ทางออกจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จากคุณค่าแท้/คุณค่าเทียม สู่พฤติกรรมในการบริโภค

จากหลักความต้องการสองแบบ ก็นำไปสู่หลักที่เรียกว่า คุณค่าแท้และคุณค่าเทียม เพราะฉะนั้นในตอนนี้ เราจึงหันมาพิจารณาเรื่องคุณค่าของสิ่งทั้งหลาย การที่มนุษย์ต้องการสิ่งทั้งหลายนั้น ก็เพราะสิ่งเหล่านั้นมีคุณค่าแก่เขา หรือเพราะเขามองเห็นคุณค่าในสิ่งเหล่านั้น แต่ว่าที่จริงแล้ว ความต้องการของมนุษย์นั่นแหละเป็นตัวกำหนดคุณค่า เมื่อเราต้องการสิ่งใดสิ่งนั้นก็มีคุณค่าขึ้น ทีนี้ในเมื่อความต้องการของเรามีสองแบบ คุณค่าก็เกิดเป็นสองแบบด้วย ถ้าเราต้องการคุณภาพชีวิต คุณค่าที่เราจะมองหาหรือมองเห็นในสิ่งนั้น ก็จะเป็นแบบหนึ่งซึ่งขอเรียกว่า คุณค่าแท้ เช่น อาหารมีคุณค่าที่หล่อเลี้ยงร่างกาย ทำให้เจริญเติบโตแข็งแรง มีสุขภาพดี ทำให้มีชีวิตอยู่ผาสุกเป็นต้น อย่างที่เคยพูดมาแล้ว แต่อีกด้านหนึ่ง ถ้าเราต้องการเสพรสหรือบำรุงบำเรอปรนเปรอตน เราก็จะมองหาและมองเห็นคุณค่าในสิ่งทั้งหลายไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า คุณค่าเทียม เป็นคุณค่าที่สนองความต้องการแบบเสพรสหรือปรนเปรอตน เช่น อาหารมีคุณค่านี้ ก็คือการที่มันมีรสเอร็ดอร่อย ตลอดจนกระทั่งโก้หรู แสดงฐานะให้เห็นว่าเรานี้มีรสนิยมสูง กินของชั้นดี เป็นผู้นำสังคม อะไรต่างๆ ทำนองนี้

จากหลักความต้องการและคุณค่า ก็นำไปสู่หลักเรื่องการบริโภคอย่างที่ว่ามาแล้ว กล่าวคือ การบริโภคก็แบ่งออกเป็น ๒ แบบ ได้แก่

๑. การบริโภคเพื่อสนองความต้องการเสพคุณค่าเทียม ซึ่งเป็นการบริโภคแบบที่ไม่มีจุดหมายต่อไป มีแต่เพียงการเสพรสให้เกิดความพึงพอใจ แล้วก็ขาดลอยอยู่แค่นั้น ไม่มีจุดหมายส่งทอด มีแต่การเสพรสเรื่อยไปไม่รู้จบไม่รู้อิ่ม เป็นวงเวียนอยู่นั่นเอง

๒. การบริโภคเพื่อสนองความต้องการคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นการบริโภคที่มีจุดหมายต่อไป เพราะการได้คุณภาพชีวิตเป็นจุดหมายที่ชัดเจนของการบริโภค และยังเป็นฐานของการฝึกฝนศักยภาพของตนเองต่อไปอีกด้วย

ตกลงว่า มีการบริโภคแบบปลายเปิดกับแบบปลายปิด หรือการบริโภคที่มีจุดหมายต่อกับไม่มีจุดหมายต่อ ฉะนั้นปัญหาเศรษฐกิจในเศรษฐศาสตร์กับในพุทธศาสตร์ จึงไม่เหมือนกัน ในทางเศรษฐศาสตร์ข้อพิจารณาจะเป็นว่า เกิดความต้องการขึ้นแล้ว ทำอย่างไรจะได้สนองความต้องการ แต่ในพุทธศาสตร์ข้อพิจารณายังมีต่อไปว่า ถ้าเป็นความต้องการที่เป็นโทษทำลายคุณภาพชีวิต เบียดเบียนตนและเบียดเบียนผู้อื่น ก็ให้สามารถระงับความต้องการนั้นได้ด้วย หลักของเศรษฐศาสตร์ คือการสนองความต้องการ แต่ในพุทธศาสตร์จะมีการพิจารณาว่า ความต้องการนั้นให้เกิดคุณภาพชีวิตหรือทำลายคุณภาพชีวิต แล้วจึงจะสนองหรือระงับ ไม่เหมือนกัน

เรื่องอื่นก็ยังมีที่ควรจะพูดต่อไป แม้แต่เรื่องที่พูดไปแล้วที่นึกอยากจะยกมาพูดแยกเป็นประเด็นๆ ต่างหากก็มี ได้แก่เรื่องความพอใจ แล้วต่อไปก็เรื่องธรรมชาติของงานว่า พุทธศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน เข้าใจต่างกันอย่างไร ก็พอดีเวลาหมดไปแล้ว ไม่สามารถจะพูดต่อไปอีก

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง