แรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศก

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ภาคผนวก ๒
พระโพธิรักษ์ยอมกลับเข้ามหาเถรสมาคม ?

วารสารฉบับหนึ่งได้ไปขอสัมภาษณ์พระเทพเวที เกี่ยวกับเรื่องทางวิชาการอย่างหนึ่ง ตอนท้ายได้ถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสันติอโศก และบอกว่าอยากจะนำไปลงพิมพ์ด้วย แต่ต่อมาผู้สัมภาษณ์แจ้งว่าไม่กล้านำลงตีพิมพ์ เพราะเกรงว่าผู้ใหญ่ในวงงานของตนจะไม่พอใจ ในที่นี้เห็นว่าน่าจะนำมารวมพิมพ์ไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐาน จึงปรับปรุงคำให้สัมภาษณ์ให้กะทัดรัดได้ความยิ่งขึ้น และนำมาลงพิมพ์ไว้ ดังต่อไปนี้

ผู้สัมภาษณ์: ตอนนี้ทราบว่าทางสันติอโศกได้ขอกลับมาอยู่ภายใต้มหาเถรสมาคม ไม่ทราบว่าอาจารย์มองปัญหานี้อย่างไรบ้าง จะมีปัญหาไหม? ยังมีพวกต่อต้านอยู่อะไรอยู่ ความจริงไม่น่าจะต่อต้านนะในเมื่อเขาจะขอกลับเข้ามา นี้เป็นความเห็นของกระผมนะครับ

พระเทพเวที: คำถามนี้ ตรงกับที่หลายคนพูด กล่าวคือตอนนี้มีการพูดกันว่า พระโพธิรักษ์ ซึ่งได้ลาออกจากมหาเถรสมาคมแล้ว ได้ตกลงยอมที่จะกลับเข้ามหาเถรสมาคม แต่มหาเถรสมาคมกลับไม่ยอม หมายความว่า พระโพธิรักษ์นี้ยอมหมดแล้ว จะเอาอย่างไรก็ได้ แต่เสร็จแล้วทางคณะสงฆ์กลับไม่ยอม หลายคนพูด หรือพยายามพูดให้เกิดความเข้าใจทำนองนี้ แต่อาตมาไม่ได้เห็นปัญหาในแง่นั้น คือ เมื่อพูดให้ถูกต้องแล้ว ไม่มีคำว่าออกไปและเข้ามา ต้องมองภาพให้ถูกก่อน อย่าไปติดอยู่ในถ้อยคำ คนเรานี้ไปติดหรือถูกหลอกด้วยถ้อยคำได้ง่าย ที่พูดว่าออกจากมหาเถรสมาคม รับเข้ามหาเถรสมาคมนั้น เป็นการใช้คำพูดที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แล้วคนก็หลงไปตามถ้อยคำ ถ้าเราวิเคราะห์คำพูดและใช้ถ้อยคำให้ถูกตรง แล้วคนก็จะหายสงสัย แล้วก็จะมองอะไรชัดขึ้น

ที่พูดว่า ออกจากมหาเถรสมาคม รับเข้ามหาเถรสมาคม นั้น ถ้าถามนิดเดียวก็จะตัน มหาเถรสมาคมมีสิทธิอะไรให้ใครออกไป และมีสิทธิอะไรที่จะรับใครเข้ามา ไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจเลย มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่รัฐตราขึ้น รัฐตรากฎหมายคณะสงฆ์ขึ้น โดยกำหนดให้มีมหาเถรสมาคม และบัญญัติอำนาจหน้าที่ไว้ มหาเถรสมาคมมีอำนาจ และทำหน้าที่ไปตามกฎหมายเท่านั้น มหาเถรสมาคมไม่มีสิทธิ และไม่มีหน้าที่จะไปรับใครเข้าหรือเอาใครออกจากกฎหมาย จริงหรือไม่จริง เขากำหนดและตั้งขึ้นมาให้มีหน้าที่บริหารกิจการพระศาสนา คณะสงฆ์ที่เขามีอยู่แล้วนั้น ตัวจะต้องปกครองให้ดี แต่ตัวไม่มีสิทธิรับใครเข้าในกฎหมาย หรืออนุญาตให้ใครออกจากกฎหมาย ไม่มีอำนาจ ไม่มีหน้าที่ที่จะทำอย่างนั้น อำนาจก็ไม่มี หน้าที่ก็ไม่มี เมื่อกฎหมายออกมา ปัญหาก็มีเพียงว่า ใครบ้างที่อยู่ในคณะสงฆ์ไทย ปัญหามีแค่นั้น ใครอยู่ใต้กฎหมายคณะสงฆ์นี้ไหม ข้อที่จะต้องวินิจฉัยมีอยู่เท่านั้น ใครอยู่ในคณะสงฆ์ไทย อยู่ใต้กฎหมายนี้ มหาเถรสมาคมก็มีหน้าที่ปกครองคนเหล่านั้นให้อยู่ด้วยดีตามที่กฎหมายวางไว้ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ก็จบแค่นั้น ถ้าไม่อยู่ใต้กฎหมาย มหาเถรสมาคมก็ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องไปขอเข้า ไม่ต้องไปลาออก

ทีนี้ ปัญหาของท่านโพธิรักษ์นี้ ท่านบอกว่าท่านลาออกจากมหาเถรสมาคม คำว่า “ลาออกจากมหาเถรสมาคม” นี้ ท่านมุ่งให้มีความหมายว่า ลาออกจากคณะสงฆ์ไทย พ้นจากการปกครองของมหาเถรสมาคม และพ้นจากอำนาจควบคุมของกฎหมายที่รัฐตราไว้สำหรับคณะสงฆ์ แล้วตอนนี้ท่านบอกว่าท่านยอมจะกลับเข้าในมหาเถรสมาคมอีก และทำเป็นทีคล้ายๆ รออยู่ว่า มหาเถรสมาคมจะยอมรับท่านกลับเข้าไปอีกหรือไม่ ทีนี้ ข้อที่จะต้องพิจารณาก็คือ มหาเถรสมาคมมีอะไรจะต้องเกี่ยวข้องหรือต้องทำ เกี่ยวกับการลาออกและการขอกลับเข้ามาของพระโพธิรักษ์ การลาออกและการขอกลับเข้ามาของพระโพธิรักษ์นั้นมีความหมายว่าอย่างไร

ถ้าดูตามนี้ ก็จะประมวลข้อพิจารณาได้ดังนี้

ประการที่ ๑ มหาเถรสมาคมนี้ เป็นองค์กรที่กฎหมายตั้งขึ้น มีขึ้นมาโดยกฎหมาย และมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีหน้าที่ปกครองผู้ที่อยู่ใต้อำนาจกฎหมาย ไม่มีสิทธิที่จะไปเอาใครเข้ามาอยู่ในกฎหมาย หรือเอาใครออกไปจากกฎหมายนี้ มหาเถรสมาคมนี้จึงไม่มีสิทธิรับใครเข้าหรือไล่ใครออก ทั้งโดยบทบัญญัติก็ไม่มี และโดยลักษณะหรือหลักการของกฎหมายก็ไม่มีทางเป็นไปได้

ประการที่ ๒ เรื่องนี้เป็นอย่างไร เรื่องของพระโพธิรักษ์นี้ก็คือว่า แต่ก่อนนี้พระโพธิรักษ์บวชเข้ามาในคณะสงฆ์ไทย แล้วตอนนั้นตัวท่านเองก็ยอมรับว่าท่านอยู่ในคณะสงฆ์จริง อยู่ภายใต้กฎหมาย แล้วต่อมาท่านบอกว่า ท่านลาออก เมื่อลาออกจากมหาเถรสมาคมแล้ว ท่านว่าท่านไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งอันนี้ท่านพูดทำนองว่าท่านได้รับอนุมัติจากทางมหาเถรสมาคม ก็ขัดกับความจริง มหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะไปอนุมัติให้ใครออกไปได้ ไม่มีสิทธิเลย เป็นไปไม่ได้ ถึงจะประกาศอนุมัติออกมา ก็ไม่มีผล ถ้าท่านจะออกจากคณะสงฆ์ ท่านไปทำตามกระบวนวิธีออกด้วยตนเอง เช่น ลาสิกขาเป็นต้น ท่านก็ออกไปเอง ไม่ต้องมาพูดว่า ลาออก ซึ่งไม่มีใครจะอนุมัติให้ท่านได้ เหมือนคนไทยอยากจะออกจากความเป็นราษฎรไทย ก็ไปทำตามกระบวนวิธีโอนสัญชาติเสีย ก็ออกไปได้เอง แต่ถ้าไม่ทำตามนั้น จะมาประกาศลาออกจากคณะรัฐมนตรีอย่างไร ก็ไม่มีใครอนุมัติให้เขาได้

