พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เงื่อนปมของปัญหาที่เลวร้าย มนุษย์ผูกไว้ในใจของตนเอง
จิตวิทยาต้องชี้ทางที่จะพัฒนาคนให้แก้ไขคลายปมนี้ให้ได้

แม้แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็มาจากสาเหตุระดับทิฏฐินี้ ทำไมจึงว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมแก้ยาก ก็เพราะว่าอารยธรรมตะวันตกสร้างขึ้นมาด้วยแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการแก้ปัญหา คือความเชื่อในความสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อมแบบเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งตะวันตกเองก็วิเคราะห์ออกมาแล้วว่า ในที่สุด ต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็คือแนวคิดความเชื่อที่สั่งสมมาในอารยธรรมตะวันตกเองตลอดเวลาตั้งเป็นพันๆ ปี ที่ว่า มนุษย์เป็นต่างหากจากธรรมชาติ และมนุษย์จะต้องพิชิตธรรมชาติ

นี้คือ ในที่สุดแล้ว ตัวแนวความคิดหรือทิฏฐินั่นแหละเป็นฐานรองรับอารยธรรมทั้งหมด ส่วนความต้องการผลประโยชน์กลับเป็นเครื่องสนองทิฏฐินั้นอีกทีหนึ่ง มนุษย์มีความเชื่อในทิฏฐิที่จะพิชิตธรรมชาตินี้ ถึงกับมีความภูมิใจในการที่ได้สร้างสรรค์พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีความเจริญทางวัตถุมาถึงบัดนี้ด้วยความเชื่อพื้นฐานหลักใหญ่อันนี้ ด้วยความเชื่อและเจตจำนงที่จะพิชิตธรรมชาตินี่แหละ จึงทำให้มนุษย์ทำทุกอย่างมาในแนวทางที่ออกผลเป็นการพัฒนา ที่เรียกกันว่าไม่ยั่งยืน

พร้อมกันนี้ ทิฏฐิอีกอย่างหนึ่งที่มาประสานก็คือ แนวคิดที่ถือว่า ความสุขของมนุษย์เกิดจากการเสพวัตถุ โดยมีวัตถุบริโภคให้มากที่สุด เมื่อมนุษย์มีวัตถุเสพบริโภคมากที่สุดก็จะมีความสุขมากที่สุด จนกระทั่งเกิดแนวความคิดที่สรุปได้ด้วยคำว่า “เสพมากที่สุด คือสุขมากที่สุด” นี้คือแนวความเชื่อของลัทธิวัตถุนิยม และระบบผลประโยชน์ที่เป็นมาจนปัจจุบัน

เมื่อมีแนวคิดเชื่อว่าเสพมากที่สุดจึงจะสุขมากที่สุด ก็ต้องคิดต่อไปว่าจะเอาสิ่งใดมาเสพ และจะเอามาได้อย่างไร เพื่อจะได้เสพให้มากที่สุด ก็ได้แนวคิดที่มาหนุน คือทิฏฐิที่ว่าเราจะต้องพิชิตธรรมชาติ

พิชิตธรรมชาติเพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้จัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ จัดการกับธรรมชาติตามชอบใจคืออย่างไร ก็คือเอาธรรมชาติมาจัดสรร เช่น เป็นวัตถุดิบเข้าโรงงานอุตสาหกรรมมาผลิตเป็นวัตถุเสพบริโภค แล้วมนุษย์ก็จะได้เสพมากที่สุดและสุขมากที่สุด

เพราะฉะนั้นไปๆ มาๆ อารยธรรมปัจจุบันที่แผ่มาจากตะวันตกทั้งหมดก็มาจากฐานความคิดเท่านี้เอง คือแค่ทิฏฐิความเชื่อหลัก ๒ อย่างนี้ ทำให้มนุษย์วิ่งเต้นกันมาจนกระทั่งสังคมมีอารยธรรมเป็นอย่างนี้

ด้วยเหตุนี้การแก้ปัญหาของมนุษย์จึงจะต้องลงลึกถึงเรื่องของทิฏฐิ ตอนนี้มนุษย์จะเอาอย่างไรกับการที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะเนื้อแท้แก่นแกนของปัญหามันเข้ามาอยู่ในตัวของคนนี่เอง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ถ้าแก้ไม่ได้ ก็แก้ปัญหาของมนุษย์ไม่ได้

ทางด้านปัญหาทิฏฐินั้น เวลานี้มีเรื่องหนักยิ่งอีกอย่างหนึ่งคือ ความเกลียดชัง และแบ่งแยกกัน ระหว่างผิวพรรณ เชื้อชาติศาสนาต่างๆ ซึ่งไม่ว่ามนุษย์จะพูดกันปากเปียกปากแฉะ จะแสดงท่าทางแก้ปัญหากันอย่างไร ถ้าแก้ปัญหาความเชื่อถือยึดถือที่เป็นฐานของความเกลียดชังอันนี้ไม่ได้ ก็ไม่มีทางสำเร็จ และเราจะเห็นว่าในสังคมปัจจุบันปัญหาเรื่องนี้รุนแรงยิ่งขึ้น การทำลายกัน การเบียดเบียนกัน เพราะการแบ่งแยกกันด้วยผิวพรรณ เชื้อชาติ ลัทธิศาสนานี้รุนแรงมากขึ้น

ประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ยังตกเป็นเหยื่อของแนวคิด หรือทิฏฐิอันนี้ อย่างประเทศอเมริกาที่เคยมีความภูมิใจว่าสังคมของตนได้พัฒนามาอย่างดี โดยมีความสามัคคีในหมู่ชนที่แตกต่างกันทางเชื้อชาติศาสนา ถึงกับมีชนต่างชาติแสดงความชื่นชมว่า สังคมอเมริกันนี้ยอดเยี่ยม เป็น melting pot หรือเป็นเบ้าหลอมที่รวมคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมเข้ามาเป็นอันเดียวกัน แต่เวลานี้สังคมอเมริกันก็หมดความภูมิใจในคตินี้แล้ว เดี๋ยวนี้คนอเมริกันแทบจะไม่มีใครเรียกสังคมของตนว่าเป็น melting pot อีกต่อไป

ต่อจากเบ้าหลอม หรือ melting pot คนอเมริกันก็หันมาใช้คำว่า American mosaic หมายความว่า แม้จะหลอมรวมเป็นอันเดียวไม่ได้ ถึงจะมองเห็นแยกกันเป็นชิ้นๆ และมีสีสันต่างๆ แต่เมื่อมาจัดเรียงประดับเข้าระเบียบเดียวกัน ก็ยังดูสวยงาม

แต่ตอนนี้แม้แต่ American mosaic ก็จะไม่สำเร็จ ฝรั่งเองหลายคนบอกว่า เวลานี้สังคมอเมริกันเป็นได้แค่ salad bowl คือชามสลัด ที่เอาชิ้นส่วนต่างๆ มาใส่ปะปนคลุกกันไป ส่วน melting pot นั้นแตกไปแล้วหลอมรวมไม่สำเร็จ เพราะว่าเนื้อมันไม่ยอมย่อย ไม่ยอมยุ่ย เลยเข้ากันไม่ได้ นี่คือปัญหา

ตอนนี้อเมริกันก็หันมาชอบคติ multiculturalism หรือ พหุวัฒนธรรม คือให้วัฒนธรรมที่แตกต่างกันหลากหลายอยู่ด้วยกันได้ แต่จุดหมายก็ต้องสามัคคีกันด้วย ซึ่งยังไม่มีเค้าว่าจะสำเร็จ

