เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ลักษณะสำคัญ
ของ
เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ

๑. เศรษฐศาสตร์มัชฌิมา: การได้คุณภาพชีวิต

เมื่อมีความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ก็จะขอชี้ถึงลักษณะสำคัญของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ กล่าวคือ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธนี้มีลักษณะเป็นสายกลาง อาจจะเรียกว่า เศรษฐศาสตร์สายกลาง หรือเศรษฐศาสตร์มัชฌิมา เพราะว่าระบบชีวิตของพุทธศาสนาที่เรียกว่ามรรคนั้น ก็มีชื่ออยู่แล้วว่ามัชฌิมาปฏิปทา

องค์ของมรรคนั้นแต่ละข้อเป็นสัมมา เช่น สัมมาอาชีวะ การที่เป็นสัมมานั้นก็คือ โดยถูกต้อง โดยถูกต้องก็คือทำให้เกิดความพอดี ความเป็นมัชฌิมาหรือสายกลางนั้น ก็คือความพอดีนั่นเอง

ชูมาเกอร์บอกว่า เมื่อมีสัมมาอาชีวะ ก็ต้องมี Buddhist economics ต้องมีเศรษฐศาสตร์แบบพุทธ

ขอพูดต่อไปว่า เมื่อมีสัมมาอาชีวะ ก็ต้องมีมิจฉาอาชีวะด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อมีสัมมาอาชีวะ คือ พฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่ถูกต้อง ก็ต้องมีมิจฉาอาชีวะคือพฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดด้วย ทีนี้เศรษฐกิจถูกต้องที่เป็นสัมมาก็คือ เศรษฐกิจแบบทางสายกลาง หรือเศรษฐกิจแบบมัชฌิมาปฏิปทา

ในทางพุทธศาสนา มีข้อปฏิบัติที่เต็มไปด้วยเรื่องมัชฌิมา ความเป็นสายกลาง ความพอดี มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ รู้จักพอดี เต็มไปหมด ตลอดจนสมตา เทียบกับที่เราใช้คำว่า สมดุล หรือดุลยภาพ คำเหล่านี้เป็นคำสำคัญในทางพุทธศาสนา

ที่ว่าเป็นสายกลาง เป็นมัชฌิมา มีความพอดี พอประมาณ ได้ดุลยภาพ อันนี้เป็นอย่างไร ความพอดีหรือทางสายกลางอยู่ที่ไหน

ความพอดี คือ จุดที่คุณภาพชีวิตกับความพึงพอใจมาบรรจบกัน หมายความว่า เป็นการได้รับความพึงพอใจด้วยการตอบสนองความต้องการคุณภาพชีวิต

เมื่อถึงจุดนี้ ก็จึงโยงกลับไปหาการบริโภค ที่พูดมาเมื้อกี้นี้ว่า การบริโภคเป็นจุดยอดของเศรษฐกิจ

ขอทบทวนความหมายของการบริโภคอีกครั้งหนึ่ง

ถ้าเป็นการบริโภคในทางเศรษฐศาสตร์ ก็หมายถึงการใช้สินค้าและบริการบำบัดความต้องการ ซึ่งทำให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุด

แต่ในแบบพุทธ การบริโภคคือการใช้สินค้าและบริการบำบัดความต้องการ ซึ่งทำให้ได้รับความพึงพอใจโดยมีคุณภาพชีวิตเกิดขึ้น พอบริโภคปั๊บก็มองไปถึงคุณภาพชีวิต นั่นคือการบริโภคที่สำเร็จผล

ถ้าแค่บริโภคแล้ว อร่อย โก้ ได้รับความพึงพอใจ ก็จบ แค่นี้ไม่ถือว่าเป็นเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ แต่เป็นเศรษฐศาสตร์ที่ตัน แยกส่วน ไม่เข้าไปในระบบสัมพันธ์แห่งการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ไม่เชื่อมโยงกับวิทยาการอย่างอื่น เพราะบริโภคแบบคลุมเครือและเลื่อนลอย ไม่เข้าใจและไม่คำนึงถึงเหตุผลของการบริโภค ไม่รู้ความมุ่งหมายที่แท้ของการบริโภคนั้น

เมื่อบริโภคไป ได้รับความพึงพอใจหลงเพลินไป ก็ตัดตอนเอาว่าจบเท่านั้น

แต่ที่จริงพึงพอใจนั้น อาจจะเกิดโทษแก่ชีวิตก็ได้ อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าทำให้เสียคุณภาพชีวิต

หากพอใจโดยพ่วงกับการได้คุณภาพชีวิต ก็จะเป็นฐานสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ต่อไป ทำให้ชีวิตมีความดีงามยิ่งขึ้น

ฉะนั้น เศรษฐศาสตร์จึงไปสัมพันธ์กับการมีชีวิตของมนุษย์ทั้งหมด ที่จะเป็นอยู่อย่างดี เป็นชีวิตที่ดีงาม ทำสังคมให้มีสันติสุข

โดยนัยนี้ ถ้าเศรษฐศาสตร์จะมีความหมายอย่างแท้จริง เศรษฐศาสตร์จะต้องมีส่วนในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ในการทำให้มนุษย์มีความสามารถที่จะดำรงชีวิตที่ดีงาม มีความสุขร่วมกันได้ดียิ่งขึ้นด้วย มิฉะนั้นเศรษฐศาสตร์จะมีไว้เพื่ออะไร

จุดยอดของเศรษฐศาสตร์ที่ว่าเมื่อกี้อยู่ที่การบริโภค เศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธจึงปรากฏตัวในหลักที่เรียกว่า โภชเน มตฺตญฺญุตา คือความรู้จักประมาณในการบริโภค

หลักนี้มีกล่าวอยู่เสมอ แม้แต่ในโอวาทปาติโมกข์ที่เราเรียกว่าหัวใจพุทธศาสนาก็ระบุไว้ว่า มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ (ความรู้จักประมาณในอาหาร)

รู้จักประมาณ คือรู้จักพอดี ความพอประมาณคือความพอดี คำว่ามัตตัญญุตาคือความรู้จักพอดี เป็นหลักสำคัญกระจายอยู่ทั่วไป ในสัปปุริสธรรม ๗ ประการก็มี โดยเฉพาะในหลักการบริโภคจะมีมัตตัญญุตานี้เข้ามาทันที

ตัวกำหนดเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ก็คือมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ รู้จักพอดีในการบริโภค หมายถึงความพอดีที่ให้คุณภาพของชีวิตมาบรรจบกับความพึงพอใจ

ในคำสอนแสดงข้อปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะพระสงฆ์ เมื่อจะบริโภคอะไรก็ต้องพิจารณาเหตุผลหรือความมุ่งหมายของการบริโภค ตามสูตรที่ว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส ปิณฺฑปาตํ... พิจารณาทุกอย่างไม่ว่าจะบริโภคอะไร แต่เดี๋ยวนี้เราว่ากันเป็นมนต์ไปเลย ไม่รู้เรื่อง สวดจบเป็นใช้ได้

อันที่จริงนั้นท่านสอนว่า เวลาจะบริโภคอะไรก็ให้พิจารณา คือพิจารณาว่า เราพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงบริโภคอาหาร

เนว ทวาย น มทาย น มณฺฑนาย มิใช่เพื่อสนุกสนาน มิใช่เพื่อลุ่มหลง มัวเมา มิใช่เพื่อโก้ หรูหรา ฟุ่มเฟือย

ยาวเทว อิมสฺส กายสฺส แต่บริโภคเพื่อให้ร่างกายมั่นคงดำรงอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตดำเนินไป เพื่อกำจัดทุกขเวทนาเก่า เพื่อป้องกันมิให้มีทุกขเวทนาใหม่ เพื่อเกื้อหนุนชีวิตอันประเสริฐ เพื่อเกื้อกูลต่อชีวิตที่ดีงาม เพื่อความอยู่ผาสุก