ถ้าพระโพธิรักษ์จะออกจากการปกครองของมหาเถรสมาคม ไม่อยู่ในคณะสงฆ์ไทย และไม่อยู่ใต้กฎหมาย (ที่รัฐตราไว้สำหรับ) คณะสงฆ์ การออกหรือการไม่อยู่ของท่าน ย่อมจะไม่เกิดจากการลาออก แต่จะเกิดขึ้นได้ในกรณีต่อไปนี้

๑. พระโพธิรักษ์ไม่อยู่ใต้อำนาจกฎหมายคณะสงฆ์มาแต่ต้น เพราะกฎหมายคณะสงฆ์ กล่าวคือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นโมฆะด้วยเหตุผลประการใดประการหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนี้จริง พระโพธิรักษ์ก็ไม่จำเป็นจะต้องประกาศลาออกไป หรือขอกลับเข้ามาอย่างใดทั้งสิ้น เพราะไม่ขึ้นต่อกฎหมายนั้น และไม่เกี่ยวข้องอะไรกับมหาเถรสมาคมอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การที่พระโพธิรักษ์กล่าวว่า ท่านได้ประกาศลาออกจากมหาเถรสมาคมแล้ว ก็เป็นเครื่องแสดงว่า ก่อนนั้นท่านยอมรับว่าท่านอยู่ในคณะสงฆ์ไทย ภายใต้กฎหมายคณะสงฆ์ ถ้ากฎหมายคณะสงฆ์เป็นโมฆะ การกระทำของพระโพธิรักษ์ในกรณีนี้ก็เป็นเรื่องเปล่าๆ ปลี้ๆ หรือทำในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำ

๒. พระโพธิรักษ์พ้นจากความเป็นพระภิกษุ โดย

ก. ลาสิกขา คือ สึก ด้วยการบอกคืนสิกขาบท หรือบอกคืนอุปัชฌาย์ บอกคืนอาจารย์ (= บอกเลิกอุปัชฌาย์ บอกเลิกอาจารย์) เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นวิธีปฏิบัติตามพระวินัยในการลาออกจากเพศภิกษุ

สำหรับกรณีนี้ ยังเป็นเรื่องที่จะต้องสอบสวนและวินิจฉัยให้แน่นอนชัดเจน เพราะในประวัติของพระโพธิรักษ์มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับการลาสิกขาและการบอกเลิกอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นข้อที่ถือได้ว่ายังค้างพิจารณา

ข. ขาดจากความเป็นพระภิกษุ เพราะทำความผิดละเมิดพระวินัยขั้นร้ายแรง เช่น จงใจอวดคุณวิเศษที่ไม่มีจริงในตน

ถ้าเป็นไปตามข้อ ๒ นี้ การที่พระโพธิรักษ์จะลาออก หรือจะขอกลับเข้ามาก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะท่านไม่มีสิทธิในฐานะอยู่แล้ว แต่ปัญหาจะเปลี่ยนไปเป็นว่า ท่านพ้นจากความเป็นภิกษุแล้ว แต่ยังไม่ยอมสละสมณเพศ หรือแต่งกายเลียนแบบพระภิกษุ และก็จะมีความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายนั้นไม่เป็นโมฆะ

พระโพธิรักษ์นั้นท่านบวชตามแบบของพระสงฆ์ไทย ก็เลยเข้าข่ายอยู่ในคณะสงฆ์ไทย (ซึ่งในระยะแรกท่านเองก็ยอมรับและถืออย่างนั้น) เมื่ออยู่ในคณะสงฆ์ไทย ก็อยู่ภายใต้อำนาจบังคับของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งให้มหาเถรสมาคมเป็นผู้ปกครอง ทีนี้ เรื่องมันก็มีมาว่า ถึงตอนหนึ่งนี้ ท่านโพธิรักษ์ท่านไม่เห็นด้วยกับการปกครองคณะสงฆ์นี้ ท่านก็ไม่ปฏิบัติตาม ไม่ปฏิบัติตามก็คือฝ่าฝืนหรือละเมิด เราจะเรียกอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ท่านก็ทำของท่านมาอย่างนี้

ฉะนั้น สิ่งที่เราจะพูดได้ให้ตรงตามความหมายก็คือว่า พระโพธิรักษ์ได้ประกาศฝ่าฝืนละเมิดไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ นี้เป็นคำพูดที่ถูกตรงที่สุด คือตอนหนึ่งท่านยอมรับการบวชเข้ามาอยู่ใต้กฎหมายแล้ว อยู่ๆ ท่านก็ประกาศว่า ต่อไปนี้ ฉันจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ถ้าใช้คำพูดอย่างนี้ก็จะถูก แล้วต่อมาถึงตอนนี้ก็มีการเจรจากันเกิดขึ้น ทางกระทรวงศึกษาธิการไปเจรจากับท่าน การเจรจาที่ว่า ให้ยอมกลับเข้ามหาเถรสมาคมนี้ ถ้าพูดให้เป็นสำนวนภาษาที่ถูกต้อง ก็มีความหมายเท่ากับพูดว่า อย่าเลยนะ อย่าไปฝ่าฝืน อย่าไปละเมิดเลย เลิกฝ่าฝืน เลิกละเมิดเสีย ยอมกลับมาปฏิบัติตามเถอะ แล้วท่านก็บอกว่าฉันจะยอม คำว่ายอมของท่านที่ว่าจะกลับเข้ามหาเถรสมาคมนี้ ถ้าพูดให้ตรงตามสาระหรือตามหลักการของกฎหมายก็คือพูดว่า ต่อไปนี้จะเลิกฝ่าฝืน จะหันกลับมาปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ต่อไป สาระสำคัญของคำพูดก็มีเท่านี้ เมื่อท่านยอม ก็คือเลิกละเมิด เลิกฝ่าฝืน และยอมปฏิบัติตามกฎหมายนั้นต่อไป เรื่องก็จบ ถูกไหม จะมีไหมการรับเข้า และเอาออก ไม่มีอะไรเลย เป็นคำพูดลวงสมอง เป็นคำพูดลวงให้เข้าใจผิด ท่านโพธิรักษ์นี้ ที่บอกว่าจะกลับเข้ามาอยู่ในมหาเถรสมาคมนั้น ถ้าเปลี่ยนสำนวนใหม่ให้ตรงความจริง ก็เท่ากับพูดว่าจะเลิกฝ่าฝืนกฎหมาย ก็จะต้องถามว่าเลิกจริงไหม ถ้าท่านยอมเลิก ยอมปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ต่อไปไม่ฝ่าฝืนอีก เรื่องก็จบ เมื่อท่านพูดอย่างนี้แล้ว ท่านจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็อยู่ที่ตัวท่าน ไม่เห็นเกี่ยวอะไรที่ใครจะต้องมารับรองให้ท่าน ที่ว่ามหาเถรสมาคมจะรับเข้าหรือไม่รับเข้านั้น ไม่อาจจะเป็นคำถามขึ้นมาได้ คำถามมีได้เพียงว่า ที่ท่านโพธิรักษ์พูดว่า จะเลิกฝ่าฝืน จะกลับยอมปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ท่านจะปฏิบัติจริงหรือไม่ แล้วก็คอยดูกันต่อไปสิว่า ท่านโพธิรักษ์นี้จะปฏิบัติตามหรือไม่ ถ้าท่านไม่ปฏิบัติตาม ท่านก็พูดไม่จริง ท่านก็ไม่ปฏิบัติตามที่ท่านพูด คำที่ท่านพูดว่า จะกลับเข้ามหาเถรสมาคมก็หมายความตรงไปตรงมาว่า จะยอมปฏิบัติตามกฎหมายต่อไปเท่านั้นเอง จะปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ก็เป็นเรื่องของตนเอง จะบอกคนอื่นก็เพียงให้เขารับรู้หรือสัญญากับเขา ไม่ต้องไปรอให้ใครรับเข้าที่ไหนอีก จึงไม่ต้องมีใครไปรับเข้าหรือให้ออก เท่านี้เอง อาตมาก็แปลกใจว่า ทำไมไปงงกัน แม้แต่ผู้ใหญ่ที่บริหารบ้านเมืองก็พลอยเป็นไป จะต้องมารอให้มหาเถรสมาคมรับพระโพธิรักษ์เข้า นี่เรื่องอะไรกัน มันไม่มีเหตุมีผลอะไร ก็เพียงแต่ว่าพระโพธิรักษ์บอกว่าฉันจะปฏิบัติตามก็จบ ก็อยู่ที่ว่า จะปฏิบัติตามหรือไม่ จะทำจริงหรือไม่

ถ้าท่านยอมทำตามจริง ปัญหาก็จะมีต่อไปว่า ถ้าหากว่าสิ่งที่ท่านโพธิรักษ์ทำผ่านๆ มานี้ เป็นความผิด ก็เป็นปัญหาที่คณะสงฆ์ในฐานะผู้ปกครองตามกฎหมาย จะต้องดำเนินการ จะต้องพิจารณาสอบสวนเป็นต้น ถ้าไม่ทำก็ถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ แม้เท่าที่ผ่านมา ถ้าพระโพธิรักษ์มีความผิดแล้วคณะสงฆ์ไม่ปฏิบัติการไม่ดำเนินการ ก็ต้องถือว่ามหาเถรสมาคมบกพร่องต่อหน้าที่ ตอนนี้ ถ้าพระโพธิรักษ์ยอมปฏิบัติตาม ก็ต้องดำเนินการ ต้องสอบสวนให้เรื่องเสร็จสิ้นเรียบร้อยไป ถ้าตกลงจะดำเนินการ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็มีเพียงว่า ที่พระโพธิรักษ์บอกว่าจะเลิกฝ่าฝืนและปฏิบัติตามนั้น จะยอมปฏิบัติจริงไหม ปัญหาอยู่ที่นี่ต่างหาก ปัญหาตอนนี้ก็คือ หนึ่ง ที่พระโพธิรักษ์บอกว่า จะเลิกฝ่าฝืนกฎหมายคณะสงฆ์ ยอมปฏิบัติตามนั้น ท่านจะทำตามนั้นจริงไหม และ สอง ถ้ามหาเถรสมาคมดำเนินการสอบสวนและมีการลงโทษเป็นต้น ท่านจะยอมรับการสอบสวนและการลงโทษนั้นไหม การยอมนั้นจะจริงหรือไม่ก็อยู่ที่นี่แค่นี้ เพราะฉะนั้น อาตมามองว่า ไม่มีคำถามที่ว่า จะรับกลับเข้าไหม มีแต่คำถามว่า ที่ท่านโพธิรักษ์บอกว่า จะยอมกลับปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์นั้น จะยอมปฏิบัติตามจริงไหม เท่านั้น

ที่พูดกันมานี้ เป็นการพูดประเภทที่ว่า ใช้ถ้อยคำผิด พอใช้คำผิดก็เลยลวงตัวเองให้ยุ่งไปหมด ก็เลยไปมีปัญหาว่า จะรับเข้าเอาออก การที่กระทรวงศึกษาธิการไปเจรจา ว่าให้ยอมเข้ามหาเถรสมาคมนั้น ถ้าเปลี่ยนสำนวนเสียให้เป็นคำพูดที่ตรงความหมายเสียก็หมดเรื่อง คือไปเจรจาว่า ต่อไปนี้ ขอให้ยอมเลิกฝ่าฝืน หันมาปฏิบัติตามต่อไป เมื่อท่านโพธิรักษ์บอกว่า ยอมเลิกละเมิดฝ่าฝืนและจะกลับปฏิบัติตามต่อไป ก็จบ ต่อจากนั้น ก็มาดูกันว่า ท่านโพธิรักษ์จะทำตามที่ท่านพูดจริงหรือไม่ ไม่มีอะไรที่จะต้องมาพูดกันว่า มหาเถรสมาคมจะยอมรับท่านโพธิรักษ์กลับเข้าไปหรือไม่ ยิ่งบอกว่า มีการต่อต้านอะไร ก็ยิ่งเป็นคำพูดเหลวไหล แสดงว่าไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะฉะนั้น ในแง่ของกระทรวงเองนี่ก็พลาด แล้วในแง่ของคณะสงฆ์เองนั้น ก็หย่อนมาแต่เดิมละ ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทีนี้ พอกระทรวงไปทำอย่างนี้อีก ก็เกิดปัญหา เพราะว่าใช้คำพูดที่ผิด มหาเถรสมาคมก็อยู่ในภาวะลำบาก ไม่รู้จะปฏิบัติตัวอย่างไร ก็เลยออกในรูปที่บอกว่า ที่กระทรวงทำไปก็เป็นส่วนของกระทรวง ปัญหาก็จบไม่ลง ก็ไม่มีอะไรจบ ตอนนี้ก็คล้ายๆ ว่าเป็นไฟที่ใช้ขี้เถ้ากลบอยู่

การที่อาตมาได้พูดหรือเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอให้เข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องกรณีระหว่างพระโพธิรักษ์กับมหาเถรสมาคม ถ้าพระโพธิรักษ์หรือสันติอโศกจะมีปัญหาอะไรกับมหาเถรสมาคม หรือจะเป็นปฏิปักษ์ต่อมหาเถรสมาคม ก็เป็นเรื่องของมหาเถรสมาคมหรือผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องจะพึงดำเนินการกับพระโพธิรักษ์หรือสันติอโศกนั้น อาตมาย่อมไม่ไปยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย แต่ที่อาตมาต้องพูดและเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เพราะได้มองเห็นว่า พฤติการณ์ของพระโพธิรักษ์ล้ำแดนออกไป ดูน่าจะกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อความจริงหรือสัจจธรรม และย่อมจะกลายเป็นกรณีระหว่างพระโพธิรักษ์ กับผู้ที่รักความจริง หรือผู้ที่ต้องการสัจจะโดยทั่วไป ซึ่งทุกคนที่รักความจริงจะต้องสนใจรักษา

สิ่งที่ต้องการก็คือ ขอให้ท่านเผชิญกับความจริง และแสดงออกตรงตามความจริง พิจารณาเรื่องตรงหลักตรงประเด็น ไม่ใช่เฉไฉ ตลอดจนมีท่าทีที่น่าสงสัยว่าจะถึงกับบิดเบือนหลักธรรมวินัย สิ่งที่เราจะต้องดูก็คือ ท่านทำอย่างนั้น เพราะจงใจไม่ซื่อตรง หรือเข้าใจผิดพลาดไป เรื่องนี้สำคัญมาก และสำคัญเป็นพิเศษสำหรับผู้ทำงานเกี่ยวกับธรรม โดยเฉพาะเมื่อเป็นผู้นำคนหมู่ใหญ่ ซึ่งการกระทำมีผลกว้างไกล เพราะการทำความดีของผู้ไร้สัจจะ ย่อมควรแก่การสงสัยว่าจะเป็นการหลอกลวงมากกว่าเป็นความดีที่แท้จริง และถ้าเป็นความดีที่ทำโดยมุ่งหลอกลวงหรือมีเจตนาไม่สุจริตแอบแฝง ก็ย่อมน่ากลัวว่าจะนำไปสู่ความพินาศมากกว่าสันติสุข แต่เรื่องนี้ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นหาความชัดเจนและทำความเข้าใจ ซึ่งจะต้องดูกันต่อไป โดยใช้ปัญญา มีสติรอบคอบ จริงใจ และมุ่งต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.