ในที่สุดมนุษย์ก็จะมาอับจนด้วยกับดักตัวเองอันนี้ คือด้วยทิฏฐิที่ไม่ยอมแก้ไข ทั้งที่มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมโลกที่แคบเข้ามาถึงกันมากขึ้น แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความคับแคบในทางความเชื่อหรือทิฏฐิเก่าอันนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงพูดว่ามนุษย์พัฒนาข้างนอกได้ จนกระทั่งโลกมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยระบบการสื่อสารคมนาคม การพัฒนาภายนอกนี้ทำให้มนุษย์มีโลกที่รวมเป็นหนึ่งเดียว แต่ในทางจิตใจ มนุษย์ไม่สามารถพัฒนาให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้

เพราะฉะนั้นจึงเกิดความขัดแย้งในการพัฒนาว่า ทั้งที่การพัฒนาภายนอกทางด้านวัตถุเทคโนโลยีจะเอื้ออำนวยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นอันเดียว แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะว่าสภาพจิตภายในยังไม่พัฒนา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นภารกิจของจิตวิทยาว่าจะช่วยอย่างไร นี้คือปัญหาเรื่องการที่ว่าจะแก้ทิฏฐิของมนุษย์ได้อย่างไร

ถ้าจิตวิทยาสามารถแก้ทิฏฐิมนุษย์อันนี้ได้ ก็คือความสำเร็จในการพัฒนาแบบยั่งยืน เพราะตอนนี้มนุษย์ติดขัดงันอยู่กับที่ การพัฒนาแบบยั่งยืนจะไม่สำเร็จแน่ เมื่อติดอยู่ที่ตัวทิฏฐินี้ มนุษย์ก็จะต้องฆ่าฟันกันไปอีกนาน

เมื่อครั้งที่โลกแบ่งแยกสองค่าย เป็นค่ายคอมมูนิสต์ กับ ค่ายเสรีประชาธิปไตย ก็ทะเลาะกันมาจนกระทั่งเลิกราเพราะว่าฝ่ายหนึ่งล่มสลายไป แต่พอเหลืออยู่เหมือนกับเป็นค่ายเดียวแล้ว แทนที่จะสงบสุข มนุษย์ก็ยิ่งแบ่งแยกหนักเข้าไปอีก ตอนนี้กลายเป็นกลุ่มย่อย สังคมย่อย ยึดติดในเชื้อชาติ ผิวเผ่า ลัทธิศาสนาอะไรต่างๆ และรบราฆ่าฟันกันอย่างรุนแรงเหลือเกิน ซึ่งจะเห็นได้อย่างในกรณีบอสเนีย และประเทศอื่นๆ เยอะแยะไปหมด เดี๋ยวที่นั่น เดี๋ยวที่นี่ ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่เกิดจากทิฏฐิ ซึ่งดูไปจิตวิทยาสมัยใหม่เหมือนกับจะถือว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แก้ไขไม่ได้

ในทางพุทธศาสนามองว่า ธรรมชาติของมนุษย์นี้พัฒนาได้ จุดที่เป็นปมของปัญหาที่จะต้องแก้ คือสภาพคับแคบทางจิต ที่ท่านเรียกว่า “มัจฉริยะ” แปลว่าความหวงแหนตระหนี่กีดกันกันในเรื่องต่างๆ หลายอย่าง คือ เรื่องทรัพย์สมบัติผลประโยชน์ เรื่องผิวพรรณวรรณะ เรื่องเชื้อชาติ เรื่องถิ่นที่อยู่อาศัย ตลอดจนความหวงแหนกีดกั้นกันแม้แต่ในเรื่องภูมิธรรมภูมิปัญญา

ถ้ามนุษย์ทำลายความหวงแหนกีดกันกันนี้ไม่ได้ การพัฒนามนุษย์ก็ไม่สำเร็จ และนั่นคือการที่มนุษยชาติไม่สามารถบรรลุสันติสุข แล้วการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ไม่สำเร็จ นี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขอผ่านไปก่อน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.