พระพุทธศาสนาพัฒนาคนและสังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พระพุทธศาสนาพัฒนาคนและสังคม

ความนำ

ปัจจุบันนี้ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศผู้นำที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ได้รู้ตระหนักว่า การพัฒนาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งสร้างความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุ โดยเน้นความเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้ก่อให้เกิดปัญหามากมายร้ายแรง ทั้งแก่ชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าด้านสุขภาพร่างกายหรือด้านจิตใจ ทั้งแก่สังคม ทั้งแก่ธรรมชาติแวดล้อม นับว่าเป็นการพัฒนาที่ผิดพลาด ดังที่สรุปกันว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน จึงจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนากันใหม่

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมา กระแสเรียกร้องและเร่งเร้าให้ปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาใหม่ ได้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น ดังที่องค์การสหประชาชาติได้แนะนำให้ดำเนินการพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งมีสาระสำคัญว่า ให้เป็นการพัฒนาที่ทั้งเศรษฐกิจก็เจริญได้ และสิ่งแวดล้อมก็อยู่ดี หรือทั้งเศรษฐกิจก็เจริญดี และสิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้ ซึ่งอาจขยายให้มีความหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้นว่า ให้เป็นการพัฒนาที่โลกมนุษย์ดำรงอยู่ได้ ท่ามกลางโลกธรรมชาติที่ยังคงอยู่ด้วยดี

ในการพัฒนาตามแนวทางที่ปรับเปลี่ยนใหม่นั้น ได้มีการย้ำกันว่า จะต้องหันมาเน้นการพัฒนาคน โดยให้การพัฒนาคนเป็นแกนกลางของการพัฒนาทุกอย่าง ดังจะเห็นว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ (๒๕๔๐-๒๕๔๔) ของประเทศไทยเราในปัจจุบัน ก็ยึดถือหลักการสำคัญข้อนี้

พึงเข้าใจว่า การพัฒนาคนนั้นมีความหมายสำคัญ ๒ อย่าง คือ

  1. การพัฒนาคนในฐานะผู้มีความเป็นมนุษย์
  2. การพัฒนาคนในฐานะทรัพยากรมนุษย์

การพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ จะช่วยให้สังคมมีทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดผลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือเรียกง่ายๆว่าพัฒนาให้เป็นนักผลิต ซึ่งพร้อมที่จะสนองความต้องการของสังคม ส่วนการพัฒนาคนในฐานะผู้มีความเป็นมนุษย์ จะช่วยให้บุคคลมีคุณสมบัติพร้อมที่จะดำเนินชีวิตแห่งปัญญาเพื่อความดีงาม หรือเรียกสั้นๆ ว่า พัฒนาให้เป็นบัณฑิต ผู้สามารถนำชีวิตและสังคมไปสู่สันติสุข

การพัฒนาด้านต่างๆ ในทางเศรษฐกิจและสังคม จะต้องยึดเอาการพัฒนาคนเป็นแกนกลางฉันใด การพัฒนาคนในความหมายทุกอย่าง ก็จะต้องยึดเอาการพัฒนาคนในฐานะผู้มีความเป็นมนุษย์ เป็นแกนกลางฉันนั้น

การพัฒนาสังคมตามหลักพระพุทธศาสนา ถือการพัฒนาคนเป็นแกนกลาง และการพัฒนาคนนั้น ก็เริ่มต้นที่ฐาน คือการพัฒนาความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสาระส่วนแก่นแท้ ส่วนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งขึ้นต่อสภาพแวดล้อมแห่งกาลเทศะของยุคสมัย ก็จะต้องตั้งอยู่บนฐานของความเป็นมนุษย์นั้น และนำหลักการทั่วไปที่ท่านแสดงไว้ไปประยุกต์ใช้ให้สนองความต้องการของยุคสมัยอย่างได้ผล

ด้วยการพัฒนาความเป็นมนุษย์ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างถูกต้อง คนที่พัฒนาดีแล้ว ก็จะเป็นส่วนร่วมที่รวมกำลังกันสร้างสรรค์สังคมให้เจริญงอกงาม เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้่อโอกาสให้ทุกคนเจริญยิ่งขึ้นไปในการมีชีวิตที่ดีงามและมีความเกษมสุข

พระพุทธศาสนาพัฒนาคนและสังคมอย่างสัมพันธ์ควบคู่กันไปและเป็นปัจจัยต่อกัน โดยคำนึงถึงธรรมชาติแวดล้อมพร้อมไปด้วย ตามหลักการที่จัดวางไว้เป็นระบบอย่างครบถ้วนชัดเจน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง