกจำนวนมาก ก็คงคล้ายกัน) การพัฒนามักถูกเข้าใจในความหมายว่า ทำให้เป็นเมือง หรือทำให้เป็นอย่างเมือง เฉพาะอย่างยิ่งทำให้เป็นอย่างเมืองฝรั่ง ดังนั้น เมื่อพัฒนาไปๆ ชนบทหรือชีวิตแบบชนบทก็หมดไปๆ กลายเป็นมีชีวิตแบบเมือง หรือชีวิตที่พยายามให้เป็นเหมือนเมืองฝรั่ง และที่ร้ายอย่างยิ่งก็คือ วิธีพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านวัฒนธรรม ทำให้เกิดผลเสียทางวัฒนธรรมทั้งสองด้าน คือ วัฒนธรรมเดิมของตนเอง ก็ถูกละทิ้งไปเฉยๆ ไม่ได้รับการพัฒนาหรือปรับให้เหมาะสม และเอื้อประโยชน์ต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปใหม่ ในเวลาเดียวกัน ก็รับเอาวัฒนธรรมใหม่ที่ยังไม่ชัดเจนเข้าไป หรือรับเข้ามาแต่ส่วนที่ผิวเผินเป็นส่วนเปลือก ไม่ได้สาระเข้ามา และรับเข้ามาอย่างขัดเขิน ไม่ได้ปรับให้เข้าพอดีกับตนเอง กลายเป็นมีชีวิตแบบเมืองที่ครึ่งๆ กลางๆ หรือเป็นคนเถื่อนแต่ในอยู่ในเมือง พร้อมกับการสูญเสียวัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมเดิมก็สูญหาย วัฒนธรรมใหม่ก็ไม่ได้ ไม่ใช่ของจริง หรือไม่เหมาะกับตน สังคมสูญเสียเอกลักษณ์ และเสริมปัญหาของการพัฒนาแบบใหม่ที่มีปัญหาอยู่แล้ว ให้ปัญหาของการพัฒนาแบบใหม่นั้นรุนแรงยิ่งขึ้น

ข้อที่ ๖ เมื่อการพัฒนาละเลยวัฒนธรรม ก็จะทำให้องค์ประกอบต่างๆ ของชุมชนไม่สามารถประสานเกื้อกูลกัน แต่จะขัดแย้งกัน เพราะองค์ประกอบส่วนใดเข้าถึงหรือรับเอาการพัฒนาแบบใหม่ องค์ประกอบส่วนนั้น ก็ต้องละทิ้งตัดขาดแยกตัวออกมาจากวัฒนธรรมท้องถิ่น องค์ประกอบส่วนใด ยังอยู่ในวัฒนธรรมเดิม ก็ไม่เข้าสู่กระบวนการพัฒนา และเข้ากันไม่สนิทกับส่วนที่อยู่ฝ่ายพัฒนา ทำให้เกิดความระส่ำระสายแตกแยกทางวัฒนธรรม นำไปสู่ความแตกแยกของชุมชน และความเจริญขององค์ประกอบต่างๆ ของสังคมอย่างลักลั่นไม่สมดุลกัน ยิ่งพัฒนาไปๆ ชุมชนยิ่งแตกสลาย ตัวอย่างข้อนี้เช่น ในชุมชนไทยปัจจุบันในชนบท เรามีองค์ประกอบของชุมชน ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน ปัจจุบันนี้การพัฒนาแบบใหม่ ได้ทำให้องค์ประกอบสามอย่างนี้แปลกหน้าซึ่งกันและกัน ไม่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ ดังนี้เป็นต้น

ข้อที่ ๗ เมื่อการพัฒนาละเลยวัฒนธรรมเสียแล้ว ทรัพยากรทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นทรัพยากรส่วนใหญ่ของท้องถิ่น ทั้งด้านวัตถุ บุคคล และนามธรรม ก็ไม่สามารถถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในระบบวิธีพัฒนาแบบใหม่ กลายเป็นของที่สูญเสียเปล่าไร้ประโยชน์ พร้อมกันนั้น กระบวนการพัฒนาแบบใหม่ที่ผ่านมา ก็มีแต่ต้องใช้ทรัพยากรจากภายนอก การพัฒนาแบบนี้เท่าที่เป็นมาแล้ว จึงทำให้ท้องถิ่นพึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาขึ้นต่อภายนอกโดยสิ้นเชิง

รวมความในเรื่องการพัฒนาที่ละเลยวัฒนธรรม เมื่อพูดลึกลงไปก็คือ เมื่อไม่คำนึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวบุคคล ก็เป็นการพัฒนาที่นำไปสู่ความสูญเสียคุณภาพชีวิต ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง