พุทธศาสนากับชีวิตและสังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความแตกต่างในสังคมชาวพุทธ

เมื่ออยู่ในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงยังมีความแตกต่างกันไปได้มากมายในหมู่ชาวพุทธ แม้แต่ขั้นที่เป็นอุดมคติ ที่เราเรียกว่าเป็นอริยสงฆ์ หรือเดิมเรียกว่าเป็น สาวกสงฺโฆ (ศัพท์ว่าอริยสงฆ์นั้น เดิมท่านไม่ค่อยใช้หรอก ความจริงศัพท์เดิมที่ใช้ คือ สาวกสงฺโฆ แม้ในบทสวดสังฆคุณยังใช้ว่า สาวกสังโฆ)

สาวกสังโฆ หรือสาวกสงฆ์ นี่ก็ประกอบไปด้วยบุคคล ๔ ระดับ เราเรียกว่าเป็นโสดาบัน เป็นสกทาคามี เป็นอนาคามี และเป็นอรหันต์ และแยกซอยออกไปในแต่ละขั้นเป็น ๒ ชั้นอีก รวมแล้วก็เป็น ๘ อย่างในบทสวดสังฆคุณนั้น สาวกสังโฆมีความหลากหลายอยู่ในตัว มีความแตกต่างให้เห็นว่าในความก้าวหน้าทางชีวิตจิตใจนี้มันไม่เท่าเทียมกัน แต่เราก็มีความเคารพรักซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน สงฆ์ในระดับสังคมท่านนำมาสร้างเป็นรูปแบบขึ้นเรียกว่า ภิกขุสังโฆ (ภิกขุสังโฆนี่สมัยหลังเราเรียกว่า สมมุติสงฆ์ สมมุติสงฆ์นี้ศัพท์เดิมไม่มี ในเมืองไทยเรามาเรียกว่าสมมุติสงฆ์ แต่เดิมมีสาวกหรือ สาวกสังโฆ กับภิกขุสังโฆ)

ภิกขุสังโฆนี่ก็เป็นสงฆ์ในรูปแบบสำหรับใช้เป็นเครื่องสร้างสงฆ์ในอุดมคติที่เป็นทางจิตใจให้เกิดขึ้น สงฆ์ในทางจิตใจที่แท้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าไม่มีหลักปฏิบัติที่ออกมาเป็นรูปแบบก็ต้องอาศัยรูปแบบเป็นเครื่องช่วย ก็ได้ภิกขุสังโฆนี่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแกน ตัวรูปแบบที่จะมาช่วยหาทางสร้างสรรค์สาวกสังโฆที่เราเรียกว่าอริยสงฆ์ให้เกิดขึ้นต่อไป หรืออย่างน้อยเป็นหลักทางสังคมไว้ในระยะยาว และสงฆ์สองอย่างนี้ก็คาบเกี่ยวซึ่งกันและกัน ในแง่อริยสงฆ์หรือสาวกสงฆ์นั้น จะเป็นคนอยู่ในชีวิตอย่างไหนก็ได้ จะเป็นคฤหัสถ์ครองเรือน มีบุตรภรรยา เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี ก็เป็นไป ส่วนพระภิกษุสงฆ์นั้นถึงแม้จะไม่ได้ครองเรือน แต่อาจเป็นปุถุชนก็ได้ หรืออาจเป็นอริยบุคคลจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ก็ได้ อันนี้เป็นเรื่องของรูปแบบที่สร้างกันขึ้น

แต่รวมแล้วก็คือ มีหลักแห่งความแตกต่างหลากหลายรวมอยู่ด้วยกัน แม้แต่ในอุบาสกอุบาสิกาก็มีต่างกันไปอีก อย่างพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตร อุบาสก นอกจากแบ่งโดยความเป็นสาวกสังโฆระดับต่างๆ แล้ว ก็ยังแบ่งเป็นพวกพรหมจารี เป็นกามโภคี คือ เป็นพวกที่ถือพรหมจรรย์ก็มี เป็นผู้ที่ครองเรือนก็มี และผู้ที่บรรลุธรรมแล้วก็มี มีความหลากหลายไปอีก

พระสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ที่ทำงานเก่งๆ มีคุณสมบัติพิเศษก็ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในด้านต่างๆ เอตทัคคะในทางปัญญาบ้าง ในทางฤทธิ์บ้าง ในทางเป็นนักอยู่ป่าบ้าง ในทางเป็นพหูสูตบ้าง ความประพฤติปฏิบัติก็แตกต่างกันไป พระสารีบุตรส่วนมากอยู่เมือง พระมหากัสสปะส่วนมากอยู่ป่า ได้รับยกย่องว่า เป็นนักถือธุดงค์ หรืออย่างพระอานนท์นี่อยู่เมืองตลอดเลย แทบจะไม่เคยอยู่ป่า แต่ก็เป็นองค์สำคัญที่ทำให้พุทธศาสนาสืบต่อมาได้ พระภิกษุทั้งหลายมีความแตกต่างกันไปตามความถนัด แม้บรรลุธรรมเป็นวิสุทธิบุคคลแล้วก็ดำเนินชีวิตไปต่างๆ

บางคราวมีผู้มายกย่องพระพุทธเจ้า บอกว่าพระองค์นี่ทรงเก่งเหลือเกิน ถือข้อปฏิบัตินี้เคร่งครัด ถือข้อปฏิบัตินั้นเคร่งครัด พระองค์ฉันอาหารน้อย สันโดษ ชอบอยู่สงัด จึงเป็นที่เคารพบูชาของหมู่สาวกทั้งหลาย พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่าท่านอย่ามายกย่องเราเลยในข้อปฏิบัติเหล่านี้ สาวกไม่ได้เคารพบูชาเพราะเรื่องเหล่านี้ดอก โน่น...สาวกองค์นั้นของเราถือปฏิบัติเคร่งครัดกว่าเราในเรื่องนี้อีก ส่วนข้อนั้นองค์นั้นก็เคร่งครัดเก่งกว่าเรา ถ้าจะเอาเรื่องฉันน้อย เรื่องอยู่ป่า เป็นต้นเป็นหลัก พระที่เคร่งเหล่านั้นก็คงไม่บูชาฉัน1 พระพุทธเจ้าไม่ว่าอะไร ข้อปฏิบัติบางอย่างก็ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องที่แตกต่างกันได้ บางอย่างแตกต่างกันไม่ได้ หมายความว่า ในความแตกต่างมากเหล่านี้มีหลักการบางอย่างที่เป็นแกนอยู่ หลักการที่เป็นแกนว่า ถ้าหากว่าเป็นชาวพุทธแล้วนะ ก็ควรมีอย่างนี้เป็นอย่างน้อย ต่อจากนั้นไปแล้วก็เป็นส่วนพิเศษ ใครจะถือได้ก็ดีก็ยกย่อง แต่ไม่ว่าอะไรกัน ไม่ถือเป็นผิดเป็นถูก หรือว่าใครดีกว่ากัน คงมีความเคารพซึ่งกันและกัน เพราะว่าการถือปฏิบัติเคร่งครัดหรือถือวัตรในเรื่องหนึ่ง อาจทำด้วยเหตุผลหลายอย่างต่างกัน

เราดูพระมหากัสสปะเป็นตัวอย่าง การถือข้อปฏิบัติเคร่งครัด บางทีถือเพื่อฝึกตน บางทีก็เป็นเพราะท่านผู้นั้นเห็นว่าตัวเรามีความมัวเมามามากในด้านนี้ เราก็เลยถือวัตรข้อนี้ ปฏิบัติให้มันเคร่งครัดพิเศษ เพราะว่าเรานี่มันหนักไปทางนี้มาก เราต้องแก้โดยพยายามฝึกตัว ดัด หรือข่มให้หนักในเรื่องนี้ ส่วนคนอื่นเขาไม่ได้มีความมัวเมาในด้านนี้ เขาก็ปฏิบัติพอดีอยู่แล้วไม่ต้องถือ หรือเขาอาจไปเอาในทางด้านอื่นให้หนัก หรือว่าท่านที่บรรลุธรรมแล้ว ถ้าถือปฏิบัติเคร่งครัดอย่างพระมหากัสสปะ มีใครถามท่าน ท่านก็บอกว่าที่ท่านถือปฏิบัติเคร่งครัดอันนี้ ท่านไม่จำเป็นก็จริง แต่ท่านถือเพื่อประโยชน์ ปัจฉิมาชะนะตานุกัมปะมานะสา คือ ด้วยใจอนุเคราะห์แก่ชนผู้จะเกิดตามมาภายหลัง คือ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชนรุ่นหลัง อันนี้หมายความว่าเพื่อประโยชน์แก่สังคมเพื่อประโยชน์แก่ชุมชนอย่างหนึ่ง

ข้อปฏิบัติต่างๆ นั้นเราวางกันขึ้นตามแนวนี้ อย่างหนึ่งเพื่อฝึกตน อีกอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์แก่ชุมชน เพื่อสังคม เพื่อความเรียบร้อยดีงามของหมู่คณะและส่วนรวม

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้บรรลุธรรมแล้ว บางที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติข้อปฏิบัติอะไร เพราะว่าท่านพ้นไปแล้ว แต่ท่านปฏิบัติเคร่งครัดเพราะท่านต้องการให้เป็นตัวอย่างไว้ หรือเพื่อความสงบเรียบร้อยอย่างนี้ เป็นต้น

1ม.ม. ๑๓/๓๒๔-๘/๓๑๘-๓๒๑
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.