พัฒนาปัญญา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เลี้ยงลูกดี ลูกมีปัญญา พาทุกคนสุขสันต์1

เจริญพร รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ มาพอดีกับจะมีการถวายพจนานุกรมแด่ในหลวง อาตมภาพก็เลยมานึกถึงเรื่องชาดกเกี่ยวกับเรื่องถวายของ รับพระราชทานของ ในทำนองนี้ แต่เป็นเรื่องที่อาจจะขำๆ หน่อย ก็เลยนำมาเล่าให้โยมฟัง และก็เข้ากับหัวข้อธรรมที่กำลังพูดอยู่ด้วย คือเรื่องปัญญา ในชาดกนี้ก็เป็นเรื่องการใช้ปัญญาเหมือนกัน ก็ขอนำเรื่องเบาๆ มาเล่าอีกเรื่องหนึ่ง ท่านเล่าว่า

ในอดีตกาลนานมาแล้ว เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เสด็จอุบัติเป็นลูกของพราหมณ์คนหนึ่ง พราหมณ์นี้เป็นคนยากจนมาก ทำอาชีพไถนา แต่แกก็มีความเพียรพยายามดี และอุตส่าห์เลี้ยงลูกอย่างดี ลูกคือพระโพธิสัตว์นี้ชื่อ โสมทัต

โสมทัตได้เล่าเรียนศึกษาวิชาการจนกระทั่งจบ แล้วก็ได้เข้ารับราชการ เมื่อรับราชการก็เจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองมาก จนกระทั่งได้มียศมีตำแหน่งสูง ได้เป็นคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัว

คราวหนึ่ง โสมทัตมาเยี่ยมพ่ออีกตามที่เคยมาเยี่ยม คราวนี้ พ่อพูดขึ้นมาว่า “นี่นะ โสมทัต เดี๋ยวนี้ลูกก็ไปเข้ารับราชการจนได้ดีแล้ว เป็นคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัวนี่ ลองหาโอกาสให้พ่อเข้าไปเฝ้าในหลวงสักครั้งสิ”

โสมทัต ก็บอกว่า “เอาสิ พ่อ ผมจะพาพ่อไปเข้าเฝ้าในหลวงสักทีหนึ่ง แต่พ่อต้องเตรียมตัวไว้นะ”

พ่อนึกอะไรขึ้นมาได้ก็บอกว่า “เอ้อ! ไหนๆ จะไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินสักที ก็ให้มันได้อะไรสักหน่อย พอดีนะ วัวที่พ่อใช้ไถนาคู่หนึ่ง มันตายเสียตัวหนึ่ง เราไปขอพระเจ้าอยู่หัวมาอีกตัวหนึ่ง จะได้มาเข้าคู่กันให้มันครบ”

โสมทัตก็บอกว่า “ตกลง แต่ว่าจะไปขอในหลวงเฉยๆ นี่ มันก็ไม่ค่อยดี พ่อไปครั้งนี้ครั้งแรก อึกอักจะไปขอ ก็ยังไงอยู่ เอาอย่างนี้ดีกว่า ให้มีชั้นเชิงหน่อย ผมจะแต่งเป็นโคลงกลอนให้พ่อท่องไว้แล้วก็เอาไปว่าให้ในหลวงฟัง ถ้าว่าเป็นกลอนเป็นโคลงอย่างนี้ละก็ ไม่น่าเกลียด”

ฝ่ายท่านพราหมณ์ไม่รู้หนังสือ ไม่เคยเล่าเรียนเลย ก็บอกว่า “เอ้อ! ข้าฯ ก็พูดไม่เป็นหรอก คำราชาศัพท์อะไรต่างๆ นี้ ลูกช่วยสอนหน่อยก็แล้วกัน” โสมทัตก็เลยแต่งเป็นคาถา คาถาภาษาบาลี ก็คือโคลงฉันท์กาพย์กลอนนี่เอง

โสมทัตแต่งให้พ่อท่องว่า

“โคของข้าพระพุทธเจ้าคู่หนึ่ง
ข้าพระพุทธเจ้าใช้ไถนาทุกวัน
บัดนี้ ตัวหนึ่งตายไป
ขอรับพระราชทานอีกตัวหนึ่ง จะได้ไปเข้าคู่กัน”

โสมทัตแต่งให้แล้วก็มอบให้พ่อ พ่อเป็นคนปัญญาทึบ และก็ไม่รู้หนังสือด้วย จึงให้ลูกสอนแล้วก็มาท่องๆ แล้วก็ทบทวนให้แม่น เพื่อความแน่ใจ

ท่านพราหมณ์นั้น ตัวเองก็ไม่เคยเข้าวัง คิดว่าต้องท่องให้แม่นยำที่สุด และขอเวลาลูก ปล่อยให้ลูกกลับไปรับราชการตามปกติก่อน รอให้แน่ใจแล้วค่อยพาเข้าเฝ้า ท่องกันมานานทีเดียว จนกระทั่งพราหมณ์นี่ก็แน่ใจว่า เอาละ คราวนี้แม่นแล้ว เข้าเฝ้าได้แน่ ก็เตรียมซักซ้อมวิธีเข้าเฝ้ากันอย่างดีทีเดียว บอกว่าให้เข้าไปอย่างนี้ๆ พอถึงตอนนั้นแล้วให้ว่าโคลงกลอนนี้ขึ้น

เมื่อถึงวันที่กำหนด โสมทัตก็พาพราหมณ์ผู้เป็นพ่อไปเข้าวัง เข้าเฝ้าในหลวง พิธีก็เป็นไปด้วยดี จนกระทั่งถึงตอนที่จะว่าคาถาเป็นโคลงกลอน ท่านพราหมณ์นี้ไม่เคยเลยที่จะไปพูดกะในหลวง ก็ประหม่า เมื่อประหม่าก็ว่าลำบาก คาถานั้นก็ท่องไว้อย่างดีแล้ว แต่เวลาเอาเข้าจริง กลับนึกไม่ค่อยออก ว่าไปได้แต่ตอนแรก ก็ท่องออกมาว่า

“โคของข้าพระพุทธเจ้าคู่หนึ่ง
ข้าพระพุทธเจ้าใช้ไถนาทุกวัน
บัดนี้ ตัวหนึ่งตายไป...”

เอ! ต่อจากนี้ชักนึกไม่ออก มันเป็นคาถา เป็นคำโคลงคำกลอน ทีนี้ เมื่อตะกุกตะกักขึ้นมา ก็ยิ่งประหม่า แทนที่จะบอกว่า “ขอรับพระราชทานอีกตัวหนึ่ง จะได้เอาไปเข้าคู่กัน” นึกไม่ทัน ในที่สุดก็เลยว่าไปเสียอีกอย่างหนึ่ง กลายเป็นบอกว่า

“...ขอให้ทรงรับไว้อีกตัวหนึ่ง จะได้ไปเสียด้วยกัน”

ท่านพราหมณ์ว่าอย่างนี้ พระเจ้าแผ่นดินทรงรับฟัง ก็ทรงทราบ ทรงเข้าใจว่า พราหมณ์นี้คงจะต้องว่าผิดแน่ แต่ก็ทรงพระสรวล แล้วก็หันไปตรัสกะโสมทัตว่า “เออ! นี่ ที่บ้านพ่อของโสมทัตนี้คงจะมีโคมาก ใช่ไหม?” เป็นการหยอกล้อ

โสมทัตนั้นเป็นคนฉลาด มีปฏิภาณดี พอในหลวงตรัสมาว่าอย่างนั้น ก็กราบบังคมทูลตอบไปทันทีว่า

“ถ้าในหลวงพระราชทานไป ก็มีมากพะย่ะค่ะ”

พอโสมทัตว่าอย่างนี้ พระเจ้าอยู่หัวก็ยิ่งโปรดปรานมาก ทรงพระสรวลเป็นการใหญ่ ตรัสว่า “เออ! ดี โสมทัต เธอนี่ฉลาดมาก เอาละ เราจะให้รางวัล” ก็เลยโปรดพระราชทานข้าวของมากมายให้แก่พ่อของโสมทัต รวมทั้งโคแถมมาเป็น ๑๖ ตัว

พ่อของโสมทัตแม้จะผิดพลาด แต่ได้อาศัยลูกฉลาดมีปัญญา ก็ช่วยไว้ จึงได้กลับไปบ้านด้วยความอิ่มเอมใจ ได้รับของพระราชทานมาเป็นอันมาก เรื่องนี้ก็จบลง

ที่เล่ามานี้ เป็นเรื่องของการที่จะไปขอพระราชทานของ แต่กลับจะไปถวายเสีย แต่ข้อที่เป็นคติก็คือว่า การมีปฏิภาณจะช่วยกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้

โสมทัตนี่เป็นพระโพธิสัตว์นะ เป็นคนฉลาดมาก มีปฏิภาณ ปฏิภาณ ก็คือ การใช้ปัญญาแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ทันท่วงที เพราะโสมทัตมีปฏิภาณ แม้ว่าพ่อของตัวเองจะว่าอะไรผิดๆ ถูกๆ แต่โสมทัตก็แก้ให้กลับกลายเป็นดีไปได้ อาตมภาพจึงนำมาเล่าอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องประกอบเกี่ยวกับการใช้ปัญญา ให้เห็นว่าการใช้ปัญญานั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในแทบทุกสถานการณ์

แต่ทั้งนี้ ก็ต้องใช้ปัญญาให้ถูกต้องด้วย อย่างที่ว่า ถ้าใช้อย่างลิงเฝ้าสวน ก็กลับเสียผลประโยชน์ไป ส่วนเรื่องนี้เป็นตัวอย่างในทางที่ดีงาม ก็เอามาเล่าประกอบไว้อีกเรื่องหนึ่ง

สำหรับวันนี้ อาตมภาพคิดว่าเล่าแต่เรื่องโสมทัตเรื่องเดียวก็พอ ขออนุโมทนาโยมเท่านี้ เจริญพร

1เล่าเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๒๘
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.