ต่อไปขั้นที่ ๒ คือระดับปัญญา เป็นขั้นที่รู้ที่ถึงตัวจริงของโพชฌงค์ ทีนี้เราก็มาเรียนโพชฌงค์ที่เป็นหลักธรรมกันหน่อย อาจจะรู้สึกว่ายากบ้าง แต่ถ้าเรารู้เข้าใจจริงแล้วเอาไปใช้ปฏิบัติจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โพชฌงค์นี้ท่านย้ำไว้ว่าสำคัญนัก
“โพชฌงค์” แปลว่า ธรรมที่เป็นองค์ของการตรัสรู้ พูดขยายความว่า ธรรมคือข้อปฏิบัติที่เป็นองค์ประกอบของการตื่นรู้ จนถึงตรัสรู้ ทำไมจึงแปลอย่างนั้น
“โพชฌงค์” นี่มาจากคำว่า “โพธิ” นั่นเอง ในภาษาบาลี มีวิธีทางไวยากรณ์ “โพธิ” คือ การตรัสรู้นี้ เวลาไปรวมกับ “อังคะ” กลายเป็น “โพชฌ” จึงเป็น “โพชฌังคะ” ภาษาไทยเรียกว่า “โพชฌงค์” ที่จริงก็คือ โพธินั่นแหละ แล้วก็ “อังคะ” คือองค์ ได้แก่องค์ประกอบ จึงเป็นองค์ประกอบของการตรัสรู้
องค์ประกอบของการตรัสรู้ ก็หมายความว่า ธรรมแต่ละข้อในจำนวนนี้ เป็นองค์ประกอบที่มารวมกันเข้า ทำให้เกิดการตรัสรู้ ที่ว่าเป็นองค์คือองค์ประกอบนี้ ก็หมายความว่า ต้องพร้อมต้องครบ จึงจะตรัสรู้ เพราะฉะนั้น ธรรมชุดนี้จึงมีคำที่ท่านอธิบายไว้พิเศษหน่อยว่า องค์ประกอบเหล่านี้ต้องมาครบพร้อมกันเป็นธรรมสามัคคี ซึ่งจะไม่ค่อยได้ยินที่อื่น
ธรรมชุดโพชฌงค์นี้มีคำว่า “ธรรมสามัคคี” หมายความว่าเป็นการประชุมหรือรวมพร้อมของบรรดาธรรมที่เป็นองค์ประกอบ ก็หมายความว่า โพชฌงค์นี่เป็นระบบองค์รวม โพชฌงค์นี้มี ๗ ข้อ ก็คือต้องพร้อมทั้ง ๗ ข้อ แต่ละข้อเป็นองค์หนึ่งๆ คือเป็นองค์ประกอบอันหนึ่งๆ มาครบพร้อมทั้ง ๗ ข้อก็ตรัสรู้ หรือสำหรับคนที่ปฏิบัติเบื้องต้น ก็เรียกง่ายๆ ว่าตื่นรู้
ฉะนั้น อย่าลืมว่าธรรมชุดนี้พิเศษ จึงมีคำว่า “องค์” แปลว่าองค์ประกอบ และต้องมีสามัคคี คือพร้อมกันครบ เราพูดว่าคนพร้อมเพรียงกัน นี่ธรรมก็ต้องพร้อมเพรียง คือต้องมีสามัคคี
ทีนี้ มีอะไรบ้างล่ะ โพชฌงค์ คือ โพธิ+องค์ องค์ คือธรรมที่เป็นองค์ประกอบของโพธินั้น มี ๗ ข้อ ว่าให้ฟังผ่านๆ ก่อน ได้แก่ สติ ธัมมวิจัย วิริยะ (ความเพียร) ปีติ ปัสสัทธิ (ความผ่อนคลาย) สมาธิ และอุเบกขา นี่ ๗ ข้อนะ
ทีนี้ก็มาเรียนความหมาย ให้รู้ว่า ทำไมธรรม ๗ ข้อนี้จึงสำคัญนัก ใครมีพร้อมก็ทำให้เกิดความตื่นรู้ จนถึงตรัสรู้ สำเร็จถึงจุดหมาย ว่าไปทีละข้อ ฟังกันแบบผ่านๆ สบายๆ
๑. สติ ธรรมองค์นี้ได้ยินกันเสมอ สติเป็นตัวตั้งต้น ให้สังเกตไว้เลย พอจะเริ่มต้น ต้องมีสติก่อน ถ้าไม่มีสติ ก็เริ่มไม่ได้ สติเป็นตัวสำคัญที่ตั้งหลักให้ ถ้าตั้งตัวตั้งหลักไม่ได้ ก็ทำอะไรไม่ได้ สติแปลว่าอะไร แปลง่ายๆ ว่า ระลึก นึกไว้ จำได้ ไม่หลงลืม ไม่เลือนลอย ไม่ละเลย นี้แปลแบบง่ายๆ
ทีนี้ ลักษณะของสติเป็นอย่างไร คือ ตื่นตัว ตั้งหลักได้ ใจอยู่กับตัว ไม่ประมาท
ขออธิบายนิดหน่อย ตื่นตัว เป็นอย่างไร ตื่นตัวคือ ทัน-พร้อม มีอะไรเกิดขึ้น ก็ทัน ทันเหตุ ทันการณ์ ทันข้อมูล ทันเรื่องราว ทันความรู้ และพร้อมที่จะปฏิบัติ พร้อมที่จะลงมือทำ นี่ละสติเป็นตัวเริ่มต้น ถ้าไม่มีสตินี้อยู่ ก็ทำอะไรไม่ได้
ตรงนี้ต้องอธิบายประกอบนิดหน่อย ตื่นตัวนี่ ตรงข้ามกับตื่นตูม มีสติ คือตื่นตัว ไม่ตื่นตูม ตื่นตูมนั้นตรงข้าม ตื่นตัวคือมีสติ แต่ตื่นตูมคือเสียสติ ตื่นตูมคือตกใจหวาดกลัวจนกระทั่งสติหายไป เลยทำอะไรต่ออะไรผิดพลาดหมด เหมือนอย่างกระต่ายตื่นตูม คือมันนอนหลับอยู่ ได้ยินเสียงลูกตาลตกลงมาบนใบตาลแห้ง ดังสนั่นหวั่นไหว นึกว่าโลกแตก ก็เลยกระโจนไป ร้องตะโกนว่าโลกแตกๆ สัตว์ทั้งหลายที่ไม่รู้เรื่อง ก็วิ่งตามกันไปเป็นฝูง เอาละ เรื่องกระต่ายตื่นตูมก็ไปฟังเอาเอง ก็เป็นอันว่าไม่ตื่นตูม มีสติคือตื่นตัว ตื่นตัวก็พร้อม ก็ทันอย่างที่ว่าแล้ว
ทีนี้ต่อไป ตั้งหลักได้ พอมีสตินี่ คนตั้งหลักได้ทันที พอตั้งหลักได้ จึงทำอะไรๆ ได้ คนที่ตั้งหลักไม่ได้นี่ทำอะไรก็พลาดหมด พอตั้งหลักได้ ก็ทำได้เต็มที่ ฉะนั้น ตั้งหลักได้จึงสำคัญมาก
ต่อไปก็ ใจอยู่กับตัว คนที่มีสติ ใจอยู่กับตัว ก็ไม่ใจหาย ไม่ใจลอย ไม่ขวัญหนี คนใจลอย ใจหาย ขวัญหนี ก็คือไม่มีสติ ต้องเรียกสติกลับมา ให้ใจอยู่กับตัว ไม่ใจหาย ไม่ใจลอย
ถ้าใจอยู่กับตัว พอมีอะไรเกี่ยวข้อง มีอะไรที่ตัวจะต้องเกี่ยว ไม่ว่ามันจะเกี่ยวกับตัว หรือตัวควรจะเกี่ยว ที่ตัวจะต้องเอาใจใส่ ใจก็ไปถึงเลย ใจไปถึงสิ่งนั้นด้วยสตินึกถึงนั่นเอง สตินึกถึงสิ่งนั้น ก็คือใจถึงกันกับสิ่งนั้น ใจนึกที่จะไปทำไปจัดการกับสิ่งนั้น คือจะเริ่มดำเนินการ ก็ไปจับเอามา เพื่อจะได้จัดการ
ทีนี้ต่อไป เมื่อใจอยู่กับตัวแล้ว ก็ไม่ประมาท ไม่ประมาท ก็คือมีสติอยู่ คนมีสติอยู่ ไม่ประมาท ก็เหมือนกับคนเฝ้ายาม ยามนั้นมองดูอยู่ พร้อมอยู่ตลอดเวลา ลองนึกดูสิ คนอยู่ยามนั้นใจต้องตื่นอยู่ตลอดเวลา ใช่ไหม แล้วก็มองดูอยู่ เออ... คนนี้ร้ายนี่ น่าสงสัย กันไว้ก่อน ไม่ให้เข้า ถ้ารู้แน่ว่าร้าย ก็กั้นหรือเอาออกไปเลย แต่ถ้าเป็นคนดี สิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ต้องการจะใช้ประโยชน์ ก็รับเข้ามา นี่คือหน้าที่ของยาม เป็นหน้าที่ที่มีลักษณะของความไม่ประมาท แต่ไม่ประมาทนั้นยังอีกเยอะ ในความหมายว่าไม่ละเลย ไม่ปล่อยปละละทิ้ง มีอะไรที่ควรจะทำ ก็รีบทำ
ที่ว่ามาเหล่านี้ คือลักษณะของสติ สตินี่สำคัญมาก เอาแค่นี้ก็พอ ถือว่าเข้าใจรู้ความหมายของสติแล้ว
สตินี้ทำงานที่สำคัญ คือนำเสนอหรือส่งเรื่องให้ปัญญา พอสติมาเริ่มต้นเริ่มเรื่องแล้ว ก็เรียกปัญญาให้มาดูมาพิจารณา ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับว่า สตินี่เป็นมือ ปัญญาเป็นตา ตาคือปัญญาจะมองดูอะไร ถ้าสิ่งนั้นไม่มาอยู่ต่อหน้า ไม่อยู่ตรงตา หรือลอยไปลอยมา ตาจะดูอย่างไรก็ไม่ชัด ก็ต้องเอามือคือสติไปจับเอาสิ่งนั้นมาถือไว้ให้ตรงสายตา วางไว้ข้างหน้าหรือในที่ซึ่งเหมาะที่สุดที่ตาคือปัญญาจะเห็นได้ชัด จะตรวจตราพิจารณาได้เต็มที่
นี่ละที่ว่าสติเป็นตัวเริ่มต้นให้ แล้วตัวสำคัญที่จะทำงานกับสติ ก็คือปัญญา ปัญญาในทีนี้มีชื่อพิเศษเรียกว่า ธัมมวิจัย
๒. ธัมมวิจัย คือ วิจัยธรรม วิจัยเรื่องราวต่างๆ จะเรียกว่า ธัมมวิจยะ หรือธรรมวิจัย ก็ได้ “ธรรม” นี่แปลง่ายๆ ว่า สิ่ง ก็ได้ (เช่นในคำว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีไม่เป็นอัตตา) เมื่อมีเรื่องราว มีข้อมูลอะไรๆ สติก็จับมาส่งให้ปัญญา ปัญญาก็วิจัย
ปัญญาในที่นี้ เรียกว่า “วิจัย” วิจัย คือ เฟ้น โบราณแปลว่า เฟ้น หมายความว่า เลือกคัด จัดแยก ตรวจสอบ สืบค้น สาวหาเหตุปัจจัย เฟ้นให้ได้ความจริง เฟ้นให้ได้ตัวจริง เฟ้นให้ได้วิธีปฏิบัติที่จะทำการแก้ปัญหาได้สำเร็จ หรือลุล่วงถึงจุดหมายได้เสร็จสิ้น
ปัญญาชื่อว่าวิจัยนี้สำคัญนัก ต้องเข้าใจไว้นะ วิจัยที่สำคัญนี้ ท่านใช้มาก่อน เดี๋ยวนี้เราก็เอามาใช้กันโดยถือว่างานวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ แต่ท่านใช้มาดั้งเดิมในหลักโพชฌงค์นี้ เรียกชื่อเต็มว่า ธัมมวิจัย
พอปัญญาทำงานวิจัย ก็ก้าวหน้าไปในการที่จะรู้เข้าใจเรื่องราว เข้าถึงตัวจริงของเรื่อง ได้ประเด็นที่แท้ มองเห็นช่องทางวิธีปฏิบัติที่จะเข้าถึงความจริง ตลอดจนได้วิธีแก้ปัญหา วิธีจัดการดำเนินการให้ถึงจุดหมาย ธัมมวิจัย คือวิจัยธรรม ทำงานนี้ทั้งหมด