มุมมองสองปราชญ์: สื่อมวลชนกับการสร้างสรรค์สังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

อิทธิพลของสื่อมวลชน

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยทั่วไปยังมีอิทธิพลที่สำคัญขยายออกไปจากการทำหน้าที่พื้นฐานนั้นอีก ซึ่งทำให้สื่อมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น เพราะในการให้ข่าวและให้ความคิดเห็นนั้น หนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนทั่วไปสามารถสร้างจุดสนใจขึ้นมาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เรียกได้ว่าทำให้เรื่องบางเรื่องดังขึ้น ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอยากจะให้คนสนใจเรื่องใด ก็ไปจับเรื่องนั้น ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นก็อาจจะไม่มีคนสนใจมากเท่าไร แต่สื่อมวลชนทำให้คนสนใจเรื่องนั้นขึ้นมา จนกระทั่งว่าสื่อมวลชนพูดอะไร คนในสังคมก็พูดเรื่องนั้น เดี๋ยวนี้จะเห็นว่าเป็นอย่างนั้น ยิ่งกว่านั้นบางทีหนังสือพิมพ์พูดอะไรเป็นข่าวออกมาอย่างไร เดี๋ยวประชาชนก็พูดอย่างนั้นด้วย อันนี้สิสำคัญ หมายความว่า มันไม่ใช่แค่อะไร แต่มันเป็นอย่างไรด้วย อันนี้เป็นอิทธิพลที่สำคัญของหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนทั้งหลาย ซึ่งทำให้ต้องเกิดความรับผิดชอบเป็นอย่างมาก

เพียงแค่ว่าหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอย่างใดอย่างหนึ่งยกอะไรขึ้นมาพูด ประชาชนก็สนใจพูดเรื่องนั้น นี่ก็สำคัญมากอยู่แล้ว แต่นี่สื่อมวลชนพูดอย่างไร ประชาชนก็พลอยพูดอย่างนั้นไปด้วย อิทธิพลนี่กว้างขวางจนกระทั่งกลายเป็นว่า ปัจจุบันนี้สื่อมวลชนจะมีอิทธิพลทางการศึกษามากกว่าครูอาจารย์ เวลาพูดเรื่องอะไร แม้แต่นิสิตนักศึกษาบางทีไม่ได้อ้างครูอาจารย์ แต่อ้างว่าหนังสือพิมพ์พูดอย่างนั้นๆ แทนที่จะพูดว่าครูอาจารย์พูดอย่างนั้น นี่คืออิทธิพลของหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนที่แผ่ขยายเข้าไปในวงการการศึกษา เป็นสถาบันที่มีอิทธิพลในการศึกษามาก เมื่อมีอิทธิพลอย่างนี้ ความรับผิดชอบก็ตามมาด้วย

อิทธิพลด้านนี้คลุมไปถึงแม้แต่เรื่องการใช้ภาษา สื่อมวลชนใช้ภาษาอะไรแบบไหนอย่างไร ไม่ช้าคนในสังคมก็ใช้ตาม เด็กเล็กก็ใช้ภาษาที่สื่อมวลชนใช้ นอกจากนี้ ทางด้านค่านิยมในสังคม สื่อมวลชนก็สามารถชักจูงบันดาลได้เป็นอย่างมาก อิทธิพลของสื่อมวลชนในวงการศึกษานี่ขยายไปถึงการศึกษามวลชน การศึกษานอกระบบ การศึกษาที่ไม่เป็นทางการ จึงนับว่ากว้างขวางทั่วทั้งสังคม สื่อมวลชนก็เลยมีอิทธิพลในสังคมเป็นอันมาก โดยเฉพาะอิทธิพลในการสร้างค่านิยม สร้างทัศนคติประชามติและกระแสความคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการบันดาลความเป็นไปของสังคม ทำให้สื่อมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบอย่างมากเป็นพิเศษ

ก็เลยต้องพูดต่อไปว่า หน้าที่พร้อมทั้งความรับผิดชอบของสื่อมวลชนควรจะขยายไปตามอิทธิพลของตนด้วย พร้อมกันนั้นสื่อมวลชนก็น่าจะใช้อิทธิพลที่ตนมีอยู่นั้นให้เป็นประโยชน์แก่สังคม คือ ยกเรื่องที่เป็นสาระเป็นประโยชน์แก่สังคมขึ้นมาให้คนสังเกต หรือให้คนสนใจ เรียกว่าสร้างจุดสนใจในเรื่องที่มีสาระเป็นประโยชน์ ที่จะสร้างสรรค์สังคม ไม่ใช่จะเอาแต่เรื่องตื่นเต้น เรื่องอะไรจะเป็นประโยชน์แก่สังคมตอนนี้ ก็ยกเรื่องนั้นขึ้นมาให้คนได้ตื่นตัวสนใจ แล้วก็ถกเถียงพิจารณากัน เริ่มตั้งแต่เรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัย หรืออันตรายของสังคม อันนี้เป็นจุดเน้นข้อแรกทีเดียว อะไรที่เป็นปัญหาแก่สังคม จะทำให้เกิดภัยอันตรายแก่สังคม อะไรเป็นกระแสร้ายที่เป็นไปอยู่ในสังคมนี้ ซึ่งเราจะต้องช่วยกันแก้ไข สื่อมวลชนน่าจะถือเป็นหน้าที่ที่จะยกขึ้นมาพูดจาย้ำเน้นให้ประชาชนเกิดความสนใจ แล้วช่วยกันเอาใจใส่คิดแก้ปัญหา พอสื่อมวลชนยกเรื่องขึ้นมาแล้ว ประชาชนก็จะได้มาร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นในการแก้ปัญหาด้วย อันนี้แหละจะเป็นการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่แท้จริง

