(อาจารย์ระวี) ในการที่กระผมจะเริ่มต้นการสนทนา กระผมก็ใคร่จะขอกระทำความเข้าใจทั้งต่อท่านผู้ที่มาร่วมฟังและทั้งต่อท่านเจ้าคุณซึ่งเป็นผู้ที่กระผมเคารพนับถือเป็นส่วนตัวตลอดมา และได้คุ้นเคยกับท่านมาเป็นระยะเวลายาวนาน สิ่งซึ่งกระผมใคร่จะกล่าวถึงก็คือว่า การประชุมในวันนี้เราได้ตระหนักดีถึงความสับสนความไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงเรื่องเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ซึ่งบ้านเมืองของเราได้ถือเอาเป็นศาสนาประจำชาติ และได้มีเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์เกิดขึ้น กระผมขอกราบเรียนว่าข้อสังเกตโดยส่วนตัวของผมนั้น ก็คือว่าผู้คนส่วนใหญ่ในบ้านเมืองที่ถือตัวว่าเป็นชาวพุทธนั้นรู้สึกว่ายังไม่มีความเข้าใจหลายประการเพียงพอในเรื่องของ พระธรรมวินัย ในพระพุทธศาสนา ดังนั้นการวินิจฉัยเรื่องราวและการตัดสินใจต่างๆ ที่จะมีผลเป็นอย่างไรในสังคมนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความคิดความเห็นของคนและโดยเฉพาะผู้มีสิทธิ์มีส่วนในการบริหารบ้านเมือง ถ้าหากว่าไม่ประกอบด้วยความเข้าใจในพระพุทธศาสนาในพระธรรมวินัยเพียงพอแล้ว การตัดสินใจต่างๆ ก็อาจจะไม่เป็นการตัดสินที่ถูกต้องได้
ในการประชุมในวันนี้กระผมหวังว่าแม้ในระยะเวลาสั้นๆ นี้ ด้วยความกรุณาของพระคุณเจ้าท่านเจ้าคุณพระเทพเวที อย่างน้อยผู้ที่เข้าร่วมประชุมนี้ก็อาจจะได้เห็นแง่มุมที่ถูกต้องในปัญหาทั้งหมด ที่กำลังเป็นเรื่องสับสนเป็นเรื่องขัดแย้งในบ้านเมืองของเราในการแถลงหรือว่าออกประกาศออกไปนั้น กระผมก็ได้มีรายการที่แสดงเอาไว้ว่าจะมีอะไรอยู่บ้างแล้ว แต่ก็จะมีข้อซึ่งไม่ได้อยู่ในนั้นและควรจะเพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งกระผมก็ขอนำเอาเข้ามาในระหว่างการอภิปรายนี้ด้วย กระผมมีความปรารถนาจะให้บรรยากาศของการสนทนาครั้งนี้เป็นบรรยากาศซึ่งเอื้อเฟื้อต่อกันและกันในทางจิตใจ และเอื้อเฟื้ออำนวยให้เราได้เจริญปัญญา ที่เราจะได้ร่วมกันแสวงหาความรู้ความเข้าใจเพราะเหตุว่าความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเท่านั้นที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องได้
กระผมขอกราบเรียนกับพระคุณเจ้าว่าความรู้ความเข้าใจในส่วนตัวของกระผมในเรื่องพระธรรมวินัยนั้นก็ยังอ่อนอยู่มาก แม้ว่าได้มีความสนใจเป็นส่วนตัวที่ได้ศึกษามาเป็นระยะเวลายาวนานในชีวิตก็ตาม เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่ามีข้อคิดความเห็นใดที่กระผมได้แสดงออกไปในที่นี้บกพร่อง ขาดตกบกพร่องหรือผิดไปก็ขอพระคุณเจ้าอย่าได้เกรงใจ และได้กรุณาแก้ไขโดยทันทีเพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่มาร่วมรายการทั้งหลาย และเพื่อประโยชน์แก่ส่วนตัวของกระผมด้วย แล้วก็ถ้าพระคุณเจ้ามีความประสงค์จะแสดงความคิดเห็นใดๆ ซึ่งแม้ไม่ได้อยู่ในคำถามแต่พระคุณเจ้าเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่การเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ดังที่เรารู้อยู่แล้วนั้น ก็ขอพระคุณเจ้าได้โปรดเมตตาให้ความรู้ความเข้าใจนั้นแก่ที่ประชุมนี้ด้วย
ในขั้นต้นนี้ กระผมก็ขอเข้าไปสู่เรื่องและผมก็ยังจะขออนุญาตอีกสักเล็กน้อยเพื่อจะแสดงความคิดเห็นในส่วนตัวของผมในเรื่องกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่องของศาสนา และเรื่องของการที่บ้านเมืองใดจะถือเอาศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะเข้ามาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น กระผมคิดว่าน่าจะมีเงื่อนไขประการใดบ้าง ตามความหมายที่ครอบคลุมกว้างขวางที่สุด ศาสนา คือระบบคำสอนที่ชี้นำการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุดเพื่อดำเนินชีวิตที่ดีงามตามความคิดของผู้ริเริ่มสอนซึ่งเรียกกันว่า ศาสดา หลักศาสนาจะอาศัยรากฐานความเชื่อหรือความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ของชีวิตและโลก ไม่ว่าจะประกาศความเชื่อหรือความรู้ความเข้าใจนั้นชัดแจ้งหรือไม่อย่างไร เมื่อมนุษย์แตกต่างกันหลากหลายด้วยประสบการณ์สภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางสังคม ก็เป็นธรรมดาที่โลกทัศน์ชีวทัศน์ของผู้คนประกอบกับสติปัญญาที่ได้พัฒนามาแตกต่างกันย่อมทำให้เกิดศาสนาขึ้นมากมายหลายรูปแบบในโลก
