พระพุทธศาสนาพัฒนาคนและสังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

อนึ่ง ประโยชน์หรือจุดหมาย (อัตถะ) ทั้ง ๒ หรือ ๓ ระดับนี้ แยกออกไปอีกเป็น ๓ ด้าน ซึ่งบัณฑิตที่แท้จริงจะต้องบำเพ็ญให้สำเร็จ คือ

๑. ประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) คือ ประโยชน์ ๓ ระดับที่กล่าวข้างต้นนั้น ที่พึงทำให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง หรือพัฒนาชีวิตของตนเองให้ลุถึง

๒. ประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) คือ ประโยชน์ ๓ ระดับที่กล่าวข้างต้นนั้น ที่พึงช่วยเหลือให้ผู้อื่นหรือเพื่อนมนุษย์ได้บรรลุถึง ด้วยการชักนำให้เขาพัฒนาชีวิตของเขาเองขึ้นไปจนเข้าถึงตามลำดับ

๓. ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ) คือ ประโยชน์ร่วมกัน หรือประโยชน์แก่สังคมทั้งหมด โดยเฉพาะสภาพและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่พึงช่วยกันสร้างสรรค์บำรุงรักษา อันจะเกื้อหนุนให้ทั้งตนและผู้อื่นเข้าถึงจุดหมายทั้ง ๓ ระดับนั้น

ในหลายกรณี ท่านพูดให้สั้นเพื่อสะดวกในการสื่อสาร โดยแบ่งเป็นเพียง ๒ อย่างคือ ประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) และประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) ในกรณีเช่นนี้พึงเข้าใจว่า คำว่า ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ) ก็คือ ประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น ที่ประสานเข้าด้วยกันนั่นเอง

โดยทั่วไป มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะฝึกตนให้บรรลุอัตถะทั้ง ๓ ระดับ และมีหน้าที่ที่จะต้องบำเพ็ญประโยชน์หรืออัตถะทั้ง ๓ ด้าน ทุกคนจึงสามารถเป็นบัณฑิตด้วยการฝึกตนและด้วยการปฏิบัติตามหลักการที่กล่าวมานี้

การฝึกตนของมนุษย์นั้น เรียกว่า การศึกษา (สิกขา) หรือการพัฒนาชีวิต (ภาวนา) เราจึงพูดด้วยภาษาทางวิชาการว่า บุคคลเป็นบัณฑิตด้วยการศึกษา (สิกขา) หรือด้วยการพัฒนาชีวิต (ภาวนา)

การฝึกตนที่เรียกว่า การศึกษา (สิกขา) หรือการพัฒนาชีวิต (ภาวนา) นั้น มนุษย์อาจแสวงหาหรือทำให้สำเร็จได้ ทั้งจากการปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนของระบบที่จัดตั้งกันขึ้นไว้ในสังคมมนุษย์ คือในสถาบันการศึกษาต่างๆ และจากการเรียนรู้ด้วยวิธีการอย่างอื่น ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการศึกษานอกระบบ

ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ถ้าบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เป็นอยู่อย่างไม่ประมาท และได้พัฒนาชีวิตของตน จนบรรลุประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย (อัตถะ) ที่กล่าวมาแล้ว บุคคลผู้นั้นก็เป็นบัณฑิต โดยมิต้องคำนึงว่า เขาจะศึกษาในระบบ หรือนอกระบบ หรือจากการเรียนรู้และฝึกฝนในการดำเนินชีวิตของเขาเองก็ตาม

ถ้าเขามีคุณสมบัติของความเป็นบัณฑิตที่แท้จริงนี้ โดยผ่านการศึกษาในระบบ เขาก็เป็นบัณฑิต ทั้งโดยสาระและโดยรูปแบบ

ถ้าเขามีคุณสมบัติของความเป็นบัณฑิตที่แท้จริงนี้ โดยมิได้ผ่านการศึกษาชนิดที่จัดตั้งขึ้นเป็นระบบในทางสังคม เขาก็คงเป็นบัณฑิตโดยสาระ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.