เพราะฉะนั้น เราจะไม่เอาเฉพาะเรื่องที่ประชาชนสนใจ แต่เอาเรื่องที่ประชาชนน่าจะสนใจหรือควรจะสนใจด้วย ต้องเอาทั้งสองอย่าง คือเรื่องที่ประชาชนสนใจอย่างหนึ่ง และเรื่องที่ประชาชนควรจะสนใจอีกอย่างหนึ่ง และสิ่งใดเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนก็ต้องพยายามสนับสนุนสิ่งนั้น โดยเฉพาะเวลานี้ สิ่งที่เป็นแบบอย่างที่ดีนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ควรจะพิจารณากันให้มาก เพราะมีคนพูดไม่น้อยว่าหนังสือพิมพ์ไม่ค่อยจะทำหน้าที่นี้ อะไรเป็นสิ่งที่ดี เป็นแบบอย่างที่ควรจะยกขึ้นมาพูดมาสนับสนุน เราไม่ค่อยพูดถึง

อีกอย่างหนึ่ง คือการทำหน้าที่นำคนไปในทางที่ถูกต้อง ในเมื่อสื่อมวลชนมีอิทธิพลมากในการสร้างทัศนคติ ค่านิยม ประชามติ และกระแสความคิดของประชาชน ก็เท่ากับว่าเป็นผู้นำในสังคม บทบาทของหนังสือพิมพ์ในการเป็นผู้นำสังคมนี้เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในเมื่อเป็นผู้นำ ก็ต้องเป็นผู้นำที่ดี คือ นำคนนำประชาชนไปในทางที่ถูกต้อง ให้เป็นไปในทางที่เป็นการสร้างสรรค์

หน้าที่ของผู้นำอย่างหนึ่งที่สื่อมวลชนทำได้มาก ก็คือ การช่วยพัฒนาประชาชน หรือช่วยพัฒนาคุณภาพประชาชน โดยเฉพาะปัจจุบันนี้เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย และอยู่ในยุคข่าวสารข้อมูล หัวใจของการพัฒนาประชาชนก็คือ การพัฒนาปัญญา ทำอย่างไรจะให้ประชาชนเป็นคนที่รู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ รู้จักวิจารณ์อย่างมีเหตุผลมีความรับผิดชอบ เรื่องนี้หนังสือพิมพ์ทำเป็นตัวอย่างได้ ถ้าหนังสือพิมพ์ทำได้ดี ก็ทำให้เกิดแนวโน้มของสังคมในทางที่ดีด้วย เพราะฉะนั้นหนังสือพิมพ์ที่ทำหน้าที่ดีๆ จะเป็นประโยชน์แก่สังคมมาก เพราะเป็นตัวอย่างที่มีอิทธิพลมาก เป็นผู้นำที่สร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคมมาก เรียกว่าเป็นการพัฒนาคุณภาพของประชาชนในสังคม เพื่อให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมประชาธิปไตย อันนี้อาตมาว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบสำคัญของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบันนี้

รวมความง่ายๆ ว่า หน้าที่และบทบาทสำคัญของสื่อมวลชนในปัจจุบันนี้ คือ

๑. ทำหน้าที่พื้นฐานในฐานะเป็นแหล่งข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้อง ที่ว่ามาแทนที่ข่าวลือ

๒. เป็นยามระวังภัยให้แก่สังคม มีอะไรที่จะเป็นปัญหาที่จะทำให้เกิดภัยอันตรายแก่สังคม สื่อมวลชนจะต้องยกเรื่องนั้นขึ้นพิจารณา มาช่วยบอกกล่าว มาช่วยบอกให้รู้ เป็นการเตือนภัยเพื่อสังคมจะได้พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านั้น

๓. เป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์บอกแหล่งโชคลาภแก่สังคม

ข้อสามนี้เป็นด้านบวกซึ่งก็สำคัญเหมือนกัน มีความหมายรวมถึงการให้ความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆ สิ่งที่เป็นความริเริ่มสร้างสรรค์ที่ดี สื่อมวลชนก็เอามาบอกกล่าวคนในสังคมนี้ ใครมีความคิดริเริ่ม มีการค้นพบ หรือได้ความรู้อะไร มีความคิดใหม่ๆ ทำอะไรๆ ที่เป็นการสร้างสรรค์ สื่อมวลชนก็เอามาสนับสนุน เอามาช่วยเผยแพร่ให้ อันนี้จะเป็นประโยชน์มาก

๔. ข้อสุดท้ายคือ เป็นผู้นำในทางสร้างสรรค์ที่จะพาสังคมไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ซึ่งเป็นเรื่องของการนำในทางความคิด ที่บอกว่าเป็นผู้สร้างทัศนคติ ค่านิยม มติมหาชน และกระแสความคิดที่ถูกต้อง

ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ที่ขอกล่าวโดยย่อ ซึ่งทางสื่อมวลชนย่อมทราบกันดีอยู่แล้ว

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.