พระศาสดาของศาสนาพุทธนั้นทรงประกาศความรู้จริงแจ้งชัดในเรื่องโลกและชีวิต ที่เรียกว่าการตรัสรู้ หรือโพธิญาณ ในขณะเดียวกันการประกาศอันนี้ก็เป็นการเปิดเผยถึงศักยภาพภายในของมนุษย์ที่จะสามารถพัฒนาขึ้นเป็นความรู้ อันจะนำไปใช้เป็นรากฐานของการประพฤติปฏิบัติสำหรับชีวิตที่ดีงามถึงสุดยอดได้ คำสอนทางศาสนาพุทธนั้นเจาะจงถึงแต่ละบุคคลไม่เพียงแต่ในฐานะเป็นมนุษย์ แต่ในฐานะที่เป็นสัตว์ร่วมโลกที่เกิดมาร่วมรับรู้ทุกข์สุข เกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกับสัตว์โลกอื่นทั้งปวง พระพุทธเจ้าจึงสอนให้มีเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน และให้พัฒนาจิตใจและสติปัญญาเพื่อละความเศร้าหมองและดับความทุกข์อย่างสิ้นเชิง บทบาทสำคัญของพุทธบริษัทแต่ละคน คือการกระทำตามหน้าที่ความเป็นมนุษย์โดยไม่มีการแบ่งแยกเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ ท้องถิ่น และวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ เราแต่ละคนที่เกิดมาก็ได้ถูกกำหนดโดยท้องถิ่นด้วยให้เป็นพลเมืองของประเทศชาติ มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองที่ตนอาศัยเกิด แต่ละคนจึงไม่เป็นเพียงพลโลกแต่ต้องเป็นพลเมืองด้วย หมายความว่าต้องมีทั้ง ชาติ และ ศาสนา ซึ่งถ้าจะจำแนกอย่างกว้างๆ แล้วอาจจะกล่าวได้ว่าชาติเป็นสถาบัน เป็นที่พึ่งทางกายและศาสนาเป็นสถาบันที่พึ่งทางใจ บุคคลเดียวกันเป็นทั้งพลเมืองของประเทศชาติและส่วนใหญ่ก็ถือตนเป็นศาสนิกของศาสนาด้วย
พระพุทธเจ้าได้ทรงอุบัติขึ้นประกาศพระสัทธรรมและเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานก่อนประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยจะเริ่มต้นขึ้นหลายศตวรรษ การที่ชนชาติไทยนี้จะรวบรวมกันสร้างประเทศขึ้นเป็นปึกแผ่น และผู้ปกครองของประเทศจะนิยมยินดีรับและถือเอาศาสนาพุทธเป็นศาสนาของชาติหรือประจำชาตินั้น จะโดยมุ่งประโยชน์ใดก็ตามเป็นที่แน่นอนว่า ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎกเป็นพระพุทธพยากรณ์หรือพระพุทธบัญญัติหรือพระพุทธานุญาตไว้ ว่าสมควรตรากฎหมายกำหนดรูปแบบการปกครองและประเพณีปฏิบัติของพุทธบริษัทที่ถูกต้องอย่างไร เป็นหน้าที่ของผู้บริหารบ้านเมืองที่จะต้องมีสติปัญญาวิจารณญาณเพียงพอที่จะตราตัวบทกฎหมายให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย และเป็นการรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์ไว้ด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ควรที่จะสำนึกในหน้าที่ที่จะต้องเกื้อกูลพระศาสนาให้รุ่งเรือง สนับสนุนให้มีการศึกษาปฏิบัติธรรมวินัยอย่างถูกต้อง ไม่วิปริต มิใช่ว่าเอาแต่จะใช้ประโยชน์จากศรัทธาในพระศาสนาของผู้คน แล้วปล่อยให้เกิดความเสื่อมโทรมขึ้นในวงการต่างๆ ของพระศาสนา ดังที่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์อยู่ไม่น้อย กระผมขอเริ่มอย่างนี้แล้วก็ขอเริ่มกราบเรียนถามพระคุณเจ้า ท่านพระคุณเจ้ามีข้อวิจารณ์อะไรสิ่งที่กระผมได้พูดไปก็นิมนต์ ถ้าไม่มีกระผมก็ขอเข้าสู่คำถามที่กระผมจะถาม ก็คือว่า คำว่าธรรมวินัย พระธรรมวินัย นี้ ในขณะนี้ได้พูดกันมาก กระผมก็ใคร่กราบเรียนขอความกรุณาพระคุณเจ้าได้เริ่มต้นโดยการให้ความหมายของธรรมะและวินัยในพระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์เป็นพื้นฐานของการที่จะได้สนทนากันต่อไป ขออาราธนาพระคุณเจ้า
พระเทพเวที ท่านศาสนิกและท่านสาธุชนทั้งหลาย เริ่มแรกอาตมภาพขออนุโมทนาท่านอาจารย์ระวี ภาวิไล ในนามของธรรมสถานที่ได้จัดการสนทนาครั้งนี้ขึ้น โดยมีกุศลเจตนาตามที่ท่านได้พูดไว้ว่าต้องการให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนี้เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะทำให้เราสามารถคิดวินิจฉัยสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง แล้วก็สามารถแก้ปัญหาได้ถูกต้องดังที่ท่านได้กล่าวมาแล้ว ปัญหาในปัจจุบันของเรานี้ก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง คือการที่เราอยู่ในโลกและมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้สัมผัสกับปัญหาต่างๆ แต่คนจำนวนมากไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านั้น หรือไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ เมื่อไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอก็ทำให้คิดปรุงแต่งไปมากมายและก็จะทำให้เกิดความสับสนไขว้เขว การคิดวินิจฉัยต่างๆ ก็ผิดพลาดไปจากทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นความรู้ความเข้าใจถูกต้องนี้จึงเป็นความจำเป็นอันดับแรก ในหลักพระพุทธศาสนาก็ถือว่า ความรู้ความเข้าใจถูกต้องคือสัมมาทิฏฐินั้นเป็นองค์มรรคข้อแรกที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์แก้ปัญหาได้สำเร็จ หรือนำไปให้ถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา
ทีนี้ความรู้ความเข้าใจถูกต้องนี้ในตอนแรกเราก็มุ่งที่ความรู้ความเข้าใจถูกต้องต่อสถานการณ์และเรื่องราวที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ มีส่วนที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ในปัญหานี้ซึ่งพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ ก็คือเรื่อง ธรรมวินัย เพราะฉะนั้นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อปัญหาและสถานการณ์ปัจจุบันนี้ จึงเป็นเรื่องที่โยงมาหาความรู้ความเข้าใจพระธรรมวินัยด้วย เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์ระวี ภาวิไล ก็เลยยกเรื่องนี้ขึ้นมาถามก่อนเพราะเป็นเรื่องหลักหรือประเด็นสำคัญ แต่ในตอนแรกนี้ขอให้ทำความเข้าใจกันไว้ว่า ที่เรามาพบปะกันวันนี้นั้นจุดมุ่งหมายสำคัญก็มุ่งเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้องนี้ เพราะฉะนั้นสาระสำคัญที่ท่านอาจารย์ระวี ภาวิไล ได้พูดมาจึงนำมายกขึ้นตั้งเป็นเป้าหมายของการประชุมหรือสนทนาครั้งนี้ได้เลย
ทีนี้เรื่องธรรมวินัยนี้เป็นศัพท์ทางพระ คำว่าธรรมวินัยก็คือชื่อของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระศาสนาของพระองค์ก็เรียกสั้นๆ อย่างหนึ่งว่า ธรรมวินัยนี้ ธรรมวินัยนี้ ก็คือธรรมวินัยที่พระองค์ได้ประกาศสั่งสอน ถ้าแปลกันอย่างง่ายๆ ที่สุดก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง คำสั่งสอนหรือธรรมวินัยนี้ก็มาจากคำสองคำรวมเข้าด้วยกัน คือคำว่า ธรรมะ กับคำว่า วินัย คำว่า ธรรมะ ก็คือหลักธรรมคำสอนหรือหลักการของพระพุทธเจ้า นี่แปลกันอย่างง่ายๆ และ วินัย ก็คือระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์รูปแบบต่างๆ ที่ตั้งขึ้นโดยอาศัยหลักธรรมคำสอนนั้น และเพื่อทำให้คำสอนหรือหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นั้นเกิดผลเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา แล้วก็เป็นเครื่องเกื้อกูลแก่การนำเข้าสู่จุดมุ่งหมายของธรรมะคำสั่งสอนของพระองค์
ถ้าพูดถึง ธรรมะ นี้คนทั่วไปเข้าใจง่ายกว่า คือได้ยินอยู่เสมอว่าคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ วินัย นั้นเป็นระเบียบแบบแผนเป็นเรื่องรูปแบบ โดยมากจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระสงฆ์เพราะว่าวินัยนั้นเกิดขึ้นคู่กับสงฆ์ วินัยเป็นระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์กติกาของสังคม ตั้งขึ้นมาโดยความจำเป็นที่ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งสงฆ์ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมีแบบแผนความเป็นอยู่ ต้องมีกฎเกณฑ์สำหรับการอยู่ร่วมกันและการทำกิจการร่วมกัน เมื่อเกิดมีพระสงฆ์ก็เกิดมีวินัย และในวินัยนั้นก็ได้มีข้อบัญญัติต่างๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ เรามักจะเรียกสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นมาเป็นกฎเกณฑ์ต่างๆ ในวินัยว่าเป็น พุทธบัญญัติ มิให้ภิกษุทำความผิดอันนั้นอันนี้ เช่นว่า ภิกษุไปฆ่าสัตว์ เป็นความผิดทางวินัยก็จะบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดสถานนั้นสถานนี้ ถ้าไปฆ่ามนุษย์ก็จะบัญญัติอีกว่าเป็นความผิดที่หนักขึ้นไปจนกระทั่งขาดจากความเป็นพระ เป็นต้น ระเบียบแบบแผนต่างๆ ที่ตั้งขึ้นอย่างนี้ตลอดจนกฎเกณฑ์ในการเป็นอยู่ร่วมกันของพระสงฆ์ ระเบียบระบบการจัดกิจการของสงฆ์เช่นการประชุม การทำสังฆกรรม เมื่อมีงานของส่วนรวมเกิดขึ้น เช่นต้องการจะแต่งตั้งพระภิกษุรูปหนึ่งให้รับผิดชอบดูแลเรื่องลาภผลที่ได้มา เช่นมีการนิมนต์พระไปฉัน ก็จะมีพระภิกษุที่เป็นเจ้าหน้าที่จัดทำเป็นผู้นิมนต์พระ สงฆ์ก็จะตั้งขึ้นโดยประชุมกันแล้วก็แต่งตั้งพระภิกษุขึ้นรูปหนึ่งให้เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ เรียกว่า ภัตตุเทศก์ หรือเมื่อมีพวกผ้าจีวรเครื่องนุ่งห่มเกิดขึ้นสงฆ์ก็มาประชุมกันตกลงกันแต่งตั้ง (ท่านใช้คำว่า สมมติ คำว่า สมมติก็คือแต่งตั้ง) แต่งตั้งให้พระภิกษุรูปนั้นรูปนี้เป็นผู้ทำหน้าที่เก็บรักษาและแจกจ่ายจีวรอย่างนี้เป็นต้น หรือว่าระเบียบเกี่ยวกับการบวชการรับคนเข้ามาสู่พระศาสนานี้จะทำอย่างไรอย่างนี้เป็นต้น ล้วนแต่เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์กติกาการจัดระเบียบระบบของสังคมหรือการอยู่ร่วมกันให้เป็นไปได้ด้วยดี ทั้งหมดนี่เรียกว่าวินัย ธรรมและวินัยสองอย่างนี้รวมกันเข้าเป็นตัวพระพุทธศาสนา
ทีนี้สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้เป็นธรรมะนั้นก็เกิดจากการที่พระองค์ได้ค้นพบสัจธรรม สัจธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระพุทธองค์จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตามความจริงก็คงอยู่ตามธรรมดาของมัน เช่นว่ากฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัยที่เราเรียกว่า อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท หรือเรื่องพระไตรลักษณ์เป็นต้น อันนี้เป็นหลักธรรมดาธรรมชาติมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเพียงแต่ทรงค้นพบ เมื่อค้นพบแล้วก็นำมาเปิดเผยแสดงชี้แจงทำให้เข้าใจง่ายขึ้น ธรรมะแท้จริงก็คือตัวธรรมะที่เป็นธรรมชาติเป็นของที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน แต่ธรรมะอีกความหมายหนึ่งก็คือ เมื่อพระพุทธเจ้าค้นพบสัจธรรมนั้นแล้ว พระองค์เอามาแสดง คำสอนของพระองค์ที่แสดงถึงตัวสัจธรรมนั้นก็เรียกว่าธรรมะเหมือนกัน เพราะฉะนั้นธรรมะ ในความหมายสองอย่างนี้จะต้องเข้าใจแยกกันให้ถูกต้อง ทีนี้คำว่าธรรมะ ในคำว่าธรรมวินัยนี้ก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ค้นพบสัจธรรมแล้วนำมาประกาศเปิดเผยไว้ ส่วนวินัยนั้นก็เป็นเหมือนเปลือกหรือเป็นรูปแบบ เป็นเครื่องหุ้มห่อเพราะว่าธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือหลักการที่พระองค์ประกาศไว้นั้นถ้าไม่มีกลุ่มบุคคลไม่มีสถาบันไม่มีองค์กรที่จะช่วยดูแลรักษาทำหน้าที่ศึกษาปฏิบัติ นำสืบต่อกันมาตลอดจนทำการเผยแพร่ ไม่ช้าไม่นานคำสอนนั้นก็อาจจะหมดสูญหายสิ้นไปได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีการจัดตั้งรูปแบบและระบบขึ้นมาเพื่อจะธำรงรักษาธรรมะคำสอนของพระองค์ไว้ให้อยู่ในสภาพที่ถูกต้อง ให้มั่นคงบริสุทธิ์ตลอดไป เพราะฉะนั้น สองสิ่งนี้จึงเป็นคู่กัน ดังที่กล่าวมาแล้วว่าวินัยนั้นเกิดขึ้นเพื่อรักษาสงฆ์ให้คงอยู่ เป็นสิ่งที่คู่กับสงฆ์ และสงฆ์ก็คือชุมชนผู้ทำหน้าที่ที่จะศึกษาปฏิบัติและเผยแพร่ สืบต่อคำสอนหรือธรรมะนั้นสืบต่อไป นี้เป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมะกับวินัยซึ่งโยงไปถึงคำว่าสงฆ์ด้วย
ทีนี้อย่างที่อาตมาบอกแล้วว่าธรรมะนั้น ในที่นี้หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แสดงสัจธรรมอีกทีหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงตัวสัจธรรมเอง แล้วก็วินัยก็คือกฎเกณฑ์กติกาที่เป็นมาตรฐานในการจัดตั้งให้เป็นระบบรูปแบบนี้ ในระยะยาวเราก็จะต้องรักษากฎเกณฑ์ระเบียบต่างๆ เหล่านี้ไว้ มิฉะนั้นเราจะไม่รู้ว่ารูปแบบหรือระบบของสงฆ์เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นก็เลยมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาพระธรรมกับวินัยนี้ไว้ ก็คือรักษาทั้งสิ่งที่เป็นตัวคำสอน และรักษาระเบียบกฎเกณฑ์กติกาที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เพื่อให้รักษาหลักการอันนั้นไว้อีกทีด้วย ต้องรักษาทั้งสองอย่าง
ทีนี้ในการที่จะรักษานั้นก็มีวิธีการ วิธีการก็คือว่าการที่จะนำคำสอนสืบๆ ต่อกันมา ตอนแรกก็ต้องมีการประมวลธรรมะคือคำสอนของพระองค์ และประมวลวินัยกฎเกณฑ์กติกาที่พระพุทธเจ้าบัญญัติวางไว้นั้นเอามาทำให้เป็นหมวดเป็นหมู่รักษาไว้ให้ได้มั่นคง พอพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ก็มีการประมวลคำสอนและระเบียบบัญญัติของพระองค์ขึ้นไว้ การกระทำอย่างนี้เราเรียกว่า การสังคายนา ดังที่ปรากฏว่า หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๓ เดือน ก็มีการสังคายนาครั้งที่หนึ่ง รวบรวมคำสอนทั้งสิ่งที่เรียกว่าพุทธพจน์คือคำสอนของพระองค์ และพุทธบัญญัติคือสิ่งที่พระองค์ตราไว้เป็นระเบียบแบบแผนก็รวมเข้าไว้ ซึ่งต่อมาเราเรียกประมวลคำสอนและระเบียบต่างๆ นี้ว่า พระไตรปิฎก มีการจัดหมวดหมู่ขึ้นมา พระธรรมวินัยก็เลยปรากฏในรูปของสิ่งที่เรียกว่า พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกก็คือที่บรรจุไว้ซึ่งพระธรรมวินัยนั่นเอง
ในการจัดหมวดหมู่นั้นตามประเพณีเราจะบอกว่า พระไตรปิฎกประกอบด้วย หนึ่ง พระวินัยปิฎก สอง พระสุตตันตปิฎก สาม พระอภิธรรมปิฎก พระวินัยปิฎกเรียกง่ายๆ ว่า พระวินัย ก็คือวินัยดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ประการที่สองพระสุตตันตปิฎกเรียกสั้นๆ ก็ว่า พระสูตร ประการที่สามพระอภิธรรมปิฎกเรียกสั้นๆ ว่า พระอภิธรรม ข้อที่สองกับสาม คือพระสุตตันตปิฎก ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าพระสูตร กับพระอภิธรรมปิฎกหรือพระอภิธรรมนั้น ถ้าเรียกรวมกันก็คือธรรมะนั่นเอง หมายความว่าสองปิฎกหลังนั้นเป็นที่ประมวลของธรรมะ ตกลงว่าพระไตรปิฎกก็เป็นที่ประมวลและรักษาไว้ซึ่งพระธรรมวินัย เราก็ใช้พระไตรปิฎกนี้ที่ท่านสังคายนาขึ้นไว้นี้ เป็นมาตรฐานในการที่จะตรวจสอบหลักธรรมคำสั่งสอนและพระวินัยของพระศาสนานี้ แล้วก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะรักษาคำสั่งสอน ทั้งหลักการและรูปแบบกฎเกณฑ์ หรือธรรมวินัยที่อยู่ในพระไตรปิฎกนี้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อย่างที่อาตมาได้กล่าวเบื้องต้นไว้แล้วว่า เราต้องแยกให้ถูกระหว่างสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ซึ่งเป็นคำสอนที่แสดงถึงสัจธรรมกับตัวธรรมะที่เป็นสัจธรรม ธรรมะที่เป็นสัจธรรมนั้นเป็นความจริงอยู่ตามธรรมดาของมันเองอย่างที่บอกแล้วว่า ตถาคตคือพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธรรมะคือสัจธรรมก็เป็นอยู่ของมันอย่างนั้นเอง แต่ทีนี้คนทั้งหลายไม่สามารถล่วงรู้ถึงสัจธรรมได้ ทำยังไงจึงจะล่วงรู้ถึงสัจธรรมได้ ทั้งๆ ที่สัจธรรมมีอยู่แต่คนก็ไม่รู้ ก็เลยมีบุคคลที่มีปัญญามาค้นพบก็คือพระพุทธเจ้านี้ค้นพบและก็มาสั่งสอนสัจธรรมเอาไว้ ก็ปรากฏเป็นคำสอนสัจธรรม ซึ่งเรียกว่าธรรมเหมือนกัน
สำหรับธรรมะในความหมายที่หนึ่งคือสัจธรรมนั้น ไม่มีใครไปทำอะไรมันได้ มันอยู่ตามปกติของมันเช่นว่า ไม่มีใครไปสามารถดัดแปลงแก้ไขอะไรต่างๆ มันเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้น เรียกว่าเป็นภาวะที่เป็นอย่างนั้นเอง แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เราเรียกว่าธรรมะในความหมายที่สองนี้ มันเป็นสิ่งที่ปรากฏแก่เราโดยการถ่ายทอดด้วย ภาษา เป็นต้น เป็นสิ่งที่จะต้องอาศัยที่บรรจุ อาศัยบุคคลมากล่าวมาสอนกันต่อไป สิ่งนี้แหละเป็นสิ่งที่เราจะต้องระวังว่าเป็นตัวเดิมที่ตรงกับพระพุทธเจ้าสอนไว้หรือไม่ ถ้าหากว่ามีการดัดแปลงแก้ไขไปก็หมายความว่า คำสอนที่จะทำให้รู้ถึงสัจธรรมนั้นคลาดเคลื่อนไปแล้ว คำสอนนั้นก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่แสดงถึงสัจธรรมอีกต่อไป
ก็เหมือนกับว่าเราต้องการจะเดินทาง เราเดินทางไปสู่จุดหมายแห่งหนึ่ง ทางที่ไปสู่จุดหมายนั้นมีอยู่แต่เราไม่รู้ว่าจะไปได้ยังไง ก็มีคนหนึ่งที่มีความรู้ซึ่งเป็นผู้ชำนาญทางเรียกได้ว่าเป็นมัคคุเทศก์ ท่านผู้นี้จะช่วยให้คนอื่นได้รู้ ได้เดินทางได้ถูกต้อง ก็มาเขียนหนังสือคู่มือการเดินทางไว้ พร้อมทั้งเขียนแผนที่ไว้ด้วย ความรู้ในหนังสือคู่มือการเดินทางฉบับนี้พร้อมทั้งแผนที่ที่ท่านผู้นี้เขียนไว้นั้นซึ่งเป็นความรู้ที่ถูกต้อง เพราะว่าท่านรู้จริงแล้วก็เขียนไว้แล้วก็เขียนด้วยใจบริสุทธิ์ ต้องการให้ผู้อื่นได้รับความรู้ความเข้าใจจะได้เดินทางไปถูกต้อง ทีนี้ทางมันมีอยู่ของมันเอง ไม่มีใครไปแก้ไข แต่ว่าหนังสือคู่มือเดินทางและแผนที่นี้นะถ้าไม่ระวังให้ดีก็อาจจะมีคนมาดัดแปลงแก้ไข แล้วก็อาจจะเขียนแผนที่ใหม่หรือทำการลบเครื่องหมายอะไรต่างๆ ของเดิมขีดเส้นใหม่อะไรต่างๆ แล้วผลจะเป็นยังไง ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น มันจะเกิดปัญหาก็คือ หนังสือคู่มือการเดินทางเล่มนี้พร้อมทั้งแผนที่นั้นจะไม่สามารถนำเราไปสู่จุดหมายปลายทางได้ เพราะฉะนั้นเราจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาคู่มือเดินทางนี้ให้อยู่ในสภาพความรู้เดิมที่บริสุทธิ์ ตามที่ท่านผู้รู้ทางค้นพบทางชำนาญทางได้เขียนแสดงไว้ อันนี้อาตมาก็เลยพูดถึงความหมายของธรรมวินัยไว้และก็พูดถึงความสำคัญในการที่จะต้องรักษาเอาไว้ด้วย ขอเจริญพรเพียงเท่านี้ก่อน ถ้าพูดยังไม่ชัดเจนในแง่ใด ก็ขอได้กรุณาซักในรายละเอียดต่อไปด้วย
