พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

- ๒ -
จิตวิทยาในระบบบูรณาการ

มองพุทธศาสนา หาแง่คิดสำหรับจิตวิทยา

ทีนี้หันมามองพระพุทธศาสนา ความจริงพระพุทธศาสนามีลักษณะคล้ายจิตวิทยาสมัยใหม่อยู่บ้าง ในความหมายที่เป็นศาสตร์ว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของจิตและพฤติกรรม ในแง่ของการศึกษาหาความรู้ก็จะคล้ายๆ เป็นวิชาการอย่างหนึ่งเหมือนกัน โดยเฉพาะอภิธรรมที่เป็นการศึกษาวิเคราะห์เรื่องจิต แต่ในแง่ขอบเขตของความจริงที่ยอมรับ ก็อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าไม่เท่ากัน แม้ว่าจะมีลักษณะคล้ายๆ กันในแง่ของการศึกษาตัวความจริง เช่นว่าจิตเป็นอย่างไร พฤติกรรมอย่างนี้ออกมาจากจิตอย่างไร ทำไมมันออกมาเป็นสภาพจิตได้ คนรับรู้อย่างไร อะไรต่างๆ เหล่านี้ วิเคราะห์สืบสาวหาความจริงไป นี้เป็นตัววิชาแท้ๆ อภิธรรมก็จะเป็นความรู้ในแนวนี้

ส่วนอีกขั้นหนึ่งคือการนำมาใช้ประโยชน์ ถ้าใช้ศัพท์สมัยใหม่ พุทธศาสนาถือว่าเป็นเรื่องจริยธรรมทั้งหมด หมายความว่า การใช้ความรู้ทางจิตวิทยาให้เป็นประโยชน์ในเชิงปฏิบัตินั่นเอง คือจริยธรรม คือจะทำอย่างไรให้ชีวิตมนุษย์เป็นอยู่ดีงาม หรือให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องบรรลุประโยชน์สุข

เพราะฉะนั้นจึงมีการศึกษา ๒ ขั้น เช่น ในการศึกษาเรื่องการรับรู้ว่า

ขั้นที่ ๑ เราใช้ตา หู จมูก ลิ้นรับรู้อย่างไร ในเวลารับรู้นั้นมีการกำหนดหมายได้ข้อมูลความรู้มา และพร้อมกันนั้น เรามีความรู้สึก แล้วมีปฏิกิริยาเกิดขึ้น โดยมีการชอบ ชัง และมีการปรุงแต่งอย่างไร ขั้นนี้เป็นเรื่องของจิตวิทยาเชิงสภาวะ

ขั้นที่ ๒ พอรู้อย่างนี้แล้ว คือรู้ว่าคนมีปฏิกิริยาในการรับรู้ เช่น มีความรู้สึกสุขสบายก็ชอบใจ แล้วเกิดการปรุงแต่งคิดอย่างนั้นทำอย่างนี้ หรือว่ารู้สึกไม่สบายเป็นทุกข์ แล้วไม่ชอบใจ เกิดการคิดปรุงแต่งเชิงปฏิกิริยาจะทำอย่างนี้จะแสดงออกอย่างนี้ เรามองเห็นว่าอย่างไหนเป็นคุณ อย่างไหนเป็นโทษ จะแก้ไขโทษและทำให้เป็นคุณได้อย่างไร ตอนนี้ก็มาเป็นจิตวิทยาเชิงปฏิบัติ

ในตอนปฏิบัตินี้ ถ้าใช้ศัพท์สมัยใหม่ ก็เรียกว่าเป็นจริยธรรม ซึ่งจะมีการสอนว่า ให้รู้จักใช้อินทรีย์ให้เกิดประโยชน์ อย่าให้เกิดโทษ ตอนนี้ก็จะมีหลักธรรมที่เป็นภาคปฏิบัติ เป็นอินทรียสังวร ให้รู้จักสำรวมอินทรีย์ ซึ่งไม่ใช่ศัพท์ในอภิธรรม แต่เป็นศัพท์ในพระสูตร

พระสูตรนั้นเป็นเรื่องของความรู้ด้วย แต่เน้นการนำมาใช้ประโยชน์ พระสูตรจึงมีคำสอนเชิงปฏิบัติการในการใช้ประโยชน์มากมาย เช่นในเรื่องอินทรีย์ จะไม่อธิบายมากนักว่าอินทรีย์มีอะไรบ้าง เป็นอย่างไร แต่ให้เรามีอินทรียสังวร อย่างพระที่บวชเข้ามาใหม่ก็จะต้องฝึกอินทรีย์ รู้จักสำรวมอินทรีย์ ให้ใช้อินทรีย์ให้เป็น คือ ใช้อินทรีย์ให้เกิดประโยชน์ ไม่เกิดโทษ คือไม่ให้ถูกอกุศลธรรมครอบงำ ไม่ใช่รับรู้แล้วก็เกิดความชอบชังปรุงแต่ง เกิดโลภะ โทสะ โมหะ แต่ให้ใช้อินทรีย์อย่างมีสติในการที่จะได้ข้อมูล และได้ปัญญาเกิดความรู้เข้าใจสิ่งนั้นตามเป็นจริง

อินทรียสังวรอย่างที่ว่านี้เป็นหลักในเชิงปฏิบัติ และเมื่อฝึกขึ้นไปอีกก็จะถึงขั้นที่เรียกว่าอินทรียภาวนา แปลว่าการพัฒนาอินทรีย์ ซึ่งหมายถึงการรับรู้ที่ไม่เพียงไม่ตกไปใต้อิทธิพลความรู้สึกเท่านั้น แต่ด้วยความรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายโดยมองเห็นว่าเป็นเพียงธรรมชาติ เป็นกลางๆ ที่เราจะรู้สึกอย่างไรก็ได้ ก็สามารถปรับความรู้สึกให้เป็นไปตามต้องการได้ด้วย

การใช้อินทรีย์ของคนที่มีการศึกษาพัฒนาตนนี้ ต่างจากคนทั่วไปที่มีปฏิกิริยาแบบถูกครอบงำ โดยเห็นคล้อยไปตามความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีหรือน่าเกลียด เห็นเป็นงามบ้างเห็นเป็นไม่งามบ้าง แต่พอพัฒนาไปขั้นหนึ่ง แม้จะรู้สึกว่าสวยไม่สวยเป็นต้น แต่ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจความชอบใจไม่ชอบใจ สามารถมองเห็นความจริง ได้ความรู้เข้าใจ และเอาประโยชน์จากสิ่งนั้นได้ ต่อจากนั้นยังมีการพัฒนาอินทรีย์ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งนอกจากไม่ให้กิเลสครอบงำ และให้ได้ประโยชน์แล้ว ยังสามารถบังคับการรับรู้ทางอินทรีย์ให้รับรู้สิ่งที่ไม่งามว่างามและสิ่งที่งามว่าไม่งามก็ได้ ขั้นนี้เรียกว่า อินทรียภาวนา แต่ทุกขั้นนี้เป็นเชิงปฏิบัติทั้งสิ้น

ทั้งหมดนี้แสดงว่า การใช้วิชาจิตวิทยาในแนวพุทธศาสตร์ แบ่งเป็น ๒ ภาค คือ

๑. ภาคศึกษาหาความรู้ในความจริงของธรรมชาติแท้ๆ และ

๒. ภาคปฏิบัติในการใช้ประโยชน์ ซึ่งถือว่าเป็นจริยธรรม

นี้เป็นลักษณะทั่วๆ ไป

ขอย้ำว่า การที่จิตวิทยาจะเป็นศาสตร์ที่มีความยั่งยืนได้นั้น ลักษณะหนึ่งที่แน่นอนซึ่งเป็นเบื้องต้นพื้นฐานก็คือ จะต้องเป็นศาสตร์ที่สอดคล้องตรงตามธรรมชาติจริงๆ อะไรก็ตามที่ไม่ตรงกับความจริงแท้แล้วจะยั่งยืนไม่ได้ และจะมีผลดีจริงๆ ก็ไม่ได้ด้วย อันนี้แหละเป็นเรื่องใหญ่

จิตวิทยาที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ย่อมพยายามจะเข้าถึงความจริง แต่ก็เป็นปัญหาว่าจะเข้าถึงความจริงได้อย่างไร การที่จะเข้าถึงความจริงนั้น ตามหลักพุทธศาสนาบอกว่า การรับรู้ต้องตรงอินทรีย์กัน หมายความว่าตาก็ต้องรับรู้เรื่องรูป หูก็รับรู้เรื่องเสียง ดังนั้นอายตนะหรืออินทรีย์ที่เป็นวัตถุรูปธรรมเหล่านี้ย่อมไม่สามารถไปรับรู้เรื่องของจิตได้ เพราะเป็นคนละอายตนะคนละอินทรีย์

การที่จะไปใช้เครื่องมือวัด เช่น วัดคลื่นสมอง หรือดูสารเคมีที่หลั่งออกมา ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เป็นเพียงการเห็นแต่เงา เพราะเป็นเพียงการมองเห็นสิ่งที่สื่อความหมายหรือเป็นสัญญาณบ่งบอกเท่านั้น ไม่ใช่เห็นตัวจริง

ฉะนั้นในทางพุทธศาสนาจึงแยกเรื่องนี้ชัดเจนว่า การรับรู้แต่ละอินทรีย์เป็นเรื่องของอินทรีย์นั้นๆ รวมทั้งอินทรีย์คือจิตด้วย เพราะฉะนั้นการรับรู้ทางจิตจึงต้องยอมรับว่าเป็นความจริงอย่างหนึ่ง เราจะไม่สามารถเข้าถึงมันและเข้าถึงความจริงของมันด้วยวิธีการทางวัตถุ เช่น เราจะรับรู้ความรู้สึกรักหรือความรู้สึกโกรธของผู้อื่นด้วยตาหูของเราไม่ได้ แม้แต่จะอธิบายก็อธิบายไม่ได้

ความรู้สึกในใจที่ว่ามีความรักความโกรธ ความรู้สึกอิ่มใจชื่นใจ เราอธิบายไม่ได้เลย มันเป็นสภาวะเฉพาะของการรับรู้ทางจิต เพราะฉะนั้นอินทรีย์ไหนอินทรีย์นั้น รสเค็มรสหวานก็ไม่สามารถชี้แจงหรือรับรู้โดยตรงด้วยอินทรีย์อื่น รับรู้แล้วจะไปชี้แจงแสดงออกหรือจะไปพิสูจน์อย่างไรก็พูดไม่ถูก เป็นเรื่องเฉพาะตัวจริงๆ

ความรู้เฉพาะตัวนี้เป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของชีวิต ซึ่งถ้าจะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ก็จะมาจนตรงนี้ว่าจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้น ตอนนี้วิทยาศาสตร์ก็ก้าวมาถึงคำถามที่ว่าจะยอมรับการรับรู้ทางอินทรีย์นามธรรมคือจิตใจหรือไม่ว่าเป็นการรับรู้ความจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถจะเข้าถึงได้ด้วยอินทรีย์อื่นที่เป็นรูปธรรมคือตา หู จมูก ลิ้น กาย อันนี้คงจะเป็นปัญหากันต่อไปอีกนาน โดยเฉพาะในเมื่อเวลานี้วิทยาศาสตร์ก็หันมาสนใจศึกษาเรื่องจิตแล้ว ก็ต้องตกลงกันให้ได้ว่าจะเข้าถึงความจริงทางจิตได้อย่างไร?

แท้จริงนั้น ประสบการณ์หรือข้อมูลความรู้ที่ผ่านเข้ามาทางประสาททั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย เมื่อรับเข้ามาจะเป็นความรู้ ก็ต้องผ่านการแปลความหมายด้วยอินทรีย์ที่ ๖ คือ จิตใจ ซึ่งทั้งแปลความหมาย ประมวล และนำออกสื่อสาร จึงไม่มีความรู้ทางประสาททั้ง ๕ อย่างบริสุทธิ์ จิตใจทำหน้าที่สำคัญในกระบวนการรับรู้อย่างนี้ จะมองข้ามไม่ทำความรู้จักจิตใจได้อย่างไร เวลานี้วิทยาศาสตร์ติดตันในการหาความจริงของธรรมชาติ จึงหันมาสนใจจะศึกษาเรื่องจิต หลังจากเดินทางอ้อมมาแสนนาน

ถ้าเราไม่ยอมรับความจริงที่รู้ด้วยจิตใจ หรือความรู้ทางจิตใจ เราก็จะจำกัดปิดกั้นขอบเขตของการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ เพราะว่าการรับรู้ที่เป็นเฉพาะตัวในทางอินทรีย์เช่นจิตใจนี้ เมื่อเรายอมรับแล้ว อย่างน้อยเราก็จะพูดกับเขาได้ว่า คุณเกิดความรู้สึกอย่างนี้ เป็นสภาพความจริงของจิตใจอย่างนี้ เราพูดโดยถือเป็นความจริงไปในระดับหนึ่ง แต่เป็นความจริงที่แต่ละคนจะต้องรับรู้ด้วยตนเอง แล้วเราก็เอามาใช้ประโยชน์ได้เลย ไม่ต้องรอว่า เออ! อันนี้เรายังพิสูจน์ไม่ได้ ยังใช้ไม่ได้ ต้องรอไว้ก่อน แต่เรายอมรับว่ามันเป็นของจริงที่รับรู้ได้เฉพาะตน ด้วยจิตที่เป็นนามธรรมของตน แล้วก็ใช้ประโยชน์เลย ถ้าใช้แดนจิตใจนี้ให้เป็นประโยชน์ ความรู้เรื่องจิตใจก็อาจจะขยายออกไป ทำให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น นี้เป็นข้อหนึ่ง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.