เวลาบริโภคจะต้องเข้าใจความหมายอย่างนี้ และบริโภคให้ได้ผลตามความมุ่งหมาย แล้วความพอดีก็อยู่ที่นี่ ฉะนั้น จึงบอกว่า ความพอดี หรือสายกลาง อยู่ที่คุณภาพชีวิตมาบรรจบกับความพึงพอใจ เพราะว่าผู้ที่เป็นชาวพุทธพิจารณาเข้าใจความหมายของการบริโภคว่าเพื่อความมีสุขภาพดี เพื่อเกื้อกูลต่อการมีชีวิตที่ดี เพื่ออยู่เป็นสุข ดังนั้น คุณภาพชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ต้องการในการบริโภค และบริโภคแล้วได้รับความพึงพอใจที่ได้คุณภาพชีวิตนั้น

นี้คือความหมายของ มัตตัญญุตา คือความพอดีที่ว่าเป็นทางสายกลาง

เป็นอันว่า กิจกรรมในทางเศรษฐกิจนี้ เป็น means คือ มรรคา ไม่ใช่เป็น end หรือจุดหมายในตัวเอง

ผลที่ต้องการในทางเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เป็นจุดหมายในตัวของมันเอง แต่เป็นมรรคา คือ เป็นฐานสนับสนุนกระบวนการพัฒนาตนของมนุษย์ เพื่อชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เขาบริโภคอาหารแล้วไม่ใช่อิ่มเฉยๆ ไม่ใช่อิ่มแล้ว พออร่อยๆ ก็จบเสร็จกัน ไม่ใช่แค่นั้น แต่ให้เขาอิ่มเพื่อให้เขามีกำลังกาย มีกำลังความคิด จะได้ทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ เช่นจะได้ฟังได้พิจารณาในเรื่องที่เจริญปัญญาต่อไป

ดังในเรื่องที่ยกมาเป็นตัวอย่างที่ว่า พระพุทธเจ้าให้คนจัดหาอาหารให้คนเข็ญใจรับประทาน เมื่อเขารับประทานเสร็จแล้ว ก็ไม่ใช่จบแค่นั้น แต่เพื่อให้เขาได้ฟังธรรมต่อไป มันจึงเป็น means

ในเมื่อหลักการมีอยู่อย่างนี้แล้ว ก็จะมีวิธีปฏิบัติปลีกย่อยที่แยกซอยออกไปอีก เช่น ในกรณีที่คนมีกินอยู่แล้ว เรากลับไม่สอนให้เขากินให้เต็มที่ ไม่สอนให้กินตามที่อยาก

ยิ่งกว่านั้น บางครั้งยังมีการยกย่องพระบางองค์ที่ฉันมื้อเดียว

ถ้าเป็นเศรษฐศาสตร์ยุคอุตสาหกรรม ก็ต้องสรรเสริญคนที่กินให้มากที่สุด บริโภคสี่มื้อสิบมื้อคงยิ่งดีใหญ่

แต่ในกรณีที่พอแก่ความต้องการคุณภาพชีวิต เรากลับสรรเสริญพระบางองค์ที่ฉันมื้อเดียว แต่ไม่ใช่การฉันมื้อเดียวนั้นเป็นจุดหมายนะ ถ้าฉันมื้อเดียวแล้วไม่ได้ทำอะไรให้เกิดผลจากการฉันมื้อเดียว ก็ไม่ได้เรื่อง กลายเป็นเบียดเบียนตัวเองไป

ฉะนั้น จะต้องพิจารณาโดยมีเงื่อนไข คือบริโภคสิ่งที่และเท่าที่จะช่วยเกื้อหนุนให้การพัฒนาตนได้ผลดี

ในเรื่องนี้ แม้แต่ชาวบ้านก็เหมือนกัน ไม่เฉพาะแต่พระ บางทีมาถืออุโบสถงดอาหารในเวลาเลยเที่ยงไปแล้ว ไม่รับประทานในเวลาบ่าย เวลาค่ำ การงดกินอาหารที่ควรจะกินตามปกติ กลับมีความหมายเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีคุณค่าเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ฉะนั้น การบริโภคจึงเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นไปได้ทั้งในแง่บวกคือกิน และแง่ลบคือไม่กิน

หมายความว่า “ไม่กิน” ก็เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทางที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตได้เหมือนกัน แล้วคนก็สามารถมีความพึงพอใจจากการงดกินได้ด้วย คือ สามารถได้รับความพึงพอใจจากการไม่บริโภค แต่ได้รับคุณภาพชีวิต

ตามปกติ เราต้องมีความพึงพอใจจากการบริโภค แต่ในหลายกรณี เรามีความพึงพอใจจากการไม่บริโภคหรือไม่ได้บริโภค

อย่างไรก็ตาม การได้รับความพึงพอใจจากการงดการบริโภค อาจจะเกิดจากกิเลส เช่น มีมานะถือตัว จะแสดงให้เห็นว่าเรานี่เก่ง เรานี่แน่ จึงงด ไม่รับประทานอาหาร แล้วรู้สึกภูมิพองในใจว่า เรานี้รับประทานอาหารมื้อเดียวได้ เราเก่ง แล้วก็พึงพอใจ แต่เป็นความพึงพอใจจากกิเลส คือมานะ เป็นเพียงการก้าวจากตัณหาขึ้นไปสู่มานะ

ส่วนความพึงพอใจที่ถูกต้อง คือความพึงพอใจที่ว่า การกินน้อยลงหรือการอดอาหารครั้งนี้ เป็นการฝึกหัดขัดเกลาตนเอง หรือเป็นส่วนที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต การที่เรางดการบริโภคครั้งนี้ มันช่วยให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น ถ้าเกิดความพึงพอใจอย่างนี้ขึ้น ก็เป็นความพึงพอใจที่ถูกต้อง

ในกิจกรรมของมนุษย์ปุถุชนที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจในการบริโภคนั้น คนจำนวนมากทีเดียว เมื่อบริโภคเพื่อบำบัดความต้องการ เช่นกินอาหารโดยมุ่งรสอร่อย แต่กลับทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น กินสุราทำให้พอใจ แต่ทำให้เสียสุขภาพ ก่อการวิวาท เกิดอุบัติเหตุ

ของบางอย่างอร่อย บริโภคมากเกินไป เกิดเป็นโทษต่อสุขภาพ หรือกินโดยไม่มุ่งคุณภาพ กินโดยไม่มุ่งคุณค่าอาหาร กินมากเปลืองมาก บางทีกินมากเปลืองมาก แต่กลับขาดธาตุอาหาร

บางคนกินของดีเอร็ดอร่อยมากมาย แต่ต่อมาปรากฏว่าเป็นโรคขาดอาหาร ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่มันก็เป็นไปแล้ว และไม่เท่านั้น แถมทำให้คนอื่นอดกินไปเสียด้วย ตัวเองก็ขาดธาตุอาหาร คนอื่นก็พลอยอดกิน เพราะตัวเองกินมากเกินไป

ฉะนั้น ความพอใจไม่เป็นตัวตัดสินอรรถประโยชน์ ถ้าความพอใจนั้นไม่มาพร้อมกับการได้คุณภาพชีวิต ความพึงพอใจบางครั้งกลับเป็นตัวการทำลายอรรถประโยชน์ เช่น ทำให้คนหลงมัวเมา ทำลายสุขภาพ เสียคุณภาพชีวิต เป็นต้น

ทางเศรษฐศาสตร์นั้น เขามีหลักอันหนึ่งว่า สินค้ามีอรรถประโยชน์โดยสามารถทำให้เกิดความพอใจแก่ผู้บริโภค เศรษฐศาสตร์เขาวางหลักไว้อย่างนี้

แต่มองในทางกลับกัน เราก็สรุปได้ว่า ถ้าอย่างนั้นก็บริโภคให้มาก กินเข้าไปเพื่อให้ได้รับความพึงพอใจ แต่แล้วก็เกิดผลอย่างเมื่อกี้นี้ ผลบวกก็มี ผลลบก็มี ทำลายคุณภาพชีวิตก็มี อย่างนี้หรือเป็นอรรถประโยชน์

ทีนี้ถ้ามองในแง่พุทธเศรษฐศาสตร์ก็ต้องบอกว่า สินค้าและบริการมีอรรถประโยชน์ โดยสามารถทำให้เกิดความพอใจ ในการที่ได้เสริมคุณภาพชีวิตแก่ผู้บริโภค ต้องเติมต่อท้ายอย่างนี้

ฉะนั้น คำจำกัดความเรื่องสินค้า เรื่องบริการ เรื่องโภคทรัพย์ อะไรต่ออะไร ต้องเปลี่ยนใหม่ ไม่ใช่เปลี่ยนทั้งหมด แต่อาจจะต้อง modify ต้องมีการดัดแปลงกันมากบ้างน้อยบ้าง

