พุทธศาสนากับชีวิตและสังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

อัตตหิตสมบัติ กับ ปรัตถปฏิบัติ

ในเมื่อศัพท์เหล่านี้เป็นคำสมัยใหม่เสียแล้ว ก็ไม่ต้องไปค้นเรื่องศัพท์กันละ เราลองไปค้นดูหลักการของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับเรื่องนี้กันดีกว่า มีวิธีค้นได้หลายอย่าง อย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างง่ายหน่อย ก็คือ ที่เราสวดพุทธคุณกันบ่อยๆ อย่างง่ายๆ ว่า อรหํ สัมมา สัมพุทโธ ภควา พุทธัง ภควันตัง อภิวาเทมิ หรือจะสวดอย่างเต็มตามแบบแท้ๆ ก็ว่า อิติปิ โส ภควา อรหัง สัมมา เรื่อยไปจนถึง ภควาติ อันนี้ก็เป็นบทพุทธคุณ แต่ว่าพุทธคุณนี้มีถึง ๙ ข้อ เราไม่ต้องมาพรรณนากันว่ามีอะไรบ้าง เพราะสวดกันอยู่เสมอ แต่ลองมาพิจารณาสาระของพุทธคุณเหล่านี้ ท่านบอกว่าที่จริงพุทธคุณนี้ แม้จะมีมากมายอย่างที่สรุปมาทีหนึ่งแล้วเป็น ๙ แต่จะสรุปให้ย่อลงไปอีกก็ได้ สรุปง่ายๆ มี ๒ อย่างเท่านั้น คือ อัตตหิตสมบัติ กับ ปรัตถปฏิบัติ

อัตตหิตสมบัติ แปลว่า ความพรั่งพร้อมแห่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน อันนี้แปลตามรูปศัพท์

ปรัตถปฏิบัติ แปลว่า การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

พุทธคุณทั้งหมดก็สรุปได้แค่นี้ พอพูดมาถึงตรงนี้ ก็จะมีแง่ใกล้เคียงกับเรื่องชีวิตและสังคม ชักพอมองเห็นแล้วว่าหลักการของพระพุทธศาสนาตั้งแต่พุทธคุณไปทีเดียว ก็มีเรื่องนี้ คือ มีอัตตหิตสมบัติ ความพรั่งพร้อมแห่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน เช่น มีคุณธรรมพรั่งพร้อม มีสติปัญญาที่จะพึ่งพาตัวเองได้ พูดตามสำนวนปัจจุบันก็คือ เรื่องของชีวิตซึ่งเป็นตัวบุคคลอย่างหนึ่งและอีกด้านหนึ่ง ปรัตถปฏิบัติ การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็คือ เรื่องของสังคม

อันนี้เราอาจจะขยายความต่อไปอีก บอกว่า ในอัตตหิตสมบัติ ที่ว่าประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนนั้นมีอะไรบ้าง แล้วท่านก็ขยายต่อไป บอกว่าประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนา หรือสิ่งที่เป็นจุดหมายของชีวิตมนุษย์ เราแบ่งได้ ๓ ขั้น คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ (หรืออย่างที่เราเรียกให้ยาวออกไป โดยเอาภาษาไทยเข้าไปปน เป็นทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ แต่ความจริงบาลีก็คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะเท่านั้น) อรรถะที่เป็นทิฏฐธัมมิกัตถะ ก็คือ ประโยชน์ที่เป็นปัจจุบัน หรือที่มองเห็นๆ เช่น ทรัพย์สินเงินทอง การมีฐานะทางเศรษฐกิจเป็นอยู่ได้ เลี้ยงตัวเองได้ ยังชีพได้ มีความเป็นอยู่ดี มีฐานะในสังคม มีเกียรติยศชื่อเสียง เป็นต้น

ต่อไปคือ สัมปรายิกัตถะ เป็นขั้นที่ ๒ คือ ประโยชน์ที่เป็นขั้นเบื้องหน้า หรือเบื้องสูงขึ้นไป ที่เป็นหลักประกันชีวิตในอนาคต หรือตลอดไปจนกระทั่งภพหน้า ได้แก่ ประโยชน์ทางจิตใจ ความมั่นใจในคุณธรรม ความดีงาม คือ มีศรัทธา มีศีล มีความประพฤติดีงาม มีจาคะ มีความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกื้อกูล แก่ผู้อื่น มีปัญญา จากนั้นก็ไปถึงประโยชน์ขั้นสุดท้าย คือ ปรมัตถ์ ประโยชน์สูงสุด ได้แก่ ความมีจิตใจเป็นอิสระ หลุดพ้นจากทุกข์และกิเลสทั้งปวง

อันที่จริงที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่เราได้เรียนรู้กันมาประโยชน์ ๓ ขั้นนั้นก็ซอยออกไปจากอัตตหิตสมบัติ--ประโยชน์ส่วนตน ส่วนปรัตถปฏิบัติ--การปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ก็คือ เพื่อประโยชน์เหล่านี้แหละ

คำว่า 'ให้เกิดแก่ผู้อื่น' สำนวนในปัจจุบันก็คือ ให้ประโยชน์เกิดขึ้นแก่สังคม ให้สังคมมีประโยชน์พรั่งพร้อมทั้ง ๓ ประการ ทั้ง ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ และปรมัตถะ นี้ก็แสดงถึงแนวคิดทางพุทธศาสนาที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตและสังคม

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.