พระพุทธศาสนาพัฒนาคนและสังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การประสานกิจกรรมแห่งทาน ศีล และภาวนา

ในวัฒนธรรมของชาวพุทธแต่โบราณนิยมว่า ในวันที่พักผ่อนจากการงานอาชีพหรือในวันสำคัญทางพระศาสนา โดยเฉพาะในวันอุโบสถ ที่เรียกกันว่า วันพระ ชาวพุทธจะบำเพ็ญบุญกิริยาทั้ง ๓ อย่าง คือ ทั้งทาน ศีล และภาวนา ประสานพร้อมไปด้วยกัน ดังคำที่พูดติดปากกันมาว่า “วันพระ ให้ทาน รักษาศีล และฟังเทศน์ฟังธรรม” ในวันเช่นนั้น ซึ่งเป็นวันที่รักษาศีลเป็นพิเศษ ผู้คนว่างเว้นทั้งจากการประกอบอาชีพ และจากกิจกรรมในทางสนุกสนานบันเทิงมัวเมา (ไม่ต้องพูดถึงอบายมุขทั้งหลาย) จึงมีเวลาและโอกาสมากมายที่จะทำกิจกรรมที่ดีงามเป็นประโยชน์เป็นบุญเป็นกุศลที่ท่านเรียกว่า “อนวัชชกรรม”

ชาวพุทธในสมัยปัจจุบันอาจจะอนุวัตรตามคตินี้ โดยใช้วันหยุดงานเป็นวันสำหรับจัดทำกิจกรรมต่างๆ ที่ดีงามสร้างสรรค์ ตามหลักทาน ศีล ภาวนานั้น เช่น

- บำเพ็ญทาน ทั้งถวายทานแก่พระภิกษุสามเณร ช่วยเหลือเด็กกำพร้า คนชรา คนพิการ คนยากไร้ขาดแคลน และบำเพ็ญอภัยทานแก่สัตว์ทั้งหลาย

- รักษาศีล ๘ ตามกำลัง อย่างน้อยก็รักษาศีล ๕ ให้มั่นคง

- จัดกิจกรรมเสริมธรรมเสริมปัญญา เช่น บรรยาย ปาฐกถา อภิปราย และสนทนาธรรม เป็นต้น หรือจะอ่านหนังสือ จะค้นคว้าตำรับตำราเป็นส่วนตัวก็ได้

- สวดมนต์ร่วมกัน เพื่อทบทวนพุทธวจนะ และเพื่อโน้มน้อมจิตใจสู่ความสงบหรือเตรียมจิตสู่สมาธิ

- ทำกิจกรรมบริหารสุขภาพเพื่อเป็นปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตขั้นสูงขึ้นไปในทางจิตใจและปัญญา

- ทำกิจกรรมอื่นๆที่ไม่เสียหาย รวมทั้งกีฬา ที่มีความมุ่งหมายชัดเจนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน หรือเพื่อฝึกวินัยและเสริมสร้างความสามัคคีมีน้ำใจต่อกันในสังคม

- เจริญจิตเจริญปัญญา ด้วยการฝึกสมาธิตามสมถวิธี และพัฒนาปัญญาตามวิปัสสนาวิธี

- ปลีกตัวแสวงวิเวกเพื่อสงบใจ พิจารณาธรรม และรื่นรมย์กับความสงบงามของธรรมชาติ

- ชวนกันบำเพ็ญประโยชน์ เช่น พัฒนาวัด พัฒนาโรงเรียน พัฒนาชุมชน สร้างสาธารณูปโภค ปลูกสวน ปลูกป่า เป็นต้น

ฯลฯ

ถ้าชาวพุทธพากันปฏิบัติตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เพียงให้ได้ตามหลักการใหญ่ๆ ที่เป็นพื้นฐานเพียงเท่านี้ ก็มั่นใจได้ว่า ทุกคนจะมีชีวิตที่เจริญงอกงามมีความสุข สังคมจะร่มเย็นมั่นคงปลอดภัย โลกจะรื่นรมย์คงอยู่ในความเกษมสวัสดี และพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ยั่งยืนสถาพรวัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของประชานิกรคู่ฟ้าคู่แผ่นดิน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.