๒. เศรษฐศาสตร์มัชฌิมา: ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

ความหมายอีกอย่างหนึ่งของความพอดี หรือมัชฌิมา คือ ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

อันนี้เป็นหลักสำคัญของพุทธศาสนา ใช้ตัดสินพฤติกรรมมนุษย์ ไม่เฉพาะในการบริโภคเท่านั้น แต่ในทุกกรณีทีเดียว เป็นมัชฌิมา ก็คือ ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

คำว่า ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ในพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่เฉพาะคน เรามีหลักว่า อหึสา สพฺพปาณานํ  แปลว่า ไม่เบียดเบียนชีวิตทั้งปวง ซึ่งสมัยนี้เขาเรียกว่า ecosystems แปลกันว่าระบบนิเวศ

ระบบนิเวศนี้เป็นศัพท์ค่อนข้างใหม่ หมายถึงระบบชีวิตทั้งหมดที่สัมพันธ์กันพร้อมทั้งสภาพแวดล้อมของมันในถิ่นหนึ่งๆ หรือที่จัดเป็นชุดหนึ่งๆ หรือหน่วยรวมหนึ่งๆ

เมื่อมองในแง่ของพระพุทธศาสนาอย่างนี้ หลักการทางเศรษฐศาสตร์ก็เลยมาสัมพันธ์กับเรื่องระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่ว่า มีองค์ประกอบ ๓ อย่างสัมพันธ์อิงอาศัยกันอยู่

องค์ประกอบ ๓ อย่างนี้คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม

ธรรมชาติในที่นี้ จำกัดวงแคบเข้ามาในความหมายของคำว่า ecosystems ซึ่งในภาษาไทยบัญญัติศัพท์ไว้ว่า ระบบนิเวศ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ธรรมชาติแวดล้อม

เศรษฐศาสตร์แนวพุทธนั้น ต้องสอดคล้องกับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยอย่างครบวงจร การที่จะสอดคล้องกับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยอย่างครบวงจร ก็ต้องเป็นไปโดยสัมพันธ์ด้วยดีกับองค์ประกอบทุกอย่างในระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์

องค์ประกอบทั้งสามในการดำรงอยู่ของมนุษย์นั้น จะต้องประสานเกื้อกูลกัน หมายความว่า องค์ประกอบเหล่านี้ ประสานกันด้วย และเกื้อกูลต่อกันด้วย ในการดำรงอยู่ร่วมกันและก็เดินไปด้วยกัน

ฉะนั้น พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์จะต้องเป็นไปในทางที่ไม่เบียดเบียนตน คือ ไม่ทำให้เสียคุณภาพชีวิตของตนเอง แต่ให้เป็นไปในทางที่พัฒนาคุณภาพชีวิต เสริมคุณภาพชีวิตนั้น และไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือ ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม และไม่ทำให้เสียคุณภาพของ ecosystems หรือระบบธรรมชาติแวดล้อม

ปัจจุบันนี้ ได้มีความตื่นตัวกันมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยพากันห่วงใยต่อพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของคน เช่น การใช้สารเคมี และการเผาผลาญเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลในการทำลายสุขภาพตนเอง ทำลายสุขภาพผู้อื่น และทำลายสภาพแวดล้อม เข้าหลักว่า เบียดเบียนตนเบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของอารยธรรมมนุษย์

เมื่อพูดถึงองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคม นี้ ก็มีเรื่องแทรกเข้ามา คือเรื่องเทคโนโลยี

ปัญหาอย่างหนึ่งคือ เราเข้าใจเทคโนโลยีว่าอย่างไร ในความหมายของพุทธศาสนา หรือเฉพาะพุทธเศรษฐศาสตร์ว่า เทคโนโลยีคืออะไร เนื่องจากเวลาหมดแล้วจึงขอรวบรัดว่า

ในความหมายของพระพุทธศาสนา เทคโนโลยี คือ เครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์

เรามีมือ มีเท้า มีหู มีตา มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ พูดรวมๆ ว่า เรามีอินทรีย์ แต่อินทรีย์ของเรามีขีดความสามารถจำกัด

เราต้องการจะตอกตะปูตัวหนึ่ง เราต้องการเดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง เราจะเดินไปก็ช้า เราจะเอามือตอกตะปูก็เจ็บแย่ เราก็เลยต้องผลิตฆ้อนขึ้นมา ฆ้อนก็มาช่วยขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ ทำให้มือของเราสามารถทำงานได้ผลดียิ่งขึ้น ตอกตะปูได้สำเร็จ เราขยายวิสัยของเท้า จะเดินทางก็มีรถยนต์ ต่อมาก็มีเครื่องบิน

ตาของเราเห็นได้จำกัด ของเล็กนักก็มองไม่เห็น เราก็สร้างกล้องจุลทรรศน์ขึ้นมา ทำให้สามารถมองเห็นจุลินทรีย์ตัวเล็กๆ ได้ ตาของเรามองไปได้ไกลไม่พอที่จะเห็นดวงดาวซึ่งอยู่ไกลมาก ดูเล็กเกินไป บางดวงก็ไม่เห็น เราก็สร้างกล้องโทรทรรศน์ขึ้นมา มองไปเห็นสิ่งเหล่านั้นได้

ปัจจุบันนี้เราก็สามารถขยายวิสัยแห่งอินทรีย์สมองของเราออกไป โดยสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมา รวมความว่า เทคโนโลยีเป็นเครื่องขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์

ในยุคปัจจุบันนี้ เราขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ด้วยวิธีการทางวัตถุ ทำให้เกิดความเจริญในระบบอุตสาหกรรมขึ้นมา

แต่ในสมัยโบราณยุคหนึ่ง คนเอียงสุดไปทางจิต ก็ได้พยายามขยายวิสัยแห่งอินทรีย์โดยทางจิต การขยายวิสัยแห่งอินทรีย์โดยทางจิตนั้น ก็ทำให้เกิดเป็นฤทธิ์ เป็นอภิญญาขึ้นมา ดังที่มีเรื่องบอกไว้ว่า คนนั้นคนนี้มีฤทธ์ มีปาฏิหาริย์ เหาะเหิรเดินอากาศได้ เป็นต้น ก็เป็นการขยายวิสัยแห่งอินทรีย์เหมือนกัน

นี่คือเป็น physical technology คือ เทคโนโลยีทางกายอย่างหนึ่ง กับ psychical technology คือ เทคโนโลยีทางจิตอย่างหนึ่ง

เป็นอันว่า เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ และเทคโนโลยีนั้นก็ได้เข้ามาสัมพันธ์กับระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่มีองค์ประกอบ ๓ ประการนั้น กล่าวคือ -

มนุษย์ได้ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือของตนในการเข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบส่วนอื่นในการดำรงอยู่ของมนุษย์ คือธรรมชาติและสังคม และเทคโนโลยีนี้ก็เกิดเป็นสภาพแวดล้อมอย่างใหม่ขึ้นมา เป็นสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น

สภาพแวดล้อมส่วนที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้ บางทีก็ไปรุกรานหรือขัดแย้งกับสังคมและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเดิม และทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา ปัญหาทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ว่าโดยรวบยอด คือ

๑. การพัฒนาเทคโนโลยีนั้น อาจจะเป็นการพัฒนาในลักษณะที่ขัดแย้งกับระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ ทำให้เสียคุณภาพ และทำให้เสียดุลในระบบของมนุษย์ ธรรมชาติ สังคม แล้วก็ขัดขวางความสัมพันธ์ที่ดี ที่เกื้อกูลกัน ระหว่างองค์ประกอบทั้งสามอย่างนั้น

๒. มีการใช้เทคโนโลยีนั้น ในลักษณะที่เป็นการเบียดเบียนตนและเบียดเบียนผู้อื่น

ฉะนั้น เมื่อสัมพันธ์กับเทคโนโลยี มนุษย์จะต้องแก้ปัญหานี้โดยพัฒนาเทคโนโลยี ในลักษณะที่จะทำให้เกิดการประสานและเกื้อกูลกัน ภายในระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบสามอย่างแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์นั้น และใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์เกื้อกูลทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.