การที่เศรษฐศาสตร์ไม่ค่อยสนใจกับจริยธรรมนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่าเป็นเพราะอะไร อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เศรษฐศาสตร์นี้เกิดขึ้นในประเทศตะวันตก และจริยธรรมสำหรับเศรษฐกิจแบบตะวันตกเขาก็มีของเขาอย่างหนึ่ง ระบบจริยธรมแบบตะวันตกอย่างที่เกิดในยุคอุตสาหกรรม ก็คือจริยธรรมโปรเตสแตนท์ หรือ Protestant ethic ประเทศตะวันตกมี work ethic นี้เป็นหลักสำคัญในการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมขึ้นมา ไปๆ มาๆ จริยธรรมที่ทางเศรษฐศาสตร์ไม่ค่อยให้ความสนใจ ไม่เอามาเป็นตัวแปรในการคิด ในการพิจารณา เกี่ยวกับเรื่องทางด้านเศรษฐกิจนั้น ที่แท้แล้วมันเป็นรากฐานความเจริญของระบบเศรษฐกิจแบบตะวันตก และความเจริญยุคอุตสาหกรรมทีเดียว จะเรียกว่าเป็นเนื้อเป็นตัวของเศรษฐกิจตะวันตกก็ได้ อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐศาสตร์ตะวันตกไม่สนใจพิจารณาปัญหาทางจริยธรรมนั้น ก็อาจจะมองได้ในแง่หนึ่งว่า ในสังคมตะวันตกนั้นระบบจริยธรรมแบบที่กล่าวมานั้น มันเข้ารูป คงตัว แทบจะเรียกได้ว่าเป็นตัวคงที่อยู่แล้ว เป็นองค์ประกอบร่วมที่ยืนตัวของเศรษฐกิจของเขาอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเอามาพิจารณาในการคิดคำนวณอะไรต่างๆ ทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เข้า คนก็ลืมไปว่า ความจริงนั้นจริยธรรมก็มีผลต่อเรื่องเศรษฐกิจและมีผลอย่างมากด้วย
ต่อมา เรานำเอาความคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตกนี้เข้ามาใช้ในสังคมอื่น ที่มีระบบจริยธรรมต่างกัน มันก็ออกผลมาในกระบวนการทางเศรษฐกิจต่างออกไป ทำให้การคิดคำนวณ การคาดคะเน หรือการทำนายทางด้านเศรษฐศาสตร์นี้ผิดพลาดไปได้ เพราะว่าเศรษฐศาสตร์นั้นมาอยู่ในสังคมที่มีรากฐานทางจริยธรรมที่ต่างออกไป หมายความว่า ขณะนี้วิชาการเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเคยตั้งอยู่บนรากฐานจริยธรรมแบบสังคมตะวันตก ที่มีองค์ประกอบด้านจริยธรรมเป็นตัวคงที่แล้ว ได้ถูกยกออกจากรากฐานทางจริยธรรมนั้น มาวางลงบนสังคมที่มีรากฐานทางจริยธรรมอีกอย่างหนึ่ง องค์ประกอบด้านจริยธรรมที่เป็นตัวคงที่ในสังคมเดิมของตะวันตก ก็ถูกแยกเอาออกไปแล้ว และองค์ประกอบทางจริยธรรมแบบใหม่ที่ต่างออกไป ก็ไม่ถูกนำเข้ามาร่วมในการพิจารณา ฉะนั้น การคิดคำนวณ หรือการพิจารณาต่างๆ ทางเศรษฐกิจก็มีโอกาสที่จะผิดพลาดได้มาก จึงมีปัญหาว่า เศรษฐศาสตร์ที่นำมาใช้ในสังคมแบบตะวันออกนี้ ผู้ใช้มีความเข้าใจรากฐานทางจริยธรรมของตนเองเพียงพอหรือไม่ ดังตัวอย่างที่พูดมาเมื่อกี้นี้ ถ้าเราใช้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตก เมื่อผลิตสินค้าจำนวนมากขึ้น ก็มีโอกาสที่มันจะลดราคาลง แต่ในกรณีนี้ เมื่อผลิตสินค้าในปริมาณมากขึ้น ราคากลับแพงขึ้น เพราะคนมีความต้องการต่างออกไปอีกแบบหนึ่ง เรื่องนี้แสดงว่า องค์ประกอบทางด้านจริยธรรม และคุณค่าทางจิตใจที่ต่างออกไปได้แสดงผลออกมาแล้ว นับว่าเป็นตัวแปรที่ควรพิจารณา
เศรษฐศาสตร์บอกว่า เราไม่พิจารณาเรื่องคุณภาพของความต้องการ เราคิดแต่เรื่องความต้องการอย่างเดียวเป็นตัวโดดๆ ล้วนๆ แต่ในทางความเป็นจริง มันก็หนีธรรมชาติของมนุษย์ไปไม่ได้ คือ ความจริงก็ยังคงเป็นความจริงอยู่นั่นเอง เมื่อเศรษฐศาสตร์ไม่พิจารณาความจริงด้านใดด้านหนึ่งของธรรมชาติ การพิจารณานั้นก็ไม่ครบถ้วนกระบวนความ ก็ได้ความจริงไม่สมบูรณ์ และก็ย่อมมีผลคือกลายเป็นขัดกับความเป็นจริง เมื่อขัดกับความเป็นจริงก็มีผลออกมาทำให้เกิดความผิดพลาดได้ นี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงว่า รากฐานทางจริยธรรมของสังคมนั้นๆ อาจจะผิดกัน เมื่อเศรษฐศาสตร์เกิดในสังคมตะวันตก เราคุ้นเคยกับการใช้แนวคิดหรือรากฐานความคิดทางจริยธรรมแบบนั้น จนกระทั่งฐานความคิดทางจริยธรรมแบบนั้น กลายเป็นสิ่งที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ เพราะเป็นองค์ประกอบที่คงที่ แต่ขณะนี้เราเอาเศรษฐศาสตร์นั้นมาใช้ในสังคมอีกสังคมหนึ่ง ที่มีรากฐานทางจริยธรรมอีกแบบหนึ่งต่างออกไป องค์ประกอบทางจริยธรรมอย่างใหม่นั้นจะถูกละทิ้งไว้ในฐานที่เข้าใจไม่ได้ แต่จะต้องถูกยกขึ้นมาพิจารณา จนกว่ามันจะเข้ามาสู่กระบวนการคิดพิจารณาของเศรษฐศาสตร์อย่างลึกซึ้งเสียก่อน จนกระทั่งว่าเป็นตัวคงที่ ไม่เป็นตัวแปรอีกต่อไป แต่ถ้ามันยังไม่เข้าสนิทลึกซึ้งแล้ว มันก็ยังสามารถเป็นตัวแปรได้
ว่าที่จริง นักเศรษฐศาสตร์ก็ยอมรับอยู่ในที ถึงความสำคัญของปัจจัยทางจริยธรรม หรือคุณค่าทางจิตใจต่อเรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นการยอมรับอย่างไม่ค่อยจะรู้ตัว อย่างที่เห็นกันในสังคมของเราเองที่ผ่านมานี้ มีนักเศรษฐศาสตร์และนักเศรษฐกิจหลายคนที่ติเตียนความเชื่อถือต่างๆ โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาที่ได้สอนหลักธรรมเรื่องสันโดษเป็นต้น ตลอดจนเรื่องกรรม เรื่องการปลงอนิจจังว่า อนิจจังไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายมันก็เป็นไปอย่างนั้นเองตามความไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น ก็จงปล่อยให้มันเป็นไปตามนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรมัน ทำใจให้สบายก็แล้วกัน อะไรทำนองนี้ ได้มีนักเศรษฐศาสตร์ที่ติเตียนว่า คำสอนในทางพระพุทธศาสนาแบบนี้ เป็นตัวการขัดถ่วงต่อการพัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะก็คือ ขัดถ่วงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การที่พูดว่าอย่างนี้ก็เท่ากับว่า ทางเศรษฐศาสตร์หรือนักเศรษฐกิจ ก็ยอมรับความสำคัญของจริยธรรมอยู่แล้ว แต่เป็นการยอมรับในแง่ลบ แล้วก็ไม่รู้สึกตัวว่าในขณะนั้นๆ ตนกำลังพูดถึงปัญหาจริยธรรม
ในทางตรงข้าม ถ้าเราตระหนักถึงความสำคัญของจริยธรรมต่อเศรษฐกิจ มองเห็นว่า คำสอน ค่านิยม ที่มีในจิตใจ ลักษณะนิสัย จิตใจ ความประพฤติของคน เช่น การมีความสันโดษ ความเชื่อกรรม การปลงอนิจจัง มีผลต่อเศรษฐกิจ แล้วให้ความสนใจ เราก็จะสามารถนำคุณค่าทางจิตใจและจริยธรรมเหล่านี้มาใช้ในทางบวก คือเอาจริยธรรมนี้มาเป็นตัวเร้า ทำให้เกิดการพัฒนาในทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเห็นความสำคัญอย่างนี้แล้ว ก็น่าจะมีการศึกษาให้เข้าใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่คอยรอรับเอาผลที่ปรากฏขึ้นมาแล้ว แล้วก็สนใจเฉพาะจุดนั้น ไม่ศึกษาให้ลึกซึ้งต่อไป ซึ่งเป็นความผิดพลาดอย่างหนึ่ง
ในสังคมไทยที่เป็นมานี้ เราอยู่ในช่วงหัวต่อของยุคเกษตรกรรมกับยุคอุตสาหกรรม เราพยายามพัฒนาประเทศชาติให้เจริญด้วยอุตสาหกรรม แต่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของเรานั้น เราประสบปัญหาว่าเราพัฒนาไม่ค่อยสำเร็จ ทีนี้ในการพัฒนาไม่สำเร็จนั้น ปัญหาที่ปรากฏเด่นชัดในปัจจุบันเรายังไม่ได้สรุป ถ้าสรุปมันจะเป็นในรูปนี้หรือไม่ คือเป็นคำถามว่า ในประเทศไทยที่พัฒนาเศรษฐกิจไม่ค่อยได้ผลดีนี่ ปัญหาอยู่ที่อะไร อยู่ที่ขาดทุนหรือขาดธรรม ถ้าได้คำตอบว่า การขาดธรรมเป็นปัจจัยสำคัญของความไม่เจริญเท่าที่ควรในทางเศรษฐกิจ ก็แสดงว่าจริยธรรมนี้มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจมาก ในเมื่อจริยธรรมมีความสำคัญมาก ถ้าเราไม่ให้ความสนใจและไม่ศึกษาจริยธรรม และไม่นำเอาจริยธรรมมาใช้เป็นตัวแปร ในการคิดพิจารณาปัญหาทางเศรษฐกิจแล้ว มันก็จะทำให้เกิดความติดตันในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัจจุบันนี้ เศรษฐศาสตร์ได้รับการขนานนามอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น dismal science แปลว่า ศาสตร์ที่เศร้า หมายความว่า ใครมามองดูเรื่องราวทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ก็มักจะมองไปข้างหน้าถึงปัญหาต่างๆ ที่เผชิญอยู่ ที่ยังคิดแก้ไม่ตก ก็พาให้เศร้าใจ ปัจจุบันนี้มีผู้เรียกเศรษฐศาสตร์ว่าเป็น dismal science ถ้าเราไม่สนใจเรื่องจริยธรรมเท่าที่ควร แล้วไม่พยายามแก้ปัญหาทางด้านนี้ มันก็จะเป็นตัวแปรที่ทำให้เราแก้ปัญหาไม่ตก แล้วเศรษฐศาสตร์ก็อาจจะกลายเป็น dismal science ไปจริงๆ ที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐศาสตร์กับธรรมในแง่ที่หนึ่ง คือในความหมายว่าเป็นจริยธรรม โดยมุ่งให้ช่วยกันพิจารณาถึงปัญหา ซึ่งเกิดจากการที่เศรษฐศาสตร์ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามธรรมในความหมายที่หนึ่งนั้น