(อาจารย์ระวี) ขอบพระคุณครับ มีอีกคำหนึ่งที่เป็นชื่อการสนทนาของเราในวันนี้ คือ พุทธบริษัท พุทธบริษัทนี้ตามที่กระผมเข้าใจว่ามีอยู่ในสมัยพระพุทธกาลนั้นมี ๔ ด้วยกันคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ถ้าหากว่าจะจำแนกเป็นสองก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นฝ่ายสงฆ์และเป็นฝ่ายฆราวาส กระผมอยากจะตั้งข้อสังเกตว่าเราฝ่ายที่เป็นฆราวาสนั้นน่ะ เวลาเราจะศึกษาพระพุทธศาสนาและปฏิบัติพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่ฆราวาสทั้งหลายก็ดูจะสนใจแต่ทางด้านพระธรรม คือส่วนซึ่งเรียกว่าเป็นความจริงในชีวิตที่เราจะนำมาประพฤติปฏิบัติ และถ้าหากว่าจะมีส่วนวินัยอยู่บ้างก็เห็นจะเป็นส่วนง่ายๆ ที่เรียกว่าง่ายๆ ก็คือ เป็นหลักที่จำได้ง่ายเป็นต้นว่า ศีลห้า ศีลแปด เป็นต้นเท่านั้นเอง กระผมอยากจะตั้งข้อสังเกตว่า พระวินัยในกรณีของฝ่ายสงฆ์นั้นน่ะมีจำนวนมาก ซึ่งทำให้รู้สึกว่าบทบาทของพุทธบริษัทฝ่ายสงฆ์นี้ได้ทรงมอบหมายเป็นพิเศษกว่าบทบาทของอุบาสก อุบาสิกา หรือฝ่ายฆราวาส ซึ่งดูจะหย่อนให้มากทีเดียว จึงทำให้เมื่อมาพูดกันถึงเรื่องของสงฆ์ละเมิดพระวินัยอะไรเหล่านี้นี่ เราก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจและเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงอะไรต่างๆ เพียงพอ กระผมก็อยากจะให้พระคุณเจ้าได้แสดงชี้ให้เห็นความแตกต่างของวินัยของพระกับของฆราวาสที่เป็นพุทธบริษัท ว่าทำไมจึงแตกต่างกันอย่างมาก และให้เราเข้าใจในเรื่องเป็นพื้นที่จะได้เป็นฐานของความเข้าใจต่อๆ ไปในการสนทนานี้ ขอนิมนต์พระคุณเจ้า
(พระเทพเวที) เจริญพร ตอนต้นก็คงจะต้องพูดถึงความหมายของคำว่าพุทธบริษัทเล็กน้อย พุทธบริษัท ก็มาจากคำว่า พุทธะ กับ บริษัท คำว่าพุทธะก็ทราบกันดีอยู่แล้วก็คือ พระพุทธเจ้า ในที่นี้ก็คือของพระพุทธเจ้า และคำว่าบริษัท คำว่าบริษัทเดี๋ยวนี้เรามาใช้กันในความหมายทางธุรกิจไปก็เลยทำให้งง ก็อาจจะสับสนนิดหน่อย ที่จริงคำว่าบริษัทนี้ก็แปลว่าชุมชน กลุ่มชนหรือหมู่ชนนั่นเอง ทีนี้หมู่ชนหรือชุมชนในพระพุทธศาสนาหรือที่เป็นชุมชนของพระพุทธเจ้านี้ พระองค์ตรัสไว้ว่ามี ๔ หมู่ชน หรือ ๔ บริษัท เรียกว่าพุทธบริษัท ๔ หรือเรียกง่ายๆ ว่าบริษัท ๔ ภาษาบาลีเรียกว่า พุทธปริสา ๔ คำว่าบริษัทนี้เป็นสันสกฤต บริษัท ๔ นี้ก็มี ๑. ภิกษุ เป็นชุมชนที่หนึ่งหรือบริษัทที่หนึ่ง ๒. ภิกษุณี เป็นบริษัทที่สอง ๓. อุบาสก อีกบริษัทหนึ่ง และสุดท้าย ๔. อุบาสิกาอีกบริษัทหนึ่ง ภิกษุกับภิกษุณีนั้นอยู่ในประเภทเดียวกันคือผู้ที่บวชแล้ว เราเรียกชื่อรวมกันว่าบรรพชิต แล้วก็อุบาสกอุบาสิกานั้นเป็นชาวบ้านยังไม่ได้บวช เราก็เรียกชื่อรวมกันว่าคฤหัสถ์ แปลว่าผู้อยู่ครองเรือนหรือผู้อยู่ในเรือนนั่นเอง ก็เป็นอันว่าเมื่อรวมเข้าแล้วโดยย่อพุทธบริษัท ๔ ก็เหลือ ๒ เป็นบรรพชิตกับคฤหัสถ์ คือผู้ที่บวชแล้วกับผู้ที่ยังครองเรือน
ทีนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าพระศาสนาของพระองค์นั้นมีธรรมะกับวินัย อันนี้ก็ขอย้อนไป อยากจะโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างธรรมวินัยกับพุทธบริษัท ๔ ให้เห็นถึงหน้าที่ของพุทธบริษัททั้งสี่ต่อพระธรรมวินัย เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานพระองค์ได้ตรัสว่า “ธรรมและวินัยใดที่เราได้แสดงแล้วและบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไปแล้วธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย” อันนี้ก็ถือว่าพระพุทธเจ้าตรัสถึงมาตรฐานสัจธรรมในพระพุทธศาสนา ว่าเมื่อพระองค์นิพพานแล้วก็ให้ถือว่า พระธรรมวินัยนี้เป็นพระศาสดา นี้เป็นความหมายหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าพระองค์ไม่ได้ตั้งบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดไว้เลยให้สืบต่อเป็นศาสดาแทนพระองค์ นี่ก็คือให้เราถือหลักการนั้นเอง พูดง่ายๆ ว่าชาวพุทธนี้ถือหลักการรวมทั้งรูปแบบระบบที่พระพุทธเจ้าจัดตั้งไว้โดยอิงอาศัยหลักการนั้น อันนี้เป็นศาสดาของชาวพุทธที่เราจะต้องนับถือเคารพให้ความสำคัญช่วยกันดำรงรักษาสืบต่อไว้
