เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สรุป

ได้พูดเลยเวลาไปแล้ว แต่ยังมีข้อสำคัญๆ ที่ค้างอยู่อีก

สิ่งหนึ่งที่ขอย้ำไว้ ก็คือ ควรจะชัดเจนว่า ผลได้ที่ต้องการในทางเศรษฐศาสตร์นี้ ไม่ใช่จุดหมายในตัวของมันเอง แต่เป็น means คือมรรคา ส่วน end คือจุดหมายของมัน ก็คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการพัฒนามนุษย์

ฉะนั้น เศรษฐศาสตร์ในทัศนะของพระพุทธศาสนาจึงถือว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลของมัน เป็นฐานหรือเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยสนับสนุนการมีชีวิตที่ดีงาม และการพัฒนาตน พัฒนาสังคมของมนุษย์

ขอก้าวเลยไปสู่การสรุป เรื่องที่อาตมาเล่าให้ฟังตอนต้นว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดคนเข็ญใจนั้น มีแง่พิจารณาหลายเรื่องในทางเศรษฐกิจ เช่นว่า -

พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดคนเข็ญใจ ลงทุนเดินทาง ๔๘๐ กิโลเมตร เป็นการคุ้มค่าไหมในทางเศรษฐกิจ ที่จะไปโปรดคนเข็ญใจคนหนึ่ง ข้อนี้นักเศรษฐกิจ ก็อาจจะพิจารณาว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม ดังนี้ เป็นต้น แต่ในที่นี้เราจะไม่วิเคราะห์ เพียงขอพูดฝากไว้นิดเดียว

ประเด็นสำคัญก็คือ เป็นอันเห็นได้แล้วว่า พระพุทธศาสนาถือว่า เศรษฐกิจมีความสำคัญมาก ไม่เฉพาะในแง่ที่ว่าสัมมาอาชีวะเป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น แต่จากเรื่องนี้เราจะเห็นว่า ถ้าท้องหิว คนจะฟังธรรมไม่รู้เรื่อง ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงให้เขากินข้าวเสียก่อน แสดงว่าเศรษฐกิจมีความสำคัญมาก

แต่ในทางกลับกัน ถ้าโจรได้อาหารอย่างดี บริโภคอิ่มแล้ว ร่างกายแข็งแรง ก็เอาร่างกายนั้นไปใช้ทำการร้าย ปล้นฆ่า ทำลายได้มาก และรุนแรง

เพราะฉะนั้น การได้บริโภคหรือความพรั่งพร้อมในทางเศรษฐกิจจึงไม่ใช่จุดหมายในตัว แต่มันควรเป็นฐานสำหรับการพัฒนามนุษย์ เป็นฐานที่จะให้มนุษย์ได้คุณภาพชีวิต ได้สิ่งที่มีคุณค่าสูงยิ่งขึ้นไป เช่น นายคนเข็ญใจนี้ได้กินอาหารแล้ว เขาก็ได้ฟังธรรมต่อไปด้วย

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ การสร้างความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจจึงเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องทำ แต่เราจะต้องให้ความเจริญก้าวหน้าพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจนั้นสัมพันธ์กับจุดหมาย โดยให้เป็นไปเพื่อจุดหมาย คือให้เกิดคุณภาพชีวิต ซึ่งทำให้มนุษย์พร้อมที่จะสร้างสรรค์หรือปฏิบัติเพื่อชีวิตที่ดีงาม

จึงเรียกว่า เศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจเพื่อคุณภาพชีวิต

ในพระพุทธศาสนามีหลักอรรถ หรืออัตถะ ๓ แปลอย่างง่ายๆ ว่า ประโยชน์เบื้องต้น ประโยชน์ท่ามกลาง และประโยชน์สูงสุด หรือจุดหมายเบื้องต้น จุดหมายท่ามกลาง และจุดหมายสูงสุด

จุดหมายเบื้องต้นคือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ แปลว่า ประโยชน์ทันตาเห็น ซึ่งมีความมั่นคงเพียงพอทางเศรษฐกิจรวมอยู่เป็นข้อสำคัญ

แต่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือจุดหมายทางเศรษฐกิจนี้ จะต้องประสานและเกื้อกูลต่อจุดหมายอีกสองอย่างที่สูงขึ้นไป คือ สัมปรายิกัตถะ อันเป็นประโยชน์ในทางจิตใจ ในทางคุณธรรม ในทางคุณภาพชีวิต และปรมัตถ์ คือจุดหมายสูงสุด ได้แก่ความเป็นอิสระของมวลมนุษย์ที่ภายในชีวิตจิตใจของแต่ละคน

ในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลอย่างนี้ เศรษฐศาสตร์จะต้องมองตนเองในฐานะเป็นองค์ประกอบร่วม ในบรรดาวิทยาการและองค์ประกอบต่างๆ ที่อิงอาศัยและช่วยเสริมกันและกัน ในการแก้ปัญหาของมนุษย์

เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ สิ่งสำคัญที่เศรษฐศาสตร์จะต้องทำ ก็คือ การหาจุดสัมพันธ์ของตนกับวิชาการแขนงอื่นๆ ว่าจะร่วมมือกับเขาที่จุดไหนในวิชาการนั้นๆ จะส่งต่อรับช่วงงานกันอย่างไร

ตัวอย่างเช่น ในเรื่องการศึกษา เศรษฐศาสตร์จะสัมพันธ์หรือร่วมมือกับการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ที่จุดไหน เช่นว่า การศึกษาอาจจะสอนให้มนุษย์รู้จักคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม รู้จักคิดรู้จักพิจารณาว่า อะไรเป็นคุณภาพชีวิต อะไรไม่เป็นคุณภาพชีวิต แล้วก็มาช่วยกัน ร่วมมือกับเศรษฐศาสตร์ ในการที่จะพัฒนามนุษย์ขึ้นไป

ประการสุดท้าย กิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น เป็นกิจกรรมที่ครองเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของมนุษย์ เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของมนุษย์นั้นใช้ไปในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ถ้าจะให้เศรษฐศาสตร์มีคุณค่าอย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์ ก็จะต้องให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตก็ดี การทำงานก็ดี การบริโภคก็ดี การแจกจ่ายก็ดี เป็นกิจกรรมในการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต และพัฒนาศักยภาพเพื่อชีวิตที่ดีงาม

เราสามารถทำให้กิจกรรมในทางเศรษฐกิจทุกอย่าง เป็นกิจกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ตลอดเวลา และนี่เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐศาสตร์มีคุณค่าที่แท้จริงในการที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์ คือ ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่าง เป็นกิจกรรมในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ไปด้วยพร้อมกัน

เมื่อว่าให้ถูกแท้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปฏิบัติอย่างถูกต้อง ย่อมเป็นกิจกรรมที่เป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาศักยภาพอยู่แล้วในตัว อันนี้ถือว่าเป็นสาระสำคัญของเรื่องเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ที่พูดมาเฉพาะหัวข้อใหญ่ใจความบางเรื่อง

อาตมภาพได้แสดงปาฐกถาธรรมมา ก็พอสมควรแก่เวลา ขอให้งานที่ร่วมกันจัดครั้งนี้ ซึ่งแสดงถึงน้ำใจที่มีคุณธรรม คือ ความกตัญญูกตเวทีและความสามัคคี เป็นต้น จงเป็นเครื่องชูกำลังใจให้ทุกท่านมีความพรั่งพร้อมในการที่จะบำเพ็ญกิจหน้าที่ เพื่อประโยชน์สุข ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม สืบต่อไปชั่วกาลนาน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.