พุทธบริษัทกับพระธรรมวินัย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

(อาจารย์ระวี) มีเรื่องที่กระผมอยากจะขอแสดงความเห็นบ้างเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน หลักการที่กระผมอยากจะกล่าวถึงก็คือว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นแทนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เดิมซึ่งเข้าใจว่าเป็นฉบับ พ.ศ. ๒๔๘๔ การตราพระราชบัญญัติ ๒๕๐๕ นั้น เป็นการกำหนดระบอบการปกครองคณะสงฆ์ว่าจะปกครองกันแบบไหน และแบบที่เลือกนั้นก็สอดคล้องกับแนวทางของการปกครองในระยะนั้น ถ้าเราได้ทบทวนกันสักหน่อยก็จะรู้ว่า เป็นยุคที่เรียกว่าเผด็จการเฟื่องฟู มีการดำเนินการหลายประการซึ่งรวบอำนาจการปกครองไปไว้ที่องค์กรหรือแม้กระทั่งบุคคลคนเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้ที่ออกมาก็เพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองในสมัยนั้น แต่บ้านเมืองนี้ก็ได้พัฒนามาแก้ไขตัวเองมาเรื่อยๆ โดยคนในบ้านในเมืองรู้ว่าอะไรดีอะไรเหมาะสม แล้วในบัดนี้ เราเชื่อว่าเราต้องมาสู่ยุคของประชาธิปไตย จะมากหรือน้อยกี่ส่วนของใบก็ตามทีเถอะ เรายืนยันว่าเราเป็นประชาธิปไตย แต่ว่าพระราชบัญญัติของคณะสงฆ์เราก็ยังใช้รูปแบบเดิม คือรวบอำนาจการปกครองไว้กับองค์กรที่เรียกว่า มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นรัฐบาลของคณะสงฆ์คือของพระนั่นเอง เพราะฉะนั้นโดยหลักการอันนี้ก็แน่นอนผู้ที่อยู่ในวงการคือฝ่ายสงฆ์เองทั้งหลายที่ได้ศึกษาและได้ถูกปกครองอยู่นั้นจะมีความกระวนกระวายว่า มันไม่เหมาะสมแก่ยุคแก่สมัย มันควรจะเปลี่ยนแปลง อันนี้กระผมขอนำเอาหลักการมาว่า

บ้านเมืองใดก็ตามถ้าหากว่าปรารถนาจะนำเอาพระศาสนาเข้ามาใช้ ก็ควรจะทำให้เหมาะสมกับยุคสมัยนั่นข้อหนึ่ง และอีกประการหนึ่งแนวทางการปกครองในสมัยพุทธกาลนั้น ก็เป็นแนวทางที่อยู่ในรูปแบบของประชาธิปไตยมากกว่าที่จะเป็นการรวบอำนาจอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องรีบพิจารณา เพราะว่าปรากฏการณ์โพธิรักษ์นี้หรือปรากฏการณ์สันติอโศกนี้ เป็นการท้าทายอย่างหนึ่ง ในบ้านเมืองใดถ้ารัฐมีปัญหามีประชากรไม่พอใจในระบอบการปกครอง ก็จะต้องมีผู้ตั้งตัวอย่างที่กระผมว่าไว้นี่มาเป็นผู้ท้าทาย ผู้ใดท้าทายอำนาจปกครองก็จะต้องถูกรัฐใช้อำนาจปราบปราม หากว่าฝ่ายปกครองเข้มแข็งก็ทำได้โดยเร็ว ถ้าไม่เข้มแข็งก็เป็นเรื่องยืดเยื้อ แม้ว่าผู้ที่กระทำวิปริตจากพระธรรมวินัยรายอื่นอาจมีอยู่อีก แต่ตราบใดยังไม่ท้าทายอำนาจที่ปกครองอยู่ก็ยังพอจะเอาตัวรอดไปได้นานพอใช้ และก็อาจอยู่ต่อไปอีกแม้ว่าผู้ที่ทั้งผิดทั้งท้าทายได้ถูกอำนาจปราบปรามไปแล้ว เพราะอีกไม่นานก็คงจะลืมกัน เพราะว่าเมื่อไม่มีใครมาท้าทายแล้วก็คงจะไม่ต้องมีการดำเนินการอะไร ทั้งๆ ที่ในแง่ของพระธรรมวินัยแท้ๆ นั้นกระผมก็ยังเห็นว่า มีความวิปริตอันเป็นภัยอันตรายอีกมากมายที่จะต้องแก้ไข