อีกอันหนึ่งที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพุทธบริษัทก็คือว่า เหตุปรารภอย่างหนึ่งในการที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานหรือไม่ ในการที่พระองค์จะต้องทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่หรือจะหยุดเลิกวางมือได้เสียที อันนี้ก็คือเรื่องของพุทธบริษัทกับธรรมวินัยนี้ พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า ตราบใดที่บริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นี้ ยังไม่มีความรู้ชำนาญแตกฉานในพระธรรมวินัยคำสั่งสอนของพระองค์จนกระทั่งสามารถที่จะแก้ไขชี้แจงลัทธิภายนอกที่ปลอมปนเข้ามาได้ ถ้ายังไม่มีความสามารถถึงขนาดนี้พระองค์จะยังไม่ปรินิพพาน ตอนที่พระองค์จะปรินิพพานนั้น ก็มีเรื่องเล่าไว้ทำนองว่ามารได้มาทูลอาราธนา แล้วก็กราบทูลถึงเงื่อนไขนี้ว่าบัดนี้สมบูรณ์แล้ว พระองค์ก็ได้ทรงพิจารณาเห็นว่าในเวลานั้นบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และไม่เฉพาะแต่เพียงคร่าวๆ บริษัท ๔ เท่านั้นยังแยกแยะออกไปอีกว่าในบริษัท ๔ นี้แต่ละบริษัท คือ ภิกษุ ทั้งภิกษุที่เป็นเถระ ทั้งภิกษุที่เป็นมัชฌิมะ คือปานกลาง และภิกษุที่เป็นนวกะคือผู้ใหม่ หมายความว่า ทั้งพระผู้ใหญ่ ปานกลาง และพระผู้น้อย ทั้งหมดจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในธรรมวินัย และภิกษุณีก็เช่นเดียวกัน ทั้งเถรี ทั้งมัชฌิมา ทั้งนวกา ทั้งผู้ใหญ่ ผู้น้อย ปานกลาง แล้วก็ทั้งอุบาสกที่มีครอบครัวและไม่มีครอบครัว และก็อุบาสิกาที่มีครอบครัวและไม่มีครอบครัว ทั้งหมดนั้นจะต้องมีคุณสมบัติดังที่กล่าวมานี้ เมื่อพุทธบริษัททั้ง ๔ ครบถ้วนเหล่านี้มีความรู้ความชำนาญในคำสอนของพระองค์ จนปฏิบัติเองได้ถูกต้องและสามารถที่จะกล่าวแก้ไขป้องกันคำสอนธรรมวินัยจากการที่จะนำเอาคำสอนอื่นๆ เข้ามาแทรกได้แล้วพระองค์จึงจะปรินิพพาน และเมื่อพระองค์ได้ตรวจสอบเห็นว่าเป็นอย่างนั้นแล้วพระองค์ก็ได้ตัดสินพระทัยว่าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
อันนี้ก็แสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ฝากพระธรรมวินัยไว้ทั้งให้เป็นศาสดาของชาวพุทธ แล้วก็ฝากไว้ให้เป็นสิ่งที่เราจะต้องมีภาระรับผิดชอบในการที่จะศึกษาเล่าเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจถูกต้องแล้วก็ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันไป พร้อมทั้งรักษาไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุด นี้ก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของพุทธศาสนิกชนหรือพุทธบริษัทต่อธรรมวินัย ทีนี้ธรรมวินัยนั้นเมื่อกี้ได้ให้ความหมายไปแล้ว ในส่วนธรรมะนั้นก็เป็นหลักความจริงพร้อมทั้งความดีงามที่แสดงไว้โดยอิงอาศัยความจริงนั้นเพื่อเข้าถึงความจริงนั้น แต่ในส่วนวินัยนี้เราเน้นไปที่พระภิกษุ เพราะเหตุใดจึงเน้นไปที่พระภิกษุ เพราะว่าพระภิกษุนั้นเป็นผู้ที่มุ่งหน้าปฏิบัติเพื่อจะเข้าถึงอุดมคติของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เรียกว่าตัดห่วงตัดกังวลอะไรต่างๆ ภายนอกมาหมด ทุ่มเทเอาจริง เพราะว่าในเมื่อสมัครเข้ามาแล้วมาเป็นกลุ่มชนที่จะประพฤติปฏิบัติตามระบบของพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ถือว่าจะต้องประพฤติตามระบบและรูปแบบที่พระองค์วางไว้ เพราะว่าเขาสมัครใจเข้ามาแล้ว อันนี้ก็เป็นธรรมดาว่าวินัยนั้นจะต้องเน้นสำหรับผู้ที่ตั้งใจสละความกังวล สละห่วงใยพันธะในทางโลกออกมาแล้ว มาเข้าสู่แนวทางการปฏิบัติเพื่อฝึกเข้าสู่จุดหมายของพระศาสนาอย่างแท้จริง
สำหรับคนทั่วไปที่เราเรียกว่าชาวบ้านนั้น เขาก็มีความเลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่ยังไม่สามารถที่จะทุ่มเทได้โดยสมบูรณ์ ไม่สามารถอุทิศตัวได้เต็มที่ยังมีห่วงมีกังวลมีครอบครัว มีภาระในการทำมาหาเลี้ยงชีพต่างๆ เป็นต้น ในแง่นี้แล้วเราก็ถือว่าเขายังไม่ได้สมัครใจเข้ามา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจะไม่ได้บัญญัติวินัยเป็นข้อบังคับไว้ เพราะวินัยนี้เป็นเรื่องของการบังคับแต่เป็นข้อบังคับสำหรับคนที่สมัครใจ คือเราจะให้ข้อบังคับแก่ใครก็เป็นการบังคับที่ว่าเขาสมัครใจรับ คือพระพุทธเจ้าที่จริงก็ไม่ไปบังคับใครนั่นเอง เป็นแต่เพียงพระองค์บัญญัติระบบรูปแบบระเบียบไว้อย่างนี้แล้ว ถ้าเขาตกลงยินยอมเพราะเห็นชอบเขาก็สมัครเข้ามาแล้วก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ถ้าเขายังไม่พร้อมเขาก็ไม่สมัครเข้ามา เพราะฉะนั้นวินัยนี้ก็ไม่ไปผูกพันบังคับเขาได้ อันนี้ก็เป็นลักษณะของหลักการของพระพุทธศาสนาที่ว่าไม่ไปบังคับใคร อย่างไรก็ตามพระพุทธเจ้าก็วางหลักเกณฑ์ไว้เหมือนกันในการที่จะเป็นคนดีที่ชื่อว่าเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา พระองค์ก็วางภาคปฏิบัติไว้เป็นพื้นฐาน อย่างที่เรารู้จักกันเรียกว่าศีล ๕ ที่จริงถ้าว่าตามหลักแท้ๆ แล้วเรียกว่า สิกขาบท ๕ สิกขาบท ๕ ก็คือข้อฝึกหัด ข้อฝึกหัดเพื่อให้เรามีชีวิตที่พัฒนาขึ้นไปในคุณความดียิ่งขึ้นไป พื้นฐานนี้ก็มี ๕ ข้อด้วยกัน มีข้อละเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว อันนี้ก็เท่ากับว่าเหมือนเป็นวินัยของคฤหัสถ์ แต่พระองค์ได้ตรัสข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์ไว้อีก เช่นว่ากุศลกรรมบถ ๑๐ การเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ เข้าสู่กุศลกรรมบถ ๑๐ อันนี้ท่านก็ถือกันว่าเป็นวินัยของคฤหัสถ์เหมือนกัน สำหรับอุบาสกอุบาสิกา นอกจากถือศีล ๕ แล้วก็ควรจะเข้าสู่หลักที่เรียกว่ากุศลกรรมบถ ๑๐ ประการด้วย และนอกเหนือจากนี้พระพุทธเจ้ายังได้เคยตรัสแสดงคำสอนไว้สำหรับคฤหัสถ์อีกอย่างที่เราเรียกกันว่า สิงคาโลวาทะ หรือว่า สิงคาลกสูตร อันนี้ก็เป็นหลักเกี่ยวกับข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์หลายประการ จนกระทั่งถึงเรื่องอบายมุข ๖ ทิศ ๖ อะไรต่างๆ การคบมิตรอะไรต่างๆ นี้ท่านก็ให้ถือว่าเป็นวินัยของคฤหัสถ์เช่นเดียวกัน
แต่อย่างไรก็ตามอย่างที่บอกแล้วว่าพระพุทธศาสนาไม่เป็นศาสนาแห่งการบังคับ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่มีระบบการบังคับ เมื่อเขาไม่ได้ขอสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกในชุมชนที่พระองค์ตั้งขึ้นและวางระเบียบกำกับไว้ พระองค์ก็ไม่ไปกำหนดความผิดและการลงโทษทางวินัยที่จะบังคับแก่เขา ก็ให้เป็นเรื่องของการที่จะได้รับผลดีผลชั่วของกรรมดีหรือกรรมชั่วตามกฎแห่งกรรมอย่างเดียว อย่างไรก็ตามสำหรับพุทธศาสนิกชนที่เป็นคฤหัสถ์นั้นถ้าว่าตามแนวทางพุทธศาสนาแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าให้นัยะให้แนวทางไว้แล้ว ชุมชนคฤหัสถ์ก็ควรจะตกลงกันเองแล้วก็วางระบบระเบียบที่เรียกว่าวินัยกันขึ้นสำหรับหมู่พวกตนได้ จากพื้นฐานอย่างน้อยที่สุดศีล ๕ แล้วจะเอาอะไรมาเพิ่มให้เหมาะสมกับยุคสมัยตามคำสอนของพระองค์ก็สามารถจัดตั้งขึ้นมาได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่อาตมาเท่าที่สังเกตดูก็มีความรู้สึกอยู่ว่า ในหมู่ชาวพุทธนี่ไม่ค่อยเอาใจใส่ในเรื่องวินัย คือไปมุ่งแต่ตัวธรรมะ แล้วในแง่ของธรรมะนั้นก็เป็นเรื่องของความเป็นอิสระเสรีเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเราใช้สติปัญญาของเราเองในการที่จะพินิจพิจารณาในการที่จะเชื่อถือ และในการที่จะเลือกนำมาใช้นำมาปฏิบัติ แต่วินัยเมื่อเกิดมีขึ้นแล้วก็เป็นข้อตกลงของสังคมอย่างที่อาตมาบอกว่าในหมู่สงฆ์ สงฆ์ก็คือสังคมหนึ่งหรือชุมชนหนึ่ง วินัยก็เป็นเรื่องกฎเกณฑ์ของสังคมนั้นที่วางบัญญัติไว้ให้คนในสังคมนั้นมีความประพฤติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทีนี้สำหรับคฤหัสถ์ ถ้าหากว่าได้กำหนดสิ่งที่เรียกว่าวินัย คือระเบียบแบบแผนขึ้นไว้ เราก็จะมีสังคมชาวพุทธที่มีระบบของตนเองด้วยเช่นเดียวกัน อันนี้ก็เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าชี้แนะแนวทางในเรื่องวินัยของคฤหัสถ์ไว้ แต่ในการที่จะปฏิบัติในการที่จะนำมาวางก็เท่ากับว่ามีความยืดหยุ่นที่ชาวพุทธในยุคสมัยต่างๆ สามารถนำมาจัดวางให้เหมาะสมกับยุคสมัยหรือกาลเทศะของตนได้ ขอเจริญพรเท่านี้ก่อน
(อาจารย์ระวี) สำหรับวินัยของพระสงฆ์ซึ่งกระผมได้วินิจฉัยจากที่พระคุณเจ้าได้กรุณาชี้แจงมานี้น่ะ ก็หมายความถึงว่าเป็นวินัยของกระบวนการผู้ที่มีหน้าที่โดยเฉพาะที่จะจรรโลงพระธรรมวินัยหรือพระพุทธศาสนาให้อยู่ไปอยู่ยั่งยืนสถาพรไป เพราะฉะนั้นการที่พระสงฆ์จะต้องยึดถือพระธรรมวินัยเป็นวินัยเป็นข้อสำคัญนี้ก็เป็นความจำเป็นมากใช่ไหมครับ
(พระเทพเวที) เจริญพร วินัยนี้ก็คือสิ่งที่จะรักษาให้สงฆ์คงอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าสงฆ์สำคัญ วินัยก็สำคัญ คือ วินัยเป็นตัวที่ทำให้สงฆ์ดำรงอยู่ และให้สงฆ์อยู่ในระบบและรูปแบบที่เป็นไปตามพุทธประสงค์นั่นเอง