ข้อคิดชีวิตทวนกระแส

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ชีวิตแบบพุทธ เป็นแบบอย่างของชีวิตทวนกระแส

ในทางพระพุทธศาสนา การปฏิบัติธรรมก็เป็นเรื่องทวนกระแสอยู่ไม่น้อย การดำเนินชีวิตตามแบบพุทธนั้นเป็นชีวิตที่ทวนกระแส พระพุทธเจ้าตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นทวนกระแสสังคมสมัยนั้น ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าไม่ถูกต้อง อย่างที่เราเห็นชัดๆ เช่น กระแสความเชื่อและการปฏิบัติในเรื่องวรรณะ การยึดถือชาติกำเนิดเป็นตัวกำหนดถึงความสูงต่ำของมนุษย์ กระแสการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการบวงสรวงอ้อนวอนเทพเจ้าให้ดลบันดาลอะไรต่างๆ หรือการหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการบูชายัญและพิธีกรรมต่างๆ ที่ประดิษฐ์ปรุงแต่งขึ้นมาเพื่ออ้อนวอนเทพเจ้า สิ่งเหล่านี้พระพุทธเจ้าได้ประสบแต่พระองค์ไม่เห็นด้วย จึงทรงมาแนะนำสั่งสอนประชาชนใหม่ และได้ตั้งคณะสงฆ์ขึ้นทำการชักชวนประชาชนให้ดำเนินชีวิต ซึ่งถือได้ว่าทวนกระแสในสมัยนั้น

การเป็นพระเป็นการทวนกระแสโดยภาวะเลยทีเดียว อย่างเช่นคนในโลกทั่วไปตกอยู่ในกระแสที่ท่านเรียกว่ากาม คือความหลงละเลิงเพลิดเพลินติดใจอยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และสิ่งที่ทำให้ชื่นชม สบายใจถูกใจ มุ่งแต่จะเสพรสของอารมณ์ที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น คนเรามุ่งดำเนินชีวิต ทำกิจกรรมต่างๆ ทำความเพียรพยายามต่างๆ เพื่อหาสิ่งที่จะมาปรนเปรอบำรุงบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ของตน พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าการกระทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้มนุษย์มัวเมาและเป็นทาสของวัตถุ ไม่พัฒนาตนเอง และขัดขวางปิดบังการที่จะเข้าถึงสิ่งที่ดีงามที่สูงขึ้นไป เมื่อมัวแต่ต้องหาสิ่งต่างๆ ที่เป็นวัตถุภายนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น มาบำเรอตา หู จมูก ลิ้นของตน เราจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อได้รับสิ่งเหล่านี้ ความสุขของเราขึ้นต่อสิ่งเหล่านี้ เราก็ตกเป็นทาสของวัตถุ ชีวิตของคนในแง่ส่วนตัวก็ไม่เป็นอิสระ และในแง่สังคม เมื่อแต่ละคนมุ่งแต่หาสิ่งที่มาบำเรอตา หู จมูก ลิ้นของตัวเองให้มากที่สุด เพื่อจะมีความสุขให้เต็มที่ที่สุด ก็ทำให้ต้องเบียดเบียนกัน เพราะวัตถุมีจำกัด การเบียดเบียนแย่งชิงกัน ครอบงำกัน ข่มเหงกันก็เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม วัตถุก็มีความจำเป็น โดยเฉพาะในแง่ปัจจัย ๔ สำหรับเลี้ยงชีวิต แต่เราต้องแยกให้ได้ว่า ในส่วนที่เป็นปัจจัยของชีวิตนั้นแค่ไหน และในส่วนที่เป็นเครื่องบำรุงบำเรอนั้นแค่ไหน มนุษย์เราจะมีทางมีความสุขหรือพบสิ่งที่ดีงามนอกเหนือจากนั้นไหม พระพุทธเจ้าตรัสว่า มนุษย์สามารถหาความสุขที่ประณีตกว่าการบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ความสุขแบบนั้น ท่านเรียกว่าเป็นความสุขที่ประณีตขึ้น ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือเป็นอิสระ มนุษย์มีความสุขได้โดยลำพังตัวเองในใจและไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอก หมายความว่าแม้วัตถุภายนอกนั้นไม่มีอยู่ เราก็มีความสุขได้ ข้อสำคัญก็คือมันเป็นความสุขพื้นฐานที่จะทำให้การแสวงหา หรือการเสพความสุขภายนอกเป็นไปอย่างพอดี อยู่ในขอบเขตที่สมดุล ทำให้มีความสุขแท้จริง และไม่เบียดเบียนกันในทางสังคม

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.