ในเรื่องนี้ก็มีท่านผู้ที่มาร่วมประชุมด้วยได้ส่งความคิดเห็นขึ้นมา กระผมก็ขอถ่ายทอดความคิดเห็นอันนั้น (แต่ด้วยเหตุที่กระผมไม่อยากจะให้เกิดความกระทบกระเทือนโดยไม่จำเป็น ในขั้นนี้กระผมก็จะขอละเว้นบางประโยคเสีย) คำถามก็คือ ในปัจจุบันนี้มีสถานที่ที่ได้มีการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นมาอีกมากมายหลายสิบแห่ง อาจจะว่าหลายร้อยก็ได้ เป็นสถานที่เล็กๆ ก็เกิดมีมากมายแต่ไม่ค่อยดัง ที่มีความดังมากๆ ก็มีอยู่สองแห่ง (ผมว่าอาจจะมากกว่าสองก็ได้) ท่านยกตัวอย่างมาผมจะไม่กล่าวชื่อล่ะ กรุณากราบเรียนท่านเจ้าคุณขอการเปรียบเทียบว่า ก. ได้มีการศึกษาเล่าเรียนการปฏิบัติผิดแผกออกไปจากพระธรรมวินัยแตกต่างกันเพียงใด ข. ควรจะมีฝ่ายของศาสนา (อันนี้ก็คงจะหมายความถึงฝ่ายที่ปกครองคณะสงฆ์) เข้าไปชี้แจงแนะนำก่อนที่จะปล่อยปละละเลยตลอดมาเป็นเวลานาน ค. จนทำให้แต่ละคณะนึกคิดไปเองว่า ตนเองได้กระทำไปอย่างถูกต้องแล้ว และดำเนินต่อไปอีกจนมีผู้คนเข้าไปเลื่อมใสนับถือเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ง. หรือจะปล่อยไว้ให้โตขึ้นใหญ่ขึ้นก่อนแล้วจึงมาแจ้งว่าคณะนั้นๆ ได้กระทำผิดธรรมวินัย ถ้าปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้จะกระทำให้เกิดการขัดแย้งโต้เถียงกันเองมากขึ้น ท่านผู้เสนอความคิดเห็นบอกว่าเป็นการสร้างศัตรูในด้านจิตใจของชาวพุทธ คำถามก็คือว่าแก้เสียแต่ต้นมือได้หรือไม่เพียงใด ถ้าท่านเจ้าคุณเห็นว่าสมควรจะตอบแค่ไหนเพียงใดก็สุดแต่พระคุณเจ้า

(พระเทพเวที) เจริญพร ก็เข้ากับเหตุผลที่อาตมภาพได้พูดเมื่อกี้นี้ คือว่าในที่สุดแล้วปัญหาอยู่ที่การศึกษา ขณะนี้ก็คือ การศึกษาพระธรรมวินัยนี้ย่อหย่อนมาก จึงเป็นทางให้เกิดความวิปริตผิดเพี้ยนต่างๆ อันนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ มันเป็นเรื่องของสังคมวงกว้าง เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เราควรจะวิเคราะห์ในวงกว้าง มันไม่ใช่เรื่องปัญหาของคณะสงฆ์อย่างเดียว อาตมาขออธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและปรากฏการณ์ทางสังคมนี้เล็กน้อย คือว่าสังคมของเรานี้ได้เปลี่ยนแปลงมาสู่การรับอารยธรรมตะวันตกประมาณหนึ่งศตวรรษมาแล้ว พอเรารับระบบของตะวันตกเข้ามา รับระบบการศึกษา ระบบการปกครอง ระบบการจัดการสังคม อะไรต่างๆ เข้ามาจากตะวันตก พร้อมกับการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกด้วย ตอนนั้นประชาชนมีความตื่นเต้นชื่นชมต่ออารยธรรมตะวันตกมาก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันหนึ่งซึ่งเป็นที่น่าสังเกตก็คือว่า การแยกกันระหว่างสถาบันพระศาสนากับสังคมทั่วไป คือประชาชนทั่วไปหันความสนใจไปยังภายนอก หันความสนใจไปสู่สิ่งที่มาจากภายนอกสังคมของตน คือสังคมตะวันตก และก็ตื่นเต้นสนใจพยายามที่จะเข้าถึงความเจริญแบบนั้น ในเวลาเดียวกันเขาก็หันหลังให้กับวัฒนธรรมประเพณีและสถาบันเดิมที่มากับสังคมของตนเอง ส่วนในฝ่ายสถาบันศาสนาที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมประเพณีก็ไม่ได้ปรับปรุงตัวให้รับมือกับความเจริญสมัยใหม่ ไม่เป็นผู้นำประชาชนในการที่ว่าจะปฏิบัติต่อวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาอย่างไร ก็หันมาพยายามที่จะรักษาตัวให้รอด พยายามที่จะยึดวิธีแนวปฏิบัติเดิมวัฒนธรรมประเพณีของตนเองให้เหนียวแน่นที่สุด พยายามรักษาไว้ก็เกิดความแข็งทื่อขึ้นมา

ต่อมาก็ปรากฏว่าสถาบันศาสนานี้ห่างไกลจากสังคมวงนอกจนกระทั่งถึงระยะหนึ่งแล้วพูดกันไม่รู้เรื่อง ภาษาที่พูดกัน พระหรือสถาบันวัดสถาบันศาสนาพูดอย่างหนึ่งชาวบ้านไม่เข้าใจ ชาวบ้านพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ความเปลี่ยนแปลงแม้แต่ทางจริยธรรมที่เกิดขึ้น พระไม่รู้สึกว่ามีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมรับผิดชอบ เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นมานาน จนกระทั่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน กลายเป็นความเหินห่างแปลกแยกกันระหว่างสถาบันวัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งสถาบันศาสนากับสังคมวงกว้างที่หันไปทางอารยธรรมตะวันตก อันนี้มันก็มาถึงจุดอย่างที่บอกเมื่อกี้คือว่า ชักพูดกันไม่รู้เรื่อง

ต่อมาก็มีปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมใหม่เกิดขึ้นคือว่า สังคมที่วิ่งตามความเจริญแบบตะวันตกนี้ได้เริ่มมีความผิดหวังเกิดขึ้นอย่างน้อยในบางส่วน คนจำนวนหนึ่งเริ่มเบื่อหน่าย ไม่รู้สึกว่าความเจริญสมัยใหม่นี้จะนำไปสู่ความสุขและความหมายที่แท้จริงของชีวิตได้ ที่จริงปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกเองด้วยและเริ่มขึ้นก่อนด้วยซ้ำ สังคมตะวันตกก็มีความผิดหวังในความเจริญทางวัตถุของตนเองและก็มีขบวนการต่างๆ เกิดขึ้น อย่างที่เราได้ยินแม้แต่ขบวนการฮิปปี้ แล้วก็ต่อด้วยขบวนการศาสนาตะวันออกมีเซน โยคะ วัชรญาณเข้าไป อย่างปัจจุบันนี้ตะวันตกก็สนใจศาสนาตะวันออก สนใจสมาธิอะไรต่ออะไรมาก สำหรับในสังคมไทยของเรานี้ ทั้งสภาพสังคมภายในที่มีความเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมโทรม คนไม่สมหวังต่อความเจริญนั้น แล้วก็อิทธิพลจากตะวันตกที่เข้ามาที่มีคนหันกลับมาสนใจคุณค่าทางศาสนาและจิตใจอีก ก็ทำให้คนในสังคมไทยจำนวนหนึ่งหวนกลับมาสนใจเรื่องคุณค่าทางจิตใจ หันมาสนใจข้อปฏิบัติทางศาสนา เช่น สนใจสมาธิ

ถ้าท่านหันหลังกลับไปเมื่อสามสิบปีที่แล้วมา คำว่า “สมาธิ” เป็นคำที่คร่ำครึมาก คำว่า “สมถะ” เป็นคำสำหรับล้อกัน คำว่า “วิปัสสนา” หมายถึงการนั่งทางในเห็นโน่นเห็นนี่ เป็นที่ดูถูกของประชาชน คนสมัยใหม่ไม่ยอมรับ มองสิ่งเหล่านี้ด้วยความรู้สึกที่เหยียดหยาม อันนั้นเป็นสภาพที่เป็นมาประมาณสามสิบสี่สิบปี แต่ปัจจุบันนี้มันกลับตรงกันข้าม คำว่าสมาธินี้กลับเฟื่องฟูขึ้นมามีความหมายที่ดีมีความรู้สึกได้รับความนิยม คนสามารถพูดถึงด้วยความภูมิใจว่าฉันนี่ไปนั่งสมาธิปฏิบัติสมาธิ อันนี้เป็นการหมุนกลับของสังคม พอสังคมชาวบ้านเริ่มมีการหมุนกลับหันมาสนใจทางศาสนา เขาก็หาแหล่งสถาบันที่จะสนองความต้องการ แต่มาถึงจุดนี้สถาบันศาสนาพูดกันไม่รู้เรื่องแล้ว ไม่สามารถจะสนองความต้องการของเขาได้ ก็ทำให้ประชาชนเกิดความเคว้งคว้าง ยิ่งกว่านั้น คนในสถาบันศาสนาเองจำนวนไม่น้อยซึ่งถูกมองว่าล้าหลังกลับไปชื่นชมใฝ่นิยมความเจริญแบบสมัยใหม่ ในขณะที่คนในสังคมภายนอกเขาเริ่มเบื่อหน่ายหรือหันกลับแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ ประชาชนจำนวนมากจึงต้องแสวงหาด้วยตนเอง แสวงหาค้นคว้าด้วยตนเอง มีคนหนึ่งกลุ่มหนึ่งพูดจาแสดงคำสอนที่น่าเชื่อถือมีอะไรแปลกๆ คนก็ไปฟังกัน จนกระทั่งเกิดเป็นกลุ่มเป็นก้อนกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ขึ้นมาซึ่งไม่ขึ้นไม่ฟังต่อองค์การคณะสงฆ์ จะเห็นว่ามีความแปลกแยกเกิดขึ้นในวงการพระศาสนาในเมืองไทย คนเหล่านี้ไม่มองที่สถาบันพระศาสนาเพื่อการแสวงหาสิ่งที่เป็นคุณค่าทางจิตใจหรือการปฏิบัติทางศาสนา เขาไม่ได้มองมาทางมหาเถรสมาคมว่าจะเอื้ออำนวยหลักการปฏิบัติเรื่องสมาธิหรืออะไรทำนองนี้ อันนี้เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น ทำให้มีกลุ่มมีสำนักอะไรต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นแล้วขยายตัวขึ้นมา ในระยะยาวก็เกิดความขัดแย้งกันเองเพราะต่างคนต่างแสวงหาและในที่สุดก็กลับมาขัดแย้งกับสถาบันใหญ่เอง สถาบันใหญ่กลับตัวมาพูดจากับสังคมปัจจุบันนี้แทบไม่ทัน ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ นี่เป็นคำอธิบายเรื่องความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้สถาบันพระศาสนานี้กลับมามีความหมายต่อสังคมได้ กลับมาทำหน้าที่ต่อสังคมได้ ขณะนี้เราพูดได้ว่าสถาบันพระศาสนาไม่มีบทบาทในการเป็นผู้ชี้นำทางแก่ชาวพุทธในการให้คุณค่าทางจิตใจหรือการปฏิบัติทางพระศาสนาใช่หรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องของความอ้างว้างของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง และเป็นความแปลกแยกในสังคมที่เราจะต้องแก้ไข เราต้องตระหนักในปัญหาให้ดี ถ้าเรายอมรับว่าในระยะยาวสงฆ์หรือพระภิกษุทั้งหลายนี้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นผู้ชี้นำแสงสว่างทางปัญญา เป็นผู้นำทางจิตใจแล้ว เราจะต้องช่วยกันปรับปรุงหรือเร่งเร้าให้มีการปรับปรุงกิจการพระศาสนา โดยเฉพาะการศึกษานี้ ให้พระสงฆ์ทั้งหลายมีคุณภาพมีความสามารถที่จะกลับมาทำหน้าที่ต่อสังคมได้อีก เป็นหลักใจของประชาชน ถ้าหากว่าเราเดินกันในทิศทางนี้ อาตมภาพว่าจะเป็นการเดินในทิศทางที่ถูกต้อง แล้วมันอาจจะเป็นทางแก้ปัญหา

แต่จุดเริ่มอยู่ที่ไหน จุดเริ่มอยู่ที่ชาวพุทธทุกคน การที่อาตมภาพได้เขียนได้พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ความประสงค์สำคัญก็อยู่ที่ต้องการทำความเข้าใจ ต้องการชี้แจงให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ปัญหาคืออะไร ประเด็นของเรื่องอยู่ที่ไหน ที่อาตมภาพเข้ามาเขียนเรื่องกรณีสันติอโศกนั้น ไม่ใช่เป็นการเริ่มต้นเรื่องนี้เลย หนังสือพิมพ์บางฉบับไปลงทำนองว่า หนังสือกรณีสันติอโศก เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ซึ่งผิดความจริงอย่างไกลลิบลับ เพราะเราเห็นกันอยู่แล้วว่า ก่อนการเลือกตั้งคราวที่แล้วนั้นมีหนังสือพิมพ์ลงเรื่องปัญหากรณีสันติอโศกที่ว่ากันไปว่ากันมาโจมตีกันไปโจมตีกันมา พูดได้ว่าด่ากันไปด่ากันมารุนแรงมาก อาตมามีความรู้สึกเมื่อได้อ่านสิ่งเหล่านั้นว่า นี่ทำไมเขาพูดกันไม่เป็นเหตุเป็นผล ทำไมต้องใช้คำรุนแรงแล้วก็ไม่เข้าประเด็น ก็มีความรู้สึกอยู่ว่าน่าจะต้องเขียนชี้แจงทำความเข้าใจ เรื่องการทำความเข้าใจนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ขณะนี้ประชาชนและสังคมของเรากำลังขาดสิ่งนี้ แต่ตัวอาตมภาพเองก็มีงานมากเหลือเกินไม่สามารถจะปลีกเวลามาได้ จนกระทั่งเห็นว่ามันมีปัญหาเกี่ยวกับความจริงเช่นความไม่ซื่อตรงต่อความจริงอะไรต่างๆ เข้ามาด้วย รวมทั้งการพูดไม่เป็นเหตุเป็นผล ในที่สุดก็จึงตัดสินใจเขียนกรณีสันติอโศกขึ้นมา

ในเมื่อเขาว่ากันไปนัวเนียตั้งยาวนานแล้ว ทำให้คนสับสนมาก อาตมาจึงเห็นว่าควรสร้างความเข้าใจให้ชัดเจน โดยเขียนหนังสือกรณีสันติอโศกนั้นซึ่งออกมาในเวลาสี่โมงเย็นวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่เสร็จสิ้นการเลือกตั้งไปแล้ว ถือว่าเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจโดยพยายามที่จะปลีกตัวจากเรื่องการเมือง เพราะปัญหาเรื่องนี้มันไปโยงใยกับเรื่องการเมืองเข้าด้วย เราพูดให้เขารู้สึกว่าเราไม่เกี่ยวข้องการเมืองนี้ยาก พอใครพูดเรื่องสันติอโศกขึ้นมาหลายคนจะระแวงว่ามีปัญหาการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ และเพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องนี้จึงมีความซับซ้อนและยากที่จะพูด แต่อาตมภาพรู้สึกว่าเลี่ยงไม่ได้ถ้าเราจะรักษาพระธรรมวินัย และก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่เฉพาะตัวเองเท่านั้น แต่จะต้องเตือนต้องกระตุ้นเร่งเร้าพุทธศาสนิกชนให้มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อพระศาสนา และก็เป็นการชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่นักการเมืองที่อาจจะขึ้นมาครองอำนาจโดยมีเป้าหมายทางศาสนา อันนี้ก็เป็นโอกาสหนึ่งที่เราควรจะมากระตุ้นเตือนกันให้หันคืนต่อความมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อพระศาสนา อย่างที่พระพุทธเจ้าฝากพระศาสนาไว้ว่า พระองค์ต้องการให้ชาวพุทธทุกคนทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในพระศาสนาสามารถที่จะชี้แจงแก้ไขสิ่งที่เรียกว่า ปรัปวาท หรือคำสอนที่เป็นสิ่งนอกพระศาสนานี้ให้เข้าใจกันให้ถูกต้องได้ อันนี้ก็เป็นวัตถุประสงค์อย่างหนึ่ง ถือว่าเป็นการมากระตุ้นกันให้มีจิตสำนึกอันนี้ขึ้น ปลุกเร้าจิตสำนึกอันนี้ขึ้น

เมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเข้าไปด้วย เขาก็อาจจะพุ่งเป้ามาที่เราอย่างหลีกไม่พ้น แต่เราก็ถือว่าเรามีใจที่ซื่อตรงต่อพระธรรมวินัยเป็นเกณฑ์ จุดหมายหลักของเราอยู่ที่นี่ เราก็มองไปด้วยแม้แต่นักการเมืองไม่ว่าเขาจะระแวงเราหรือไม่ หรือจะเห็นเราเป็นเครื่องกีดขวางหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เราหวังจากเขาก็คือ ถ้าเขาเห็นแก่พระศาสนาจริงๆ ก็อย่าเห็นแก่ประโยชน์ทางการเมืองของเขา ได้แค่นี้ก็เป็นพอแล้ว ถ้าเขาทำได้แค่นี้ เขาเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาพระศาสนาจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงและรักพระศาสนาก็ให้เห็นแก่พระศาสนาเป็นอันดับหนึ่ง และประโยชน์ทางการเมืองก็เป็นเรื่องรองลงไปหรือว่าสละได้ (ที่จริงก็ควรสละได้นั่นเอง) ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ต้องมามีปากมีเสียงกันระแวงว่าท่านทำเรื่องนี้เกี่ยวกับการเมืองเข้าข้างโน้นข้างนี้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่ามันเป็นปัญหาพระศาสนาหรือเปล่า ถ้าเป็น เราต้องแก้ จะกระทบการเมืองของใครเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านไปว่ากันเองในแง่ของนักการเมือง ฉันทำหน้าที่พระศาสนาของฉันแล้ว อันนี้ก็ขอพูดไว้

อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการมองปัญหานี้ มีการพูดพยายามให้เป็นฝักเป็นฝ่ายตลอดจนใช้คำว่าฝ่ายของสันติอโศกกับฝ่ายของมหาเถรสมาคม มีการพูดโดยใช้คำว่า พระของสันติอโศก พระของมหาเถรสมาคม อันนี้อาตมภาพมองว่าเป็นการสร้างภาพที่ผิดพลาดมากจนกระทั่งว่าประชาชนมองข้อเท็จจริงไม่ออก อาตมภาพมองปัญหาเรื่องสันติอโศกหรือพระโพธิรักษ์นี้ว่าเป็นเพียงปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในพระศาสนา ในดินแดนประเทศไทย ในคณะสงฆ์ไทยที่กว้างขวางมาก เดี๋ยวก็มีปัญหาที่หย่อมโน้น เดี๋ยวก็มีปัญหาที่หย่อมนี้ เป็นปัญหาเล็กบ้างใหญ่บ้าง ปัญหาเรื่องเจ้าคุณอุดม เรื่องเครื่องราช ปัญหาเรื่องอาจารย์ซ่วน ปัญหาเรื่องพระโพธิรักษ์ เกิดขึ้นมาที่โน่นที่นี่บ้าง แม้จะมีลักษณะต่างกันมาก แต่ก็ล้วนเป็นปัญหา มีความสำคัญคนละแง่ละแบบ ซึ่งเราจะต้องแก้ไขทั้งนั้น เราไม่รู้สึกว่าจะต้องมาเป็นข้างฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ มันไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมีสันติอโศกฝ่ายหนึ่งมหาเถรสมาคมฝ่ายหนึ่ง มหาเถรสมาคมที่จริงแล้วไม่สามารถที่จะเป็นฝ่ายกับใครได้ เพราะเป็นเพียงองค์กรที่ทางบ้านเมืองได้ตั้งขึ้นตามกฎหมายให้มีหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ ถ้าปกครองไม่ดีก็ถือว่าตัวเองบกพร่องทำหน้าที่ย่อหย่อนอ่อนแอ ถ้าทำหน้าที่ได้ดีก็ถือว่าสามารถทำการคณะสงฆ์ให้เรียบร้อย พระสงฆ์ที่ถูกปกครองทั้งหมดก็พระไทยด้วยกัน มีดีมีชั่วแตกต่างกันไปมากมาย ที่ชอบมหาเถรสมาคมก็มี ไม่ชอบก็มาก ท่านถูกปกครองโดยมหาเถรสมาคม แต่จะไปเรียกท่านว่าเป็นพระมหาเถรสมาคมย่อมไม่ถูกต้อง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เป็นอันว่าอาตมามองปัญหาโพธิรักษ์เป็นเพียงปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในพระศาสนา ในวงการพระสงฆ์ไทย ที่เราจะต้องช่วยกันแก้ไขเท่านั้น ไม่มีเรื่องของฝ่าย ถ้ามีเรื่องของฝ่ายขึ้นมาแล้ว จะมองปัญหาผิดพลาดไปมากทีเดียว ก็ขอเสนอความเข้าใจอันนี้ไว้ด้วย

ทีนี้มาพูดถึงเรื่องกฎหมายคณะสงฆ์ด้วย จากตอนแรกของคำปรารภของท่านอาจารย์ระวีเมื่อกี้ ความจริงอาตมาได้บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า ตัวเองนี้ไม่อยากยุ่งด้วยกับปัญหากฎหมาย เพราะว่าประเด็นที่อาตมาเข้ามาเกี่ยวข้องขีดเขียนนั้นเป็นประเด็นเรื่องการรักษาพระธรรมวินัย ถือว่าเป็นพระภิกษุที่มีความรับผิดชอบต่อพระธรรมวินัยต่อพระศาสนา ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสฝากพระศาสนาไว้ ทีนี้เรื่องกฎหมายก็มาเกี่ยวข้องเพียงในแง่ของหลักความจริง หมายความว่า เรื่องกฎหมายก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ในที่สุดก็หนีไม่พ้นเรื่องความจริง เนื่องจากได้มีการพูดถึงกฎหมายในแง่ต่างๆ เราจึงควรรู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายนี้ไว้บ้าง เราจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมาย การดำเนินการตามกฎหมายเป็นเรื่องหนึ่ง การทำความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขณะนี้เรากำลังพูดกันในแง่การทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย

กฎหมายคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันที่อาจารย์ระวี ภาวิไล ได้พูดว่าเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นฉบับล่าสุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อันนี้ก็เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นระยะเวลาในช่วงของการรวบอำนาจรัฐ ส่วนในทางสงฆ์ รัฐก็มีความเห็นว่าการปกครองคณะสงฆ์ไม่ควรใช้หลักกระจายอำนาจ ซึ่งเท่ากับบอกว่าควรจะใช้หลักรวมศูนย์อำนาจ ก็เลยแสดงเหตุผลไว้ในการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับนี้และก็ตั้งกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับนี้ขึ้นมา ซึ่งอาตมาก็บอกแต่ต้นแล้วว่า อาตมาเห็นว่าควรจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทีนี้กฎหมายฉบับนี้ก็ยังใช้อยู่ ตามหลักของกฎหมายข้อนี้ก็คือ ได้ตั้งองค์กรปกครองคณะสงฆ์ขึ้นมา เรียกว่า มหาเถรสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน สมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขของคณะสงฆ์ทั้งหมด ใช้อำนาจทั้งสามอย่างผ่านทางมหาเถรสมาคม อันนี้ขอให้เป็นที่สังเกต ตามปกตินั้นตามหลักกระจายอำนาจ ประมุขของรัฐคือ พระมหากษัตริย์อย่างในบ้านเมืองจะทรงใช้อำนาจ ๓ อย่างแยกกระจายออกไป ใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา ใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล และใช้อำนาจตุลาการทางศาล

ทีนี้ในเมื่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับนี้บอกว่าไม่ควรใช้หลักกระจายอำนาจ ก็คือรวบอำนาจให้สมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขใช้อำนาจทางเดียวคือ มหาเถรสมาคม มหาเถรสมาคมก็กลายเป็นองค์กรปกครองสงฆ์สูงสุด ใช้อำนาจทั้ง ๓ อย่างพร้อมไปในตัว คือมีทั้งอำนาจนิติบัญญัติตรากฎหมายคณะสงฆ์ เช่น กฎมหาเถรสมาคม คำสั่งมหาเถรสมาคม อะไรต่างๆ และใช้อำนาจบริหารปกครองคณะสงฆ์ มีเจ้าคณะต่างๆ ปกครองลดหลั่นกันไป เริ่มแต่เจ้าคณะหนซึ่งแบ่งเป็น เจ้าคณะหนกลาง หนเหนือ หนตะวันออก หนใต้ และมีเจ้าคณะภาค ๑๘ ภาค มีเจ้าคณะจังหวัด ๗๐ กว่าจังหวัด มีเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ลงไปจนถึงเจ้าอาวาส และก็ใช้อำนาจตุลาการที่ทางพระเรียกว่า วินัยธร ทางมหาเถรสมาคมเช่นเดียวกัน มหาเถรสมาคมก็เป็นศาลสูงสุดเป็นศาลฎีกาอยู่ในตัวเสร็จหมดเลย เพราะฉะนั้นเป็นอันว่าขณะนี้องค์กรคณะสงฆ์ที่เรียกว่า มหาเถรสมาคมใช้อำนาจปกครองสงฆ์โดยสมบูรณ์รวบรัดเบ็ดเสร็จแห่งเดียว

บางท่านไปเข้าใจว่ามหาเถรสมาคมเป็นสมาคมชนิดหนึ่ง อันนี้เป็นความเข้าใจผิดพลาดอย่างมาก คำว่ามหาเถรสมาคมนี้เราจะต้องพูดถึงประวัติกันสักหน่อย เพราะคำว่ามหาเถรสมาคมนี้เกิดก่อนที่เรามีการใช้คำว่าสมาคมในความหมายที่เข้าใจกันในปัจจุบัน เช่น คำว่า สมาคมนักหนังสือพิมพ์ สมาคมนักเทนนิส อะไรต่างๆ สมาคมเดี๋ยวนี้มีเยอะแยะ คำว่าสมาคมที่ใช้กันอยู่นี้เกิดมาภายหลังมหาเถรสมาคมนานมาก และทำให้คนเข้าใจความหมายของมหาเถรสมาคมเขวไปด้วย เฉพาะตอนนี้ท่านทั้งหลายก็เข้าใจพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันนี้ว่า เป็นพระราชบัญญัติรวบอำนาจให้ปกครองสูงสุดที่มหาเถรสมาคมแห่งเดียว โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน

ทีนี้ถอยหลังไปก่อน พ.ร.บ. ๒๕๐๕ ก็มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ใช้อยู่ก่อนเรียกว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช ๒๔๘๔ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๔๘๔ นี้เกิดขึ้นในยุคที่เริ่มมีประชาธิปไตยในประเทศไทย ตอนนั้นเมื่อบ้านเมืองมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา แล้วก็เห็นว่าการปกครองคณะสงฆ์ก็ควรจะอนุวัตรตาม ควรจะเลียนแบบตั้งเค้าโครงรูปให้เหมือนกับการปกครองฝ่ายบ้านเมืองด้วย ก็จึงได้ดำเนินการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับ ๒๔๘๔ ขึ้นมารับรูปแบบของการปกครอง จัดระบบเหมือนกับทางรัฐบาลเลย คือมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข แต่สมเด็จพระสังฆราชนั้นใช้อำนาจแยกกระจายเป็น ๓ ทาง โดยใช้อำนาจนิติบัญญัติทางสังฆสภา ตอนนั้นมีสังฆสภา ซึ่งมีอำนาจตรากฎของคณะสงฆ์ อะไรต่างๆ ขึ้นมา แล้วใช้อำนาจที่สองคืออำนาจบริหารทางคณะสังฆมนตรี มีสังฆนายกเป็นประธานเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรี แล้วใช้อำนาจที่สาม คืออำนาจตุลาการทางคณะวินัยธร ตกลงว่ามีสามฝ่าย คณะสังฆมนตรีก็แยกเป็นองค์การเหมือนกับที่คณะรัฐมนตรีมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ทางคณะสงฆ์ก็มี ๔ กระทรวง หรือ ๔ องค์การ ได้แก่ องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ องค์การสาธารณูปการ ในการปกครองระดับภูมิภาคก็มีคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด คณะสงฆ์อำเภอ ซึ่งแยกออกไปเป็นองค์การต่างๆ เหล่านี้ครบถ้วนเหมือนกัน แล้วทางคณะวินัยธรก็มีคณะวินัยธรชั้นต่างๆ ขึ้นมา อันนี้ก็เรียกว่า เลียนแบบการปกครองของฝ่ายบ้านเมือง นี้ก็เป็นยุคประชาธิปไตย

ย้อนหลังไปอีก อาตมาเล่าย้อนหลังแทนที่จะเล่าแต่ต้นมา ย้อนหลังไปก่อนหน้ายุคประชาธิปไตย เราก็มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์มานานแล้ว เป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรียกชื่อว่า พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ หรือเราเรียกกันง่ายๆ ว่า พ.ร.บ.สงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ใช้มาเป็นเวลานานจนถึงยุคประชาธิปไตยจึงเลิกไป กฎหมายคณะสงฆ์ฉบับนั้นก็มีมหาเถรสมาคม มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขเหมือนกับฉบับปัจจุบัน ฉบับปัจจุบันนี้เป็นฉบับที่ย้อนกลับไปเอาฉบับเก่าสมัยรัชกาลที่ ๕ มาใช้อีกครั้งหนึ่ง เป็นแต่เพียงเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ลักษณะทั่วไปแล้วคล้ายๆ กัน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ นั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่มีคำว่า มหาเถรสมาคม น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำว่า สมาคม ในประเทศไทย คำว่า “สมาคม” ในมหาเถรสมาคมนี้ จึงเกิดมีมานานแล้วตั้งแต่ ร.ศ. ๑๒๑ คือ พ.ศ. ๒๔๔๕ ก่อนที่เราจะมาใช้คำว่า “สมาคม” กันในปัจจุบันที่ทำให้เข้าใจไขว้เขวนี้ คำว่า “สมาคม” ในที่นี้ เป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ ไม่ใช่สมาคมของคนที่มารวมกลุ่มกันทำกิจกรรมบางอย่าง อย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นต้องแยกให้ถูก เป็นอันว่าเรามีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์กันมาตั้งแต่ก่อนยุคประชาธิปไตย

อาตมาเล่าอีกนิดหนึ่งว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้เป็นเรื่องประเพณีการปกครองของประเทศไทย ที่เรามีพระศาสนาคู่กับบ้านเมือง มีพุทธจักรกับอาณาจักร เรามีอาณาจักรและก็มีพุทธจักร เมื่อทางบ้านเมืองจัดการปกครองแบบสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่รับระบบตะวันตกเข้ามาแล้ว เริ่มมีพระราชบัญญัติขึ้นแล้ว ก็เลยมีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ขึ้นมาเพื่อให้มีการปกครองฝ่ายคณะสงฆ์คู่กับบ้านเมืองไปด้วย พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์นี้ ถ้าเทียบกับบ้านเมืองก็เท่ากับเป็นธรรมนูญการปกครองคณะสงฆ์นั่นเอง ควบคู่กับฝ่ายอาณาจักรที่มีรัฐธรรมนูญ ฝ่ายพุทธจักรมี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ขณะที่ฝ่ายบ้านเมืองตอนนั้นยังไม่มีรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ พระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดเป็นสมบูรณาญาสิทธิราช เรื่องนี้ก็ดำเนินมาจนกระทั่งถึงสมัยประชาธิปไตยจึงเกิดมีรัฐธรรมนูญขึ้นมา ฝ่ายบ้านเมืองจึงมีกฎหมายสูงสุดปกครองรัฐขึ้นมาควบคู่กับฝ่ายคณะสงฆ์ กฎหมายคณะสงฆ์ก็เป็นกฎหมายย่อยอันหนึ่งอิงอาศัยกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องประเพณีการปกครองที่เราควรจะทราบกัน แต่ปัจจุบันนี้เมื่อเราไม่ค่อยทราบประวัติเรื่องราวเหล่านี้ก็ทำให้มีปัญหาเช่นว่า ปัจจุบันนี้มีผู้ท้วง เช่น บอกว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้คนไม่มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา อันนี้บางคนก็ถึงกับบอกว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้จะต้องเป็นโมฆะ บางท่านก็เคยให้ความคิดเห็นมาที่อาตมา เขียนจดหมายมาแต่ไม่บอกชื่อว่าเป็นใคร คือถ้าบอกชื่อว่าเป็นใคร เราจะได้มีโอกาสพูดจาทำความเข้าใจ ก็เขียนมาเป็นเหมือนบัตรสนเท่ห์อธิบายซะเยอะแยะ แล้วก็บอกว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ใช้ไม่ได้ทำโดยคนปัญญาอ่อน ซึ่งอาตมาก็ไม่เกี่ยว เพราะอาตมาไม่ได้ไปมีส่วนร่วมทำ พ.ร.บ. นั้นด้วย ท่านผู้นั้นบอกว่า ตามปกติพระราชบัญญัติต่างๆ หรือกฎหมายที่เขาออกมาน่ะ เขาจะต้องให้คำจำกัดความ ถ้อยคำต่างๆ ที่ใช้ เช่นว่า คณะสงฆ์ ที่ว่าคณะสงฆ์ไทยคือใคร ก็ไม่ได้ให้คำจำกัดความไว้ พระภิกษุคือใครก็ไม่ได้ให้คำจำกัดความไว้ แล้วกฎหมายฉบับนี้จะไปใช้แก่ใคร จะใช้อำนาจปกครองแก่ใครไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นก็ใช้ไม่ได้ ท่านว่าอย่างนี้ นี่ก็เป็นข้อสังเกตเหมือนกัน ก็น่าพิจารณาว่า ทำไมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์จึงมีความบกพร่อง อันนี้อาจจะเป็นความจริงก็ได้

แต่เมื่อพิจารณาในอีกแง่หนึ่งเกี่ยวกับประเพณีการปกครองที่บอกว่า เป็นการปกครองฝ่ายรัฐคู่กับฝ่ายคณะสงฆ์หรือว่าพุทธจักรคู่กับอาณาจักร เรามีการปกครองมานานจนเป็นประเพณี กลายเป็นสิ่งที่ว่าเป็นประเพณีซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ร่วมกัน เพราะว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันนี้ก็สืบต่อมาจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับก่อน สืบต่อกันมาตามลำดับตั้งแต่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ แล้ว ถ้าหากว่าเราจะเข้าใจคำว่า “คณะสงฆ์ไทยคือใคร” อะไรต่างๆ เหล่านี้เราก็คงต้องไปยืนตามประเพณีที่เป็นมา ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราก็คงจะต้องทำความเข้าใจว่า กฎหมายคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันนี้เป็นโมฆะจริงหรือไม่ แต่ถ้าเราเข้าใจประเพณีการปกครองที่เป็นมาเราอาจจะมีแง่ของการพิจารณาเพิ่มขึ้น

ทีนี้ถ้าเราหวนกลับไปดูกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ปรากฏว่ามีลักษณะเช่นเดียวกัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้อาตมาว่าถ้าใครจะท้วงขึ้นมาก็คงแบบเดียวกับกฎหมายคณะสงฆ์ เพราะว่าคำต่างๆ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ไม่ได้ให้คำจำกัดความไว้ คำที่เป็นหลักคือคำว่า “ประเทศไทย” เช่น มีบัญญัติไว้ทำนองว่าประเทศไทยนี้เป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ “ประเทศไทยคืออะไร” ก็ไม่มีคำจำกัดความไว้ หรือมีพูดถึงเกี่ยวกับชนชาวไทยมากมาย เช่น หมวดหนึ่งจะพูดถึง สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย แล้วก็พูดไปมากมายเสร็จแล้ว “ชนชาวไทย” ก็ไม่มีคำจำกัดความว่าได้แก่ใคร ไม่เหมือนอย่างกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พูดถึงนิติบุคคลก็ต้องมีคำจำกัดความนิติบุคคลด้วย แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่มีคำจำกัดความ บางคนก็อาจจะท้วงขึ้นมาว่า เอ๊ะ ! ในเมื่อเป็นเช่นนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี่จะใช้แก่ใครเพราะชนชาวไทยก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ประเทศไทยก็ไม่รู้ว่าประเทศไหน ก็ลองพิจารณากันดู ตกลงว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ดี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ก็ดี เป็นกฎหมายสูงสุดของทั้งฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายคณะสงฆ์ หรือฝ่ายพุทธจักรกับอาณาจักร และก็มีลักษณะร่วมกันอย่างที่อาตมาว่ามา แต่ถ้าหากว่ากฎหมายคณะสงฆ์จะเป็นโมฆะด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ก็แล้วแต่ อาตมาก็คงไม่เกี่ยวข้อง และพวกเราก็ไม่เกี่ยวข้องเท่าไร สิ่งหนึ่งที่ควรจะทำก็คือ ถ้ากฎหมายคณะสงฆ์นี้เป็นโมฆะจริงก็ควรจะให้รับรู้กันเสีย พระสงฆ์ทั่วไปก็จะได้รู้ว่า ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร มิฉะนั้นเราก็จะอยู่ในสภาพคลุมเครือกันเรื่อยไป อันนี้อาตมาก็ขอฝากไว้อันหนึ่งด้วย เจริญพร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.