พัฒนาปัญญา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บันทึกงานฟื้นหนังสือขึ้นใหม่

(๙ เมษายน ๒๕๖๐)

ในมงคลวารมีอายุเต็ม ๙๐ ปี ณ วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ อาจารย์นัฏกร อาชะวะบูล ประสงค์จะพิมพ์หนังสือธรรมแจก ๒ เล่ม คือ พัฒนาปัญญา กับ ธรรมนูญชีวิต ฉบับชาวบ้าน โดยมีเหตุผลว่าเป็นหนังสือสอนธรรมะพื้นๆ ง่ายๆ และมีนิทานด้วย ซึ่งท่านเองก็ได้ใช้สอนนักเรียน

กุศลฉันทะของอาจารย์นัฏกรที่ระบุจะพิมพ์หนังสือง่ายๆ พื้นๆ นี้ ทำให้เกิดหนังสือที่เหมือนกับมีขึ้นใหม่ ๒ เล่ม

ที่จริง หนังสือ ๒ เล่มนี้มีมานานนักแล้ว เล่มแรก คือ พัฒนาปัญญา พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ (๓๐ ปีแล้ว) เล่มหลังพิมพ์เมื่อปี ๒๕๔๗ จากหนังสือเดิมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ (๔๑ ปีล่วงแล้ว) ทำไมจึงกลายเป็นเหมือนของใหม่ ควรบันทึกเรื่องราวไว้

๑. ว่าถึงเล่มหลัง คือ ธรรมนูญชีวิต ก่อน อาจารย์นัฏกรมิใช่จะพิมพ์ ธรรมนูญชีวิต ฉบับเต็ม อย่างที่ยังพิมพ์กันอยู่เรื่อยๆ ตามปกติ แต่จะพิมพ์ ธรรมนูญชีวิต ฉบับชาวบ้าน ที่เล็กกว่า

ธรรมนูญชีวิต ฉบับชาวบ้าน นี้มีจุดเริ่มจากอาจารย์นัฏกรนี่เอง คือ ในปี ๒๕๔๗ เมื่อครั้งอาจารย์นัฏกรเป็นกรรมการของโครงการธรรมะสู่ชนบท ตอนที่พระสงฆ์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จะจาริกไปปฏิบัติศาสนกิจเผยแผ่ธรรมในชนบทประจำปี หลังจำพรรษา ย่างเข้าฤดูหนาว อาจารย์นัฏกรประสงค์จะร่วมส่งเสริมศาสนกิจ โดยถวายหนังสือธรรมเพื่อนำไปแจกเป็นธรรมทาน ดังที่เคยปฏิบัติในปีที่ผ่านมา ก็คิดว่าจะพิมพ์หนังสือ ธรรมนูญชีวิต ถวาย

อย่างไรก็ตาม อาจารย์นัฏกรอยากจะพิมพ์หนังสือนั้นเฉพาะเนื้อหาส่วนที่เหมาะกับชาวบ้านทั่วไป โดยเฉพาะในชนบท จึงคัดเลือกออกมา ๑๕ บท จำนวน ๕๖ หน้า จากฉบับเต็มเดิม ๒๒ บท ๘๕ หน้า แล้วมาเล่าแจ้งแก่อาตมาๆ ก็ได้แก้ไขปรับปรุงถ้อยคำสำนวนบางแห่งให้อ่านง่ายยิ่งขึ้น และให้ชื่อว่า ธรรมนูญชีวิต ฉบับชาวบ้าน เหมือนมีหนังสือใหม่ขึ้นอีกเล่มหนึ่ง ในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ธรรมนูญชีวิต ฉบับชาวบ้าน จะพิมพ์มาอีกกี่ครั้งก็จำไม่ได้ ที่พบได้ใกล้ตัวทราบแค่ว่า ถึงขึ้นปีใหม่ ๒๕๔๘ คือใน ๒ เดือน มีผู้ขอพิมพ์ ๑๑ ครั้ง ต่อมาก็ลืมๆ ไป ถึงบัดนี้น้อยคนนักจะรู้จักหนังสือเล่มนี้ เมื่ออาจารย์นัฏกรตกลงจะพิมพ์หนังสือนี้ใหม่คราวนี้ ก็หาข้อมูลในคอมพิวเตอร์ไม่ได้แล้ว จนกระทั่งเมื่อไปกิจที่วัดญาณเวศกวัน อาตมาไปหาพบได้เล่มหนังสือจากกุฏิที่เคยอยู่ที่นั่น ก็นำติดไปดู

เมื่อไม่มีข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำอย่างไรจะมีต้นฉบับที่จะใช้พิมพ์ โดยไม่ต้องพิมพ์ข้อมูลขึ้นมาใหม่ ถึงตอนนี้ พระเกตุญาโณได้ช่วยจัดมาให้ โดยนำ .pdf file ต้นแบบของ ธรรมนูญชีวิต ฉบับเต็มปกติ ซึ่งมีใช้อยู่ มาถ่ายแปลงข้อมูลลงใน .docx file แล้วตรวจเทียบกับข้อมูลในเล่มหนังสือ ธรรมนูญชีวิต ฉบับชาวบ้าน ที่ได้จากกุฏิดังว่านั้น เมื่อตัดทอนและแก้ให้ตรงกับในเล่มหนังสือเก่านั้นแล้ว คราวนี้ตัด “วินัยชาวพุทธ” ออกไปด้วย ตามความประสงค์ของ อ.นัฏกร) ก็ส่งข้อมูลดิบนั้น ให้แก่อาตมาๆ ก็ตรวจจัดปรับ-ทำรูปเล่มใหม่ โดยแก้ไขปรับปรุงบ้างเล็กๆ น้อยๆ เสร็จเป็น ธรรมนูญชีวิต ฉบับชาวบ้าน เล่มใหม่ ๔๕ หน้า (เล่มเก่า ๕๖ หน้า, ฉบับเต็มปกติ ๘๓ หน้า) ดูทั่วๆ ไป คงจะน่าอ่านและอ่านง่ายขึ้นกว่าของเดิม

๒. ส่วนเล่มแรก คือ พัฒนาปัญญา เป็นหนังสือรวมเรื่องเล่า จัดเป็นชุดที่ ๒ (มี ๘ เรื่อง) ในหนังสือชุด “เล่าเรื่องให้โยมฟัง” (ชุดที่ ๑ ชื่อว่า เครื่องวัดความเจริญของชาวพุทธ) พิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๕๓๑ บรรจุเรื่องที่เล่าแก่คณะโยมผู้ถวายภัตเพลประจำวัน ระหว่างเขียนเพิ่มเติมเนื้อความใน พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ เมื่อปี ๒๕๒๘

เท่าที่สืบสอบหลักฐานได้ พบว่าในเดือน มิ.ย. ๒๕๔๕ มีการพิมพ์เป็นครั้งที่ ๑๒ แต่มาถึงขณะนี้ เรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่ถูกลืมไปแล้ว เมื่ออาจารย์นัฏกรขอพิมพ์คราวนี้ หาข้อมูลฉบับต้นแบบในคอมพิวเตอร์ไม่พบแล้ว อาตมาจึงสืบค้นได้ข้อมูลใน .doc file (ปี ๒๕๔๕) ที่คุณวีระ สันติบูรณ์ ช่วยแปลงมาจากข้อมูลเดิมในระบบ Macintosh ที่พระมงคลธีรคุณช่วยพิมพ์ไว้ครั้งดั้งเดิม จึงนำมาตรวจ จัด ขัดเกลา ปรับแก้ เพิ่มเติม จนเสร็จ

หนังสือ พัฒนาปัญญา เล่มนี้ เรียกว่าเป็นฉบับฟื้นใหม่ เพราะนอกจากตรวจจัดขัดเกลาปรับแก้ทำรูปเล่มให้อ่านง่ายหรือน่าอ่านขึ้นแล้ว เรื่องทั้งหลายส่วนใหญ่ก็ได้ตั้งชื่อใหม่ กับทั้งตั้งชื่อเรื่องย่อยๆ ให้เด่นขึ้นมา และบางแห่งก็ได้เขียนอธิบายธรรมเพิ่มเติมด้วย

ยิ่งกว่านั้น ระหว่างจัดทำอยู่ ได้รับแจ้งต่อๆ มาว่า อ.นัฏกร ประสงค์จะได้เรื่อง “อยู่กับปัจจุบัน” ท้ายเล่มหนังสือ กฐินสองที่สายใจธรรม (๑๓ พ.ย. ๒๕๓๗) มาพิมพ์รวมไว้ด้วย อาตมาจึงได้ตามหาข้อมูลดิบมาตรวจจัดขัดเกลาเข้าลำดับเป็นเรื่องสุดท้าย รวมแล้วก็เป็นอันว่า ได้ทำให้หนังสือ พัฒนาปัญญา เล่มนี้ เป็นฉบับฟื้นใหม่ แก้ไข เพิ่มเติม และแปรรูปโฉมไปมากทีเดียว

ก็เป็นอันว่า ควรอนุโมทนาอาจารย์นัฏกร อาชะวะบูล ที่ได้ทำให้เกิดหนังสือฟื้นใหม่ ๒ เล่มที่เล่าเรื่องมานี้ อันน่าจะอำนวยประโยชน์แก่ผู้ใฝ่ศึกษาธรรมได้พอสมควร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.