ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถ้าเรียน และสอนไม่ถูกต้อง วิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นวิชาที่ยัดเยียด

ขณะนี้ ในประเทศอเมริกา นอกจากพวกที่เรียกร้องให้สอนจริยธรรมตามหลักศาสนาพื้นเดิมแล้ว ก็มีการสอนจริยธรรมแนวใหม่ ๒ แบบ กำลังแพร่หลายอยู่เป็นคู่แข่งกัน คือ ขบวนการสางอุปาทาน (the values clarification movement) มี Sidney Simon เป็นผู้นำ กับขบวนการพัฒนาศีลธรรมแนวปัญญา (the cognitive moral development movement) ซึ่งมี Lawrence Kohlberg เป็นหัวหน้า1 ทั้งสองขบวนการนี้ เป็นความพยายามตามประเพณีของสังคมอเมริกันที่จะหลีกเลี่ยงการสอนศาสนาโดยตรง และทำตามหลักการที่จะไม่ยัดเยียดใส่ลัทธิความเชื่อ หลังจากเริ่มกันมาได้ไม่กี่ปี ขบวนการที่ ๑ เริ่มถูกวิจารณ์มากขึ้นๆ ว่าไม่ได้ผล หรือทำให้เกิดผลเสียหาย ไม่บรรลุจุดหมายในการพัฒนาจริยธรรม ในที่นี้ขอให้พิจารณาขบวนการทั้งสองนี้ตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม การสอนจริยธรรมแบบชำระอุปาทานนี้ ถ้านำมาประยุกต์ใช้ก็เป็นประโยชน์ คือเอามาใช้เป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการสอน โดยให้นักเรียนคิดพิจารณา พร้อมทั้งถกเถียงกับครูเพียงลำพัง ๒ ฝ่าย แล้วเลือกตัดสินใจเองก่อน

จากนั้นครูจึงเป็นสื่อพาฝ่ายที่สาม คือ หลักศาสนาและวัฒนธรรมมาเล่าทัศนะ หรือปรีชาญาณของคนเก่าก่อน ให้ผู้เรียนได้รู้และพิจารณาว่า เรื่องอย่างนั้น ท่านผู้มีชีวิตอยู่ในอดีตได้เคยคิดกันมาแล้ว และว่าไว้อย่างไร ซึ่งผู้เรียนจะได้ข้อมูล และข้อพิจารณาเพิ่มเข้ามาจากความรู้ตามระบบของท่าน แล้วใช้ความคิดอิสระของตนพิจารณาต่อไปอีก เป็นการฝึกฝนความรู้จักคิด และเสริมปัญญา ได้ประโยชน์ครบถ้วนทุกข้อ

แต่ก็จะต้องระวังอุปสรรคใหญ่ คือ พอสรุปมติของตนเองในขั้นต้นแล้ว ผู้เรียนอาจจะติดอยู่กับอุปาทานของตัวเอง หมดอิสรภาพ ไม่อาจเดินหน้าพัฒนาตนเองได้ต่อไป

ก่อนจะผ่านเรื่องการยัดเยียดนี้ไป ขอตั้งข้อสังเกตเป็นเครื่องเตือนสติไว้ว่า การกระทำที่เป็นการยัดเยียดหรือไม่นั้น ว่าโดยทั่วไปแล้วอยู่ที่วิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่จัดให้เรียนมากกว่าจะอยู่ที่เนื้อหาของวิชาที่จัดให้เรียน เฉพาะอย่างยิ่งก็อยู่ที่การสอนและวิธีสอนนั่นเอง (การยัดเยียดในกรณีนี้เป็นคนละอย่างกับการจัดใส่เนื้อหาให้มากเกินไป จนเกินกำลังที่จะรับได้ ซึ่งเป็นความยัดเยียด ในความหมายว่าแออัดยัดเยียด ไม่ใช่ความหมายที่กำลังพิจารณาในที่นี้)

คนส่วนมากพูดถึงการยัดเยียด โดยมองไปที่ตัววิชาหรือสิ่งที่จัดให้เรียน แล้วโดยไม่รู้ตัวก็กลายเป็นการสร้างภาพสำเร็จให้แก่วิชาต่างๆ แต่ละอย่างว่า วิชานั้นเป็นเนื้อหาที่ยัดเยียด วิชานี้ไม่เป็นการยัดเยียด ตัวอย่างที่เด่นในยุคที่ผ่านมา (สำหรับคนส่วนมาก รวมถึงขณะนี้ด้วย) ก็คือวิชาวิทยาศาสตร์

เรามีความเชื่อสืบๆ กันมา จนกลายเป็นความยึดถือโดยไม่รู้ตัวว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียวเป็นความรู้ที่ถูกต้อง และวิธีหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีการอย่างเดียวที่จะนำไปสู่การรู้ถึงสัจธรรม ความรู้อย่างอื่นและวิธีการอย่างอื่น ที่ไม่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ เราถือว่าผิดหมด ถ้ากำหนดให้เรียนเนื้อหาวิชาเหล่านั้น เราถือว่าเป็นการยัดเยียด แล้วเราก็กำหนดให้นักเรียนเรียนเนื้อหาความรู้วิชาวิทยาศาสตร์ และวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ โดยไม่มีความรู้สึกระแวงแม้แต่น้อยว่า จะมีใครว่าการจัดให้เรียนอย่างนี้ เป็นการผูกขาดยัดเยียด ได้แต่มองว่า นี่แหละคือความจริงแท้ และวิธีการที่จะให้เข้าถึงความจริงแท้นั้น

แต่ครั้นมาถึงขณะนี้ ในวงการวิทยาศาสตร์เอง ได้มีการตระหนักรู้กันมากขึ้นว่า วิธีหาความรู้และมองความจริงแบบวิทยาศาสตร์อย่างที่ยอมรับกันมานั้น มีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เล่าเรียนกันมาก็ไม่ใช่เป็นความจริงแท้ วิทยาศาสตร์แผนใหม่ เริ่มมองความจริงและวิธีการหาความรู้ต่างออกไปจากที่เคยเชื่อและยึดถือกันมา พอมาถึงขั้นนี้ ก็เริ่มมีผู้ตั้งข้อกล่าวหาว่า การจัดหลักสูตรและการเรียนวิทยาศาสตร์เท่าที่ผ่านมานี้ เป็นการยัดเยียด หลักสูตรการศึกษาของอเมริกันถูกกล่าวหาว่า เป็นการยัดเยียดความรู้ และความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์ เป็นการปฏิบัติแบบผูกขาดยัดเยียด

พอถึงตอนนี้ ก็กลายเป็นการมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทางความคิด และการแสวงหาความจริง ซึ่งทำให้ต้องสงสัยว่า เราจะมองความจริงและใช้วิธีแสวงหาความจริงกันอย่างไรจึงจะถูกต้อง ทางสายกลางหรือความพอดีอยู่ที่ไหน คำตอบอย่างหนึ่งก็คือ ในด้านหนึ่ง เนื้อหาหรือข้อมูลอะไรที่ควรรู้ก็ต้องจัดให้ได้เรียนรู้ แต่พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่ง ก็ให้มีการศึกษาเนื้อหาหรือข้อมูลเหล่านั้นด้วยวิธีการแห่งปัญญา ตามหลักโยนิโสมนสิการ คือเปิดโอกาสให้ใช้ความคิดพิจารณา มิใช่สักแต่ว่าให้เชื่อตามๆ ไป

1เช่น Christina Hoff Sommers, "Ethics Without Virtue: Moral Education in America," The American Scholar, Vol. 53, No.3, Summer, 1984.
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง