สุขนี้มิไกล: ใครปัญญาไวหาได้ทุกสถาน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เป็นอยู่ให้ดี ชีวิตมีแต่ได้ทุกวัน

ทีนี้ในการที่จะเตือนใจอยู่เสมอด้วยมรณสตินั้น ก็มีอุบายวิธีหลายอย่าง เช่นเราอาจจะนึกถึงพระพุทธพจน์ ที่ตรัสในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเตือนใจเราเกี่ยวกับเวลา

วันนี้อาตมาได้พูดมาใช้เวลามากแล้ว ก็อยากจะเอาคติเกี่ยวกับกาลเวลามาฝากไว้สักข้อหนึ่ง เป็นพุทธภาษิตบทเดียว ถ้าท่านปฏิบัติได้แล้วชีวิตจะเจริญงอกงามแน่นอน พุทธภาษิตบทนี้สอนให้มองเห็นคุณค่าของกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง แล้วดำเนินชีวิตให้เป็นประโยชน์ ท่านบอกไว้ว่า

เวลาแต่ละวัน อย่าให้ผ่านไปเปล่า
จะมากหรือน้อย ก็ต้องให้ได้อะไรบ้าง

ว่าเป็นภาษาบาลีก็ได้ บางท่านก็ชอบจำเป็นภาษาบาลี ท่านว่า

อโมฆํ ทิวสํ กยิรา อปฺเปน พหุเกน วา

แปลซ้ำอีกทีหนึ่งก็ได้

เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า ไม่มากก็น้อยต้องให้ได้อะไรบ้าง

ถ้าใครพิจารณาตนเองอย่างนี้ทุกวันและทำได้ตามพุทธภาษิตนี้ รับรองว่าต้องมีความเจริญงอกงาม ชีวิตส่วนตัวก็เจริญก้าวหน้า ชีวิตด้านการงานก็เจริญก้าวหน้า สังคมก็จะพัฒนาแน่นอน

เพราะฉะนั้น ในการมาร่วมพิธีเกี่ยวกับงานศพและความตายนี้ เรามาเอาคติไปใช้เป็นประโยชน์ให้ได้สักอย่างหนึ่ง ตามวิธีที่ว่ามาแล้วคือ โยงความตายไปหาความเปลี่ยนแปลง แล้วความเปลี่ยนแปลงก็ทำให้นึกถึงกาลเวลา กาลเวลาก็เตือนใจเราให้รู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์และทำชีวิตนี้ให้มีค่า แล้วเราก็สำรวจตัวเองทุกวัน ด้วยพุทธภาษิตที่บอกเมื่อกี้ว่า เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า จะมากหรือน้อยต้องให้ได้อะไรบ้าง

ก่อนจะนอนสำรวจดูซิว่า วันนี้เราได้อะไรบ้างไหม ไม่มากก็น้อย หลายคนก็จะนึกในแง่เงินทองว่า เอ... วันนี้ผ่านไปเราได้กี่บาท เราได้ ๑๐๐ บาท เราได้ ๑,๐๐๐ บาท เราได้ ๑๐,๐๐๐ บาท วันนี้ดีใจได้แล้ว นี้ก็ด้านหนึ่ง

บางคนก็นึกเน้นไปในแง่การงานว่า วันนี้เราทำงานก้าวหน้าไปบ้างไหม งานสำเร็จบ้างไหม งานชิ้นนี้ชิ้นนั้นเดินหน้าไปในแง่นี้แง่นั้นหรือเปล่า อันนี้ก็มีสาระมากยิ่งขึ้น บางทีงานกับเงินก็โยงเข้าด้วยกัน ได้ทั้งงานได้ทั้งเงิน

ทีนี้ บางคนก็อาจจะนึกกว้างต่อไปอีกว่า วันนี้เราได้ทำประโยชน์ให้แก่ใครบ้างหรือไม่ ตั้งแต่คนในครอบครัวเป็นต้นไป ถ้าเป็นลูกก็นึกว่าได้ทำประโยชน์ให้คุณพ่อคุณแม่หรือเปล่า ถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่ก็แน่นอนเลย ที่จะทำประโยชน์ให้แก่คุณลูก เพราะเป็นหน้าที่อยู่แล้ว อันนี้เป็นธรรมดาทุกวันคงไม่ผ่านไปเปล่า

แต่ที่ว่าทำประโยชน์ให้แก่ลูกนั้น นึกดูให้ดี อาจจะต้องย้อนไปพิจารณาอีกว่า เป็นประโยชน์ที่เป็นแก่นสารหรือเปล่า มีสาระแท้จริงไหม อย่าประมาทนะ อย่าไปนึกว่าเราให้แก่ลูกทุกวันนี้ดีแล้ว ลูกไปโรงเรียนก็ให้เงินแล้ว ยี่สิบบาท สามสิบบาท บางคนรวยก็ให้มาก แต่การให้นั้นกลายเป็นเสียหรือเปล่า นึกให้ดี เพราะบางทีเป็นการให้ที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่กลายเป็นโทษ คือที่ว่าให้แก่ลูกนั้นกลายเป็นทำให้ลูกเสีย

เพราะฉะนั้นต้องตรวจสอบให้เป็นการได้ประโยชน์ที่แท้จริงว่า ที่ว่าทำประโยชน์ให้แก่ลูกนั้นลูกของเราได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า เขามีการพัฒนาขึ้นบ้างไหม ทางด้านกาย ด้านสังคม ด้านจิตใจ ด้านปัญญา สำรวจให้หมด หาทางสำรวจให้รอบด้าน ให้รอบคอบ เรารักลูกของเรา แต่เราให้เขาจริงหรือเปล่า เราให้ความเจริญแก่เขา หรือให้ความเสื่อมแก่เขา พ่อแม่บางคนรักลูกมาก ให้แก่ลูกมากมาย แต่ปรากฏว่าเป็นการให้ความเสื่อม ขอให้พิจารณาให้ดีว่าจริงหรือไม่ อันนี้จะไม่อธิบาย พูดไว้เพียงแค่ขอให้เราพิจารณาตรวจตราให้รอบคอบว่า เราให้ประโยชน์ที่เป็นแก่นสารแก่ชีวิตของเขา ที่จะเป็นฐานเป็นปัจจัยของการพัฒนาความเจริญงอกงามในชีวิตระยะยาวของเขาหรือไม่

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.