พระพุทธศาสนาพัฒนาคนและสังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

อนึ่ง ประโยชน์หรือจุดหมาย (อัตถะ) ทั้ง ๒ หรือ ๓ ระดับนี้ แยกออกไปอีกเป็น ๓ ด้าน ซึ่งบัณฑิตที่แท้จริงจะต้องบำเพ็ญให้สำเร็จ คือ

๑. ประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) คือ ประโยชน์ ๓ ระดับที่กล่าวข้างต้นนั้น ที่พึงทำให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง หรือพัฒนาชีวิตของตนเองให้ลุถึง

๒. ประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) คือ ประโยชน์ ๓ ระดับที่กล่าวข้างต้นนั้น ที่พึงช่วยเหลือให้ผู้อื่นหรือเพื่อนมนุษย์ได้บรรลุถึง ด้วยการชักนำให้เขาพัฒนาชีวิตของเขาเองขึ้นไปจนเข้าถึงตามลำดับ

๓. ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ) คือ ประโยชน์ร่วมกัน หรือประโยชน์แก่สังคมทั้งหมด โดยเฉพาะสภาพและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่พึงช่วยกันสร้างสรรค์บำรุงรักษา อันจะเกื้อหนุนให้ทั้งตนและผู้อื่นเข้าถึงจุดหมายทั้ง ๓ ระดับนั้น

ในหลายกรณี ท่านพูดให้สั้นเพื่อสะดวกในการสื่อสาร โดยแบ่งเป็นเพียง ๒ อย่างคือ ประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) และประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) ในกรณีเช่นนี้พึงเข้าใจว่า คำว่า ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ) ก็คือ ประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น ที่ประสานเข้าด้วยกันนั่นเอง

โดยทั่วไป มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะฝึกตนให้บรรลุอัตถะทั้ง ๓ ระดับ และมีหน้าที่ที่จะต้องบำเพ็ญประโยชน์หรืออัตถะทั้ง ๓ ด้าน ทุกคนจึงสามารถเป็นบัณฑิตด้วยการฝึกตนและด้วยการปฏิบัติตามหลักการที่กล่าวมานี้

การฝึกตนของมนุษย์นั้น เรียกว่า การศึกษา (สิกขา) หรือการพัฒนาชีวิต (ภาวนา) เราจึงพูดด้วยภาษาทางวิชาการว่า บุคคลเป็นบัณฑิตด้วยการศึกษา (สิกขา) หรือด้วยการพัฒนาชีวิต (ภาวนา)

การฝึกตนที่เรียกว่า การศึกษา (สิกขา) หรือการพัฒนาชีวิต (ภาวนา) นั้น มนุษย์อาจแสวงหาหรือทำให้สำเร็จได้ ทั้งจากการปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนของระบบที่จัดตั้งกันขึ้นไว้ในสังคมมนุษย์ คือในสถาบันการศึกษาต่างๆ และจากการเรียนรู้ด้วยวิธีการอย่างอื่น ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการศึกษานอกระบบ

ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ถ้าบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เป็นอยู่อย่างไม่ประมาท และได้พัฒนาชีวิตของตน จนบรรลุประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย (อัตถะ) ที่กล่าวมาแล้ว บุคคลผู้นั้นก็เป็นบัณฑิต โดยมิต้องคำนึงว่า เขาจะศึกษาในระบบ หรือนอกระบบ หรือจากการเรียนรู้และฝึกฝนในการดำเนินชีวิตของเขาเองก็ตาม

ถ้าเขามีคุณสมบัติของความเป็นบัณฑิตที่แท้จริงนี้ โดยผ่านการศึกษาในระบบ เขาก็เป็นบัณฑิต ทั้งโดยสาระและโดยรูปแบบ

ถ้าเขามีคุณสมบัติของความเป็นบัณฑิตที่แท้จริงนี้ โดยมิได้ผ่านการศึกษาชนิดที่จัดตั้งขึ้นเป็นระบบในทางสังคม เขาก็คงเป็นบัณฑิตโดยสาระ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง