ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สังคมไทยได้เปรียบสังคมอเมริกัน ในการจัดจริยศึกษาที่มีเอกภาพ

๔. ความคิดและความพยายามที่จะสร้างจริยธรรมสากล เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงทศวรรษแห่ง ค.ศ. ๑๘๘๐ (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๐) และพัฒนาอย่างค่อนข้างเต็มรูป ก่อน ค.ศ. ๑๙๔๐ (ราว พ.ศ. ๒๔๘๐) และได้ถูกนำมาใช้เป็นระบบวิธีทางจริยศึกษา ในการปลูกฝังจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชนในประเทศสหรัฐอเมริกา มาเป็นเวลายาวนาน

สภาพปัญหาทางจิตใจ และความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมของสังคมอเมริกันในปัจจุบัน ย่อมถือเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า ระบบจริยศึกษาแบบจริยธรรมสากลนั้น ถ้าแม้มิได้เป็นเหตุให้สังคมอเมริกันประสบความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม อย่างน้อยมันก็มิได้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาจริยธรรม หรือในการที่จะช่วยให้สังคมอเมริกันมีจริยธรรมและสภาพจิตใจที่ดีขึ้น หรือแม้แต่จะรักษาสถานภาพทางจริยธรรมให้คงอยู่ในระดับเดิมได้

เดิมที ในสังคมอเมริกันนั้นเอง ก่อนสงครามกลางเมือง (พ.ศ. ๒๔๐๔-๒๔๐๘) การสอนจริยธรรมในระบบการศึกษาของชาติ ก็ใช้หลักคำสอนของศาสนาโดยจะต้องได้รับความเห็นชอบหรือการรับรองจากทางฝ่ายศาสนาด้วย

แต่ต่อมา เนื่องจากประชากรอเมริกันซึ่งประกอบด้วยผู้คนหลายชาติอพยพเข้ามา มีความแตกต่างกันมากในด้านความเชื่อถือทางศาสนา แม้ว่าพลเมืองส่วนใหญ่จะนับถือคริสตศาสนา แต่ก็แยกกันเป็นคนละนิกาย คือ โรมันคาทอลิก กับโปรเตสแตนต์ ซึ่งไม่อาจจะเรียนวิชาศาสนาอย่างเดียวกันได้ เช่น ตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้คัมภีร์ไบเบิลฉบับไหน

และยิ่งกว่านั้น ในนิกายที่เป็นฝ่ายข้างมากเอง คือ โปรเตสแตนต์ (ที่ว่าเป็นข้างมากก็เพียงประมาณร้อยละ ๖๐) ก็สอนต่างกันในเรื่องเดียวกัน ทำให้ขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรง จนบางพวกก็แยกไปตั้งโรงเรียนสอนศาสนาของตนต่างหากออกไป จนในที่สุดจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างจริยธรรมสากลหรือจริยธรรมที่ยอมรับร่วมกันได้ขึ้นมาดังกล่าวข้างต้น1

สังคมไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน ไม่ได้มีปัญหาแตกแยกกันอย่างในสังคมอเมริกัน แม้จะมีความแตกต่างหลากหลาย ก็เป็นความแตกต่างในระดับของพัฒนาการทางจิตปัญญา ส่วนหลักความเชื่อและหลักคำสอนทั่วไปลงตัวเป็นแบบเดียวกัน จึงน่าจะใช้ความได้เปรียบคือความมีเอกภาพทางศาสนานี้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งในแง่การศึกษาและในแง่สังคม คือฉวยโอกาสเอาพุทธศาสนา ที่ประชาชนแทบทั้งหมดนับถือเป็นอย่างเดียวกันนั้น เป็นช่องทางจัดจริยศึกษาได้พร้อมทีเดียวทั่วสังคมทั้งหมดในทันที พร้อมทั้งเป็นการเสริมสร้างรักษาเอกภาพของสังคม หรือความสามัคคีของคนในชาติไปด้วยในตัว

ถ้าไม่ทำอย่างนี้ แต่ไปทำตามอย่างการศึกษาของอเมริกัน จะกลายเป็นว่า ทั้งที่ตัวเองไม่มีปัญหา แต่กลับไปทำตามอย่างคนที่เขามีปัญหา และทั้งที่ตนมีโอกาสดี กลับไม่ใช้โอกาสนั้น จะเรียกว่าเป็นปฏิบัติการที่ฉลาดได้อย่างไร

ในการศึกษาของอเมริกัน เขาจัดสอนจริยธรรมสากล เพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกที่มีอยู่แล้ว แต่ถ้าการศึกษาของไทยทำอย่างนั้นจะมีผลในทางตรงข้าม คือ แทนที่จะเป็นการฉวยโอกาสเสริมสามัคคีด้วยเอกภาพที่มีอยู่แล้ว ก็กลับกลายเป็นการวางรากฐานที่จะนำไปสู่ความแตกแยก นับว่าเป็นการสูญเสียทีเดียวสองชั้น

1Gerald Grant, "Bringing the 'Moral' Back In," NEA Today, 1989, pp. 54-59.
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง