ข้อคิดชีวิตทวนกระแส

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ชีวิตทวนกระแส ต้องมีความสุขและอิสรภาพเป็นฐาน

คนที่ทำจิตใจตัวเองให้มีความสุขได้ มีความสุขที่ท่านเรียกว่าทางจิตและทางปัญญา สามารถมีความสงบในใจของตนเองและมีความสุขได้ อย่างที่เรียกว่ามีสมาธิ หรือมีความสุขจากการรู้เท่าทันเข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย เป็นความสุขทางปัญญาเนื่องจากเห็นแจ้งความจริง เป็นความปลอดโปร่งโล่ง ไม่มีความติดขัดบีบคั้นใจ อันนี้เป็นความสุขภายในของบุคคล ถ้าคนมีความสุขประเภทนี้เป็นรากฐานอยู่ภายในตนเองแล้ว การหาความสุขทางวัตถุมาบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะมีขอบเขต ท่านเรียกว่า รู้จักประมาณ

ถ้าเรามีความสุขข้างในแล้ว ความสุขที่ได้ข้างนอกก็เป็นความสุขที่เติมเข้ามา เป็นของแถม หรือกำไรพิเศษ และอิ่มอยู่เสมอ แต่ถ้าเราไม่มีความสุขในจิตใจ มีใจเร่าร้อน กระวนกระวาย หรือมีความเบื่อ มีความเครียด มีปัญหาอยู่ภายในใจของตนเองแล้ว พอหาวัตถุมาบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะต้องมีปัญหาต่อไปอีกคือ หนึ่ง ไม่สามารถมีความสุขได้เต็มที่ สอง เมื่อทำโดยมีปมปัญหาในใจ ก็ทำอย่างไม่พอดี ทั้งทำให้เกิดปัญหาวุ่นวาย และตัวเองก็ไม่ได้ความสุขจากภายนอกเต็มที่ด้วย และประการสำคัญก็คือ พอทำอะไรออกมาเพื่อหาความสุขเหล่านั้น ก็ทำให้เกิดการปะทะ กระทบซึ่งกันและกัน ก็เลยกลายเป็นปัญหาสังคมขยายบานปลายออกไป

เป็นอันว่า ประการที่หนึ่ง มนุษย์ไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอกอย่างเดียว เราสามารถมีอิสรภาพของตนเองที่จะมีความสุขภายใน ประการที่สอง ความสุขภายในทางจิตใจและทางปัญญา กลับมาเป็นฐานที่จะทำให้ความสุขภายนอกที่มนุษย์แสวงหานั้นเป็นความสุขที่เต็มอิ่มในส่วนชีวิตของตน และไม่เกิดโทษในการเบียดเบียนกันในสังคมด้วย พระพุทธเจ้าก็จึงสอนให้มนุษย์มีดุลยภาพในเรื่องของความสุข

ความสุขทางด้านวัตถุที่บำรุงบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ด้วยการเสพหรือบริโภคนั้น ท่านไม่ได้ปฏิเสธ ท่านยอมรับว่ามนุษย์ต้องอาศัยวัตถุภายนอก แต่พร้อมกันนั้นมนุษย์ก็จะต้องมีความสุขทางจิตใจและทางปัญญาเป็นฐาน การขึ้นต่อวัตถุหรือสิ่งภายนอกจะได้น้อยลง มนุษย์จะได้อยู่อย่างมีอิสรภาพมากขึ้น พอมนุษย์มีความสุขในตนเองได้ เขาก็ไม่ต้องอาศัยวัตถุภายนอกในการที่จะมีความสุขเสมอไป ทำให้ไม่เป็นทาสของวัตถุภายนอก จึงเป็นเรื่องของมนุษย์ที่จะต้องพัฒนาตนเอง การที่จะมีความสุขซึ่งเป็นรากฐานทางจิตใจและทางปัญญาได้ มนุษย์จะต้องพัฒนาตนเองขึ้นไป เมื่อพัฒนาตนเองขึ้นไปแล้ว เขาก็จะมีดุลยภาพในชีวิต มีความสุขที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์ เพราะครบทุกด้านหรือครบทุกระดับมาดึงมาดุลและเสริมเติมแก่กัน

ในชีวิตของมนุษย์ ความสุขเป็นเรื่องสำคัญ เราจะต้องยอมรับความจริง ถ้าเราจะมีความคิดและชีวิตที่ทวนกระแส เราจะต้องให้ชีวิตที่ทวนกระแสของเรามีความสุขด้วย มิฉะนั้นแล้วการทวนกระแสนั้นจะไม่ยั่งยืน ชีวิตที่ไม่มีความสุขนั้นไม่ยั่งยืน เราอาจจะทนทำไปด้วยแรงพลุ่งหรือแรงกระทุ้งผลักดัน เช่นความยึดมั่นในอุดมการณ์ หรือความปลุกเร้าอะไรต่างๆ การทำด้วยแรงปลุกเร้านี้ไม่ยั่งยืน มันจะอยู่ได้เพียงระยะหนึ่งถ้าไม่มีความสุขเป็นรากฐาน

ชีวิตที่ดีงามยั่งยืนจะต้องมีความสุขอยู่ด้วย อย่างที่พระท่านเรียกว่าไร้ทุกข์ ซึ่งก็เป็นความหมายที่สมบูรณ์ของคำว่า สุขนั่นเอง นอกจากจะดีงามแล้ว ก็มีความเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อสิ่งภายนอกเป็นไทแก่ตัวเอง และมีความสุขด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการมีปัญญาที่จะมองเห็นความจริง และคุณค่าของสิ่งทั้งหลายมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นในการที่มนุษย์จะพัฒนาขึ้นมาให้มีความสมบูรณ์นั้น องค์ประกอบที่สำคัญก็คือการพัฒนาปัญญาของตนเอง ฉะนั้นจุดเริ่มต้นหรือฐานของเรา จึงได้แก่การที่ต้องมีปัญญา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.